กรุงเทพมหาครเมืองอยู่ง่าย ลำดับที่ 100 ของโลก


614 ผู้ชม


การจัดอันดับความอยู่อาศัยง่ายนั้นวัดจาก 5 ปัจจัย ได้แก่ สาธารณสุข ความมั่นคง ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม รวมถึงการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐาน   

กทม.ติดอันดับ100 เมือง'อยู่ง่าย' นครแวนคูเวอร์ที่1 

 
       หน่วยอีไอยู ของนิตยสาร "เดอะ อีโคโนมิสต์" จัดอันดับความง่ายในการอยู่อาศัยของเมืองขนาดใหญ่ทั่วโลก โดยนครแวนคูเวอร์ ยังครองแชมป์ ส่วนอันดับสุดท้ายที่ 140    กรุงฮาราเรของซิมบับเว.. 
                สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานวานนี้ (9 มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น อ้างผลสำรวจของหน่วยงานข่าวกรอง หรืออีไอยู ของนิตยสาร "เดอะ อีโคโนมิสต์"    ที่จัดอันดับความง่ายในการอยู่อาศัยของเมืองขนาดใหญ่ต่างๆ ทั่วโลก ว่า นครแวนคูเวอร์ทางภาคตะวันตกของแคนาดายังคงครองแชมป์อันดับ 1 ส่วนอันดับสุดท้ายที่ 140   คือ กรุงฮาราเร
ของซิมบับเว เนื่องจากวิกฤติการเมืองภายในที่ยังไม่จบสิ้น ขณะที่กรุงเทพฯอยู่อันดับ 100   อีไอยูระบุว่า การจัดอันดับความอยู่อาศัยง่ายนั้นวัดจาก 5 ปัจจัย ได้แก่ สาธารณสุข ความมั่นคง ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม 
รวมถึงการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ความน่าอยู่จะคิดเป็น 0-100 เปอร์เซ็นต์ โดย 0 คือรับไม่ได้ 100 
คือเมืองในอุดมคติ ซึ่งนครแวนคูเวอร์ได้ 98 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกรุงฮาราเรได้ 37.5 เปอร์เซ็นต์   อันดับ 2 รองลงมาคือกรุงเวียนนาของออสเตรีย ตามด้วยนครเมลเบิร์นของออสเตรเลีย นครโตรอนโต ของแคนาดา  นครเพิร์ธทางตะวันตกของออสเตรเลีย นครคัลการีของแคนาดา กรุงเฮลซิงกิของฟินแลนด์ นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์   ตามลำดับ ขณะที่อันดับ 9 ได้แก่ นครซิดนีย์ของออสเตรเลีย และนครซูริกของสวิตเซอร์แลนด์ที่คะแนนเท่ากัน   นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุอันดับของเมืองใหญ่อีกมากมาย เช่น กรุงปารีสของฝรั่งเศสอยู่ที่ 17   กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นอยู่ที่ 19 
กรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์กอยู่ที่ 21 กรุงเบอร์ลินของเยอรมนีอยู่ที่ 22 ซึ่งอันดับต่ำลงจากนี้ไปจนถึงราวๆที่ 60 
ตกเป็นของสหรัฐฯและยุโรป ได้แก่ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และนครลอสแอนเจลิสของสหรัฐฯอยู่ที่ 35 และ 48 ตามลำดับ ส่วนกรุงลอนดอนของอังกฤษอยู่ที่ 51   กรุงโรมของอิตาลีอยู่ที่ 52 อย่างไรก็ตาม อีไอยูชี้ว่าเมืองต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นได้คะแนนสูงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าผู้อยู่อาศัยจะไม่พบปัญหาในการใช้ชีวิตมากนัก ด้านประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่อันดับสูงกว่ากรุงเทพฯ ได้แก่ กรุงปักกิ่งของจีนอยู่ที่ 76 ขณะที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ได้ต่ำกว่า อยู่ที่ 108 
ส่วนกรุงนิวเดลี และนครมุมไบของอินเดียอยู่ที่ 114 และ 120 ตามลำดับ ทั้งนี้ ทางอีไอยูมิได้เปิดเผยตารางอันดับทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถระบุถึงอันดับของประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา และพม่าได้ ขณะเดียวกัน เมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าการใช้ชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างยากลำบาก คือกรุงเตหะรานของอิหร่าน รวมถึง 3 อันดับสุดท้ายคือ กรุงแอลเจียร์ของแอลจีเรีย กรุงธากาของบังกลาเทศ และกรุงฮาราเรของซิมบับเว
ไทยรัฐออนไลน์   โดย ทีมข่าวต่างประเทศ    10 มิถุนายน 2552, 06:50 น. 

2. ประเด็นจากข่าว 
   2.1 การประกอบอาชีพในกรุงเทพมหานคร
   2.2 อาชีพมัคคุเทศก์
3. เนื้อหาสำหรับ กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ระดับชั้น ม.4-6 สาระที่  4 งานอาชีพ  มาตรฐานที่ 4.1


ภาพจาก วิกีพีเดีย

               กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงและเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเงินการธนาคาร การพาณิชย์ การสื่อสาร ฯลฯ
 ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลกอีกด้วย มีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้แบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี   (เดิมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเป็นที่ตั้งของกรุงธนบุรี ซึ่งต่อมาภายหลังได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานคร) โดยกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ทั้งหมด 1,568.737 ตารางกิโลเมตร
 พิกัดทางภูมิศาสตร์คือ ละติจูด 13? 45’ เหนือ ลองจิจูด 100? 31’ ตะวันออก
              กรุงเทพมหานครเป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศไทย (เช่นเดียวกับเมืองพัทยา) โดยมิได้มีสถานะเป็นจังหวัด ซึ่งคำว่า กรุงเทพมหานคร นั้น  ยังใช้เป็นคำเรียกสำนักงานปกครองส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครอีกด้วย ปัจจุบันกรุงเทพมหานครใช้วิธีการเลือกตั้งผู้บริหารแบบ การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง
พื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองธนบุรีศรีสมุทร ชาวต่างชาติเรียกกันว่า "บางกอก" มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา   มีความสำคัญเนื่องจากเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลและติดต่อค้าขายกับอาณาจักรต่าง ๆ เป็นเมืองหน้าด่านขนอน คอยดูแลเก็บภาษีกับเรือสินค้าทุกลำที่ผ่านเข้าออก   ส่วนบริเวณปากน้ำตรงอ่าวไทย เรียกกันว่า "นิวอัมสเตอร์ดัม" มีชุมชนใหญ่และโกดังของชาวต่างประเทศไว้สำหรับพักสินค้า ปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณอำเภอพระประแดง  ที่มาของคำว่า "บางกอก" นั้น มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า "บางเกาะ" หรือ "บางโคก"    หรือไม่ก็เป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า "บางมะกอก" โดยคำว่า "บางมะกอก" มาจากวัดอรุณ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดดังกล่าว และต่อมาต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่าบางกอก  ต่อมาเมื่อถึงคราวเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 หลังการกอบกู้อิสรภาพจากพม่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนาเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ คือ กรุงธนบุรี
 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2313แต่กรุงธนบุรีมีสภาพเป็นเมืองอกแตก ตรงกลางมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหล ผ่าน เป็นเหตุให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) มีความคิดจะย้ายเมืองไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้การป้องกันรักษาเมืองเป็นไปได้โดยง่าย  
          เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์  ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี (รัชกาลที่ 1) มีพระราชดำริว่า ฟากตะวันออกของกรุงธนบุรีมีชัยภูมิดีกว่าตะวันตก 
เพราะมีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง หากข้าศึกยกมาติดถึงชานพระนคร ก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่าอยู่ข้างตะวันตก 
จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็น ราชธานีแห่งใหม่ โดยสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา  พระองค์มีพระบรมราชโองการให้
พระยาธรรมาธิกรณ์กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปวัดกะที่ดิน
เพื่อสร้างพระนครใหม่ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2325 ทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง 
เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที ปีขาล จ.ศ. 1144 จัตวาศก
 ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.54 น. และทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก
ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325
                ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงเปลี่ยนชื่อพระนครจาก บวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์ และมีฐานะในการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น  "จังหวัดพระนคร"
                 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนใหม่ขึ้น และเปลี่ยนรูปแบบผังเมืองกรุงเทพมหานครเฉกเช่นอารยประเทศ   เนื่องจากในสมัยนั้นสยามประเทศถูกคุกคามจากมหาอำนาจยุโรป และตรงจุดนี้เป็นหนึ่งในข้ออ้างที่มหาอำนาจนำมาใช้เพื่อแทรกแซงและคุกคาม สยามประเทศ ภายหลัง ต่างชาติยุโรปเองได้ยอมรับกรุงเทพมหานครว่า   เป็นหนึ่งในเมืองที่มีผังเมืองงดงามที่สุดในโลกในสมัยนั้น    ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรได้รวม จังหวัดพระนคร และ จังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกันเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี  และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร แต่นิยมเรียกกันว่า กรุงเทพ
   
5. ตั้งประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
   5.1 ความภาคภูมิใจในเมืองหลวงของประเทศ
   5.2 กรุงเทพฯ คือ  เมืองในฝันของนักเรียนในชนบท 
   5.3 นักเรียนควรเลือกประกอบอาชีพอะไรในกรุงเทพ
 
6. กิจกรรมเสนอแนะ
 
   6.1 นักเรียนรวบรวมแหล่งท่องเทียวที่น่าสนใจในกรุงเทพมหานคร
   6.2 นักเรียนนำเสนอความโดดเด่นของชุมชนของนักเรียน  เพื่อนำเสนอเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน 
   6.3 นำเเสนอผ่านสื่อต่าง  ๆ  ในรูปแบบของเว็บไซต์
 
  
ุ7. การบูรณาการกับสาระวิชาอื่นๆ 
   7.1 สาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เรื่อง การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในท่องเที่ยวไทย
   7.2 สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรม   เรื่อง  วัฒนธรรมของไทย
   7.3 สาระการเรียนศิลป  ดนตรี  นาฎศิลป์   เรื่อง ศิลปกรรมของไทยในสมัยต่าง  ๆ
      
8. อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล 
   1.https://th.wikipedia.org/wiki/กรุงเทพมหานคร
 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=753

อัพเดทล่าสุด