วิธีการใช้และดูแลรักษาเครื่องดนตรีสากลที่ถูกต้อง เพื่อคุณภาพเสียงและอายุการใช้งานของเครื่องดนตรี
ใช้เป็น...ดูแลดี...เสียงมีคุณภาพ
( เครื่องลมไม้ )
( ภาพจาก www.thaigoodview.com )
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 เวลา 19.00 น. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการแสดงดนตรีของวงซิมโฟนีออร์เคสตร้าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมฉลองเนื่องในวาระครบรอบสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบ 82 ปี ณ หอประชุมจุฬาฯ การแสดงในครั้งนี้มีรายการแสดงที่พิเศษออกไป คือ มีการเลือกสรรบทเพลงที่หาฟังได้ยาก เช่น Roman Carnival ประพันธ์โดย Hector Berlioz และ Rodeo ประพันธ์โดย Aaron Copland ศิลปินผู้มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน นอกจากนี้ยังมีการแสดงเดี่ยวคลาริเน็ตกับวงออร์เคสตร้า โดย Peter Goldberg ศิลปินรับเชิญในบทเพลงที่ผู้ประพันธ์ได้อุทิศให้กับ Goldberg เป็นพิเศษในเพลง Concerto for Clarinet and Chamber Orchestra ประพันธ์โดย Francis James Brown ส่วนผู้อำนวยเพลงในการแสดงครั้งนี้คือ ผศ.พ.อ.ชูชาติ พิทักษากร ซึ่งมีความรู้ความสามารถในการอำนวยเพลงเป็นที่รู้จักดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่มีโอกาสได้ร่วมชมการแสดงดนตรีในครั้งนี้ แต่จากการสอบถามและสืบค้นข้อมูลจากผู้ที่ได้ชมการแสดง ทุกคนต่างประทับใจและมีความสุขจากการชมการแสดงดนตรีของวงซิมโฟนีออร์เคสตร้าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก วงซิมโฟนีออร์เคสตร้าประกอบด้วยเครื่องดนตรี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องสาย เครื่องลมไม้ เครื่องลมทองเหลือง และเครื่องตีกระทบ ซึ่งเครื่องดนตรีแต่ละกลุ่ม แต่ละประเภทมีวิธีการใช้และดูแลรักษาที่แตกต่างกัน เพื่อให้เครื่องดนตรีมีอายุการใช้งานที่นาน และคุณภาพเสียงที่ดีเกิดความไพเราะ
เหมาะสำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6
สาระที่ 2 ดนตรี มาตรฐาน ศ 2.1 เข้าใจและแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์คุณค่าดนตรี ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดต่อดนตรีอย่างอิสระ ชื่นชม และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
วิธีการใช้และดูแลรักษาเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมไม้ (Wood wind Instruments)
1. เครื่องลมไม้ที่มีลิ้น ได้แก่ คลาริเน็ต (Clarinet) โอโบ (Oboe) และบาสซูน (Bassoon) เป็นเครื่องดนตรีสร้างจากไม้ในการเก็บรักษาควรไม่ให้เครื่องดนตรีถูกน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายของตัวเครื่องดนตรีและระบบเสียง
- โอโบ บาสซูน คลาริเนต แซกโซโฟน เป็นเครื่องดนตรีที่มีลิ้น ซึ่งทำด้วยไม้เหลาที่มีความบางมาก เมื่อบรรเลงเสร็จ ควรมีการดูแลรักษาส่วนนี้เป็นพิเศษ โดยการทำความสะอาดลิ้นด้วยน้ำยาล้างเฉพาะ จากนั้น นำลิ้นเก็บใส่กล่องที่เฉพาะ หรือกล่องที่มิดชิด
( ภาพจาก www.ebook.nfe.go.th )
2. เครื่องลมไม้ที่ไม่มีลิ้น ได้แก่ ฟลุต (Flute) และปิกโกโล (Piccolo) ในการดูแลรักษา ควรมีการดูแลเป็นพิเศษในการล้างตัวฟลุต คือ ใช้น้ำยาล้างเฉพาะเครื่อง และระมัดระวังในการล้างตัวเครื่อง อย่าให้น้ำยาโดนบริเวณนวมเพราะจะทำให้นวมเกิดการพองหรือบิดเบี้ยวได้
- ควรใช้ผ้าแห้งเช็ดทุกครั้งหลังบรรเลงเสร็จ เนื่องจากเหงื่อที่มือจะทำให้เกิดความชื้นและอาจเกิดสนิมได้
- เมื่อบรรเลงเสร็จหรือวางเครื่องดนตรีระหว่างฟังการบรรเลงควรเก็บเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมไม้ในกล่องเฉพาะของเครื่องดนตรีนั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือน
( ภาพจาก www.mengrai.ac.th )
คำถามพัฒนากระบวนการคิด
1. การใช้และดูแลรักษาเครื่องดนตรีไม่ถูกวิธี จะส่งผลเช่นไรกับเครื่องดนตรี
2. เครื่องดนตรีทุกประเภทมีวิธีการดูแลรักษาที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เพราะเหตุใด
บูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้
กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา เรื่อง สุขอนามัยทางช่องปาก
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง การอ่านเพื่อคิดวิเคราะห์
แหล่งที่มาของข้อมูล
สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ ( พว.)
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=702