แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 4 เวียงกุมกาม)


809 ผู้ชม


เวียงกุมกาม..นครใต้ภิภพ อันรุ่งเรืองสมัยล้านนาในอดีต   

           สืบเนื่องจาก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ให้ความอนุเคราะห์ สนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้นักเรียนได้ไปทัศนศึกษา โดยเน้นการไปศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์ แหล่ง โบราณคดีแหล่งทรัพยากรธรณี ที่จะเสริมกับการเรียนการสอนจึงขอความร่วมมือ จาก สพท.ได้ทำความเข้าใจกับโรงเรียนเพื่อดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูง (ที่มา พบกันทุกวันอังคาร กับเลขากพฐ. คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา)

          เราจึงมาศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมล้านนา หากโอกาสได้มาสัมผัสสถานที่จริงจะทำให้เราลึกซึ้งในความรู้มากขึ้น

เนื้อหาสำหรับ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (บูรณาการ)  สำหรับนักเรียน ครู ผู้สนใจใฝ่รู้ทั่วไป

สอดคล้องมฐ.    
        มาตรฐาน ศ ๑.๒   เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทัศนศิลป์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่างานทัศนศิลป์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และสากล
        มาตรฐาน ศ ๒.๒ เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของดนตรี ที่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล
       มาตรฐาน ศ ๓.๒  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างนาฏศิลป์ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของนาฏศิลป์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล

 
สาระการเรียนรู้

เวียงกุมกาม..นครโบราณใต้พิภพ

แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 4 เวียงกุมกาม)
โบราณสถานเวียงกุมกาม

           จะมีใครคาดคิดว่า ใต้แผ่นผืนดินที่เราเหยียบย่ำไปมาอยู่ทุกวัน  เมื่อครั้งในอดีตกาล เคยเป็นแหล่งที่ตั้งของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของล้านนา นามว่า เวียงกุมกาม จวบจนมีการขุดค้นพบโดยความบังเอิญ เสมือนเป็นการเรียกร้อง ขอความยิ่งใหญ่กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง
            ขอนำเสนอความยิ่งใหญ่และความลึกลับในอดีตให้เปิดเผยต่อสาธารณชนด้วยความเคารพความกล้าหาญของบรรพชนในอดีตกาล...

แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 4 เวียงกุมกาม)
3 กษัตริย์

          หลังจากที่ พญาเม็งรายได้ สร้างเมืองเวียงชัยนารายณ์ หรือเชียงราย ก็ได้ขยายอาณาเขตได้กว้างขวาง ทิศเหนือขยายถึง สิบสองปันนา  ทิศใต้จดพะเยา เมืองเล็กเมืองน้อยต่างมาขอสามิภักดิ์ เมืองใกล้เคียงที่ยังไม่ยอมมาสามิภักดิ์ คือ ภูกามยาว หรือ จังหวัด พะเยา และ หริภุญไชย หรือ ลำพูน พญาเม็งรายทรงยกทัพมาตีเมืองพะเยาก่อน แต่พ่อขุนงำเมืองนั้นรักสงบเลยยกทัพ มารับและยกแคว้น ปากน้ำให ทั้งสองเมืองจึงกระทำสัตย์เป็น มิตรกันซึ่งทำให้พญาเม็งรายได้เป็น มิตรกับ พ่อขุนรามคำแหง แห่งสุโขทัยด้วย จากนั้นพญาเม็งรายก็ทรง ยกทัพมาตี เมืองหริภุญไชย ของพญายีบาได้  และ ในปี พ.ศ. 1824 แล้ว ย้ายเมืองไปตั้งใหม่ที่เวียงกุมกาม  (ที่มา www.geocities.com )

แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 4 เวียงกุมกาม)
แอ่งที่ราบเชียงใหม่ - ลำพูน

           แม้ว่าเมืองหริภุญไชยจะเป็นศูนย์กลางทางการเมือง การค้า ศาสนาและวัฒนธรรมาน แต่เวียงมีขนาดเล็กและคับแคบ ไม่สามารถขยายตัวเวียงได้เป็นไปได้ว่าคงเต็มไปด้วยวัสดุและสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อความเหมาะสมกับรัฐที่อาณาเขตกว้างขวางขึ้น พญามังราย จึงหาสถานที่สร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่โดยให้เมืองหริภุญไชยมีฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางพุทธศาสนา ขณะที่เมืองหลวงแห่งใหม่จะเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเมือง
            ข้อสังเกตจากการเลือกสถานที่สร้างเมืองหลวง พญามังราย จะเลือกสร้างใน เขตแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน  โดยไม่กลับไปสร้างเมืองหลวงในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำที่กกซึ่งอยู่ทางตอนบน  ทั้งนี้คงเพราะเขตแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน มีทำเลที่ตั้งเหมาะสมต่อการเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา มากกว่าเขตที่ราบลุ่ม แม่น้ำกก กล่าวคือเขตแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูนเป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีที่ราบติดต่อกันไปเป็นผืนใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ จะสามารถปลูกข้าวได้อย่างกว้างขวาง และยังสามารถทำการค้ากับเมืองทางตอนใต้ได้อย่างสะดวก (ที่มา www.geocities.com)

แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 4 เวียงกุมกาม)
แนวเหลืองคือ น้ำปิงสายเก่า

           เวียงกุมกามมีความเจริญรุ่งเรืองจนกระทั่งถึงสิ้นสมัยราชวงศ์มังราย ในช่วงระยะเวลาสองร้อยกว่าปีที่เวียงกุมกามมีความเจริญรุ่งเรืองนั้น เป็นผลจากที่ตั้งเวียงกุมกาม ซึ่งตั้งอยู่ ริมแม่น้ำปิง ( ปิงห่าง ) ในอดีตแม่น้ำปิง เป็นเส้นทางการคมนาคมสายสำคัญ แม่น้ำปิงจะไหลผ่านเวียงเชียงใหม่ เวียงกุมกามและเวียงลำพูน และ ไหลไปสู่เมืองทางตอนใต้ เมืองที่แม่น้ำปิงไหลผ่านสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวก เวียงกุมกามตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคม และเป็นเส้นทางผ่านของสินค้า เวียงกุมกามจึงมีฐานะเป็นศูนย์การค้า แม่น้ำปิง (ปิงห่าง) เปรียบเสมือนเส้นชีวิตของเวียงกุมกามที่ส่งผลให้เวียงกุมกามกำเนิด และเจริญรุ่งเรือง (ที่มา www.geocities.com )

แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 4 เวียงกุมกาม)
ภาพถ่ายทางอากาศของเวียงกุมกาม

           และในที่สุดแม่น้ำปิงก็ท่วมท้น ทำลายเวียงกุมกาม น้ำท่วมเวียงกุมกามครั้งใหญ่ ทำให้แม่น้ำปิงเปลี่ยนเส้นทางจากเดิมซึ่งเคยไหลในแนวปิงห่าง คือไหลไปทางด้านตะวันออกของเวียงกุมกาม หลังจากน้ำท่วมแม่น้ำปิงเปลี่ยนมาไหลทางด้านตะวันตกของเวียงกุมกาม ซึ่งกลายเป็นแนวแม่น้ำปิงในปัจจุบัน อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เวียงกุมกาม  สภาพวัด ต่าง ๆ เหลือเพียงแต่ซากวิหารและเจดีย์ร้าง ซึ่งจมอยู่ใต้ดิน
( ที่มา  www.geocities.com)

แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 4 เวียงกุมกาม)
ฤดูน้ำหลาก น้ำยังคงท่วมเวียงกุมกาม

        การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำครั้งนั้น ทำให้เกิดน้ำท่วมเวียงกุมกามครั้งใหญ่ จึงเป็นเหตุให้เวียงกุมกามล่มสลาย และ วัดวาอารามจมอยู่ใต้ดินทราย  จนกลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด  แต่อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่า อีกหนึ่งสมมติฐานที่เวียงกุมกามถูกทิ้งร้างนั้นอาจเป็นได้ว่าเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่าทำให้ผู้คนหลบหนีออกจากเมืองไปก็เป็นได้

แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 4 เวียงกุมกาม)
วัดเจดีย์เหลี่ยม

         จากการสำรวจโดยกรมศิลปากร พบว่าบริเวณเวียงกุมกามมีโบราณสถานอยู่มากมายกว่า 40 แห่ง และยังที่ยังไม่สามารถขุดพบได้อีก  ทั้งที่เป็น ซากโบราณสถาน และเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดช้างค้ำ และ ซากเจดีย์วัดกุมกาม วัดน้อย วัดปู่เปี้ย วัดธาตุขาว วัดอีค่างซึ่ง รูปแบบทางศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมนี้ มีทั้งแบบรุ่นเก่าและสมัยเชียงใหม่  รุ่งเรืองปะปนกันไป โดยเฉพาะที่วัดธาตุขาวนั้น  มีเรื่องเล่าของ พระนางอั้วมิ่งเวียงไชย พระมเหสีของพญามังราย พระนางได้มาบวชชีที่นี่ แล้วก็ได้สิ้นพระชนม์ที่นี่ด้วย สาเหตุก็คือ พญามังรายได้มีพระมเหสีพระองค์ใหม่ เมื่อครั้งยกทัพไปตีพม่า  พม่ายอมสวามิภักดิ์และถวาย พระธิดาปายโคมาเป็นมเหสี แต่สิ่งนี้ทำให้พระนางอั้วมิ่งเวียงไชยทรงเสียพระทัยมาก เนื่องจาก พระนาง และ พญามังราย ได้เคยสาบานกันในขณะที่พำนักอยู่ในเมืองเชียงแสนว่า จะมีมเหสีเพียงแค่พระองค์เดียว พระนางจึงเสียพระทัยมาก จึงตัดสินใจไปบวชชี และ ยังมีเรื่องอีกว่า  สาเหตุที่พญามังรายสวรรคตอสนีบาตในระหว่างที่ทรงเสด็จไปตลาดนั้น ก็เพราะสาเหตุนี้
(ที่มา wikipedia )

แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 4 เวียงกุมกาม)
วัดช้างค้ำ และวัดกานโถม


             ในปัจจุบัน เวียงกุมกามได้แปรเปลี่ยนสภาพสู่โบราณสถานที่ทรงคุณค่า จากการขุดค้น พบโบราณสถาน และยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่งที่อยู่ระหว่างทำการขุดค้นและบูรณะเพิ่มเติม วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือเจดีย์กู่คำ นับเป็นโบราณสถานที่ยังทรงความงดงาม แม้จะตั้งตระหง่านมายาวนานกว่า 700  ปี และเป็นโบราณสถาน แห่งแรกที่ควรค่าแก่การแวะชมและศักการะเป็นแห่งแรก จากนั้น ท่านสามารถเข้าชมโบราณต่าง ๆ โดยรอบซึ่งสามารถขับรถ เข้าชมได้โดยรอบ แต่แนะนำให้ ศึกษาข้อมูลที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวก่อนเพราะเราจะได้รับข้อมูลดี ๆ  และถ้าจะให้ดีเที่ยวโดยการปั่นจักรยานซึ่งจะให้อรรถรสในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเป็นการร่วมรักษ์สิ่งแวดล้อม บริเวณเวียงกุมกาม นอกจากนี้ วัดช้างค้ำ และ วัดกานโถม นับเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดตามหลักฐานประวัติศาสตร์  .. 
           และนี่ก็เป็น แหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมที่น่าสน ศึกษาเรียนรู้อีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งทรงคุณค่าในทางประวัติศาสตร์    ที่เราย้อนรอยจากอดีต  เรียนรู้มาถึงปัจจุบัน เพื่อคาดการณ์วันเวลาในอนาคต  มีคนเคยกล่าวไว้ว่า   
ทุกสิ่ง.....ทุกอย่างเป็นพลวัต ที่ดำเนินไปอย่างเป็นวัฏจักร ... คงไม่ใครรู้ว่า เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต  มันจะฉายภาพซ้ำ มาให้เราได้สัมผัส ในยุคนี้ก็เป็นได้...

คำถามสานต่อความคิด
       -  เรื่องราวเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมในเวียงกุมกามมีประเด็นใดที่ให้ความสนใจศึกษาเพิ่มเติม
       -  เราจะมีวิธีการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน ให้ลึกซึ้งได้อย่างไร
       -  ปัจจัยใดที่ทำให้ศิลปวัฒนธรรม ได้รับการถ่ายทอด องค์ความรู้ที่สืบต่อกันมา
       -  แนวทาง หรือ วิธีการใดที่จะทำให้ศิลปวัฒนธรรม ได้รับการธำรงไว้ซึ่งคุณค่าต่อไป
       -  ปัจจัยใดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม และศิลปวัฒนธรรม
       -  จำเป็นหรือไม่ที่เราต้อง ศึกษาเรียนรู้ ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ และศิลปวัฒนธรรมต่างชาติ
       - ทิศทาง และลักษณะของเมืองจากปัจจุบัน ไปสู่อนาคตจะป็นเช่นไร  และเราต้องการให้เป็นเช่นไร 

เชื่อมโยงในองค์ความรู้
          ภาษาไทย             การอ่าน   การเขียนเรียงความ
          สังคมฯ                 ศึกษาความเป็นมาของ ประวัติศาสตร์  การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม
                                     วิถีชีวิตความเป็นอยู่    ภูมิศาสตร์
          วิทยาศาสตร์          การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศ  สิ่งแวดล้อมรอบตัว

เพิ่มเติมเต็มกันและกัน
           - จัดกิจกรรมทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้นอกสถานศึกษา
           -  เชิญวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้
           -  แนะนำแหล่งศึกษาเรียนให้นักเรียนศึกษาเพิ่มเติม
           -  จัดนิทรรศการ เผยแพร่แหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจ
          -   นำภาพย้อนอดีตมาให้นักเรียนได้มีโอกาสเห็น แล้วฝึกวาดแบบแรเงา
          -  จัดกิจกรรมการแสดงละครบทบาทสมมุติ ละครอิงประวัติศาสตร์
          -  ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ที่มีผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์
        
                       


อ้างอิงข้อมูล
www.geocities.com
www.wikipedia 

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=443

อัพเดทล่าสุด