ว่าด้วยเรื่อง..ของเพลงไทย (ภาค 2)


1,076 ผู้ชม


ลักษณะและประเภทของเพลงไทย..   

                                            ว่าด้วยเรื่อง..ของเพลงไทย (ภาค 2) 
                                                                 ที่มาภาพ
 
 ศึกษา เรียนรู้ประเภทและลักษณะของเพลงไทย ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว...


สาระที่  2  :   ดนตรี
          มาตรฐาน ศ 2.1 :  เข้าใจ  และแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์วิเคราะห์  วิพากษ์ วิจารณ์ คุณค่าถ่ายทอดความรู้สึกความคิดต่อดนตรีอย่างอิสระ  ชื่นชม และประยุกต์ ใช้ในชีวิตประจำวัน
          มาตรฐาน ศ 2.2 :  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม   เห็นคุณค่า ของดนตรีที่เป็นมารดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิทที่ปัญญาไทยและสากล

สาระการเรียนรู้ เพลงไทย   

                                                ว่าด้วยเรื่อง..ของเพลงไทย (ภาค 2)   
                                                                         ที่มาภาพ    

เพลงหน้าพาทย์

         เพลงหน้าพาทย์   คือ เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบกิริยา อาการ พฤติกรรมต่างๆ และอารมณ์ของตัวละคร  อาทิเช่น      เพลงโอด    สำหรับ  ร้องไห้ เสียใจ ,  เพลงกราวรำ สำหรับ  เยาะเย้ยสนุกสนาน  , เพลงเชิดฉาน  สำหรับ พระรามตามกวาง ,  เพลงแผละ สำหรับ ครุฑบิน ,  เพลงคุกพาทย์ สำหรับ ทศกัณฐ์แสดงอิทธิฤทธิ์ความโหดร้าย หรือสำหรับหนุมานแผลงอิทธิฤทธิ์ หาวเป็นดาวเป็นเดือน เป็นต้น  
         นอกจากนั้นยัง  หมายถึง เพลงที่บรรเลงประกอบกิริยา สมมุติที่แลไม่เห็นตัวตน เช่น เพลงสาธุการ เพลงตระเชิญ เพลงตระนิมิต เพลงกระบองกัน สำหรับเชิญเทพยดาให้เสด็จมา แต่ไม่มีใครมองเห็น การเสด็จมาของเทพยดาในเวลานั้น เช่น บรรเลงประกอบพิธีไหว้ครู ครอบครูดนตรีและนาฎศิลป์ และยังเป็นเพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาที่เป็นอดีต ไม่ใช่ปัจจุบัน เช่น เมื่อพระเทศน์มหาชาติกัณฑ์มัทรีจบลง ปี่พาทย์บรรเลงเพลงทยอยโอด คือ บรรเลงเพลงโอดกับเพลงทยอยสลับกัน เพื่อประกอบกิริยาคร่ำครวญ โศกเศร้า เสียใจของพระนางมัทรี ตัวเอกของกัณฑ์นี้ เมื่อทราบว่าพระเวสสันดรได้บริจาค 2 กุมาร กัณหาและชาลีให้แก่พราหมณ์ชูชกไป  พระได้เทศน์เรื่องนี้จนจบลงแล้ว แต่ ปี่พาทย์เพิ่งจะบรรเลงเพลงประกอบเรื่อง อย่างนี้ถือว่าเป็นการบรรเลงประกอบกิริยาสมมุติที่เป็นอดีต เป็นต้น  เพลงหน้าพาทย์นิยมบรรเลงดนตรีเพียงอย่างเดียว ไม่มีร้อง
         
           ได้
มีการแบ่งประเภทของเพลงหน้าพาทย์ตามลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
          
เพลงหน้าพาทย์แบ่งตามฐานันดรของตัวแสดง  แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
          
๑. หน้าพาทย์ธรรมดา ใช้บรรเลงประกอบกิริยาอารมณ์ของตัวละครที่เป็นสามัญชน เป็นเพลงหน้าพาทย์ไม่บังคับความยาว การจะหยุด ลงจบ หรือเปลี่ยนเพลง ผู้บรรเลงจะต้องดูท่ารำของตัวละครเป็นหลัก เพลงหน้าพาทย์ชนิดนี้โดยมากใช้กับการแสดงลิเกหรือละคร เช่น เพลงเสมอ เพลงเชิด เพลงรัว เพลงโอด

           ๒. หน้าพาทย์ชั้นสูง   ใช้บรรเลงประกอบกิริยา อารมณ์ของตัวละครผู้สูงศักดิ์หรือเทพเจ้าต่างๆ เป็นเพลงหน้าพาทย์ประเภทบังคับความยาว ผู้รำจะต้องยืดทำนองและจังหวะของเพลงเป็นหลักสำคัญ จะตัดให้สั้นหรือเติมให้ยาวตามใจชอบไม่ได้ โดยมากใช้กับการแสดงโขน ละคร และใช้ในพิธีไหว้ครู ครอบครูดนตรีปละนาฎศิลป์ เช่น เพลงตระนอน  เพลงกระบองกัน  เพลงตระบรรทมสินธุ์  เพลงบาทสกุณี  เพลงองค์พระพิราพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงอนงค์พระพิราพ ถือกันว่าเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงสุดในบรรดาเพลงหน้าพาทย์ทั้งหลาย

         เพลงหน้าพาทย์แบ่งตามหน้าที่การนำไปใช้ประกอบการแสดงของตัวละคร  แบ่งได้ ๗ ลักษณะ คือ
        
๑. เพลงหน้าพาทย์ประกอบกิริยาไปมา ได้แก่ 
                -  เพลงเสมอ       ใช้ประกอบกิริยาการเดินทางระยะใกล้ ไปช้าๆ ไม่รีบร้อน
                -  เพลงเชิด        ใช้ประกอบกิริยาการเดินทางระยะไกลไปมาอย่างรีบร้อน
                -  เพลงโคมเวียน  ใช้ประกอบกิริยาการเดินทางในอากาศของเทวดาและนางฟ้า
                -  เพลงแผละ      ใช้ประกอบกิริยาการไปมาของสัตว์มีปีก เช่น นก ครุฑ
                -  เพลงชุบ         ใช้ประกอบกิริยาไปมาของตัวละครศักดิ์ต่ำ เช่น นางกำนัล
   
       ๒. เพลงหน้าพาทย์ประกอบการยกทัพ  ได้แก่
               -   เพลงกราวนอก  สำหรับการยกทัพของมนุษย์ ลิง
              -    เพลงกราวใน    สำหรับการยกทัพของยักษ์
  
      ๓. เพลงหน้าพาทย์ประกอบความสนุกสนานร่าเริง  ได้แก่
              -  เพลงกราวรำ    สำหรับกิริยาเยาะเย้ย
              -   เพลงสีนวล  เพลงช้า  เพลงเร็ว  สำหรับแสดงความรื่นเริง
             -   เพลงฉุยฉาย แม่ศรี สำหรับแสดงความภูมิใจในความงาม
     ๔. เพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฎิหารย์ ได้แก่
             -  เพลงตระนิมิตร  สำหรับการแปลงกาย ชุบคนตายให้ฟื้น
            -  เพลงคุกพาทย์   สำหรับการแสดงอิทธิฤทธิ์ หรือเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัว
            -  เพลงรัว          ใช้ทั่วไปในการสำแดงเดช หรือแสดงปรากฎการณ์โดยฉับพลัน
     ๕. เพลงหน้าพาทย์ประกอบการต่อสู้และและติดตาม ได้แก่
            -  เพลงเชิดนอก    สำหรับการต่อสู้หรือการไล่ติดตามของตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น หนุมานไล่จับนางสุพรรณมัจฉา  หนุมานไล่จับนางเบญกาย
             -  เพลงเชิดฉาน   สำหรับตัวละครที่เป็นมนุษย์ไล่ตามสัตว์ เช่น พระรามตามกวาง
             -  เพลงเชิดกลอง   สำหรับการต่อสู้  การรุกไล่ฆ่าฟันกันโดยทั่วไป
             -  เพลงเชิดฉิ่ง     ใช้ประกอบการรำก่อนที่จะใช้อาวุธสำคัญหรือก่อนกระทำกิจสำคัญ
     ๖. เพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดงอารมณ์ทั่วไป ได้แก่
             -  เพลงกล่อม      สำหรับการขับกล่อมเพื่อการนอนหลับ
             -  เพลงโลม        สำหรับการเข้าพระเข้านาง  การเล้าโลมด้วยความรัก 
             -  เพลงโอด        สำหรับการร้องไห้
            -  เพลงทยอย      สำหรับอารมณ์เสียใจ เศร้าใจขณะที่เคลื่อนที่ไปด้วย เช่น เดินพลางร้องไห้พลาง
     ๗. เพลงหน้าพาทย์เบ็ดเตล็ด ได้แก่
             -  เพลงตระนอน   แสดงการนอน
            -   เพลงลงสรง      สำหรับการอาบน้ำ
            - เพลงเซ่นเหล้า   สำหรับการกิน การดื่มสุรา

       เพลงหน้าพาทย์ทั้ง ๗ ลักษณะ ล้วนเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่นำมาใช้ในการแสดงต่าง ๆ เช่น ลิเก ละครและโขนอยู่บ่อย ๆ

                                               ว่าด้วยเรื่อง..ของเพลงไทย (ภาค 2)
                                                                        ที่มาภาพ

เพลงโหมโรง

        เพลงโหมโรง หมายถึง เพลงที่บรรเลงในอันดับแรกสำหรับงานต่างๆ เพื่อเป็นการประกาศให้รู้ว่า ขณะนี้งานดังกล่าวกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว และเป็นการบรรเลงเพื่อเคารพสักการะครูอาจารย์ และอัญเชิญเทพยดามายังสถานมงคลพิธีนั้นด้วย  เพลงโหมโรงแบ่งออกได้หลายลักษณะ ดังนี้

         ๑.  โหมโรงเช้า  ใช้บรรเลงในงานมงคลพิธีต่างๆ ซึ่งจะมีขึ้นในตอนเช้า เช่น งานที่รู้จักกันเป็นสามัญว่า งานสวดมนต์เย็นฉันเช้า  เพลงที่บรรเลง ได้แก่ สาธุการ  เหาะ  รัว  กลม ชำนาญ 
         ๒.  โหมโรงกลางวัน  เป็นโหมโรงที่เกิดขึ้นจากประเพณีการแสดงมหรสพในสมัยโบราณ ถ้าเป็นการแสดงกลางวัน ซึ่งได้เริ่มแสดงตั้งแต่เช้ามาแล้ว เมื่อถึงเวลาเที่ยงจะต้องหยุดพักกลางวัน เพื่อให้ตัวละครและผู้บรรเลงดนตรี ตลอดจนผู้ร่วมงานการแสดงนั้น ได้หยุดพักและรับประทานอาหารกลางวัน  โหมโรงกลางวัน ประกอบด้วยเพลง กราวใน  เชิด  ชุบ  ลา  กระบองตัน  เสมอข้ามสมุทร  เชิดฉาน  ปลูกต้นไม้  ชายเรือ  รุกร้น  แผละ  เหาะ 
โล้  วา
          ๓.  โหมโรงเย็น  เป็นเพลงชุดที่ใช้บรรเลงในตอนเย็นของงาน ในการเริ่มงานมงคลต่างๆ ประกอบด้วยเพลง สาธุการ  ตระโหมโรง  รัวสามลา  ต้นชุบ  เข้าม่าน  ปฐม  ลา  เสมอ  รัว  เชิด  กลม  ชำนาญ  กราวใน  ต้นชุบ
          ๔.  โหมโรงเสภา  เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีการนำเอาปี่พาทย์มาบรรเลงประกอบการขับเสภา  การโหมโรงเสภาใช้ลักษณะเดียวกันกับโหมโรง ก่อนการแสดงละคร คือ ปี่พาทย์จะบรรเลงหน้าพาทย์ชุดต่างๆ จนกระทั่งถึงเพลงวาแล้วจึงเริ่มการแสดง  ต่อมาเพื่อไม่ให้เสียเวลามาก ใช้บรรเลง เพลงวา เพลงเดียว จากนั้นก็เปลี่ยนมาใช้เพลงในอัตราสองชั้นและสามชั้นตามความนิยม แต่ก็ยังยึดถือกันว่า ต้องจบด้วยทำนองตอนท้ายของเพลงวา  นอกจากนั้น ยังกำหนดให้บรรเลง เพลงรัว ซึ่งเรียกกันเป็นสามัญว่า รัวประลองเสภา แล้วจึงบรรเลงเพลงโหมโรง

        ในปัจจุบัน การบรรเลงของวงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย และ วงมโหรี ก็ได้นำเอาวิธีการโหมโรงเสภานี้มาใช้ แต่ได้ตัดเพลงรัวประลองเภาออกเสีย เริ่มต้นด้วยเพลงโหมโรง และจบด้วยทำนองท้ายของเพลงวาเหมือนกัน และนิยมใช้บรรเลงกันอย่างแพร่หลายจนทุก


เพลงเรื่อง

        เพลงเรื่อง คือ เพลงที่โบราณาจารย์ประดิษฐ์ขึ้น โดยนำเอาเพลงที่มีลักษณะใกล้เคียงกันหลาย ๆ เพลงมาบรรเลงติดต่อกันเป็นชุด  เป็นเรื่อง เพื่อความสะดวกในการใช้บรรเลงในโอกาสต่าง ๆ กัน เช่น เพลงเรื่อง นางหงส์ สำหรับใช้บรรเลงประกอบพิธีศพ  เพลงเรื่องฉิ่งพระฉัน สำหรับใช้บรรเลงประกอบพระฉันภัตตาหาร  และ เพลงเรื่องสร้อยสน สำหรับใช้บรรเลงในโอกาสทั่ว ๆ ไป 
          นอกจากนั้น ยังเป็นการรวบรวมเพลงที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันมาไว้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการจดจำ ที่น่าสังเกต คือ มักจะนิยมบรรเลงเพลงเรื่อง โดยการบรรเลงเฉพาะดนตรี ไม่มีร้อง
        การบรรเลงเพลงเรื่อง โดยทั่วไปประกอบด้วย เพลงช้า เพลงสองไม้ เพลงเร็ว และ จบลงด้วยเพลงลา เช่น เพลงเรื่องสร้อยสน ประกอบด้วย  เพลงสร้อยสน เพลงพวงร้อย แล้วออกท้ายด้วยเพลงสองไม้ และ เพลงเร็ว จบด้วยเพลงลา


เพลงหางเครื่อง

        เพลงหางเครื่อง คือ เพลงเล็ก ๆ สั้น ๆ แปลก ๆ ที่บรรเลงต่อจากเพลงแม่บท (เพลงเถาหรือเพลงสามชั้น) โดยทันทีทันใดหลังจากที่บรรเลงเพลงนั้นจบลงแล้ว บางครั้งเรียกว่า เพลงลูกบท  เพราะใช้บรรเลงเพลงต่อจาก เพลงแม่บท  เพลงหางเครื่องเป็นเพลงในอัตตราจังหวะสองชั้นหรือชั้นเดียว ที่มีท่วงทำนองค่อนข้างเร็ว กระฉับกระเฉง ให้ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ละเป็นเพลงที่มีเสียงและสำเนียงเดียวกันกับแม่บทที่บรรเลงนำมาก่อน เช่น บรรเลงเพลงแขกมอญบางขุนพรหม (เถา) จบแล้ว บรรเลงต่อท้ายด้วยเพลงมอญมอบเรืออัตราจังหวะสองชั้น เพลงมอญมอบเรือ (สองชั้น) ก็เรียกว่า เพลงหางเครื่อง หรือบรรเลงเพลงเขมรไทรโยค (สามชั้น) จบแล้ว บรรเลงต่อท้ายด้วยเพลงมยุราภิรมย์ หรือระบำลพบุรี  
        การบรรเลงเพลงหางเครื่อง จะจบด้วย การออกลูกหมดเสมอ และนิยมบรรเลงเฉพาะดนตรีอย่างเดียว ไม่มีร้อง


เพลงลูกหมด

        เพลงลูกหมด เป็นเพลงเล็กๆ สั้นๆ มักมีจังหวะเร็ว เทียบเท่าเพลงชั้นเดียว สำหรับบรรเลงต่อท้ายเพลงต่างๆ เพื่อแสดงว่า จบเพลง หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า "ออกลูกหมด"  การบรรเลงเพลงลูกหมดหรือการออกลูกหมดนี้  นอกจากจะมีความหมายว่า เพลงได้จบลงแล้ว ยังเป็นการให้เสียงกับคนร้อง ช่วยให้ คนร้อง ร้องได้ตรงกับระดับเสียงของวงดนตรีที่บรรเลง คนร้องที่มีความสามารถ เมื่อดนตรีบรรเลงเพลงลูกหมดจบลงแล้ว ก็ร้องเพลงได้ทันทีโดยไม่ต้องรอนักดนตรีให้เสียง  เพลงลูกหมดมักจะใช้บรรเลงต่อจากเพลงสามชั้น เพลงเถา และเพลงหางเครื่อง แล้วแต่กรณีและไม่มีร้อง

                                                ว่าด้วยเรื่อง..ของเพลงไทย (ภาค 2)
                                                                            ที่มาภาพ   

เพลงภาษาและการออกภาษา

        เพลงภาษา หมายถึง เพลงไทยที่มีชื่อขึ้นต้นเป็นชื่อของชาติอื่น ภาษาอื่น เช่น เพลงจีนขิมเล็ก เพลงเขมรพายเรือ เพลงมอญรำดาบ เพลงมอญรำดาบ เพลงพม่ารำขวาน เพลงแขกยิงนก เพลงฝั่งรำเท้า เป็นต้น   
        เพลงภาษาเป็นเพลงที่นักดนตรีไทยได้แต่งขึ้นเอง โดยเลียนสำเนียงภาษาต่างๆ เหล่านั้น เป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้นคล้ายๆ กับเพลงหางเครื่อง ต่างกันที่ว่า เพลงหางเครื่องนิยมบรรเลงต่อท้ายเพลงแม่บทที่บรรเลงนำมาก่อนเพียง ๑ เพลง หรือ ๒ เพลงเท่านั้น และ ต้องเป็นเพลงที่มีเสียงหรือสำเนีงเดียวกันกับเพลงแม่บท
         ส่วนเพลงภาษาบางทีบรรเลงติดต่อกันไปหลายๆ ภาษา หรือที่เรียกว่า "ออกภาษา" หรือ "ออกสิบสองภาษา"  วิธีออกภาษาตามระเบียบแบบแผนวิธีการบรรเลงเพลงภาษา ที่นิยมใช้บรรเลงกันอยู่โดยทั่วไปนั้น มีหลักอยู่ว่า ต้องออก ๔ ภาษาแรก  คือ จีน เขมร ตลุง พม่า  แล้วจึงออกภาษาอื่นๆ ต่อไป ซึ่งสมัยก่อนคงจะมีถึง ๑๒ ภาษา จึงมักนิยมเรียกกันติดปากว่า "ออกสิบสองภาษา"
        การบรรเลงเพลงภาษาและออกภาษานี้ เป็นที่นิยมกันมาก บางทีบรรเลงเพลงสามชั้นสำเนียงแขก ก็ออกภาษาแขกต่อท้าย บางทีก็นำเพลงภาษามาบรรเลง ๒-๓ เพลง ติดต่อกัน บางทีก็นำเพลงภาษาไปใช้ในละครพันทาง บางครั้งก็ใช้สำหรับวงปี่พาทย์นางหงส์ ที่บรรเลงในงานศพ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเศร้าโศก
        เพลงออกภาษาที่ใช้บรรเลงกันมาแต่เดิม ใช้บรรเลงเฉพาะดนตรีล้วนๆ ไม่มีร้อง ในปัจจุบัน บางครั้งได้มีการนำเอาเนื้อร้องเข้าประกอบเพลงภาษาด้วย  เพื่อเป็นการสร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลินแก่ผู้ชมและผู้ฟังได้อีกแบบหนึ่ง

เพลงเดี่ยว

        เพลงเดี่ยว หมายถึง เพลงประเภทที่กำหนดให้เครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง  บรรเลงเพลงเครื่องเดียว เป็นการแสดงความสามารถในการบรรเลงของนักดนตรีแต่ละคน  มักจะเลือกเอาเพลงที่มีเสียงครบ ๗ เสียงเพราะเพลงไทยบางเพลงมีเพียง ๕ เสียง จึงไม่เหมาะกับการบรรเลงเดี่ยว  
         เพลงเดี่ยว หรือ การเดี่ยวด้วยเครื่องดนตรีมีหลายแบบ คือ 
 การเดี่ยวด้วย เครื่องดนตรีชิ้นเดียวตลอดเพลง  เช่น ซออู้ ใช้เพลงแขกมอญ หรือเพลงกราวใน เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้มเสียงใหญ่  ซอด้วง ใช้เพลงเชิดนอก เพลงพญาโศกฯ เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่เสียงแหลมเล็ก  
        นอกจากนั้น เพลงเดี่ยว ที่นิยมกันทั่วไป ได้แก่ แขกมอญ  สารถี  พญาโศก  ลาวแพน  นกขมิ้น  เชิดนอก  กราวใน  ทะยอย  อาหนู  อาเฮีย  แป๊ะ  การะเวก  ม้าย่อง  นารายณ์แปลงรูป  ดอกไม้ไทร  ต่อยรูป

        การเดี่ยวด้วยเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นในวงดนตรี  มักจะเป็นวงปี่พาทย์ และเริ่มด้วยปี่ใน ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ระนาดทุ้ม ตามลำดับ  ส่วนจะบรรเลงเพลงใดก่อน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของนักดนตรีที่ร่วมวงกันอยู่ รวมทั้งสถานการณ์ในขณะนั้นเป็นส่วนประกอบด้วย  และเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่บรรเลงร่วมกับการเดี่ยว ได้แก่ กลองสองหน้าและฉิ่ง


เพลงหมู่

        เพลงหมู่ หมายถึง เพลงที่เครื่องดนตรีทุกเครื่องบรรเลงพร้อมๆ กันเป็นหมู่ หรือเป็นวง การบรรเลงลักษณะนี้จะต้องยึดถือความพร้อมเพรียงเป็นหลัก มีจังหวะช้าเร็วอย่างเดียวกัน ทุกคนบรรเลงตามหน้าที่ของตนให้สดคล้องต้องกัน เช่น การบรรเลงของวงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย วงมโหรี ในโอกาสต่างๆ

                                                                ว่าด้วยเรื่อง..ของเพลงไทย (ภาค 2) 
                                                                                              ที่มาภาพ

ที่มาข้อมูล

คำถามสานต่อความคิด
       -  เพลงไทย มีลักษณะอย่างไร
       -  เพลงไทยมีเอกลักษณ์ที่สำคัญคืออะไร
       -  เมื่อได้รับฟัง การบรรเลงเพลงไทยเกิดความรู้สึกอย่างไรบ้าง
       -  แนวทาง หรือ วิธีการใดที่จะทำให้เพลงไทยได้รับการธำรงไว้ซึ่งคุณค่าต่อไป
      -   หลักและวิธีการบรรเลงไทยให้ถูกต้องเป็นอย่างไร

เชื่อมโยงในองค์ความรู้
          ภาษาไทย             การอ่าน   การเขียนเนื้อร้องเพลงไทย
          สังคมฯ                 ศึกษาความเป็นมาของ ประวัติศาสตร์  การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม
                                     ประเพณี 
เพิ่มเติมเต็มกันและกัน
          -  การเรียนรู้แบบโครงงาน ศึกษาเพลงไทยในโอกาสต่าง ๆ
         -  ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดจินตนาการ เมื่อได้รับฟังเพลงไทยเดิมในโอกาสต่าง ๆ
          -  เข้ารับชมการแสดงบรรเลงดนตรีไทย ในงานและเทศกาลต่าง ๆ 
                       

อ้างอิงข้อมูล
https://www.lks.ac.th 
https://www.moohin.com 
https://www.art4kidbya_ak.com 
https://farm4.static.flickr.com
https://www.sirindhorn.net 

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1125

อัพเดทล่าสุด