สูญสิ้นบรมครูศิลปินแห่งชาติ "ครูแจ้ง คล้ายสีทอง" เรียนรู้หลักการร้องเพลงไทยเดิม
ที่มาภาพ
บรมครูขับเสภา"ครูแจ้ง คล้ายสีทอง" สิ้นใจแล้วหัวใจล้มเหลวด้วยวัย 74ปี ขณะรักษาตัวร.พ.ศิริราช ภรรยาเตรียมเคลื่อนศพไปไว้วัดป่าเลไลย์สุพรรณบุรี (ที่มาข่าว bangkokbiznews )
ถือว่าเป็นการสูญเสียศิลปินแห่งชาติชั้นครู ที่ทรงคุณค่าในยุคนี้เป็นอย่างยิ่ง ในฐานะลูกศิษย์ผู้สืบสานศิลปะ ขอน้อมคารวะไว้อาลัยของการจากไปอย่างสงบของครูสิ่งที่ดีงามคุณค่าทางวัฒนธรรม ที่ครูแจ้งได้สรรค์สร้างไว้ในแผ่นดินไทย จะยังคงตราตรึงเป็นที่จดจำ ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบทอดตลอดไป
ที่มาภาพ
ครูแจ้ง คล้ายสีทอง บรมครูศิลปินแห่งชาติ คีตศิลป์ไทย
ประวัติ ครูแจ้ง คล้ายสีทอง เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2478 ที่สุพรรณบุรี จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดโบสถ์ดอนคำแพน และเข้ารับราชการในตำแหน่งคีตศิลปินจัตวา กรมศิลปากร เนื่องจากครูแจ้งเป็นผู้มีความสามารถในการขับเสภาพร้อมขยับกรับ ไพเราะ หวานหู ได้รับสมญาว่า "ช่างขับคำหอม" เพราะเสียงดี ขยับกรับได้ยอดเยี่ยมจนไม่มีใครเทียบ เป็นนักขับเสภาที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ขับเสภาได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถขับบทเสภาเก่า ๆ ที่ถูกลืมกลับมามีชีวิตโดดเด่น จนกระทั่งได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ เช่น เรื่องขุนช้าง ชุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม
นอกจากนี้ ครูยังเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาศิลปะการขับกล่อมให้แก่ศิษย์มากมาย จนได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวขับไม้ประกอบซอสามสายในพระราชพิธีขึ้นระวาง สมโภชพระศรีนรารัฐราชกิริณี ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อพ.ศ.2520 และได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ในงานพระราชพิธีขึ้นระวาง และสมโภชช้างสำคัญ 3 เชือกที่ จ.เพชรบุรี พ.ศ.2521 และได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(คีตศิลป์) จากสวช. เมื่อพ.ศ.2538
สาระที่ 2 : ดนตรี
มาตรฐาน ศ 2.1 : เข้าใจ และแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ คุณค่าถ่ายทอดความ
รู้สึกความคิดต่อดนตรีอย่างอิสระ ชื่นชม และประยุกต์ ใช้ในชีวิตประจำวัน
มาตรฐาน ศ 2.2 : เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่า ของดนตรีที่เป็นมรดก
ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ท้องถิ่น ภูมปัญญาไทยและสากล
สาระการเรียนรู้ การขับร้องเพลงไทยเดิม
การขับร้องเพลงไทยเดิม เพลงไทยเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และประเพณีของไทย ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ คือ มีการร้องเอื้อนตามจังหวะทำนองเพลง ทำให้เพิ่มความไพเราะมากขึ้น
ที่มาภาพ
หลักในการขับร้องเพลงไทยเดิม
1. เนื้อเพลง เนื้อเพลงเป็นองค์ประกอบสำคัญของเพลง เพราะเนื้อเพลงจะบอกถึงรายละเอียดของเพลงว่า ผู้แต่งเพลงต้องการสื่อความหมายอะไรในบทเพลง ดังนั้นผู้ขับร้องจะต้องร้องเพลงให้ครบทุกตัวอักษรที่ผู้แต่งได้แต่งไว้เพื่อรักษาเนื้อหาและความหมายของเพลงนั้น
2. ทำนอง หมายถึง ระดับเสียงที่ใช้ในการร้องเพลง ผู้ขับร้องจะต้องร้องเพลงให้ถูกต้องตามทำนองของเพลงนั้น
3. เสียง ผู้ขับร้องต้องรักษาระดับเสียงให้คงที่ และร้องให้เข้ากับเสียงดนตรีได้อย่างดี ไม่ควรร้องให้เสียงเพี้ยนหรือร้องไม่ตรงกับเสียงของดนตรี
4. ถ้อยคำและการแบ่งวรรคตอน ในการร้องเพลง ผู้ขับร้องจะต้องระมัดระวังในเรื่องการแบ่งวรรคตอนที่ถุกต้องและการออกเสียงตามถ้อยคำให้ชัดเจน เช่น การออกเสียงตัว ร ล การออกเสียงคำควบกล้ำ เป็นต้น
5. จังหวะ ผู้ขับร้องจะต้องร้องเพลงให้ถูกต้องตามจังหวะอย่างสม่ำเสมอควรร้องให้สัมพันธ์กับจังหวะฉิ่งและไม่คร่อมจังหวะของเพลง
6. การหายใจ ผู้ขับร้องจะต้องฝึกหายใจให้ถูกจังหวะ รู้จักผ่อน และถอนลมหายใจให้ถูกต้อง ถ้าหายใจผิดจังหวะ จะทำให้เสียงร้องหรือทำนอง ที่ควรจะต่อเนื่องกันขาดหายหรือห้วนไป ทำให้เพลงขาดความไพเราะนุ่มนวล
7. อารมณ์ ผู้ขับร้องควรแสดงอารมณ์ตามเพลง เพราะจะทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วมกับเพลง ซึ่งทำได้โดยการใช้นำเสียง สีหน้า ท่าทาง เป็นต้น
ที่มาภาพ
การเอื้อนเสียง
1. เสียงเออ
เสียงเออ ใช้มากในการร้องเพลง เพราะเป็นแม่เสียง วิธีทำเสียงเออ คือ เปล่งจากคอให้ดังพอควร น้ำหนักเสียงอยู่ที่คอมากหน่อยประมาณโคนลิ้น เผยอปากเล็กน้อย ยกลิ้นดันฟันล่าง แล้วขยับคางพร้อมกับระบายเสียงออกจากคอโดยตรงให้สม่ำเสมอกัน
2. เสียงเอย,เงย
เสียงเอยและเงย คล้ายกันและแทนกันได้บ้างบางกรณี มักใช้ตอนสุดวรรคสุดตอนหรือท่อนท้ายของเพลง วิธีทำเสียงเอย,เงย เปล่งจากลำคอโดยตรงให้แรงและยาว เผยอริมฝีปากขึ้นพร้อมกับยกคางเล็กน้อย เน้นแก้มและคาง ยกโคนลิ้นให้คอโปร่ง แล้วค่อย ๆ กระดกปลายลิ้นลงมาแตะฟันล่างและฟันบนเข้าหากัน แล้วผันหางเสียงเอยและเงยนี้ให้หนักไปทางจมูก แล้วติดต่อด้วยเสียงอือ หรือกว่าจะหมดช่วงสุดท้าย
3. เสียงเอ๋ย
เสียงเอ๋ย ใช้ในการขับร้องที่มีลักษณะเป็นบทชมหรือบทเกี้ยว วิธีทำเสียงเอ๋ย เปล่งเสียงออกจากคำให้น้ำหนักจากฐานคอให้แรง เผยอปากแล้วค่อย ๆ เลื่อนน้ำหนักของเสียงจากคอให้สูง เน้นน้ำหนักของเสียงไปอยู่ที่นาสิกและขมับ แล้วเน้นแก้มกับคาง พร้อม ๆ กับเผยอโคนลิ้นเพียงเล็กน้อยพอให้คอโปร่ง แล้วค่อย ๆ โปรยปลายลิ้นลงช้า ๆ จนแตะฟันล่าง แล้วตวัดหางเสียงให้สูงขึ้นอีกครั้งให้แรง เผยอริมฝีปากเล็กน้อยและแข็งค้างไว้เปล่งเสียงออกตรง ๆ แล้วค่อยผ่อนลงให้ฟันล่างและฟันบนเข้าหากันอย่างช้า ๆ พร้อมกับบังคับเสียงที่ยังสูงอยู่นั้นให้ออกทางจมูกช้า ๆ พร้อมกับทำเสียงหือต่อท้าย
4. เสียงอือ
เสียงอือ คล้ายเสียงเออ มักใช้ในการรอจังหวะหรือสุดวรรคตอนระหว่างรอท่าอยู่ หรือสุดท้ายเพลง
วิธีทำเสียงอือ เปล่งจากคอให้แรงมาก ๆ เผยอปากเล็กน้อย ออกเสียงเรื่อง ๆ แข็งคางทั้ง 2 ข้างไว้ ยกโคนลิ้นขึ้นให้คอโปร่ง เปล่งเสียงออกมา ตามด้วยเสียงหือก็ได้ บางกรณีก็ไม่ต้องใช้เสียงหือ
5. เสียงฮือ
เสียงฮือ คล้ายเสียงอือ แต่ใช้น้อยว่า ใช้สอดแทรกเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างคั่น หรือท้ายเสียงระหว่างที่ต้องการหางเสียงสั้น ๆ วิธีทำเสียงอือ เปล่งเสียงจากลำคอเล็กน้อย เผยอปากพอควร ยกโคนลิ้นนิดหน่อยขณะเปล่งเสียงจากคอไปสู่นาสิก แล้วค่อย ๆ ผ่อนเสียงฮือออกจากทางจมูกช้า ๆ
6. เสียงหือ
เสียงหือ คล้ายเสียงเอ๋ย มักใช้ตอนสุดท้ายของตอนหรือลงท้ายวรรคสุดตอนของทำนองเพลง หรือตามความต้องการของผู้ขับร้องที่จะใช้หางเสียง หรือจะใช้ประกอบส่วนอื่น ๆ ของบทเพลงในการขับร้องก็ได้ตามความเหมาะสม วิธีทำเสียงหือ เปล่งจากคอเบา ๆ ไปทางนาสิก เน้นหนักผันเสียงขึ้นในแนวทางสูงเรื่อยไปจนสุดหางเสียงเช่นเดียวกับท้ายเสียงของเก่า ส่วนปากจะเผยอหรือไม่ก็ได้ ถ้าเผยอเล็กน้อยจะช่วยผ่อนแรงได้มาก
ที่มาภาพ
อารมณ์ของเพลงไทยเดิม
เพลงไทยเดิม นั้นมีอารมณ์ที่แสดงออกได้หลายระดับ ตั้งแต่ชนิดที่เห็นได้ง่ายชัดเจน จนกระทั่งชนิดที่เห็นได้ยาก ตัวอย่าง ชื่อเพลงที่บอกอารมณ์ต่าง ๆ เช่น
เพลงสำหรับอารมณ์เศร้า เช่น มอญร้องไห้ พญาโศก ลาวครวญ ธรณีกันแสง
เพลงสำหรับอารมณ์โกรธ เช่น นาคราช เทพทอง เขมรกำปอ
เพลงสำหรับอารมณ์รัก เช่น โอ้โลม โลมพม่า ลีลากระทุ่ม
เพลงสำหรับอารมณ์ครึกครื้น เช่น กราวนอก กราวใน กราวตะลุง กราวกลาง
ที่มาภาพ
ตัวอย่างเพลงไทยสำหรับฝึกร้อง
เพลงเต่ากินผักบุ้ง
เนื้อร้อง มนตรี ตราโมท ทำนอง เต่ากินผักบุ้ง
ยามเรียนเราจะเรียนเพียรศึกษา เพื่อก้าวหน้าต่อไปไม่ถอยหลัง
จะเหนื่อยยากสักเท่าใดไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งสำเร็จเสร็จสมใจ
ดอกเอ๋ยเจ้าดอกมะไฟ จิตมุ่งมั่นอันใดจักไม่แคล้วไปเลยเอย
ผลแห่งความพยายามจะตามสนอง สิ่งใดที่ใฝ่ปองต้องเสร็จสมอารมณ์เอย
เพลงสร้อยเพลง
เนื้อร้อง พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 ทำนอง สร้อยเพลง
ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส
เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย
เขาจะเห็นแก่หน้าคนชื่อ จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย
ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา
เพลงลาวดวงเดือน
เนื้อร้อง – ทำนอง กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม
โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง
โอว่าดึกแล้วหนอ พี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วงรักเจ้าดวงเดือนเอย
ขอลาแล้ว เจ้าแก้วโกสุม พี่นี้รักเจ้าหนอ ขวัญตาเรียม
จะหาไหนมาเทียม เจ้าดวงเดือนเอย
หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้ายคล้ายเจ้าสูเรียมเอย
หอมกลิ่นกรุ่นครัน หอมนั้นยังบอเลย เนื้อหอมทรามเชย เอ๋ยเราละหนอ
คลิกดาวน์โหลดแผนการจัดการเรียนรู้ การร้องเพลงและการบรรเลงเพลงไทย
คำถามสานต่อความคิด
- เพลงไทยเดิมประเภทใดร้องง่ายที่สุด
- เพลงไทยเดิมมีเอกลักษณ์ที่สำคัญคืออะไร
- เมื่อได้รับฟัง และฝึกร้องเพลงไทยเดิม ได้รับคุณค่าอย่างไร
- แนวทาง หรือ วิธีการใดที่จะทำให้เพลงไทยเดิม ได้รับการธำรงไว้ซึ่งคุณค่าต่อไป
- หลักและวิธีการร้องเพลงไทยเดิมให้ถูกต้อง
เชื่อมโยงในองค์ความรู้
ภาษาไทย การอ่าน การเขียนเนื้อร้องเพลงไทยเดิม
สังคมฯ ศึกษาความเป็นมาของ ประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม
วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภูมิศาสตร์
เพิ่มเติมเต็มกันและกัน
-ประกวดการขับร้องเพลงไทยเดิม และนำเสนอผลงานต่อสาธารณชน
- จัดการแสดงนาฏศิลป์ ประกอบการขับร็องเพลงไทยเดิม
- นำเนื้อร้องเพลงไทยเดิมให้นักเรียนใส่ทำนองตามความคิดสร้างสรรค์
อ้างอิงข้อมูล
https://www.bangkokbiznews.com
https://www.bloggang.com
https://p-i-e.exteen.com
https://learners.in.th
https://i3.photobucket.com
https://porasit.exteen.com
https://byfiles.storage.live.com
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=744