พายุโซนร้อนนกเตน


716 ผู้ชม


พายุที่เกิดขึ้นในประเทศฟิลิบปิน   

เตือนพายุนกเต็น ทำไทยฝนตกหนัก 30 ก.ค. - 2 ส.ค.นี้

เตือนพายุนกเต็น ทำไทยฝนตกหนัก 30 ก.ค. - 2 ส.ค.นี้


ภาพแสดงปริมาณน้ำฝน


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก thaiwater.net
          ประกาศเตือน 30 ก.ค. - 2 ส.ค. รับมือฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุโซนร้อนนกเต็น เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งเวียดนาม ขณะที่โคราชเจอฝนตกหนัก ทำน้ำท่วมจวนผู้ว่าฯ ด้านเขื่อนสิริกิติ์ แจงยังรับน้ำได้อีก
          หลังจากที่หลายประเทศในแถบทะเลจีนใต้ต้องประสบกับภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน "นกเต็น" (NOCK TEN) โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 41 ราย และสูญหายอีกกว่า 27 ราย ในขณะที่ประชาชนมากกว่า 600,000 คน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนนั้น 
          ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ไม่ว่าจะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนเตรียมรับมือกับฝนที่จะตกหนัก เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ความชื้นจากมหาสมุทรอินเดีย และอิทธิพล "พายุนกเต็น"  
          ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า พายุนกเต็น ซึ่งขณะนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ทะเลจีนใต้ ห่างจากพื้นที่ทางตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน ประมาณ 500 กิโลเมตร โดยมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 นอต หรือ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเคลื่อนตัวด้วยความเร็วประมาณ 10 นอต หรือ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่านเกาะไหหลำ อ่าวตังเกี๋ย และขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 30-31 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักต่อเนื่องไปถึงวันที่ 2 สิงหาคม 

          จากลักษณะดังกล่าว จะทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะด้านรับลมบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มได้ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่ม ระมัดระวังอันตรายและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ส่วนคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยและอันดามันตอนบนจะมีกำลังแรง คลื่นสูง 2-4 เมตร ชาวประมงจึงต้องเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง 
          นอกจากนี้ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้มีการประเมินว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็เป็นอีกจุดที่น่าห่วง หากปริมาณน้ำฝนในกรุงเทพฯ เกินระดับ 60 มิลลิเมตร ก็จะประสบปัญหาน้ำท่วมทันที โดยเฉพาะพื้นที่ต่ำที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมใกล้จะเกิน 200 มิลลิเมตร ได้แก่ เขตมีนบุรี หนองจอก และลาดกระบัง 
          ขณะที่ นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร คาดว่า อิทธิพลจากพายุนกเต็น จะส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคเหนือทำให้เกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากที่ จ.น่าน แพร่ พะเยา เชียงราย และเชียงใหม่ โดยเฉพาะ จ.น่าน อาจเกิดน้ำท่วมหนัก ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดริมโขง น้ำในแม่น้ำโขง อาจจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนได้
          สำหรับชื่อของ พายุนกเต็น มีที่มาตามชื่อ นกกระเต็น โดยทางการลาวตั้งให้กับพายุในย่านแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งพายุนกเต็นก่อตัวขึ้นในประเทศลาว ก่อนจะมุ่งหน้าไปที่ฟิลิปปินส์นั่นเอง
น้ำท่วม

เทศบาลเมืองโคราชน้ำท่วม หลังฝนถล่มหนัก
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อิทธิพลของพายุนกเต็น ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักนานกว่า 3 ชั่วโมงในจังหวัดนครราชสีมา ทำให้น้ำได้ไหลท่วมเขตเทศบาลเมือง และพื้นที่ใกล้เคียอย่างรวดเร็ว รวมทั้งภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาอยู่ต่ำกว่าไหล่ถนน ประมาณ 50 ซ.ม. เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมาต้องเร่งนำเครื่องสูบน้ำมาสูบออกอย่างเร่งด่วน
          ทั้งนี้ ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ยืนยันว่า สถานการณ์น้ำท่วมขังดังกล่าว เกิดจากฝนที่ตกหนักติดต่อกัน จนทำให้ระบายน้ำไม่ทัน และได้ประกาศแจ้งเตือนภัยระดับ 2 จากทั้งหมด 4 ระดับ หมายถึง มีแนวโน้มจะเกิดน้ำท่วมให้ประชาชนเฝ้าระวัง
          ขณะเดียวกันทางสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา ซึ่งดูแลรับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์ และศรีสะเกษ ได้แจ้งให้หน่วยงานในสังกัด เฝ้าระวังสถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ทั่วพื้นที่อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศว่า พายุโซนร้อนนกเต็นจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ประมาณวันที่ 30 ก.ค. 2554 ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และให้ระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง พร้อมกับสั่งการให้อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ที่มีอยู่ในทุกพื้นที่เตรียมรับมือ
น้ำท่วม

เขื่อนสิริกิติ์ ยันยังรับน้ำได้อีก ชี้ปล่อยน้ำไม่ทำน้ำท่วมภาคกลาง
          หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีประเด็นข่าวว่า เขื่อนสิริกิติ์ได้ทำการปล่อยน้ำปริมาณมากออกจากเขื่อน เนื่องจากเกินความสามารถในการกักเก็บน้ำ และอาจจะส่งผลให้น้ำเข้าท่วมกรุงเทพฯ ตลอดจนภาคกลาง จนสร้างความตื่นตกใจให้กับเกษตรกร และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำในภาคกลางนั้น
          ล่าสุด นายธนรัชต์ ภูมมะกสิกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวแล้ว โดยระบุว่า ขณะนี้เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 7,322.56 ล้านลูกบาศก์เมตร  ยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 2,187.44 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนก็มีความมั่นคงแข็งแรงเป็นอย่างมาก จึงไม่ต้องกังวล
          ส่วนเรื่องการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนนั้น นายธนรัชต์ ระบุว่า ทางเขื่อนได้ปล่อยน้ำออกวันละ 24.60 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือการทำเกษตรกรรมบริเวณท้ายเขื่อน ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นการปล่อยน้ำในปริมาณที่มากกว่าปกติ เพราะทางเขื่อนต้องเร่งระบายน้ำ เพื่อรอรับพายุนกเต็นที่กำลังจะเข้ามาในเส้นทางเดียวกับพายุไหหม่าที่ทำให้เกิดฝนตกหนักอยู่ ณ ขณะนี้ แต่ยืนยันว่า การปล่อยน้ำของเขื่อนจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน หรือทำให้เกิดน้ำท่วมภาคกลางอย่างที่กลัวกันแน่นอน 
          ขณะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านหมู่ 8 ตำบลบางบาล อำเภอบางบาล กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้น้ำไหลท่วมสวนกล้วยที่ได้รับมอบมาจากครอบครัวข่าว 3 และกำลังออกเครือเตรียมจะตัดขายในเร็ววันนี้ เสียหายกว่า 1 แสนต้น โดยชาวบ้านระบุว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดท้องกระทะของจังหวัด และมักจะถูกน้ำท่วมเสียหายหนักทุก ๆ ปี
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่  3
สาระที่ 5 ภูมิศาสตร์
มฐ. ส 5.2  ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในชุมชน
ประเด็นการคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
นักเรียนควรติดตามข่าวจากที่ใดบ้าง
กิจกรรมเสนอแนะ
นักเรียนควรศึกษาจากข้อมูลอินเตอร์เน็ต
จัดกิจกรรมหน้าชั้นเรียน
ติดตามข่าวพยากรอากาศจากวิทยุ
การบูรณาการ
ภาษาไทย เขียนรายงานความเสียหายจากน้ำท่วม
ศีลป  วาดภาพน้ำท่วม
อ้างอิงแหล่งที่มาhttps://hilight.kapook.com/view/61226
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4227

อัพเดทล่าสุด