ประเทศเกาหลีใต้มีศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์มายาวนานทั้งดนตรี การแต่งกายและท่วงท่าการร่ายรำที่ถ่ายทอดออกมา
ช่วงนี้หลายๆ ประเทศกำลังจับตามองท่าทีของประเทศเกาหลีเหนือเกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ซึ่งอยู่ติดกัน โดยสำนักข่าวซินรายงานแถลงการณ์ของกระทรวงกิจการต่างประเทศและการค้าของเกาหลีใต้ ว่า เกาหลีเหนือไม่มีท่าทีจะยกเลิกโครงการนิวเคลียร์นี้แต่อย่างใด(รายละเอียดข่าว)
เมื่อกล่าวถึงประเทศเกาหลีใต้แล้วนั้นส่วนมากจะรู้จักซีรีย์ต่างๆ ที่นำมาฉายในประเทศไทย แต่เมื่อเราสังเกตให้ดีแล้วจะเห็นว่าประเทศเกาหลีจะให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมของตนเองมาก แม้แต่ซีรีย์ดังๆที่เป็นแนวนิยายวัยรุ่น พระเอก นางเอกก็มักจะแต่งกายในชุดประจำชาติเสมอ
ดังนั้นในครั้งนี้จะขอนำเสนอรูปแบบการแสดงอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ การแสดงนาฏศิลป์ของเกาหลี
เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ช่วงชั้นที่ 3-4
(ภาพจากงานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ณ ประเทศตุรกี)
ชนชาติเกาหลีได้ถ่ายทอดศิลปะทางดนตรี นาฎศิลป์ และจิตรกรรม ซึ่งมีการพัฒนามาตลอดระยะเวลา 5,000 ปีของประวัติศาสตร์เกาหลี แม้ว่าศิลปะตะวันตกในรูปแบบต่าง ๆ จะแพร่หลายอยู่ในประเทศ แต่ศิลปะเกาหลีอันมีเอกลักษณ์ เฉพาะตัวยังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะในลักษณะดั้งเดิม หรือผสมผสานกับศิลปะร่วมสมัย
ดนตรีประจำชาติ
ชนชาติเกาหลีมีดนตรีที่เรียกว่า คุกอัก มีที่มาคล้ายคลึงกับดนตรีจีนและญี่ปุ่น ดนตรีเกาหลีมีลักษณะแตกต่างอย่างชัดเจนจากดนตรีชนิดอื่น ๆ ในแถบเอเชียตะวันออก กล่าวคือ ดนตรีเกาหลีประกอบด้วยสามจังหวะในหนึ่งห้อง ในขณะที่ดนตรีจีนและญี่ปุ่นมีสองจังหวะในหนึ่งห้อง
คุกอัก แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ชองอัก หรือดนตรีในราชสำนัก และมินซกอัน หรือดนตรีพื้นบ้าน ชองอัก ซึ่งเป็นดนตรีชั้นสูง มีท่วงทำนองเชื่องช้า เยือกเย็น และซับซ้อน ส่วนมินซกอัก ได้แก่ ดนตรีของชาวนาชาวไร่ พันซอรี (ดนตรีที่เน้นการแสดงความรู้สึก) และดนตรีพิธีไสยศาสตร์ มีจังหวะที่รวดเร็วและกระฉับกระเฉง
(ภาพจากงานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ณ ประเทศตุรกี)
นาฏศิลป์
ศิลปะการร่ายรำแบบเกาหลีแบ่งออกเป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกับดนตรี คือ แบบราชสำนักและแบบพื้นบ้าน ในแบบฉบับของราชสำนักนั้น ท่าทางของการรำจะช้าและสง่างาม ซึ่งสะท้อนปรัชญาของการเดินสายกลางและการระงับอารมณ์ความรู้สึก เป็นอิทธิพลมาจากปรัชญาขงจื้อ ในทางตรงกันข้าม ระบำพื้นบ้านซึ่งสะท้อนชีวิตการทำงานและศาสนาของสามัญชนจะใช้จังหวะและทำนองที่สนุกสนาน เป็นลักษณะของการแสดงออกที่เป็นอิสระและมีชีวิตชีวาของคนเกาหลี เช่น ระบำของชาวนาชาวไร่ ระบำหน้ากาก และการร่ายรำทางไสยศาสตร์
วิวัฒนาการของนาฏศิลป์เกาหลีก็ทำนองเดียวกับของชาติอื่น มักจะเริ่มและดัดแปลงให้เป็นระบำปลุกใจในสงคราม เพื่อให้กำลังใจแก่นักรบ หรือไม่ก็เป็นพิธีทางพุทธศาสนา หรือเป็นการร้องรำทำเพลงในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ หรือแสดงเป็นหมู่ นาฏศิลป์ในราชสำนักก็มีมาแต่โบราณกาลเช่นเดียวกัน
(ภาพจากงานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ณ ประเทศตุรกี)
นาฏศิลป์เกาหลี มีลีลาอันงดงามอ่อนช้อยอยู่ที่การเคลื่อนไหวไหล่และเอวเป็นส่วนสำคัญ ตามหลักทฤษฎีนาฎศิลป์เกาหลี มี 2 แบบ คือ
1. แบบแสดงออกซึ่งความรื่นเริง ความโอบอ้อมอารี และความอ่อนไหวของอารมณ์
2. แบบพิธีการ ดัดแปลงมาจากวัฒนธรรมและประเพณีทางพุทธศาสนา
จุดเด่นของนาฏศิลป์เกาหลี มีลักษณะคล้ายนาฏศิลป์สเปน คือผู้แสดงเคลื่อนไหวทั้งส่วนบนและส่วนล่างของร่างกายเป็นการผสมผสานระหว่างนาฏศิลป์ตะวันตกและนาฏศิลป์ตะวันออกเข้าด้วยกัน ซึ่งนาฏศิลป์ตะวันตกเน้นหนักในการใช้ขาและร่างกายส่วนล่าง แต่นาฏศิลป์ตะวันออกจะใช้ส่วนไหล่ แขน และมือ
โรงเรียนนาฏศิลป์เกาหลีสมัยปัจจุบัน จะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. โรงเรียนนาฏศิลป์แผนโบราณ ซึ่งไม่ยอมรับอิทธิพลอื่นใดนอกจากจะรักษาแบบฉบับเดิมไว้
2. โรงเรียนนาฏศิลป์สมัยใหม่ จะรับเอาแบบอย่างของนาฏศิลป์ตะวันตกเข้ามารวมด้วย ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่าแบบโบราณ
นาฏศิลป์เกาหลีที่ควรรู้จัก ได้แก่
1. ละครสวมหน้ากาก เนื้อเรื่องมักคล้ายคลึงกัน ลีลาการแสดงนั้นนำเอานาฏศิลป์แบบต่างๆ มาปะติดปะต่อกัน
2. ระบำแม่มดก็เป็นนาฏศิลป์อีกแบบหนึ่ง และการร้องรำทำเพลงประเภทลูกทุ่งนั้นก็มีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง
3. ระบำบวงสรวงในพิธีและระบำประกอบดนตรีที่ใช้ในพิธีเลี้ยงต้อนรับในราชสำนัก ซึ่งประกอบด้วยบรรยากาศอันงดงามตระการตาน่าชมมาก
ประเด็นคำถาม
1. สาเหตุใดที่ทำให้นักเรียนชอบละคร หรือ ซีรีย์เกาหลี
2. นักเรียนรู้จักการแสดงนาฏศิลป์เกาหลีชุดใดบ้าง
3. นักเรียนเคยชมการแสดงนาฏศิลป์เกาหลีหรือไม่
กิจกรรมแนะนำ
1. นักเรียนควรศึกษาศิลปะ วัฒนธรรมการแสดงนาฏศิลป์เกาหลี
2. นักเรียนค้นคว้าประวัติการแสดงนาฏศิลป์เกาหลีที่นักเรียนสนใจ
บูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
ในเรื่อง ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.learners.in.th
www.banramthai.com
www.ryt9.com
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=697