ของแท้ แน่กว่าของปลอม ฉันใด ไข่ก็ฉันนั้น
กลายเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วในโลกไซเบอร์ เมื่อ"ไข่ไก่สดปลอม" เกิดขึ้นจริง ..ปลอมไข่ไก่สด? ซึ่งเป็นอาหารที่ทุกบ้านทุก ครอบครัวในโลกนี้ต้องบริโภคกัน คราวนี้เลยทำเอาหลายคนหวั่น เกิดอาการกลัวๆ กล้าๆ จะบริโภคกันต่อดีไหมหนอ ก็ขนาดคนขายยังบอกเลยว่าแยกไม่ออกระหว่างไข่จริงกับไข่ปลอม
ทั้ง นี้ "ไข่ปลอม" เกิดขึ้นที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างเมืองจีน โดยทางการจีนสามารถระงับการขายไข่ไก่ปลอมได้ที่ มณทลกวางโจว หลังพบวางขายกันอย่างแพร่หลายตามตลาด ซึ่งราคาขายส่งตกฟองละ 0.15 หยวนหรือ ประมาณ 0.75 บาท (โอ้โห..ถูกกว่าไข่จริงมากกว่าครึ่ง) (ที่มา)
ฮือฮามากมาย ตื่นตัว ตื่นเต้น แม้จะเกิดเรื่องมานานตั้งแต่ปี 2548 แต่ข่าวเพิ่งมีการเผยแพร่กว้างขวางมากขึ้นในปีนี้ เศรษฐกิจตกต่ำยังไม่พอ การสร้างไข่ไก่ขายกลับเป็นอาชีพที่น่าสนใจ อาจจะเป็นเพราะกำไรงามกระมัง ...เราผู้พร้อมในโลกยุคไอที ควรจะเลี้ยงไก่จริง เพื่อออกไข่จริงไว้รับประทานในโรงเรียน อาหารกลางวันที่จัดให้กับนักเรียนจะได้ไม่ต้องขาดความมั่นใจว่าเป็นไข่ปลอมหรือเปล่า แม้จะยังไม่มีการนำเข้าไข่แต่หากวันนี้ได้เลี้ยงเอง ความปลอดภัย ความมั่นใจคงเกินร้อยค่ะ เลื้ยงไก่ไข่กันดีกว่า
เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ระดับช่วงชั้นที่ 2 (งานเกษตร การเลี้ยงสัตว์ )
เนื้อเรื่อง
ในอดีตการเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทย มีการเลี้ยงตามบ้านเล็กๆ น้อยๆ เพื่อกินเนื้อกินไข่ คือ การเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติให้ไก่อาศัยตามใต้ถุนบ้าน ชายคา โรงนา และต้นไม้ พันธุ์ไก่ที่เลี้ยงจะเป็นไก่พันธุ์พื้นเมือง เช่น ไก่แจ้ ไก่อู และไก่ตะเภา เป็นต้น
ในปี พ.ศ.2567 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤษดากร ได้นำไก่พันธุ์เล็กฮอร์นมาเลี้ยงแบบทันสมัย เพื่อการค้าเป็นครั้งแรก แต่การเลี้ยงไก่ไม่พัฒนาเท่าที่ควร เนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีวัคซีนและยาเพื่อป้องกันและรักษาโรคไก่
ในปี พ.ศ.2484 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ กรมปศุสัตว์ ได้ร่วมมือกันทดลองเลี้ยงไก่พันธุ์ต่างๆ ที่แผนกสัตว์เล็ก บางเขน แต่พอมีไก่เต็มโรงเรือนและมีการแข่งขันไก่ไข่ดกเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก ก็เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ทำให้การเลี้ยงไก่ไข่และไก่ไข่ดกต้องหยุดชะงักไประยะหนึ่ง
ต่อมาในปี พ.ศ.2492 ได้สั่งไก่พันธุ์โร๊ดไอส์แลนด์แดง จากประเทศสหรัฐอเมริกาและพันธุ์ออสตราล็อปจากประเทศออสเตรเลีย เข้ามาทดลองเลี้ยงและส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงเป็นอาชีพ รวมทั้งได้สั่งไก่พันธุ์อื่นๆ เข้ามาเลี้ยง เช่น พันธุ์บาร์พลีมัทร็อค พันธุ์นิวแฮมเชียร์ เป็นต้น และในปี พ.ศ.2489 นี้เองเป็นปีที่มีการตื่นตัวในการเลี้ยงไก่อย่างมาก เนื่องจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นและ จอมพลผิน ชุณหวัณ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและประธานกรรมการการส่งเสริมปศุสัตว์แห่งชาติ ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงไก่เป็นอย่างมาก
ต่อมาในราวปี พ.ศ.2494-2495 ได้มีการเลี้ยงไก่ลูกผสม เพื่อให้ได้ไข่ดกและทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศของเมืองไทย เชน พันธุ์ออสตราไวท์โร๊ดบาร์ เป็นต้น นอกจากนี้องค์การอาหารและเกษตรขององค์การสหประชาชาติยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงไก่และโรคไก่เข้ามาช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่
พันธุ์ไก่ไข่ (รายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ )
1. ไก่พันธุ์แท้ ได้แก่ 1. โร๊ดไอส์แลนด์แดง 2. บาร์พลีมัทร็อค 3. เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร
2. ไก่ลูกผสม
3. ไก่ไฮบริด
การเลี้ยงไก่ไข่สามารถทำการเลี้ยงได้ 2 วิธี
การเลี้ยงแบบกรงตับ เป็นกรงใส่ไก่ไข่ที่มีทั้งแบบชั้นเดียว และหลายชั้นซ้อนกันเป็นที่นิยมมาก ชั้นเดียว 2 ด้าน ด้านละ 6 ช่อง ชุดหนึ่งเลี้ยงได้ 12 ตัว ติดตั้งอุปกรณ์ให้น้ำให้อาหารแบบกะทัดรัด
การเลี้ยงแบบขังรวม เป็นการเลี้ยงไก่แบบเลี้ยงรวมกันในโรงเรือนขนาดใหญ่ และรองพื้นด้วยวัสดุรองพื้น วิธีนี้เป็นที่สนใจจากผู้เลี้ยงในปัจจุบันอย่างมาก
โรงเรือน และอุปกรณ์ในการเลี้ยงไก่ไข่ ต้องแข็งแรง กันแดด กันฝน กันลมได้ และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
โรงเรือนไก่ไข่ (ที่มา)
การจัดสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่เพื่อการค้านั้น จำเป็นจะต้องจัดสร้างโรงเรือนให้ถูกแบบ มีความแข็งแรง ทนทาน และสามารถใช้เลี้ยงไก่ได้นานปี จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เลี้ยงไก่ไข่จะต้องสร้างโรงเรือนให้ถูกแบบมาตรฐาน ตามสภาพแวดล้อมของประเทศไทย โรงเรือนที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
1. สามารถป้องกันแดด ลม และฝนได้ดี
2. ป้องกันศัตรูต่างๆ เช่น นก, หนู, แมว ได้
3. รักษาความสะอาดได้ง่าย ลักษณะที่ดีโรงเรือนควรเป็นลวด ไม่รกรุงรัง น้ำไม่ขัง
4. ควรห่างจากบ้านคนพอสมควร ไม่ควรอยู่ทางด้านต้นลมของบ้าน เพราะกลิ่นขี้ไก่อาจจะไปรบกวนได้
5. ควรเป็นแบบที่สร้างได้ง่าย ราคาถูก ใช้วัสดุก่อสร้างที่หาได้ในท้องถิ่น
6. หากมีโรงเรือนไก่ไข่หลายๆ หลัง การจัดสร้างไม่ควรให้เป็นเรือนแฝดแต่ควรเว้นระยะห่างของแต่ละโรงเรือนไม่น้อยกว่า 10 เมตร ทั้งนี้ เพื่อให้มีการระบายอากาศ และความชื้นดีขึ้น
การดูแลรักษาไก่ไข่
กกลูกไก่ด้วยหลอดไฟฟ้า 40-60 แรงเทียน โดยติดหลอดไฟไว้ใต้ฝาชี
การให้อาหารสำเร็จรูปควรมีโปรตีนตามอายุไก่ไข่
ลูกไก่และไก่เล็ก อายุ 0-8 สัปดาห์ อาหารควรมีโปรตีน 12-18 %
ไก่รุ่นและไก่สาว อายุ 8 สัปดาห์ อาหารควรมีโปรตีน 17-18 %
ไก่ไข่อายุตั้งแต่เริ่มไข่เป็นต้นไป อาหารควรมีโปรตีน 15-16 %
การทำวัคซีนให้กับไก่ไข่ ควรให้วัคซีนซีมาเร็กซ์เพื่อป้องกันโรคมะเร็งในไก่นิวคาสเซิ่น หลอดลมอักเสบ ฝีดาษ อหิวาต์ กล่องเสียงอักเสบ วิธีเริ่มต้นเลี้ยงไก่ไข่
1. เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงลูกไก่อายุ 1 วัน เป็นวิธีที่นิยมกันมากเนื่องจากทุนน้อย สามารถเลี้ยงไก่ได้ตลอดเวลาด้วยตัวเอง ดูแลเอาใจใส่ได้อย่างเต็มที่ ได้รู้ประวัติของไก่ทั้งฝูง แต่การเลี้ยงแบบนี้ต้องใช้เวลานานกว่าไก่จะให้ไข่ เพราะต้องเลี้ยงตั้งแต่แรกเกิด และต้องเสี่ยงต่อการตายของไก่ในระยะแรกๆ ต้องรออย่างน้อยถึง 22 สัปดาห์ ไก่จึงจะเริ่มให้ไข่
2. เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงไก่รุ่นอายุ 2 เดือน เป็นวิธีที่นิยมกันในปัจจุบัน โดยการซื้อไก่รุ่นอายุ 6 สัปดาห์ - 2 เดือน มาจากฟาร์มหรือบริษัทที่รับเลี้ยงลูกไก่ ลูกไก่ในระยะนี้ราคายังไม่แพงมากนัก และสามารถตัดปัญหาในเรื่องการเลี้ยงดูลูกไก่และการกกลูกไก่ การเลี้ยงไก่รุ่นอายุ 2 เดือนนี้ มักจะให้อาหารที่มีคุณภาพค่อนข้างต่ำ ราคาถูก การเลี้ยงไม่ต้องใช้ความชำนาญมากนัก ผู้ที่เริ่มต้นเลี้ยงไก่เป็นครั้งแรก จึงสมควรเริ่มเลี้ยงด้วยวิธีนี้
3. เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงไก่สาว เป็นวิธีที่ผู้เลี้ยงไก่เป็นอาชีพหรือเพื่อการค้านิยมกันมาก เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาเลี้ยงดูไก่เล็กหรือไก่รุ่น นอกจากนี้โรงเรือนก็สร้างไว้เฉพาะกับไก่ไข่เท่านั้น แต่การเลี้ยงไก่วิธีนี้ต้องลงทุนสูง ผู้เลี้ยงจะต้องรู้จักฟาร์มที่ผลิตไก่สาวเป็นอย่างดี ต้องสอบถามถึงประวัติของฝูงไก่สาวที่นำมาเลี้ยงเสมอ เพราะช่วงที่ไก่ยังเป็นลูกไก่และไก่รุ่นผู้เลี้ยงไม่สามารถรู้ประวัติของฝูงไก่สาวที่จะนำมาเลี้ยงได้
เคล็ดลับ
การเลี้ยงไก่ไข่ให้มีคุณภาพ ต้องมีการสุขาภิบาลที่ดี ดูแลความสะอาดของโรงเรือน อุปกรณ์ให้น้ำ และอย่าให้เสียงดังรบกวนไก่ ไก่อาจตกใจไม่ออกไข่หรืออาจตายได้
เรื่องน่ารู้ ไข่จากฟาร์มขังกรงได้มาจากอาหารสำเร็จรูปตายตัว, ยาปฏิชีวนะ และสารเคมีที่เราไม่เคยรู้อีก ออกมาเป็นไข่ที่เรากินกันอยู่ส่วนใหญ่
ประเด็นคำถาม
1. การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่มีประโยชน์อย่างไร
2. การเลี้ยงไก่มีวิธีการดูแล และเตรียมการอย่างไร
3. เราสามารถนำไข่ ไปประกอบอาหารอะไรได้บ้าง
4. หากไม่มีโรงเรือนในการเลี้ยง ควรเลี้ยงไก่จำนวนเท่าใดจึงจะเพียงพอ
กิจกรรมเสนอแนะ
นำนักเรียนไปเยี่ยมชม โรงเรือนที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงไก่ไข่ หรือ ศึกษาดูงานในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีการเลี้ยงไก่ไข่ หรือเลี้ยงปลาให้นักเรียนได้เห็นจริง
การบูรณาการกลับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
สามารถประยุกต์เนื้อหาบูรณาการในกลุ่มการงานอาชีพและเทคโนโลยี งานประดิษฐ์ การทำพรมเช็ดเท้ารูปไข่, ให้นักเรียนได้ทำอาหารจากไข่ เช่นไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย ไข่พะโล้ ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ยำไข่ดาว ฯลฯ
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ การใช้สารเคมีทดสอบส่วนประกอบของไข่ และการปัองกันตนจากไข้หวัดนก
กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา อาหารหลัก 5 หมู่
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เขียนเรียงความเรื่องของไข่ หรือเขียนบรรยายภาพ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ วาดภาพโรงเรือนเลี้ยงไก่ วาดภาพไก่
แหล่งที่มา
ประวัติ https://www.dld.go.th/service/layer/history.html
อุปกรณ์ https://www.dld.go.th/service/layer/tool.html
พันธ์ไก่ไข่ https://www.dld.go.th/service/layer/type.html
โรงเรือน https://www.dld.go.th/service/layer/house.html
การเลี้ยงไก่ไข่ ซ https://www.layerfarmer.com/catalog.php?idp=12
การเลี้ยงไก่ไข่ https://www.samutprakan.net/5800/WebarcheepNew/animal1.html
https://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=930.0
หมายเหตุ การเลี้ยงไก่ไข่ไว้ทานเอง หากมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม จัดการดีๆ ต้นทุนต่ำกว่าไก่ฟาร์มมาก คุณค่าทางอาหารเยอะกว่า ไก่มีความสุข แล้วคุณก็มีความสุขด้วย
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1360