ข้าวหอมมะลิ ข้าวดีของไทย


960 ผู้ชม


ในฐานะที่เราเป็นคนไทย รับประทานข้าวเป็นอาหารหลักมาช้านาน เราจะมา ทำความรู้จักข้าวหอมมะลิ สุดยอดข้าวไทย   

น้อมเกล้าฯถวายข้าวสาร 16 ตัน แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

         หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันพฤหัสบดี ที่ 02 กรกฎาคม 2552 ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับสหกรณ์ผู้ผลิตข้าวหอมมะลิ ในเขตภาคอีสาน รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายคุณค่าข้าวหอมมะลิ ร่วมน้อมเกล้าฯถวายข้าวสารจำนวน 16 ตันแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อนำไปใช้ในกิจการ กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร พร้อมประสานกับสำนักงานโครงการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี นำส่งข้าวสู่จุดหมายปลายทาง เพื่อใช้ในกิจการกองทุนพัฒนาเด็ก และเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร
         สำหรับวันนี้ในฐานะที่เราเป็นคนไทย รับประทานข้าวเป็นอาหารหลักมาช้านาน เราจะมา ทำความรู้จักข้าวหอมมะลิ สุดยอดข้าวไทย ที่สร้างชื่อเสียงเกรียงไกรไปทั่วโลก

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 หรือช่วงชั้นที่ 3

ข้าวหอมมะลิ ข้าวดีของไทย
ขอขอบคุณ ม.รามคำแหงฯ สุรินทร์


ประวัติ ความเป็นมาของข้าวหอมมะลิไทย
         ในปี2493-2494 กรมการข้าวในขณะนั้นได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เกษตร ออกรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองต่างๆ ที่ปลูกในประเทศไทย ในการนี้ นายสุนทร สีหะเนิน เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของกรมการข้าว ได้เดินทางไปรวบรวมพันธุ์ข้าวจำนวน 199 รวง จากพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และถูกนำไปทดลองปลูก เพื่อคัดเลือกพันธุ์ และในที่สุด ข้าวรวงที่ 105 ได้รับการคัดเลือกออกมาเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะเป็นที่น่าพอใจ มีลักษณะภายนอก เมล็ดสวยงาม เรียวยาว มีความมัน เลื่อม ใส ข้าวหุงสุกทั้งนุ่ม-เหนียว และหอมกรุ่นชวนรับประทาน   กรมการข้าวจึงได้คัดพันธุ์บริสุทธิ์ ในสถานีทดลองข้าวโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี และนำไปขยายผลในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ ในปี 2500 เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์จึงถูกส่งไปปลูกขยายผล และทดสอบในภูมิภาคต่างๆของประเทศ พบว่า สภาพแวดล้อมทั้งดินและภูมิอากาศ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับปลูกข้าวพันธุ์นี้.......ในปี 2502  พันธุ์ข้าวรวงที่ 105ได้รับประกาศรับรอง เป็นพันธุ์ข้าวรับรองที่กรมการข้าว สนับสนุนให้เป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ชื่อพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 (อ่านว่าหนึ่งร้อยห้า) ในวันที่ 25 พค02
ลักษณะจำเพาะของกลิ่นหอมมะลิ
         ความหอมของข้าวหอมมะลิ เกิดจากสารระเหยชื่อ 2-acetyl-1-pyroline ซึ่งเป็นสารที่ระเหยหายไปได้ การรักษาความหอมของข้าวหอมมะลิ ให้คงอยู่นานนั้นจึงควรเก็บข้าวไว้ในที่เย็น อุณหภูมิประมาณ 15 องศาเซลเซียส เก็บข้าวเปลือกที่มีความชื้นต่ำ 14-15% ลดความชื้นข้าวเปลือกที่อุณหภูมิไม่สูงเกินไป นักการเกษตรกรบางท่านกล่าวว่า การใช้ปุ๋ยโปตัสเซียมในการปลูก มีแนวโน้มช่วยให้ข้าวมีกลิ่นหอมมากขึ้น (ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน)
ลักษณะดีเด่นของกลิ่นหอมมะลิ
         ปลูกได้ในที่นาดอน ทนแล้ง ทนดินเปรี้ยว-ดินเค็ม คุณภาพการหุงต้มดี มีกลิ่นหอม รสชาติดี ต้านทานไส้เดือนฝอยรากปม 
ทำไมต้องเป็น  ขาวดอกมะลิ 105
         เมื่อพันธุ์ข้าวผ่านการคัดเลือก และปรับปรุงจนได้เมล็ดพันธุบริสุทธิ์แล้ว การขยายผลพันธุ์ข้าวจำเป็นต้องมีการ ประกาศและสนับสนุนการปลูกข้าวพันธุ์นี้  กระบวนการตั้งชื่อจึงมีความสำคัญ เพื่อให้เป็ที่จดจำประทับใจ การตั้งชื่อต้องสื่อความหมาย คุณลักษณะของพันธุ์ข้าว  จึงเป็นที่มาของชื่อ ขาวดอกมะลิ 105 ชื่อแต่ละคำมีความหมายดังนี้
         ขาว หมายถึง สีขาวของเมล็ดข้าวสาร
         ดอกมะลิ หมายถึง ดอกมะลิซึ่งเป็นดอกไม้ไทย ที่มีปลูกกันอยู่ทุกครัวเรือน ใช้สำหรับบูชาพระ ตรงนี้ท่านต้องนึกถึง พศ.2502 นะครับ
         กลิ่นหอม  ของข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 มีกลิ่นหอม เหมือนกลิ่นหอมของใบเตย  ไม่ใช่กลิ่นหอมของดอกมะลิตามที่เข้าใจกัน  นะครับ
         ตัวเลข 105 (หนึ่งร้อยห้า)หมายถึงรวงที่105 ที่ถูกเก็บรวบรวม โดยนายสุนทร สีหะเนิน

ข้าวหอมมะลิ ข้าวดีของไทย
ขอขอบคุณศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ


ข้าวขาวมะลิ 105 และข้าวหอมมะลิมีความแตกต่างกันอย่างไร
         ข้าวหอมมะลิ” เป็นข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุด และราคาแพงที่สุดของประเทศไทย เป็นที่นิยมบริโภคทั้งในประเทศ และต่างประเทศสำหรับตลาดต่างประเทศ ผู้บริโภคที่มีฐานะดี มีกำลังซื้อสูงปัจจุบันการขยายปริมาณ การส่งออกมีลู่ทางแจ่มใสกว่าข้าวพันธุ์อื่น ๆ ปริมาณการส่งออกเพิ่มจาก 148,544 ตัน ในปี 2532 ในปี 2536 ประเทศที่เป็นลูกค้าข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา คุณสมบัติที่ส่ง ให้ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวคุณภาพสูง และข้าวเปลือกเรียวยาว ได้ขนาดมาตรฐานข้าวชั้นหนึ่ง เมื่อสีเป็น ข้าวสารจะได้ข้าว เรียว ยาว ขาวใส เป็นเงาแกร่งและมีท้องไข่น้อย ถ้าเป็นข้าวที่ข้าวสารก็มีกลิ่นหอมเมื่อหุงเป็นข้าวสุกก็จะรสชาติ ดี ข้าวหอมมะลิจัดเป็นข้าวที่มีอะมิโลสต่ำ คือ ประมาณ 12-18% ทำให้ข้าวสุกมีความอ่อนนุ่มนิ่ม ชื่อที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการค้าข้าว นิยมเรียกโดยเพี้ยนมากจาก “ขาวดอกมะลิ” และมีชื่อเป็นทางการว่า “ขาวดอกมะลิ 105” ซึ่งมีความหมายว่า ประเภทข้าวขาว เพราะ ข้าวเปลือกมีสีขาว หรือสีฟาง และมีกลิ่นหอม สำหรับหมายเลข 105 นั้น ได้มาจาก ขึ้นตอนการปรับปรุงพันธุ์
เกรดในการจำหน่าย
         1.ข้าวหอมมะลิ ชั้น 1 (ดีพิเศษ) มีข้าวชนิดอื่นปนได้ไม่เกิน 5% 
         2.ข้าวหอมมะลิ ชั้น 2 (ดี) มีข้าวชนิดอื่นปนได้ไม่เกิน 15% 
         3.ข้าวหอมมะลิ ชั้น 3 (ธรรมดา) มีข้าวชนิดอื่นปนได้ไม่เกิน 30%

ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
        1.ทำไมข้าวหอมมะลิของไทย จึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก
        2.เกษตรกรไทยจะดำรงความเป็นข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพไว้ได้อย่างไร
        3.สมควรหรือไม่ที่คนไทยจะหันมาบริโภคข้าวหอมมะลิ เพราะเหตุใด


กิจกรรมเสนอแนะ
        นักเรียนทำรายงาน และนำเสนอรายงานเรื่องข้าวหอมมะลิเพิ่มเติม อาจมีการจัดทำป้ายนิเทศประกวดแข่งขัน


การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
          สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีไทย


แหล่งที่มาของข้อมูล
 https://th.wikipedia.org/ 
 https://guru.sanook.com/answer/question 
 https://www.phunchulee.com/board/index.php?topic=34.0 
 https://www.thairice.org/html/aboutrice/about_rice6.htm 
 https://gotoknow.org/blog/mitree-suk/152366 
 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1077

อัพเดทล่าสุด