เที่ยวเมืองไทย ไปกับเสียงดนตรี


762 ผู้ชม


ขอเจิญมาแอ๋วเมืองเหนือกั๋ยเน้อครับ... มาเรียนรู้ และ ทำความรู้จักกับเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือ   

 

       เที่ยวเมืองไทย ไปกับเสียงดนตรี

                                                           ( ที่มาภาพ  www.nightbazaar.net )  

          " นายภาณุทัต อภิชนาธง หรือครูแอ๊ด ศิลปินพื้นบ้านที่มุ่งมั่นสอนดนตรีพื้นบ้าน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนนานนับสิบปี มีลูกศิษย์เป็นเด็กรุ่นใหม่นับร้อยคนที่ศึกษาเล่าเรียน เดิมเคยเปิดสอนดนตรีพื้นเมืองที่วัดลอยเคราะห์ และปัจจุบันได้ย้ายมาตั้งเป็นชมรมดนตรีพื้นเมืองเชียงใหม่ จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา วัดสวนดอก เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งดนตรีพื้นบ้านล้านนาให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา "  (ที่มา  FM  100 เชียงใหม่ออนไลน์ )
          
ความมุ่งมั่น ตั้งใจในการสืบสานวัฒนธรรมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ถึงแม้ว่ามันจะยากยิ่งแต่ผลสำเร็จ คือ ความภาคภูมิใจ ในวัฒนธรรมที่เป็นรากซึ่งบรรพบุรษได้สร้างสมสืบมา ให้ชนในรุ่นเราได้ศึกษา สืบสานให้คงอยู่ชั่วลูกหลานต่อไป  แม้ว่าเราจะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ในสังคม หากแต่เมื่อรวมส่วนเล็กนี้ก็เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ต่อไป
          ใครที่เคยได้ไปเยือน จังหวัดทางภาคเหนือ หรือ เมืองล้านนา  คงจะมีโอกาสได้ยิน ได้ฟังเสียงดนตรีอันไพเราะ อ่อนหวาน ตามแบบฉบับของชาวเหนือ  มีผู้กล่าวว่า  เสียงดนตรีสามารถสื่อให้เห็นถึง นิสัยใจคอของผู้บรรเลง   อันนี้ก็แล้วแต่มุมมองความเห็นของแต่ละคน  เปรียบเทียบกับเสียงดนตรีล้านนา ที่ไพเราะ  นุ่มนวล อ่อนหวาน แล้วนั้นก็ทำให้เห็นถึงความมีน้ำใจ อัธยาศัยไมตรี ของผู้คนชาวล้านนาได้เป็นอย่างดี  ชาวล้านนาจะให้ความสำคัญ ในการต้อนรับขับสู้ ผู้มาเยือนเสมอ เสมือนหนึ่งเป็นญาติหรือเพือนบ้านกัน  ดังคำกล่าวที่ว่า  " ดีใจ๋ยิ่งแล้ว  แขกแก้วมาเยือน "

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (ดนตรี -นาฏศิลป์)  สำหรับ นักเรียน และ ผู้สนใจที่รักษ์วัฒนธรรม

          ภาคเหนือของประเทศไทย  ในอดีตคือ อาณาจักรล้านนา อันรุ่งเรือง ที่พ่อขุนเม็งรายมหาราชเป็นผู้ก่อร่างสร้างขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองอาณาจักรแห่งนี้มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน  และอาณาจักรแห่งนี้ยังเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรมประเพณีนี้อันดีงาม ที่สืบทอดมาเป็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าถึงลูกหลานในยุคปัจจุบันนี้  ซึ่งรวมถึงศิลปะทางด้านดนตรีด้วย  
          “ ล้านนาไทย”   เป็นราชอาณาจักรที่เคยรุ่งโรจน์ด้วยศิลปวัฒนธรรมมาตั้งแต่โบราณกาลแม้ในระยะต่อมาจะได้เข้ารวมกับไทยภาคกลางแล้วก็ตาม แต่วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมต่างๆ ของบรรพบุรุษ  ก็ยังคงยึดมั่นถือปฏิบัติกันสืบมาอย่างไม่ขาดสาย  ล้านนาไทยในปัจจุบันจึงเป็นดินแดนที่มีผู้คนจำนวนมากมาย  ทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติ  แวะเวียนมาศึกษาศิลปวัฒนธรรมอันเก่าแก่  ที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา  นั่นคือ ศิลปะการแสดงพื้นเมืองที่อ่อนช้อย  ไม่ว่าจะเป็นท่วงท่ารำ  คำร้องหรือทำนองของดนตรี  ที่ได้แฝงเอาชีวิตความเป็นอยู่ลักษณะอาชีพเอาไว้อย่างเหมาะสม   การดนตรีและการฟ้อนรำของล้านนานั้น  มีมาแต่เดิมแล้วโดยสืบทอดมาจากบรรพชนในยุคต้นๆ ทำนองอาจจะแตกต่างกันออกไปต่างเผ่าพันธุ์และความเชื่อในกลุ่มชนนั้นๆ เครื่องดนตรีนั้นน่าจะมีมาแล้วเช่นกัน  แต่มีไว้เพื่อใช้ผ่อนคลายอารมณ์เฉพาะตัว  และใช้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการแอ่วสาว (เกี้ยวสาว) มากกว่า   ไม่มีการนำไปใช้ในพิธีกรรมใดๆ ทั้งสิ้น  ส่วนที่มีการนำไปเกี่ยวพันกับความเชื่อและพิธีกรรมหรือความเชื่อใด ๆ นั้น  เพิ่งจะมีขึ้นในสมัยหลังประมาณต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ทั้งนี้เพราะอิทธิพลราชสำนักสยามติดขึ้นมากับขบวนของ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีฯนั่นเอง  สำหรับรูปร่างลักษณะของเครื่องดนตรีก็ดัดแปลงไปตามความนิยมของท้องถิ่นและเผ่าพันธุ์ ผสมกับวัสดุที่มีในท้องถิ่น  อาทิเช่น  กลองแบบต่างๆ  สำหรับเทคนิคหรือวิธีการรวมทั้งหลักการบรรเลงทำนองเพลงไม่เป็นมาตรฐาน  สุดแต่ผู้ใดจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่บรรเลงออกมาให้เป็นสำเนียงหรือท่วงทำนองตามที่ต้องการ (ธีรยุทธ์  ยวงศรี , 2539)
        

                 เที่ยวเมืองไทย ไปกับเสียงดนตรี

                                                     ( ที่มาภาพ  www.lks.ac.th )

                เครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือที่สำคัญ สามารถพบเห็นได้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครื่องดำเนินทำนองหลัก  ได้แก่  สะล้อ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประเภทสี    ซึง และ พิณเปี๊ยะ เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด

เที่ยวเมืองไทย ไปกับเสียงดนตรี

( ที่มาภาพ  www.culture.go.th )  

            1. สะล้อ สะล้อเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนาชนิดหนึ่ง เป็นประเภทเครื่องสีซึ่งมีทั้ง 2 สายและ 3 สาย คันชักสำหรับสีจะอยู่ข้างนอกเหมือนคันชักซอสามสาย สะล้อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทร้อ หรือ ซะล้อ  มีรูปร่างคล้ายซออู้ของภาคกลาง ใชไม้แผ่นบาง ๆ ปิดปากกะลาทำหลักที่หัวสำหรับพาดทองเหลือง ด้านหลังกะโหลกเจาะเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปหนุมาน รูปหัวใจ ส่วนด้านล่างของกะโหลก เจาะทะลุลง ข้างล่าง เพื่อสอดคันทวนที่ทำด้วยไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 64 ซม. ตรงกลางคันทวนมีรัดอกทำด้วยหวาย ปลายคันทวนด้านบนเจาะรูสำหรับสอดลูกบิด ซึ่งมี 2 หรือ 3 อัน สำหรับขึงสายซอ จากปลายลูกบิดลงมาถึงด้านกลางของกะโหลกมีหย่องสำหรับ หนุนสายสะล้อเพื่อให้เกิดเสียงเวลาสี คันชักสะล้อทำด้วยไม้ดัดเป็นรูปโค้ง ขึงด้วยหางม้าหรือพลาสติก เวลาสีใช้ยางสนถูทำให้เกิดเสียงได้  สะล้อใช้บรรเลงประกอบการแสดงหรือบรรเลงร่วมกับบทร้องและทำนองเพลงได้ทุกชนิด เช่น เข้ากับปี่ในวงช่างซอ เข้ากับซึงในวงพื้นเมือง หรือใช้เดี่ยวคลอร้องก็ได้   ( ที่มา  วิกิพีเดีย )

เที่ยวเมืองไทย ไปกับเสียงดนตรี

( ที่มาภาพ  personal.swu.ac.th

           2. ซึง   เป็นเครื่องดนตรีประเภท ดีด มี 4 สาย แต่แบ่งออกเป็น  2 เส้น เส้นละ  2 สาย  มี ความยาวทั้งคันทวนและกะโหลกรวมกันประมาณ 81 ซม กะโหลกมีรูปร่างกลมวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 21 ซม ทั้งกะโหลกและคันทวน ใช้ไม้เนื้อแข็งชิ้นเดียวคว้านตอนที่เป็นกะโหลกให้เป็นโพรง ตัดแผ่นไม้ให้กลม แล้วเจาะรูตรงกลางทำเป็นฝาปิดด้านหน้า เพื่ออุ้มเสียงให้กังวาน คันทวนเป็นเหลี่ยมแบนตอนหน้า เพื่อติดตะพานหรือนมรับนิ้ว จำนวน 9 อัน ตอนปลายคันทวนทำเป็นรูปโค้ง และขุดให้เป็นร่อง เจาะรูสอดลูกบิดข้างละ 2 อัน รวมเป็น 4 อันสอดเข้าไปในร่อง สำหรับขึ้นสาย 4 สาย สายของซึงใช้สายลวดขนาดเล็ก 2 สาย และ สายใหญ่ 2 สาย ซึงเป็นเครื่องดีดที่ชาวไทยทางภาคเหนือนิยมนำมาเล่นร่วมกับปี่ซอ หรือ ปี่จุ่มและ สะล้อ    แบ่งตามลักษณะได้  3 ประเภท คือ 
           1. ซึงเล็ก 
           2. ซึงกลาง 
           3. ซึงหลวง(ซึงที่มีขนาดใหญ่)
และแบ่งตามประเภทได้   2 ชนิด คือ    1. ซึงลูก 3   2. ซึงลูก4   (แตกต่างกันที่เสียง ลูก 3 เสียงซอลจะอยู่ด้านล่าง ส่วนซึงลูก4 เสียงซอลจะอยู่ด้านบน  (ที่มา 
วิกิพีเดีย ) 
 
                                                                     
                                                                  
เที่ยวเมืองไทย ไปกับเสียงดนตรี

                            ( ที่มาภาพ  www.destinythai.com )

          3. พิณเปี๊ยะ  หรือ พิณเพียะ เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนาชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด ลักษณะของพิณเปี๊ยะมีคันทวนยาวประมาณ 1 เมตรเศษ ตอนปลายคันทวนทำด้วยเหล็กรูปหัวช้าง ทองเหลือง สำหรับใช้เป็นที่พาดสาย ใช้สายทองเหลืองเป็นพื้น สายทองเหลืองนี้จะพาดผ่านสลักตรงกะลาแล้วต่อไปผูกกับสลักตรงด้านซ้าย สายของพิณเปี๊ยะมีทั้ง 2 สายและ 4 สาย กะโหลกของพิณเปี๊ยะทำด้วยเปลือกน้ำเต้าตัดครึ่งหรือกะลามะพร้าว ก็ได้ เวลาดีด ใช้กะโหลกประกบติดกับหน้าอก ขยับเปิดปิดให้เกิดเสียงตามต้องการ เช่นเดียวกับพิณน้ำเต้าของภาคกลาง 

เที่ยวเมืองไทย ไปกับเสียงดนตรี

                                              ( ที่มาภาพ  www.thailandmuseum.com ) 

         ในสมัยก่อนชาวเหนือมักจะใช้พิณเปี๊ยะดีดคลอกับการขับลำนำในขณะที่ไปเที่ยวสาว แต่เกิดการแย่งสาวกันขึ้น จึงใช้พิณเปี๊ยะเป็นอาวุธทำร้ายกันจึงได้มีการห้ามไม่ให้มีการ เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้อีก ทำให้พิณเปี๊ยะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร  ผู้เล่นพิณเปี๊ยะ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย เนื่องจากเวลาเล่นต้องถอดเสื้อ จะทำให้เสียงดังกังวาน           ( ที่มา  วิกิพีเดีย )  

                                             
         

ข้อคำถาม..สานต่อความคิด   
        - นอกจากนี้มีเครื่องดนตรีชนิดใดที่นักเรียนรู้จักอีกบ้าง ร่วมกันอภิปราย                                                                            

สอดประสานรับ..กับมาตรฐาน
        มาตรฐาน  ศ. 2.2 :   เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี  ประวัติศาสตร์  และ วัฒนธรรมเห็นคุณค่าของดนตรีไทย  ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม  ภูมิปัญญ
  ท้องถิ่น  ภูมิปัญญาไทยและสากล


เชื่อมโยงใย..ในองค์ความรู้
        
 ในสาระการเรียนรู้เดียวกัน
              - สาระทัศนศิลป์      เรื่องการวาดรูปจากต้นแบบ   โดยให้นักเรียนฝึกวาดรูปเครื่องดนตรี 
              - สาระนาฏศิลป์     เรื่องการประดิษฐ์สร้างสรรค์ท่ารำ    โดยให้นักเรียนสร้างสรรค์ท่ารำประกอบการบรรเลงตามจินตนาการ
        ภาษาไทย    เรื่อง การอ่าน การคัดไทย การเขียนไทย การแต่งประโยค  การเรียงความ การเขียนรายงาน   โดยให้นักเรียนได้อ่าน คัดและเขียนคำศัพท์ชื่อของเครื่องดนตรีไทย
เขียนเรียงความ หรือรายงาน ในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง เช่น ความประทับใจในดนตรี   เป็นต้น
         สังคมฯ        เรื่องประวัติศาสตร์     โดยให้นักเรียนศึกษาเพิ่มเติม ในเรื่องราวตามยุคสมัยต่าง ๆ
         กอท.          เรื่อง การประดิษฐ์เศษวัสดุ โดยให้นักเรียนนำเศษวัสดุที่เหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรีไทยตามจินตนาการของนักเรียน
        สุขศึกษาฯ    เรื่อง การทำท่าทางประกอบจังหวะ   โดยนำเพลงที่บรรเลงจากวงดนตรีไทย มาใช้ประกอบท่าทางของนักเรียนตามความเหมาะสม
      

เพิ่มเติมเต็ม..กันและกัน
            - หากนำเครื่องดนตรีจริง มาให้นักเรียนได้ศึกษา เรียนรู้ ได้รับฟังเสียงที่แท้จริง จะทำให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง
           -  ให้นักเรียนได้มีโอกาสรับฟังเสียงของเครื่องดนตรี แต่ละชนิดให้มากที่สุด และ การบรรเลงแบบผสมวงของวงดนตรีพื้นเมืองล้านนา
            -  การจัดการเรียนรู้ในกิจกรรมดนตรี ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสองออก และร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้มากที่สุด                                                                                                                                                          
             -          -   ให้นักเรียนร่วมสนทนาอภิปรายประสบการณ์ และ ความประทับใจเกี่ยวกับดนตรีพื้นเมือง  
 

                                                                                         

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=306

อัพเดทล่าสุด