การปลูกบัวประดับ


978 ผู้ชม


บัวเป็นพรรณไม้น้ำประเภทพืชล้มลุก มีลำต้นและหัวอยู่ในดิน ใต้น้ำ ชูก้านใบและดอกขึ้นมาบนผิวน้ำ เหมาะแก่การปลูกประดับ   

การปลูกบัวประดับ


   หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ ฉบับวันที่ 12 เมษายน 2554 คอลัมน์นานาสารพัน ได้กล่าวถึง "บัวประดับ...สวยแถมเสริมรายได้" เอาไว้ว่า นายคนึง กลับกลาย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา (พืชสวน) กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์ฯได้รับมอบภารกิจให้ส่งเสริมการฝึกอบรมอาชีพการเกษตรแก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป อาทิ การปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์และกระถาง การปลูกมะนาวบนตอมะขวิด ไม้อื่น ๆ และบัวประดับ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร โดยเฉพาะการปลูกบัว มีการรวบรวมพันธุ์บัวประดับ เป็นโครงการหนึ่งที่ศูนย์ฯได้จัดทำขึ้น เพื่อศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของบัว รวมทั้งศึกษาการเจริญเติบโต ศึกษาการนำไปใช้ประโยชน์ และเพาะขยายพันธุ์บัวเพิ่มขึ้น วันนี้เรามารู้จักการปลูกบัวประดับกันดีกว่า

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานเกษตร) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือช่วงชั้นที่ 3 เรื่องการปลูกไม้ประดับ

บัว


          บัวเป็นพืชที่มีความสำคัญกับมนุษย์มานานกว่า 4,000 ปี ทั้งในชนชาติอียิปต์ จีน อินเดีย ไทย ดังจะเห็นได้ จากศิลปะแขนงต่างๆ และในชีวิตประจำวัน บัวที่ใช้ประโยชน์ส่วนมากมักจะเป็นบัวหลวง นอกจากจะปลูกบัว ประดับเพื่อความสวยงามแล้ว ยังใช้เป็นทั้งอาหารและสมุนไพรอีกด้วย

             ชื่อสามัญ                       Water Lily
             ชื่อวิทยาศาสตร์                Nymphaea lotus Linn
.
             วงค์                             NYMPHAEACEAE

การปลูกบัวประดับ
ที่มาภาพ

ลักษณะทั่วไป
     บัวเป็นพรรณไม้น้ำประเภทพืชล้มลุก มีลำต้นและหัวอยู่ในดิน ใต้น้ำการเจริญชูก้านใบและดอกขึ้นมาบนผิวน้ำ ใบมีลักษณะกลมกว้างใหญ่ ผิวใบเรียบ มีสีเขียวหรือน้ำตาลอ่อน ดอกเป็นกลีบซ้อนกันหลายขั้น ลักษณะดอกคล้ายรูปกรวย เวลาบานคล้ายกับร่ม ดอกมีสีขาว ชมพู เหลือง ผลคือส่วนที่อยู่ตรงกลางดอก ซึ่งมีเมล็ดประกอบอยู่ภายในจำนวนมาก ลักษณะ 
ขนาดสีสรร ของใบและดอกขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

บัวเป็นไม้น้ำ อยู่ในวงศ์ Nymphaeaceae แบ่งเป็น 3 สกุล คือ 
       1. บัวหลวงหรือปทุมชาติ(Lotus) อยู่ในสกุล Nelumbo เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในอินเดีย จีน และไทย มีไหล (stolon) และเหง้า(rhizome) อยู่ใต้ดิน ใบมีขนาดใหญ่ ดอกมีทั้งดอกซ้อนและดอกรา(บ้างก็เรียกว่าดอกสลวย หรือดอกฉลวย) มี 3 สี คือ สีขาว ชมพู และเหลือง กลีบดอกกว้าง ใบและดอกชูขึ้นเหนือน้ำ 
       2. อุบลชาติ (Water-lily) อยู่ในสกุล Nymphaea มีเหง้าใต้ดิน ใบลอยแตะผิวน้ำ ณุปร่างใบมีหลายแบบ ไม่มีหนาม ดอกบานได้นานถึง 3-4 วัน กลีบดอกซ้อน สกุลนี้แบ่งเป็น 2 ประเภทตามถิ่นกำเนิด คือ อุบลชาติยืนต้น (Castalia group, Hardy type, Hardy water-lily) มีถิ่นกำเนิดในแถบอบอุ่นและเขตหนาว เรียกว่า "บัวฝรั่ง" มีเหง้าเลื้อยไปตามผิวดิน แตกหน่อหรือหัวได้ และพักคัวในฤดูหนาว ขอบใบเรียบ ดอกมี 5 สี คือ สีขาว ชมพู แดง เหลือง และส้ม ดอกลอยแตะผิวน้ำ บานตอนเช้าและหุบตอนเย็น มักไม่มีกลิ่นหอม ติดเมล็ดยาก อุบลชาติล้มลุก (Lotus group, Tropical type, Tropical water-lily) มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน ไม่พักตัว ในฤดูหนาว แต่จะให้ดอกน้อยลง (ถ้าปลูกในเขตหนาว จะตายเมื่อถึงฤดูหนาว) มีเหง้าเจริญเติบในแนว ดิ่ง ดอกมีหลายสี ชูขึ้นเหนือผิวน้ำ บานนาน 3-4 วัน ขอบใบจักมนหรือแหลม แบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ บัวผันและบัวเผื่อน ดอกบานตอนเช้าหุบตอนเย็น กลิ่นหอมมาก ก้านใบและก้านดอกไม่มีขน บัวสาย ดอกมี 3 สี คือ สีขาว ชมพู และบานเย็นถึงแดง บานตอนใกล้ค่ำ และหุบในตอนเช้าของ วันรุ่งขึ้น ไม่มีกลิ่นหอม แต่บางชนิดมีกลิ่นหอมอ่อนๆ จงกลนี ปัจจุบันมีเพียงชนิดเดียว ใบและดอกลอยแตะผิวน้ำ ดอกบานตลอดเวลา ไม่มีกลิ่นหอม
       3. บัวกระด้งหรือบัววิกตอเรีย(Royal water-lily, Victoria) อยู่ในสกุล Victoria มีไหลสั้นๆ เจริญเติบโต ในแนวดิ่ง ใบใหญ่มาก ขอบใบยกตัวขึ้นคล้ายกระด้ง ลอยแตะผิวน้ำ ใต้ใบ ก้านใบ และดอกมรหนามแหลม ดอก ขนาดใหญ่ สีขาวถึงสีชมพู บานตอนกลางคืนและหุบตอนเช้า บานนาน 2-3 วัน กลิ่นหอมแรง

การปลูกบัวประดับ
ที่มาภาพ


การปลูก วิธีที่นิยมปลูกมี 2 วิธี คือ
1. การปลูกในปลูกในสระหรือบ่อ
    1.1 สระขนาดใหญ หรือเรียกว่าการทำนาบัว ใช้พื้นที่ขนาด 5-50 ไร่ พื้นที่ที่เหมาะในการปลูกตัวต้องเป็นที่ราบสม่ำเสมอ และอยู่ใกล้แหล่งน้ำดินเป็นดินเหนียวการเตรีมพื้นที่คล้ายกับการทำนาดำโดยระบายน้ำออกให้แห้งก่อน  แล้วยกคันดินโดยรอบพื้นที่ให้สูง ประมาณ 1-2 เมตร ปรับพื้นที่ให้เรียบจึงไถดะหรือไถพรวน หลังจากนั้นโรยปูนขาวอัตรา 5-10  กิโลกรม/ไร ตากแดดทิ้งไว้ 7-10 วัน แล้วไถแปรอีกครั้ง พร้อมกับเติมปุ๋ยคอกอัตราไร่ละประมาณ 150 กิโลกรัมต่อไร่หลังจากนั้นจึงปักดำบัวโดยใช้ระยะ 2 x 2 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ ระยะแรกปลูกบัว ควรรักษาระดับน้ำให้ขังอยู่ในแปลงในระดับที่พอเหมาะคือ ควรลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ในช่วงเดือนแรก หลังจากนั้นปล่อยน้ำเข้าแปลงอีกประมาณ 50-100  เซนติเมตร
    1.2 สระขนาดเล็ก หรือในพื้นที่ที่จำกัด ทำได้โดยวิธีการขุดสระหรือบ่อขนาด 2 x 3 x 1 เมตร (กว้าง x ยาว x ลึก) หรือขนาดอื่นที่ใกล้เคียงกันควรเป็นพื้นที่ราบสม่ำเสมอและอยู่ใกล้แหล่งน้ำดินต้องเป็นดินเหนียวการเตรียมดินก็คล้ายกับการปลูกในสระใหญ่ เพียงแต่ลดอัตราส่วนของปูนขาวและปุ๋ยคอกลงเล็กน้อย คือใช้ปูนขาวโรงพื้นประมาณ 200 กรม ใช้ปุ๋ยคอก 2-5 กิโลกรัม/สระ ส่วนจำนวนต้นปลูกควรใช้24ต้น/สระกรณีที่อยู่ห่างแหล่งน้ำและดินปลูกไม่เหมาะสมเราสามารถขุดสระหรือบ่อขนาด 2 x 3 x 1 เมตร (กว้าง x ยาว x ลึก) หรือขนาดอื่นที่ใกล้เคียงกันโดยใช้ปูนซีเมนต์ทำเป็นพื้น เพื่อกักเก็บน้ำแล้วนำดินเหนียว ผสมปุ๋ยคอกเป็นดินปลูกหลังจากนั้นจึงนำต้นบัวมาปลูก24/สระคอยเพิ่มระดับน้ำทีละน้อยตามความเจริญของต้นบัวและคอยเปลี่ยน น้ำหรอถ่ายเทเมื่อสังเกตุเห็นว่าน้ำเสื่อมคุณภาพ คือ มีกลิ่นเหม็น หรือสีคล้ำ พันธุ์บัวที่ใช้ปลูกในสระหรือบ่อ ได้แก่ บัวหลวง บัวผัว บัวเผื่อน บัวสาย บัวจงกลนี บัวกระด้ง

การปลูกบัวประดับ
ที่มาภาพ

2. การปลูกในกระถาง นิยมปลูกกัน 2 ลักษณะ คือ
    2.1 ปลูกโดยใช้กระถาง 2 ใบ วางซ้อนกันโดยใช้ใบใหญ่ 1 ใบ และใบเล็ก 1 ใบ ขนาดกระถางใบใหญ่ มีขนาด 18-24 นิ้ว เป็นกระถางทรงสูงสามารถกักเก็บน้ำได้ ส่วนขนาดกระถางใบเล็กมีขนาด 6-8 นิ้ว เป็นกระถางทรงสูงใช้สำหรับใส่ดินปลูกบัว โดยใช้ดินผสมหรือดินเหนียว : ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา2:1ผสมดินปลูกหลังจากนั้นก็นำกระถางใบเล็กวางซ้อนในกระถางน้ำใบใหญ่ที่ เตรียมไว้ แล้วค่อย ๆ ใส่น้ำลงไปในกระถางในระดับที่เหมาะสม กับความต้องการของต้นบัว การปลูกวิธีนี้สามารถเปลี่ยน กระถางบัว และเคลื่อนย้ายได้สะดวกเพราะเป็นกระถางเล็ก
     2.2 ปลูกโดยใช้กระถางใบเดียว โดยใช้กระถางทรงสูงขนาด 18-24 นิ้ว ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ วิธีปลูกก็นำดินปลูกผสมปุ๋ยอินทรีย์ คือใช้ดินผสมหรือดินเหนียว:ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา2:1แล้วใส่ดินปลูกลงในกระถางประมาณ1/2ของกระถางจึงนำต้นบัวไปปลูกหลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ใส่น้ำลงไปในกระถางระดับเดียวกับขอบกระถาง พันธุ์ที่ใช้ปลูกในกระถางทั้งสองวิธีได้แก่ บัวหลวง บัวผัน บัวเผื่อนบัวสาย ถ้าจะให้ต้นมีการเจริญที่ดี และสวยงามควรเปลี่ยนน้ำ เมื่อเห็นว่าสกปรกหรือใส่ปุ๋ยบำรุงด้วยปุ๋ยที่นิยมใช้คือ ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 150-300 กรัม/กระถาง โดยหว่านลงในน้ำ ใส่ 2-3 เดือน/ครั้ง

การปลูกบัวประดับ
ที่มาภาพ

การดูแลรักษาอื่นๆ
หมั่นเด็ดใบแก่ ใบเสีย ดอกโรย และซากใบไม้ผุในน้ำทิ้ง เพื่อป้องกันน้ำเสีย

การใส่ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 10-10-10, 15-15-15 หรือ 16-16-16 โดยใส่ในห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือใช้ดิน เหนียวหุ้มเม็ดปุ๋ย แล้วฝังลงใต้ดิน ครั้งละ 1 ช้อนชา ทุก 1-2 เดือน หมั่นเติมน้ำให้เต็มภาชนะอยู่เสมอ เมื่อเหง้าเจริญสูงขึ้นจนพ้นดิน ควรตัดแบ่งเหง้าทิ้งบ้าง เพื่อป้องกันรากลอย ซึ่งมีผลทำให้ต้นเล็กลงและ โตช้า

การขยายพันธุ์
       เพาะเมล็ด ใช้ขยายพันธุ์บัวกระด้งหรือเมื่อต้องการผลิดลูกผสมใหม่ของบัวผัน บัวเผื่อน และบัวสาย ซึ่ง ใช้เวลานาน 2-3 เดือน บัวจึงจะออกดอก การแยกส่วนของต้น ได้แก่ การแยกหน่อ หัวหรือเหง้า จากต้นเดิมมาปลูกใหม่ ตาขั้นตอนข้างต้น วิธีนี้ สะดวกรวดเร็วกว่าวิธีแรกและต้นใหม่ไม่กลายพันธุ์บอกจากนี้บัวบางพันธุ์ยังสามารถเกิดต้นอ่อนบนใบซึ่งใช้ขยายพันธุ์ได้ โดยตัดก้านในที่มีต้นอ่อนยาว 6 ซม. เสียบลงบนดิน ใช้อิฐทับให้ข้อใบแนบผิวดิน เติมน้ำให้ท่วมยอด 6-10 ซม. ประมาณ 2 สัปดาห์ ต้นอ่อนจะ เจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้

การปลูกบัวประดับ
ที่มาภาพ

ข้อควรระวัง 
        ไม่ควรปลูกบัวในกระถางใหญ่เกินไป ระหว่างรอย้ายูก ไม่ควรให้ส่วนต่างๆ ของต้นแห้ง เพราะจะทำให้ต้นตายได้ เมื่อปลูกเหง้าบัวหลวงหรือบัวฝรั่งควรวางเหง้า ให้ชิดภาชนะปลูกด้านในด้านหนึ่ง เพราะเมื่อเหง้าโต เต็มที่จะเจริญเลื้อยไปถึงขอบภาชนะอีกด้านหนึ่ง และทำให้รากลอย

โรคและแมลงศัตรู
         โรค ที่สำคัญได้แก่ โรคใบจุด มักเกิดบนใบแก่ ควรเด็ดใบแก่และใบที่เป็นโรคทิ้งเสมอ โรครากเน่า เกิด จากการผสมดินไม่ทั่ว ทำให้หัวหน่อ หรือเหง้าเน่าเละ ควรรีบเปลี่ยนดินปลูกใหม่เมื่อพบว่าต้นแคระแกรนไม่โต
แมลงศัตรู ที่สำคัญคือ เพลี้ยไฟ ระบาดในฤดูแล้ง ในบัวหลวงจะทำให้ใบโค้งงอขึ้น เรียกว่า ใบกระโถน ถ้าเกิดบนดอกจะทำให้ดอกเหี่ยวแห้งไม่บาน เพลี้ยอ่อน จะอยู่เป็นกระจุกตามเส้นใบ โคนก้านใบ ก้านดอก และ ใบอ่อน หนอนพับใบ ระบาดตลอดปี หนอนกินใบ และหนอนม้วนใบ กัดกินใบให้แหว่ง มักจัพบอยู่เสมอ

ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
        1.ไม้ประดับที่นิยมปลูกประดับอาคารสถานที่ มีอะไรบ้าง
        2.จงบอกข้อดีของการปลูกไม้ประดับในบริเวณบ้านของนักเรียน

กิจกรรมเสนอแนะ
       - ศึกษาค้าคว้าเกี่ยวกับ การปลูกไม้ประดับชนิดอื่น และทำรายงานส่งคนละ 1 เรื่อง

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
        สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เกี่ยวกับเรื่องไม้มงคล

ที่มา  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์
        https://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=132224  
        https://www.ptcn.ac.th/student/Sand6.html 
        https://www.maipradabonline.com/maimongkol/bou.htm


 

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3627

อัพเดทล่าสุด