ปัญหาที่ดินพังทะลาย ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ การกัดเซาะของน้ำ แก้ได้ด้วยหญ้าแฝก
หญ้าแฝก ตอนที่ 2
สำหรับการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการประกอบสัมมาอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ซึ่งเราควรให้ความสำคัญและใส่ใจให้มาก
เนื้อหาสาระ หลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี สาระที่ 1 การดำรงชีวิตและครอบครัว เรื่อง การปลูกพืช ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6
รูปแบบการปลูกหญ้าแฝก
1. ปลูกในพื้นที่ป่าที่ล่อแหลมต่อการกัดชะการพังทลายของดินเพื่อใช้ในการป้องกันการพังทลายของดิน และใช้ในการดักตะกอน มีหลายรูปแบบ เช่น
1.1 การปลูกหญ้าแฝกขวางแนวความลาดชันเพื่อป้องกันการกัดชะการพังทลายของดินและใช้กรองตะกอนดิน นำหญ้าแฝกที่ชำไว้มาปลูกขวางแนวความลาดชันให้เป็นแถว ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 15-20 เซนติเมตร ระหว่างแถวขึ้นอยู่กับความลาดชันของพื้นที่ ถ้าความลาดชันมากแถวควรจะถี่ประมาณ 3-5 เมตร ถ้าความลาดชันต่ำแถวควรจะห่างประมาณ 10-20 เมตร
1.2 การปลูกหญ้าแฝกสองข้างฝั่งลำห้วยเพื่อใช้ดักตะกอนดินและใช้กรองเศษวัชพืช นำหญ้าแฝกที่ชำไว้มาปลูกสองฝั่งลำห้วยให้เป็นแถวแบบสลับฟันปลา ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 15-20 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30 เซนติเมตรประมาณ 5-10 แถวแล้วแต่สภาพพื้นที่
1.3 การปลูกหญ้าแฝกขวางลำห้วยเพื่อชะลอการไหลของน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน
นำหญ้าแฝกมาปลูกขวางลำห้วยแห้ง ระยะห่างระหว่างต้น 10-15 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถวขึ้นอยู่กับความลาดชันของพื้นที่ (Slope) จำนวนแถวขึ้นอยู่กับความยาวของลำห้วย
1.4 การปลูกหญ้าแฝกเพื่อปรับปรุงสภาพพื้นที่ที่เสื่อมโทรมอันเนื่องเกิดจากการชะล้าง พังทลายของดิน (Land-slide)นำหญ้าแฝกมาปลูกเป็นแถวแบบสลับฟันปลา ระยะห่างระหว่างต้น10-15 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30-50 เซนติเมตร จนเต็มพื้นที่
1.5 การปลูกหญ้าแฝกเพื่อใช้เป็นแนวกันชน นำหญ้าแฝกมาปลูกรอบพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่แปลงปรับปรุงระบบนิเวศและพื้นที่สวนป่าปลูกเพื่อเป็นแนวกันชนไม่ให้ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ โดยปลูกเป็นแถวระยะห่างระหว่างต้น 10-15 เซนติเมตร
1.6 การปลูกหญ้าแฝกร่วมกับการสร้างฝายต้นน้ำเพื่อป้องกันการกัดชะการพังทลายของดิน นำหญ้าแฝกมาปลูกบนขอบสันฝายต้นน้ำด้านนอก ระยะห่างระหว่างต้น 15-20 เซนติเมตร ความยาวเท่ากับความยาวของฝาย
2. การปลูกในพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ
2.1 การปลูกหญ้าแฝกตามแนวขั้นบันไดดินเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน
นำหญ้าแฝกมาปลูกตามแนวขอบขั้นบันไดดินควบคู่กับวิธีกล ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 5-20 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถวขึ้นอยู่กับจำนวนขั้นบันไดดิน
2.2 การปลูกหญ้าแฝกขวางแนวความลาดชันเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และป้องกันการ ชะล้างพังทลายของดินนำหญ้าแฝกมาปลูกเป็นแถวขวางแนวความลาดชัน ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 10-15 เซนติเมตร ระหว่างแถว 5-10 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความลาดชันของพื้นที่ ถ้าความลาดชันสูง ระยะห่างระหว่างแถวควรจะถี่ขึ้น
2.3 การปลูกหญ้าแฝกตามแนวคูรับน้ำขอบเขาเพื่อป้องกันการกัดชะการพังทะลายของดินและกรองตะกอนดิน นำหญ้าแฝกมาปลูกตามแนวคูรับน้ำขอบเขา ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 15-20 เซนติเมตร ความยาวขึ้นอยู่กับคูรับน้ำเพื่อป้องกันการกัดชะการพังทลายของดินและกรองตะกอนดิน
2.4 การปลูกหญ้าแฝกรอบโคนต้นไม้เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและเพิ่มธาตุอาหารในดิน นำหญ้าแฝกมาปลูกรอบๆ โคนต้นไม้ผล จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินและเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดินด้วย
2.5 การปลูกหญ้าแฝกเสริมรายได้เพื่อใช้ในการทำน้ำหอมและยาป้องกันแมลงศัตรูพืช
นำหญ้าแฝกหอมมาปลูกเป็นแถวในแปลงขนาดใหญ่ ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 20 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30-50 เซนติเมตร แล้วนำรากมาสกัดน้ำหอมเพื่อใช้ในการไล่แมลงศัตรูพืช
3. ปลูกในพื้นที่อื่นๆที่หล่อแหลมต่อการกัดชะการพังทะลายของดิน เช่นพื้นที่ในการสร้างเขื่อน สร้างฝายและสร้างถนน
3.1 การปลูกหญ้าแฝกเหนือเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดชะการพังทะลายของดินและดักตะกอนดิน นำหญ้าแฝกมาปลูกเป็นแปลงเหนือเขื่อน ระยะห่างระหว่างต้น 15-20 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30-50 เซนติเมตรจนเต็มพื้นที่
3.2 การปลูกหญ้าแฝกเหนืออ่างเก็บน้ำเพื่อป้องกันการกัดชะการพังทลายของดินและกรองตะกอนดิน นำหญ้าแฝกมาปลูกเป็นแปลงเหนืออ่างเก็บน้ำ ระยะห่างระหว่างต้น 15-20 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30-50 เซนติเมตร จนเต็มพื้นที่
3.3 การปลูกหญ้าแฝกสองข้างไหล่ถนนเพื่อป้องกันการกัดชะการพังทลายของดิน นำหญ้าแฝกมาปลูกสองข้างไหล่ถนน ระยะห่างระหว่างต้น 10-15 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30-50 เซนติเมตร จนเต็มพื้นที่
การบำรุงดูแลรักษา
1. ระยะเวลาในการปลูกหญ้าแฝก ควรปลูกในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
2. การใส่ปุ๋ยจะช่วยทำให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น โดยปกติจะใสปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ใช้ปุ๋ยไดแอมโมเนี่ยมฟอสเฟต (DAP) และปุ๋ยสูตร 15:15:15: ในอัตราครึ่งช้อนชา/ต้น
3. การตัดแต่งต้นหญ้าแฝก ควรมีการตัดแต่งใบอย่างสม่ำเสมอทุก 3-4 เดือน เพื่อป้องกันมิให้หญ้าแฝกออกดอก ช่วยให้หญ้าแฝกแตกหน่อเพิ่มขึ้น และยังช่วยควบคุมไม่ให้หญ้าแฝกสูงเกินไป ทำให้หญ้าแฝกชิดติดกันเป็นกำแพงแน่นและ ทำหน้าที่กรองตะกอนดินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
4. การดายวัชพืชในระยะแรกที่ปลูก ควรมีการดายวัชพืชช่วย จะทำให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตได้ดีและแตกหน่อเร็วขึ้น
ประโยชน์ของหญ้าแฝก
หญ้าแฝกเป็นพืชมหัศจรรย์ ทุกส่วนของลำต้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ต้นและใบ ได้แก่
1. ช่วยกรองเศษพืชและตะกอนดิน
2. ใช้ทำวัสดุมุงหลังคา
3. ใช้ทำเชือก หมวก ตะกร้า ฯลฯ
4. ใช้เป็นวัสดุคลุมดิน
5. ใช้ทำปุ๋ยหมัก
6. ราก ดูดซับน้ำและช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน ดูดซับแร่ธาตุและอาหาร ดูดซับสารพิษ
7. ช่วยปรับปรุงสภาพดินทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น
8. ใช้ทำเครื่องสมุนไพรและเครื่องประทินผิว
9. ใช้กลั่นทำน้ำหอม
10. ใช้ป้องกันแมลงศัตรูพืช
ค่าใช้จ่ายในการปลูกหญ้าแฝก
1. ค่าเพาะชำกล้าหญ้าแฝก 1.65 บาท/กล้า
2. ค่าใช้จ่ายในการเตรียมพื้นที่ การปลูก และการบำรุงรักษา 350 บาท/ไร่
ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
1. อธิบายรูปแบบของการปลูกหญ้าแฝกที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนักเรียน
2. อธิบายวิธีการดูแลรักษาหญ้าแฝกหลังการปลูก
กิจกรรมเสนอแนะ
ให้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประโยชน์ของหญ้าแฝกอื่น ๆ แล้วจัดทำเป็นรายงานส่ง
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
ที่มา
https://www.dnp.go.th/
https://www.doae.go.th/library/html/detail/grass/grass2.htm
https://www.chaipat.or.th/chaipat_old/vetiver/vetiver_t.html
ที่มา: https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3101