การเพาะเห็ดหอมแบบปากช่อง(ตอนที่ 1)


1,177 ผู้ชม


เห็ดหอมสดเป็นเห็ดที่มีราคาแพง ขึ้นได้ดีในที่มีภูมิอากาศหนาวเย็น หากจะเพาะเห็ดหอมในพื้นที่ทั่วไปที่อากาศไม่หนาวเย็นต้องมีวิธีดูแลเป็นพิเศษ( ดังรายละเอียด)   

การเพาะเห็ดหอมแบบปากช่อง (ตอนที่ 1)

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการเรียนการสอนได้
  2. เพื่อให้การเพาะเห็ดหอมในประเทศไทยให้แพร่หลาย  ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

การเพาะเห็ดหอมแบบปากช่อง(ตอนที่ 1)

บทนำ

        เห็ดหอมจัดเป็นเห็ดที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันมานานแล้ว เห็ดหอมในสภาพธรรมชาติจะเจริญได้ดีบนไม้ที่อยู่ในสกุล Fagaceae เห็ดหอมมีการเพาะกันอย่างแพร่หลายในประเทศจีนและญี่ปุ่น ประเทศจีนเรียกเห็ดหอมชนิดนี้ว่า ฮองโก (Hoangko) ส่วนประเทศญี่ปุ่นเรียกเห็ดหอมว่า ซิอิทาเกะ(shiitake) ชาวจีนได้มีการเพาะเห็ดหอมกันมานานประมาณ 800 ปี แต่วิธีการที่ใช้เพาะเป็นแบบโบราณ โดยการตัดท่อนไม้โอ๊คหรือไม้เกาลัด นำมารดน้ำให้ความชื้น เพื่อให้เห็ดหอมเจริญเติบโต ต่อมาเมื่อประมาณ 300 ปีมาแล้ว ชาวญี่ปุ่นได้พัฒนาการเพาะเห็ดหอม โดยการตัดท่อนไม้มาวางใกล้ ๆ กับท่อนไม้ที่เห็ดหอมเจริญเติบโตอยู่ เพื่อให้สปอร์ของเห็ดหอมปลิวมาตกและเส้นใยเจริญเข้าไปในเนื้อไม้ วิธีการนี้ยังถือว่าเป็นการเพาะเห็ดหอมแบบโบราณ ต่อมาได้มีการนำท่อนไม้ที่จะใช้เพาะเห็ดหอมมาแช่สารละลายสปอร์ของเห็ดหอม การพัฒนาวิธีการเพาะเห็ดหอมของประเทศญี่ปุ่นได้มีการศึกษาและพัฒนาขี้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นจัดว่าเป็นประเทศ ที่มีเทคโนโลยีในการเพาะเห็ดหอมสูงมาก สามารถผลิตเห็ดหอมจำหน่ายเป็นสินค้าขาออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก รองลงมาได้แก่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ตามลำดับ

        เห็ดหอมจัดเป็นเห็ดที่มีรสชาติดี มีกลิ่นหอม และมีคุณสมบัติทางโภชนาการ จึงเหมาะที่จะนำมาประกอบอาหารหลายชนิด เนื่องจากเห็ดหอมมีสารพวก guanosine 5- monophosphate ซึ่งมีกลิ่นหอมของสาร lenthionine และวิตามิน D2 สูงมาก จากการศึกษาพบว่าในเห็ดหอมมีสารบางอย่างที่มีสรรพคุณเป็นยาป้องกันและรักษาโรคหลายชนิด เช่น การสะสมไขมันในเส้นเลือด ความดันโลหิตสูง และยังมีสารที่สามารถต่อต้านเนื้องอกได้ ถ้ามีการบริโภคเห็ดหอมอย่างสม่ำเสมอ ชาวจีนและญี่ปุ่นรู้จักคุณค่าของเห็ดหอมมานานแล้ว จากคุณสมบัติของเห็ดหอมดังที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้ประชาชนทั่วโลกนิยมรับประทานเห็ดหอมกันมากขึ้น และมีการสั่งเห็ดหอมเข้ามาบริโภคภายในประเทศกันอย่างแพร่หลาย

        ประเทศไทยจัดเป็นประเทศหนึ่งที่ได้มีการนำเข้าเห็ดหอมมาบริโภคภายในประเทศในปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องสูญเสียเงินตราสั่งเห็ดหอมเข้ามาปีละหลายล้านบาท ประกอบกับเห็ดหอมจัดเป็นเห็ดที่มีราคาแพง เมื่อเปรียบเทียบกับเห็ดชนิดอื่น ๆ จากสาเหตุดังกล่าวจึงได้มีการศึกษาและทดลองเพาะเห็ดหอมในประเทศไทย ผลการทดลองพบว่า สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยเหมาะสมต่อการเพาะเห็ดหอมเป็นอย่างดีโดยเฉพาะทางแถบภาคเหนือของประเทศไทย แต่ด้วยเหตุผลบางประการที่ทำให้ไม่มีการส่งเสริมงานด้านการเพาะเห็ดเท่าที่ควร และอีกเหตุผลหนึ่งได้แก่วัสดุที่เหมาะต่อการนำมาเพาะเห็ดหอมเป็นพวกไม้ก่อ ซึ่งขึ้นอยู่ในที่สูงบริเวณต้นน้ำลำธาร ถ้ามีการส่งเสริมให้เพาะเห็ดหอมแล้วไม้พวกนี้จะถูกทำลายได้ อย่างไรก็ตามได้มีการทดลองเพาะเห็ดหอมในถุงพลาสติกคล้ายกับการเพาะเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า ฯลฯ โดยใช้ขี้เลื่อยเป็นวัสดุเพาะ ก็สามารถให้ผลผลิต เช่นเดียวกับการเพาะเห็ดหอมในท่อนไม้ จึงทำให้อนาคตของการเพาะเห็ดหอมในประเทศไทย นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ

        ถึงแม้จะมีการเพาะเห็ดหอมได้ดีในประเทศไทย แต่ก็ยังจำกัดอยู่ในพื้นที่ราบสูง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่มีอากาศเย็นในฤดูหนาว แต่มีปัญหาอยู่มากโดยเฉพาะการเพาะเห็ดในถุงพลาสติก พบว่าผลผลิตค่อนข้างต่ำและออกดอกไม่สม่ำเสมอ บางรุ่นจะออกดอกดี บางรุ่นไม่ค่อยออกดอก

        ปี พ.ศ. 2539 และปีพ.ศ. 2541-2542 ฟาร์มเห็ดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดย อาจารย์ ดร.ธวัชชัย ฑีฆชุณหเถียร ได้ทดลองทำการเพาะเห็ดหอม โดยนำสายพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรทั้ง 5 สายพันธุ์ มาทดลองเพาะเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผลการทดลองพบว่า สายพันธุ์เบอร์ 5 ( 58792) เป็นพันธุ์เบา ทนร้อน ออกดอกง่าย คุณภาพดอกเห็ดดี

        จากผลการศึกษาในปี พ.ศ.2544 - 2546 ที่ฟาร์มเห็ดโรงเรียนปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยนาย      สุภพงษ์ วงศ์สมิตกุล ครูเชี่ยวชาญ โรงเรียนปากช่อง ได้ทำการศึกษาทดลองร่วมกับนักเรียนโรงเรียนปากช่อง ในลักษณะโครงงานวิทยาศาสตร์ พบว่า หากจะเพาะเห็ดหอมในพื้นที่ราบที่อากาศไม่หนาวเย็นมากนัก ต้องใช้เทคนิคการดูแลและการกระตุ้น เห็ดหอมจึงจะออกดอกพร้อมกันอย่างสม่ำเสมอ

        ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา ฟาร์มเห็ดโรงเรียนปากช่อง ได้เปิดอบรมการเพาะเห็ดหอมให้กับประชาชนผู้สนใจโดยทั่วไป มีประชาชนที่ผ่านการอบรมได้นำความรู้และเทคนิคไปเพาะเห็ดหอมประสบความสำเร็จทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ระดับช่วงชั้น 4

ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในชั้นเรียน

  1. หากจะเพาะเห็ดหอมที่โรงเรียนนักเรียนจะทำอย่างไรดี
  2. ทำไมเห็ดหอมจึงมีราคาแพง เมื่อเทียบกับเห็ดชนิดอื่น ๆ
  3. อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เห็ดหอมงอกในสภาพทั่วไปที่อากาศไม่หนาวเย็น
  4. การเพาะเห็ดหอมแตกต่างจากการเพาะเห็ดชนิดอื่นอย่างไร

กิจกรรมเสนอแนะ

  1. นักเรียนควรสืบค้นเทคนิควิธีในการเพาะเห็ดหอม
  2. นักเรียนควรศึกษาดูงานฟาร์มเห็ดหอม
  3. นักเรียนควรศึกษาชีววิทยาของเห็ดหอม

การบูรณาการกับกลุ่มสาระอื่น ๆ

สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ชีววิทยาของเห็ด

สาระการเรียนรู้สุขศึกษา พลศึกษา เรื่อง ประโยชน์ของเห็ดหอม

สาระการเรียนรู้ศิลปะ เรื่อง การวาดภาพดอกเห็ดหอม

สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา เรื่อง ตลาด แหล่งผลิตเห็ดหอม

สาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เรื่อง ชื่อสามัญของเห็ดหอม

สาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง การเขียนรายงานเรื่องการเพาะเห็ดหอม

สาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง การคำนวณต้นทุน กำไรของการเพาะเห็ดหอม

แหล่งที่มาของข้อมูล

ธวัชชัย ฑีฆชุณหเถียร เอกสารประกอบการอบรมการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ 2546

สุภพงษ์ วงศ์สมิตกุล การเพาะเห็ดหอมแบบปากช่อง โรงพิมพ์ประณิธาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 2549

www.thaiago.com

ภาพประกอบ ถ่ายเอง

(ศึกษาต่อ ตอนที่ 2)
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=193

อัพเดทล่าสุด