ทำไมต้องเกษตรอินทรีย์ (ตอนที่ 2)


562 ผู้ชม


ขั้นตอนเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ ที่น่าสนใจ ที่ผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพและเกษตรกรควรทราบ   

ทำไมต้องเกษตรอินทรีย์ (ตอนที่ 2)

          จากตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันนี้การใช้สารเคมีในการเกษตร มีปริมาณที่มากขึ้นทุกวัน จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค สภาพแวดล้อมและอื่น ๆ จนทำให้เราต้องหันมาหาการทำการเกษตรแบบ “เกษตรอินทรีย์” เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่ดีขึ้น
          หลังจากเราทราบความหมาย ความเป็นมา เหตุผลของการเกษตรอินทรีย์แล้วในตอนที่ 1 ในตอนนี้ เรามาดูซิว่า ถ้าเราจะปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์จะทำได้อย่างไร

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือช่วงชั้นที่ 4

ทำไมต้องเกษตรอินทรีย์ (ตอนที่ 2)
ภาพประกอบจาก เกษตรอินทรีย์

สนใจปลูกพืชแบบอินทรีย์จะทำอย่างไร

การเลือกพื้นที่

1.ควรเลือกพื้นที่เหมาะสม โดยอยู่ห่างโรงงาน หางแปลงปลูกที่ใช้สารเคมี มีแหล่งน้ำสะอาด ไม่มีสารพิษเจือปน
2.ศึกษาประวัติพื้นที่ เช่น เคยปลูกพืชอะไร การใช้ปุ๋ยและสารเคมี ย้อนหลังอย่างน้อย 3 ปี
3.เลือกปลูกพืชให้เหมาะกับดิน โดยให้พิจารณาว่าดินมีทั้งดินร่วน ดินเหนียว หน้าตื้น หน้าดินลึก ดินเป็นกรด ดินเป็นด่าง ดินเค็ม เป็นต้น จึงควรพิจารณาเลือกปลูกพืชที่ขึ้นอยู่เดิม
4.สังเกตจากพืชที่ขึ้นอยู่เดิม เก็บตัวอย่างดิน น้ำ ไปทำการวิเคราะห์

การวางแผนจัดการ 
1.วางแผนป้องกันสารพิษจากภายนอก ทั้งทางน้ำและทางอากาศ การป้องกันทางน้ำโดนขุดคูรอบแปลง การป้องกันทางอากาศโดยปลูกพืชกันชน ทั้งไม้ทรงสูง ทั้งไม้ทรงสูง ทรงสูงปานกลางต้นเตี้ย บนคันกั้นน้ำรอบแปลง
2.วางแผนป้องกันภายในจัดระบบการระบายน้ำ การเก็บรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์ และการเข้าออกไร่นา
3.วางแผนระบบการปลูกพืช เลือกฤดูปลูกที่เหมาะสมใช้พันธุ์พืชที่ต้านทานโรค-แมลง พืชบำรุงดิน พืชไล่แมลง
การเลือกพันธุ์ปลูก
1.คำนึงถึงสภาพดิน สภาพภูมิอากาศ ความต้านทานต่อ โรค-แมลง และวัชพืช ความหลากหลายของชนิดพืชในแปลง
2.ไม่ใช้พืชจีเอ็มโอ (พืชที่มาจาการตัดต่อสารพันธุกรรม)
3.ควรเป็นเมล็ดพันธุ์พืชที่มาจาการปลูกแบบอินทรีย์

ทำไมต้องเกษตรอินทรีย์ (ตอนที่ 2)
ภาพประกอบจาก เกษตรอินทรีย์

การปรับปรุงบำรุงดิน

1.เลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินสูง (ห้ามตัดไม้ทำลายป่า)
2.ถ้าดินเป็นกรดจัดใส่หินปูนบดลดความเป็นกรด
3.ปลูกพืชตระกูลถั่วและไถกลบ ได้แก่ โสน ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า ถั่วมะแฮะ เป็นต้น (โสรนควรปลูกในนา ถั่วต่าง ๆ ควรปลูกในไร่)
4.ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เศษซากพืช เพื่อช่วยปรับโครงสร้างดิน และให้ธาตุอาหารพืช
5.ดินขาดฟอสฟอรัสให้ใช้ปุ๋ยหินฟอสเฟต
6.ดินขาดโพแทสเซียม ให้ใช้ปุ๋ยมูลค้างคาว เกลือโพแทสเซียมธรรมชาติ และขี้เถ้าถ่าน

สารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ปรับปรุงดิน

1. กากตะกอนโสโครก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผัก)
2. สารเร่งการเจริญเติบโต
3. จุลินทรีย์ และผลิตผลจากจุลินทรีย์ที่ได้มากจากการตัดต่อสารพันธุกรรม
4. สารพิษตามธรรมชาติ เช่น โลหะหนักต่าง 
5. ปุ๋ยเทศบาล หรือปุ๋ยหมักจากขยะในเมือง

สารที่อนุญาตให้ใช้ปรับปรุงดิน

1.ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ผลิตจากวัสดุในไร่นา เช่น
-ปุ๋ยหมัก จากเศษซากพืช ฟางข้าว ขี้เลื่อย เปลือกไม้ เศษไม้ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่น ๆ เป็นต้น
-ปุ๋ยคอก จากสัตว์ที่เลี้ยงตามธรรมชาติ ไม่ใช้อาหารจากจีเอ็มโอ(สารตัดต่อพันธุกรรม) ไม่ใช้สารเร่งการเจริญเติบโตและไม่มีการทรมานสัตว์
-ปุ๋ยพืชสด เศษซากพืชและวัสดุเหลือใช้ในไร่นารูปสารอินทรีย์
2.ดินพรุ ที่ไม่เติมสารสังเคราะห์ 
3.ปุ๋ยชีวภาพ หรือจุลินทรีย์ที่พบทั่วไปตามธรรมชาติ
4.ขุยอินทรีย์ สิ่งที่ขับถ่ายจากไส้เดือนดินและแมลง
5.ดินอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

การเก็บรักษาและการขนส่งผลิตผล

1.ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ต้องแยกออกจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์อย่างชัดเจน และต้องทำตลอดทุกกระบวนการ
2.ต้องป้องกันไม่ให้สัมผัสและปนเปื้อนวัสดุสังเคราะห์ต้องห้ามในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
3.การเก็บรักษาและขนส่ง ต้องรักษาความสะอดอย่างเคร่งครัด

การแปรรูป

วัตถุดิบต้องมาจากกระบวนการผลิตโดยเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองแล้ว กระบวนการผลิตต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรฐานของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์นั่น ๆ ในการบรรจุหีบห่อ ควรใช้วัสดุที่มีความปลอดภัยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและถูกต้องตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อินทรีย์ของประเทศเป้าหมายที่จะส่งออก

ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน

 1. นักเรียนคิดว่าสารพิษที่ตกค้างในพืชผลการเกษตรนอกจากจะเป็นอันตรายต่อคนแล้วยังเป็นอัตรายต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่เพราะเหตุใด
 2. ที่บ้านนักเรียนปลูกพืชชนิดใดบ้าง และใช้สารเคมีหรือสารอินทรีย์ในการกำจัดศัตรูพืช
 3. มีเกษตรกรผลิตเกษตรอินทรีย์ ในชุมชนของนักเรียนหรือไม่ ให้ยกตัวอย่าง

กิจกรรมเสนอแนะ
 ศึกษาวิธีการลงทุนทำการทำเกษตรในท้องถิ่น ว่าส่วนมากทำการเกษตรแบบใด มีต้นทุนการผลิตที่ต้องใช้จ่ายมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องใด และสุดท้ายมีกำไรจากการทำการเกษตรมากน้อยเพียงใด จัดทำเป็นรายงานกลุ่มนำส่งครูผู้สอน

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
 สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช
 

แหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.organic.moc.go.th/
https://www.doae.go.th/

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=272

อัพเดทล่าสุด