เมื่อข้าวกล้องงอก...กลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาว (ตอนที่ 1)


884 ผู้ชม


ข้าวกล้องงอก...เป็นอะไรได้มากกว่าที่คุณคิดแต่เอ๊ะ!แล้วข้าวกล้องงอกไปเกี่ยวอะไรกับพระเอกขี่ม้าขาวล่ะ...ตามมาดูกัน   

เกาะติดกระแสข้าวกล้องงอก

เมื่อข้าวกล้องงอก...กลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาว (ตอนที่ 1)

ที่มา :  ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี

        ปัจจุบันกระแสของผู้บริโภคกำลังจะเปลี่ยนไป...กำลังหันเข้าสู่ธรรมชาติ  คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่รู้จักข้าวกล้อง? หากจะย้อนเวลากลับไปในอดีต...ข้าวกล้องเป็นเพียงข้าวที่มีสีที่ไม่น่ารับประทาน เวลาหุงจะได้ข้าวที่แข็งกระด้างฝืดคอไม่นุ่มเหมือนดังเช่นข้าวขาว ซึ่งหุงแล้วจะหอม นิ่มนวล น่ารับประทานกว่าเป็นไหน ๆ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว   ถ้ามีคนมาชวนรับประทานข้าวกล้อง คงต้องขอเวลาทำใจสักร้อยเมตรกระมัง  หากแต่ในตอนนี้ถ้าให้เลือกระหว่างข้าวขาวกับข้าวกล้องแล้ว ผู้เขียนคงบอกได้คำเดียวว่า " ขอเป็นข้าวกล้องแล้วกันนะ " 
        ข้าวกล้องจะหุงยากกว่าข้าวขาว อาจจะต้องแช่น้ำค้างคืน หรือไม่ก็ต้องใส่น้ำมากกว่าปกติ  ข้าวกล้องที่ได้อาจจะแข็งไปหรือแฉะเกินไป ทำให้รับประทานไม่อร่อย คนที่ติดใจรสชาติของข้าวขาวนุ่ม ๆ แทบจะเบือนหน้าหนีไปทันที แต่ในที่สุดก็มีพระเอกของเรา...ขี่ม้าขาวมาช่วยแล้ว นั่นก็คือ " ข้าวกล้องงอก " ซึ่งเมื่อหุงเสร็จแล้วจะมีรสสัมผัสที่อ่อนนุ่มกว่าข้าวกล้องทั่วไป แถมท้ายยังได้ประโยชน์อีกร้อยแปด  จะช้าอยู่ใยล่ะ รีบ ๆ ไปหามาลองรับประทานบ้างซิจ๊ะ

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ช่วงชั้นที่ 2  (ชั้น ป.4-ป.6)

ความสอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้
        สาระที่ 1 การดำรงชีวิตและครอบครัว
        มาตรฐาน ง1.1  เข้าใจการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะกระบวนการทำงานทักษะการจัดการ ทักษะกระบวนการแก้ปัญหา ทักษะการทำงานร่วมกัน และทักษะการแสวงหาความรู้ มีคุณธรรม และลักษณะนิสัยในการทำงาน มีจิตสำนึกใน
การใช้พลังงาน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมเพื่อการดำรงชีวิตและครอบครัว

ข้าวกล้องงอก...เป็นใครกันล่ะนี่ ?  
         ข้าวกล้องงอก (germinated brown rice หรือ “GABA-rice”)   เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ข้าวกล้องงอก (germinated brown rice) เป็นการนำข้าวกล้องมาผ่านกระบวนการงอก    ซึ่งโดยปกติแล้ว 
ในตัวข้าวกล้องเองประกอบด้วยสารอาหารจำนวนมาก เช่น ใยอาหาร กรดไฟติก (Phytic acid) วิตามินซี วิตามินอี และ GABA (gamma aminobutyric acid) ซึ่งช่วยป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน และช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว เป็นต้น   เมื่อนำข้าวกล้องมาแช่น้ำเพื่อทำให้งอก จะทำให้ข้าวกล้องมีสารอาหาร โดยเฉพาะ GABA  เพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์จากการที่มีปริมาณสารอาหารที่สูงขึ้นแล้ว ยังทำให้ข้าวกล้องงอกที่หุงสุกมีเนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่ม รับประทานได้ง่ายกว่าข้าวกล้องธรรมดาอีกด้วย จึงง่ายแก่การหุงรับประทานได้โดยไม่ต้องผสมกับข้าวขาวตามความนิยมของผู้บริโภค 

เมื่อข้าวกล้องงอก...กลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาว (ตอนที่ 1)

ที่มา :  https://topicstock.pantip.com

        จากการศึกษาทางกายภาพและทางชีวเคมีพบว่า "เมล็ดข้าว" ประกอบด้วย เปลือกหุ้มเมล็ด หรือแกลบ (Hull หรือ Husk) ซึ่งจะหุ้มข้าวกล้อง ในเมล็ดข้าวกล้องประกอบด้วย จมูกข้าวหรือคัพภะ (Germ หรือ Embryo) รำข้าว (เยื่อหุ้มเมล็ด) และเมล็ดข้าวขาวหรือเมล็ดข้าวสาร (Endosperm)     สารอาหารในเมล็ดข้าวประกอบด้วย  คาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบหลัก โดยมีโปรตีน วิตามินบี วิตามินอี และแร่ธาตุที่แยกไปอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของเมล็ดข้าว นอกจากนี้ ยังพบสารอาหารประเภท ไขมันซึ่งพบได้ในรำข้าวเป็นส่วนใหญ่   [ที่มา :  ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี]

เมื่อข้าวกล้องงอก...กลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาว (ตอนที่ 1)
ที่มา : https://www.techno.bopp.go.th 

ความสำคัญของพระเอกข้าวกล้องงอก...เขาล่ะ
        GABA เป็นกรดอะมิโนที่ผลิตจากกระบวนการ decarboxylation ของกรดกลูตามิก (glutamic acid) กรดนี้จะมีบทบาทสําคัญในการทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท(neurotransmitter) ในระบบประสาทส่วนกลาง     นอกจากนี้ GABA ยังถือ
เป็นสารสื่อประสาทประเภทสารยับยั้ง (inhibitor) โดยจะทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมองที่ได้รับการกระตุ้น ซึ่งช่วยทำให้สมองเกิดการผ่อนคลายและนอนหลับสบาย  อีกทั้งยังทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นต่อมไร้ท่อ (anterior pituitary) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (HGH) ทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้ กล้ามเนื้อเกิดความกระชับ และเกิดสาร lipotropic ซึ่งเป็นสารป้องกันการสะสมไขมัน

เมื่อข้าวกล้องงอก...กลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาว (ตอนที่ 1)

ที่มา :  https://iblog.siamhrm.com

        จากการศึกษาในหนู พบว่า การบริโภคข้าวกล้องงอกที่มีสาร GABA มากกว่าข้าวกล้องปกติ 15 เท่า จะสามารถป้องกันการทำลายสมอง เนื่องจาก สารเบต้าอไมลอยด์เปปไทด์ (Beta-amyloid peptide) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคสูญเสียความทรงจำ (อัลไซด์เมอร์)  ดังนั้น จึงได้มีการนำสาร GABA มาใช้ในวงการแพทย์เพื่อการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทต่างๆ หลายโรค เช่น โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ โรคลมชัก เป็นต้น    นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยด้านสุขภาพกล่าวว่า  ข้าวกล้องงอกที่ประกอบด้วย GABA มีผลช่วยลดความดันโลหิต ลด LDL (Low densitylipoprotein)  ลดอาการอัลไซเมอร์  ลดน้ำหนัก ทำให้ผิวพรรณดี ตลอดจนใช้บำบัดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลางได้
 [ที่มา :  ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี]


ประเด็นคำถามชวนคิด (อภิปรายในห้องเรียน)
        1.  ข้าวกล้องงอก คืออะไร
        2.  ข้าวกล้องและข้าวกล้องงอก แตกต่างกันอย่างไรในความคิดของนักเรียน
        3.  ข้าวกล้องงอกมีประโยชน์อย่างไรต่อสุขภาพ

กิจกรรมเสริมเพิ่มทักษะ
      
  
1.  กิจกรรมกลุ่มอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ "ทำไม...คนจึงไม่นิยมกินข้าวกล้อง"
        2.  กิจกรรมคู่จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในหัวข้อ "ทัศนคติของคนไทย...ต่อการบริโภคข้าวกล้อง"

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ
        1.  กลุ่มสาระคณิตศาสตร์
             -  กิจกรรมรายบุคคล ให้ฝึกสร้างโจทย์ปัญหาจากราคาของข้าวขาว / ข้าวกล้อง / ข้าวกล้องงอก
        2.  กลุ่มสาระภาษาไทย
             -  กิจกรรมกลุ่มอภิปรายในหัวข้อ " ความผูกพันในอดีต...คนไทยและข้าวไทย"
        3.  กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์
             -  กิจกรรมกลุ่มอภิปรายในหัวข้อ " ส่วนประกอบที่สำคัญในเมล็ดข้าว"
        4.  กลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ
             -  กิจกรรมกลุ่ม ให้ทำรายงานค้นคว้าในหัวข้อ "ประวัติความเป็นมา...ของข้าวไทย"
        5.  กลุ่มสาระศิลปะ
             -  กิจกรรมรายบุคคล วาดภาพ "ข้าวไทย"
        6.  กลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษา
             -  กิจกรรมรายบุคคล ให้ทำรายงานค้นคว้าด้วยตนเองในหัวข้อ " สารอาหารที่มีประโยชน์ในข้าวกล้องงอก"
        7.  กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ
             -  กิจกรรมรายบุคคล  ให้เรียนรู้คำศัพท์จากสารอาหารที่มีอยู่ในข้าวกล้องงอก

แหล่งที่มาข้อมูลอ้างอิง/ภาพประกอบ
         ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี (Ubon Ratchathani Rice Research Center)   
        
 https://iblog.siamhrm.com/%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%87%e0%b8%ad%e0%b8%81-%e0%b8%84%e0%b8%b7%e0%b8%ad/
          https://iblog.siamhrm.com/germinated-brown-rice-gaba-rice/
          https://topicstock.pantip.com/food/topicstock/2008/09/D7033610/D7033610-1.jpg
          https://www.techno.bopp.go.th/newsclassroom/images/stories/nakhonratchasima1/resize_229385__06012009120318.jpg


 

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=286

อัพเดทล่าสุด