ปัจจุบันนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน (Global warming) ความเกี่ยวโยงระหว่างการใช้ถุงพลาสติก กับภาวะโลกร้อน คือ ถุงพลาสติกที่เราใช้ใส่สินค้าและอาหาร ผลิตจากน้ำมันดิบ และ ยังใช้เชื้อเพลิง ในการผลิตอีกด้วย
พลาสติก คือ อะไร
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ : https://www2.mtec.or.th/th/special/biodegradable_plastic/index.html
ในอดีต วัสดุดั้งเดิมที่มนุษย์คุ้นเคย และใช้ในชีวิตประจำวัน ล้วนเป็นวัสดุจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น แก้ว ไม้ กระดาษ โลหะ ยาง หรือ ขนสัตว์ สิ่งเหล่านี้เคยเป็นวัสดุที่ตอบสนองความต้องการ ของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี แต่มนุษย์ยังคงพยายามค้นหาวัสดุใหม่ๆ มาใช้งานอยู่เสมอ จนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 19 พลาสติกเป็นวัสดุที่มนุษย์
คิดค้น และประดิษฐ์ขึ้น เพื่อการใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย
พลาสติกจัดเป็นสารประกอบพวกไฮโดรคาร์บอน (Hydro Carbon)ประกอบด้วยธาตุสำคัญ คือ คาร์บอน,ไฮโดรเจน,และ ออกซิเจน นอกจากนี้อาจมีธาตุอื่นๆ เป็นส่วนประกอบย่อย ได้แก่ ไนโตรเจน,ฟลูออรีน,คลอรีน,และกำมะถัน เป็นต้น
กระบวนการผลิตพลาสติก
พลาสติกที่ใช้กันในปัจจุบัน เช่น ถุง กล่อง ท่อ แผ่นฟิล์ม ผลิตจากน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอน ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติใต้ผิวดิน ที่มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ยุค ปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นทั้งแหล่งพลังงาน และ แหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตวัสดุสังเคราะห์มากมาย
การผลิตพลาสติก เกิดจากการกลั่นลำดับส่วนน้ำมันดิบ เพื่อแยกเอาสารประกอบไฮโดรคาร์บอน และ ผ่านกระบวนการแยกสลายอีกหลายขั้นตอน จนได้เป็นสารประกอบขนาดเล็ก เช่น ก๊าซเอทธิลีน และ โพรพิลีน เป็นต้น ซึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชนิดต่างๆ
พลาสติกรอบตัวเราที่รีไซเคิลได้
พลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มีประมาณ 7ชนิด ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ และ มีการให้สัญลักษณ์ตัวเลขที่เป็นสากล เพื่อง่ายต่อการแยกประเภทของพลาสติก โดยตัวเลข 1 ถึง 7 จะอยู่ในสัญลักษณ์ลูกศรสามเหลี่ยมสามตัว ที่วิ่งตามกัน มักปรากฏบริเวณก้นของภาชนะพลาสติก
โพลิเอทธิลีนเทเรฟทาเลต (Poly Ethylene Terephthalate, PET)
PET ทนแรงกระแทก ไม่เปราะแตกง่าย สามารถทำให้ใสมาก มองเห็นสิ่งที่บรรจุอยู่ภายในจึงนิยมใช้บรรจุน้ำดื่ม น้ำมันพืช และเครื่องสำอาง นอกจากนี้ขวด PET ยังมีคุณสมบัติป้องกัน การแพร่ผ่านของก๊าซได้เป็นอย่างดี จึงใช้เป็นภาชนะบรรจุน้ำอัดลม
PET สามารถนำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้ โดยนิยมนำมาผลิตเป็นเส้นใย สำหรับทำเสื้อกันหนาว พรม และ เส้นใยสังเคราะห์สำหรับยัดหมอน หรือเสื้อสำหรับเล่นสกี
โพลิเอทธิลีนความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene, HDPE)
HDPE โพลิเอทธิลีนชนิดหนาแน่นสูง ค่อนข้างแข็งแต่ยืดได้มาก ไม่แตกง่าย ส่วนใหญ่มักจะถูกตกแต่ง ให้มีสีสันสวยงาม ยกเว้นขวดที่ใช้บรรจุน้ำดื่ม ซึ่งจะขุ่นกว่าขวด PET ราคาถูกขึ้นรูปได้ง่าย ทนสารเคมี จึงนิยมใช้ทำบรรจุภัณฑ์ สำหรับน้ำยาทำความสะอาด แชมพูสระผม แป้งเด็ก และ ถุงหูหิ้วแบบหนา นอกจากนี้ภาชนะที่ทำจาก HDPE สามารถป้องกันการแพร่ผ่าน ของความชื้นได้ดี จึงมักนำมาผลิตขวดบรรจุนม เพื่อยืดอายุของนมให้นานขึ้น
HDPE สามารถนำกลับมารีไซเคิลเพื่อผลิตขวดต่างๆ ได้ เช่น ขวดใส่น้ำยาซักผ้า แท่งไม้เทียม เพื่อใช้ทำรั้วหรือม้านั่งในสวน เป็นต้น
โพลิไวนิลคลอไรด์ (Poly Vinyl Chloride), PVC)
PVC เป็นพลาสติกแข็งใช้ทำท่อ เช่น ท่อน้ำประปา แต่สามารถทำให้นิ่ม โดยใส่สารพลาสติกไซเซอร์ ใช้ทำสายยางใส แผ่นฟิล์มสำหรับห่ออาหาร ม่านในห้องอาบน้ำ แผ่นกระเบื้องยาง แผ่นพลาสติกปูโต๊ะ ขวดใส่แชมพูสระผม PVC เป็นพลาสติกที่มีสมบัติหลากหลาย สามารถนำมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์อื่นได้อีกมาก เช่น ประตู
หน้าต่าง วงกบ และหนังเทียม
PVC สามารถนำกลับมารีไซเคิล เพื่อผลิตท่อประปาสำหรับการเกษตร กรวยจราจร และเฟอร์นิเจอร์ ประเภทม้านั่งพลาสติก
โพลิเอทธิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene, LDPE)
LDPE เป็นพลาสติกนิ่ม สามารถยืดตัวได้มาก และ มีความใส นิยมนำมาทำเป็นฟิล์ม สำหรับห่ออาหารและห่อของ ถุงใส่ขนมปัง และถุงเย็นสำหรับบรรจุอาหาร
LDPE สามารถนำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้ โดยใช้ผลิตเป็นถุงดำสำหรับใส่ขยะ ถุงหิ้วก๊อบแก๊บ หรือถังขยะ
โพลิโพรพิลีน (Polypropylene, PP)
PP เป็นพลาสติกที่แข็ง ทนต่อแรงกระแทกได้ดี ทนต่อสารเคมี ความร้อน และ น้ำมันทำให้มีสีสันสวยงามได้ ส่วนใหญ่นิยมนำมาทำภาชนะบรรจุอาหาร เช่น กล่อง ชาม จาน ถัง ตะกร้า หรือ กระบอกสำหรับใส่น้ำแช่เย็น
PP สามารถนำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้ โดยนิยมผลิตเป็นกล่องแบตเตอรี่รถยนต์ชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น กันชน และ กรวยสำหรับกรอกน้ำมัน
PS เป็นพลาสติกที่แข็ง ใส แต่เปราะ และแตกง่าย ราคาถูก นิยมนำมาทำเป็นภาชนะบรรจุของใช้ เช่น เทปเพลง สำลี หรือ ของแห้ง เช่น หมูแผ่น หมูหยอง และคุกกี้ มีการนำพลาสติกประเภทนี้ ผสมทำภาชนะ หรือถาดโฟม สำหรับบรรจุอาหาร จะทำให้มีน้ำหนักที่เบามาก
PS สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยนิยมผลิตเป็นไม้แขวนเสื้อ กล่องวีดีโอ ไม้บรรทัด หรือ ของใช้อื่นๆ
พลาสติกอื่นๆ ที่ไม่ใช่ 6 ชนิดแรก หรือ ไม่ทราบว่าเป็นพลาสติกชนิดใด
ปัจจุบันเรามีพลาสติกหลายชนิดให้เลือกใช้ พลาสติกที่ใช้ในครัวเรือนส่วนใหญ่ สามารถนำกลับมารีไซเคิลเพื่อหลอมใช้ใหม่ได้ การมีสัญลักษณ์ตัวเลข ทำให้เราสามารถ แยกพลาสติกออกเป็นชนิดต่างๆ เพื่อนำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้ง่ายขึ้น สำหรับพลาสติกในกลุ่มที่ 7 เป็นพลาสติกชนิดอื่นที่ไม่ใช่ 6 ชนิดแรก ซึ่งมักจะมีตัวเลขระบุ และ ตัวย่อภาษาอังกฤษระบุชนิดของพลาสติกไว้ เช่น โพลิคาร์บอเนต(Polycarbonate, PC) เป็นต้น
ทำไมต้องลดการใช้ถุงพลาสติก
ในแต่ละปีทั่วโลกใช้ถุงพลาสติก 500 ล้าน – แสนล้านใบ โดยถุงพลาสติกน้อยกว่าร้อยละ 1 ถูกนำมารีไซเคิล เพราะต้นทุนการผลิตใหม่ถูกกว่า จากการศึกษาเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน พบว่า ขยะถุงพลาสติกถูกทิ้งลงทะเลแล้ว ประมาณ 3 ล้านกิโลกรัม และ ยังคงมีการทิ้งอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่มีมาตรการควบคุมการใช้ถุงพลาสติก และ การทิ้งขยะถุงพลาสติก ที่เข้มงวดและกว้างขวาง
ปัจจุบันนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน (Global warming) ความเกี่ยวโยงระหว่างการใช้ถุงพลาสติก กับภาวะโลกร้อน คือ ถุงพลาสติกที่เราใช้ใส่สินค้าและอาหาร ผลิตจากน้ำมันดิบ และ ยังใช้เชื้อเพลิง ในการผลิตอีกด้วย ซึ่งพลังงานที่ใช้ผลิตถุงพลาสติกประมาณ 9 ใบ สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำมัน ให้รถวิ่งได้ไกลถึง 1 กิโลเมตร เนื่องจากถุงพลาสติกสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ในปริมาณมาก และ ต้นทุนที่ต่ำ ที่สำคัญที่สุดคือมีอายุการใช้งานสั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้เพียงครั้งเดียว โดยเฉพาะถุงก๊อบแก๊บ ดังนั้น ขยะถุงพลาสติกเป็นภาระอย่างยิ่งในการเก็บขนและกำจัด เนื่องจากคุณลักษณะที่เบาบาง และ มีปริมาณมากปะปนกับมูลฝอยประเภทอื่นๆ ได้ง่าย ซึ่งทำ
ให้การย่อยสลายมูลฝอยอื่น เป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ยิ่งมีการใช้ถุงพลาสติกมากเท่าไหร่ ปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก จากการผลิต และ กำจัดขยะถุงพลาสติกก็จะยิ่งสูงมากขึ้น ขยะถุงพลาสติก เมื่อผุพังก็กลายเป็นขยะชิ้นเล็กๆ ซึ่งสามารถแทรกในชั้นดิน และ ปนเปื้อนในน้ำได้ ผลก็คือ ชิ้นส่วนเล็กๆ ของพลาสติกเข้าไปสู่ห่วงโซ่อาหาร ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อ พืช สัตว์มนุษย์ และ สิ่งแวดล้อม
ดังนั้น ประโยชน์เพียงเล็กน้อยในช่วงเวลาสั้นๆ ของถุงพลาสติก ได้ทำให้เกิดโทษต่อ พืช สัตว์ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง กว้างขวาง และยาวนาน ในแต่ละสัปดาห์ คนไทยนำถุงพลาสติกกลับบ้านมากกว่า 100ล้านถุง หรือมากกว่า 5,000 ล้านถุงในแต่ละปี โดยการผลิตและใช้งาน ยังคงมีปริมาณมากและต่อเนื่อง น่าจะถึงเวลาแล้ว ที่คนไทยจะทบทวนเรื่องใกล้ตัวนี้ และ เร่งออกมาตรการ ในการลดการใช้ถุงพลาสติก อย่างเป็นรูปธรรม
ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
1. ลดการใช้ถุงพลาสติกแล้วได้อะไร
2. จะลดการใช้ถุงพลาสติกได้อย่างไร
3. ข้อดีของการใช้ถุงผ้าคืออะไร
กิจกรรมเสนอแนะ
- เสนอให้รัฐาลประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติก
- เสนอให้รัฐบาลมีการเก็บภาษีถุงพลาสติก
- เสนอให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก
- ห้างร้านประชาสัมพันธ์ เสนอผลประโยชน์ตอบแทนลูกค้า โดยหากลูกค้าไม่ต้องการถุงพลาสติก ให้แจ้งพนักงานขาย แล้วจะได้รับแต้มสะสม เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากทางห้างต่อไป
- ร่วมกันรณรงค์ โดยกำหนดให้วันใดวันหนึ่งของสัปดาห์เป็นวันพกถุงไปช็อปปิ้ง
- การประกาศตัวเป็นเมืองปลอดถุงพลาสติก ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษเป็นค่าปรับ
- การพัฒนาวัสดุทดแทน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวด้อม
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
สาระที่ 1 มาตรฐาน ง 1.1 ชช.2-4
สาระที่ 2 มาตรฐาน ง 2.1 ชช.1-4
กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์
สาระที่ 2 มาตรฐาน ว 2.2 ชช.1-4
สาระที่ 3 มาตรฐาน ว 3.2 ชช.1-4
ที่มาของข้อมูล
https://www2.mtec.or.th/th/special/biodegradable_plastic/index.html
www.thaivolunteer.org
www.greenleafthai.org
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1066