วัสดุเหลือใช้กับงานประดิษฐ์


5,634 ผู้ชม


วัสดุเหลือใช้ สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นของใช้ ของประดับ และของตกแต่ง ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการใช้งานและมีความสวยงามน่าใช้   

วัสดุเหลือใช้กับงานประดิษฐ์

 
บทนำ

         เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 พ.ค. 2552 ที่อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย บริเวณทางขึ้นดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่  กลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่ เปิดแถลงการณ์เรื่องปัญหาการจัดงานประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ"ได้บุญหรือทำบาป"โดยมีศ.เฉลิมพล แซมเพชร ประธานภาคีคนฮักเจียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม ร่วมทั้งนางสาวจิราภรณ์ มีวาสนา ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุยเข้าร่วม  ศ.เฉลิมพล กล่าวว่า ปัจจุบันดอยสุเทพมีขยะเฉลี่ยสัปดาห์ 7.5 ตัน แต่เทศบาลตำบลสุเทพ มีกำลังจัดเก็บได้เพียง 5 ตัน จึงมีขยะตกค้างอีก 2.5 ตัน  ภาคีคนฮักเจียงใหม่ต้องออกแถลงการณ์ตำหนิการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในวันวิสาขะบูชา วันสำคัญทางศาสนาซึ่งองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องเป็นวันสำคัญของโลก ทุกปีหน่วยงานภาครัฐในจ.เชียงใหม่จะจัดประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและระยะหลังประเพณีเดินขึ้นดอยมีการพัฒนามากขึ้น มีร้านค้า จุดบริการน้ำดื่ม และมีการนำเครื่องดื่มแฮลกอฮอล์มาจำหน่ายภายในงานด้วย ซึ่งเป็นสิ่งเสื่อมโทรมที่เกิดจากการกระทำของภาครัฐ  ศ.เฉลิมพล กล่าวอีกว่า เคยทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจ.เชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ได้รับความสนใจ ที่ผ่านมาจ.เชียงใหม่จัดประชุมเตรียมงานประเพณีเดินขึ้นดอย จากการเข้าประชุมเพื่อสังเกตุการณ์พบว่าไม่มีการบรรจุเรื่องปัญหาขยะบนดอยสุเทพเข้าสู่ที่ประชุมด้วย" ที่ผ่านมากลุ่มภาคีได้ทำวิจัย สำรวจข้อมูล และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายร่วมแก้ไขปัญหาขยะ โดยนำเยาวชนในพื้นที่มาช่วยเก็บขยะซึ่งได้ผลในระดับหนึ่งสามารถลดปริมาณขยะลงได้กว่า 40% แต่ภาคประชาชนไม่สามารถทำงานได้ต่อเนื่องหากภาครัฐไม่ช่วยเหลือ วันวิสาขบูชาปีนี้กลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่จึงทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจ.เชียงใหม่ เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาขยะ แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร เพราะหน่วยงานภาครัฐยังมุ่งจัดเรื่องพิธีการมากกว่า"ศ.เฉลิมพลกล่าว  ข่าวจาก https://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=378538&lang=T&cat= 
           จากข่าวดังกล่าวทำให้ทราบว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาด้านขยะ เนื่องจาก วิทยาการก้าวหน้า ประชากรเพิ่มอย่างรวดเร็ว อัตราความต้องการใช้เครื่องอุปโภค บริโภคเพิ่มมากขึ้น  ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการ ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงต้องเพิ่มการผลิตเครื่องอุปโภค บริโภค อาหาร ที่อยู่อาศัย ให้เพียงพอกับความต้องการของประชากร  จึงเป็นเหตุให้มีเศษวัสดุ สิ่งเหลือใช้มีปริมาณมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาของขยะมูลฝอย ในปัจจุบันปัญหาขยะเป็นปัญหาที่สำคัญ และเป็นปัญหาที่หาหนทางแก้ไขมายาวนานเนื่องจากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมีจำนวนมากจนทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเมืองและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในการแก้ไขนี้จึงต้องเริ่มปลูกฝังแนวความคิดของเยาวชนไทยด้านความรู้ ทัศนคติ และค่านิยมแก่เด็กที่เกี่ยวกับการรักษาสภาพแวดล้อมในเรื่องของการทิ้งขยะโดยการแยกขยะเป็นการปลูกฝังนิสัยในการรักษาความสะอาดอย่างเป็นระบบและถูกวิธีเพื่อจะได้สามารถนำขยะกลับมารีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ได้อีก  การรู้จักวิธีกำจัดวัสดุเหลือใช้หรือการเปลี่ยนสภาพของวัสดุเหลือใช้อย่างถูกต้อง เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดขยะให้น้อยลง และเพิ่มประโยชน์ในการใช้วัสดุนั้นๆ ทำให้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ รวมทั้งช่วยลดปัญหามลพิษที่จะกำจัดให้ได้อีกด้วย

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานประดิษฐ์)  ระดับช่วงชั้นที่ 1-2
       วัสดุเหลือใช้  หมายถึง วัสดุต่างๆ  ที่เหลือจากการอุปโภค  บริโภค ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีมากมายหลายชนิด  แบ่งออกได้ดังนี้
       วัสดุเหลือใช้แบ่งตามที่มา ได้ดังนี้
               1.วัสดุเหลือใช้ในครัวเรือน เช่น กล่องยาสีฟัน  กล่องสบู่  กล่องนม  กระดาษหนังสือพิมพ์  ไฟแช็ค  เศษไม้ รูปภาพ ปฏิทิน ขวดน้ำพลาสติก ฯลฯ  
               2.วัสดุเหลือใช้จากการทำเกษตรกรรม  บางครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่นปลูกข้าวโพด  เมื่อปอกเปลือก
ข้าวโพดแล้วส่วนที่เหลือ คือเปลือกหรือซังข้าวโพด เป็นต้น
               3.วัสดุเหลือใช้จากร้านค้า หรือสถานประกอบการ สถานบริการต่างๆ ในชุมชน เช่น
                        ร้านค้าขายของชำ  วัสดุที่เหลือใช้ได้แก่  ขวดแก้ว  ขวดพลาสติก  กล่องกระดาษ เป็ฯต้น
                        ร้านอาหาร  เช่น  เศษผัก  เศษข้าว  เป็นต้น
                        ร้านซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  จะมีเศษน็อต หรือเศษชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น
                        ร้านทำผม  เช่น เศษผม  เป็นต้น
                        ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า จะมีเศษผ้าชนิดต่างๆ เช่น ผ้าไหม  ผ้ายืด  เป็นต้น
         วัสดุเหลือใช้แบ่งตามประเภท  ได้ดังนี้
               1.วัสดุจากธรรมชาติ  เช่น เศษไม้  เปลือกข้าวโพด  เปลือกถั่วลิสง  เปลือกไข่  ขนสัตว์  เกล็ดปลา  เป็นต้น
               2.พลาสติก  เช่น ขวดน้ำอัดลม  ขวดน้ำเปล่า  กระป๋องแป้ง  เส้นพลาสติกรัดของ  ถุงห่อขนม  ถุงนม  ขวดน้ำยาล้างจาน เป็นต้น
               3.แก้ว  เช่น ขวดแก้วเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ  เครื่องดื่มชูกำลัง ขวดน้ำปลา  เป็นต้น
               4.โลหะ  เช่น เศษเหล็ก  เส้นลวด  น็อต  ตะปู  สังกะสี  กระป๋องนม เป็นต้น
               5.กระดาษ เช่น  กระดาษหนังสือพิมพ์  วารสาร  นิตยสาร  กล่องกระดาษ  ปฏิทิน เป็นต้น
               6.ผ้าหรือเศษด้าย เช่น เศษผ้าไหม  เศษผ้ายืด  เศษผ้าฝ้าย  เป็นต้น
               7.ประเภทอื่นๆ เช่น โฟม  กระดุม  เศษกระเบื้อง  ขี้เลื่อย  เป็นต้น

ตั้งประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
               1.วัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นของเรามีอะไรบ้าง
               2.เราสามารถนำวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นมาประดิษฐ์อะไรได้บ้าง

กิจกรรมเสนอแนะ
           วัสดุเหลือใช้มีมากมายหลายประเภทที่สามารถนำมาประดิษฐ์ประดอยให้เป็นของใช้ของตกแต่งได้สวยงามน่าใช้  เช่น เปลือกหอย  เปลือกข้าวโพด  รังไหม  ลูกสน  เมล็ดพืชต่างๆ  เศษกระดาษ เศษผ้า กระป๋อง เป็นต้น  แต่กลับถูกมองว่าไร้ค่า  เปลือกข้าวโพดกลายเป็นตุ๊กตาแสนสวย  รังไหมเป็นดอกไม้ประดิษฐ์  เศษกระดาษเป็นตุ๊กตาสัตว์ของเล่น งานประดิษฐ์จากวัสดุเหล่านี้ลงทุนน้อย และทำให้มองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของสิ่งของเหลือใช้ทั่วไป และงานประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้หรือเศษวัสดุยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความคิด จินตนาการ  ทำให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนทุกคน  ทั้งยังเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมทางอ้อมด้วย  เพราะเป็นการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า

 การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะในด้านการออกแบบ  การใช้สี

อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล/ภาพประกอบ
             1.บัวแก้ว  มงคลมะไฟ.  การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้โดยโครงงาน เรื่องการประดิษฐ์วัสดุเหลือใช้ กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3. การศึกษาค้นคว้าอิสระ  การศึกษามหาบัณฑิต  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2549  (หน้า 51-52)
             2.วรรณี  วงศ์พานิชย์. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน การงานอาชีพและเทคโนโลยี งานประดิษฐ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3  พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์. 2546

แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม
1. https://learners.in.th/blog/charida/31325 
2. https://enjoy.picdd.com/data/1/0001-1.html

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=226

อัพเดทล่าสุด