ฟังเพลงไทยในพิธีเทศน์มหาชาติ


1,256 ผู้ชม


เพิ่มอรรถรสในการฟังเทศน์ เกิดความซาบซึ้งในรสพระธรรมและผ่อนคลายจากการฟังเทศน์เป็นเวลานาน ๑๓ กัณฑ์   

ฟังเพลงไทยในพิธีเทศน์มหาชาติ

ฟังเพลงไทยในพิธีเทศน์มหาชาติ

 ( ภาพจาก www.oknation.net )

           ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา  คือเทศกาลออกพรรษา บริเวณริมแม่น้ำโขงมีบั้งไฟพญานาคให้ผู้คนทั่วไปได้ดูในความมหัศจรรย์ที่ยังไม่มีผู้ใดให้เหตุผลได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร จึงนับเป็นเทศกาลสำคัญที่มีผู้เฝ้ารอให้ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  อย่างใจจดจ่อ  เพราะปีหนึ่ง ๆ มีเพียงครั้งเดียว ถึงแม้ว่าจะยังเป็นปมปริศนาที่ยังคงถกเถียงกันว่า บั้งไฟพญานาคเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์

เหมาะสำหรับ  นักเรียนชั้นมัยมศึกษาปีที่  ๔ - ๖ 
สาระดนตรี  มาตรฐานที่  ๒.๒
 

           พิธีเทศน์มหาชาติ  เป็นพิธีทางศาสนาที่มีความสำคัญโดยใช้การเทศน์เป็นสื่อช่วยให้ประชาชนได้สนใจในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เนื้อหาของมหาชาตินั้น คือเรื่อง “เวสสันดรชาดก” ที่เรียกว่า “มหาชาติ” เพราะถือเป็นการประชุมพลังแห่งบารมีครั้งยิ่งใหญ่  ความนิยมเทศน์มหาชาติ เริ่มขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา เดิมแต่งเป็นภาษามคธ มีคาถาพันหนึ่ง เรียกว่า “พระคาถาพัน” ปัจจุบันแต่งเป็นร่ายยาว     พิธีเทศน์ของราษฎรนิยมทำกันในช่วงเทศกาลออกพรรษา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) แต่ปัจจุบันแปรเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับความสะดวก  มิใคร่ถือฤดูกาลเป็นเกณฑ์สักเท่าใด  และยังเป็นพิธีทางศาสนาที่สำคัญ ที่วงปี่พาทย์มีหน้าที่บรรเลงประกอบ มีการบรรจุบทเพลงต่าง ๆ ไว้เป็นแบบฉบับ  ยึดถือปฏิบัติในกลุ่มวงดนตรีไทย  รูปแบบการบรรเลงของวงปี่พาทย์จะเริ่มบรรเลงเพลงสาธุการ เมื่อพระขึ้นธรรมาสน์ และทำหน้าที่บรรเลงประกอบเมื่อสิ้นสุดการเทศน์ในแต่ละกัณฑ์  ซึ่งรายละเอียดของเพลงประกอบเทศน์มหาชาติ ที่มีความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง ได้ดังนี้

กัณฑ์ที่ ๑ ทศพร
             นางผุสดี ขอพร ๑๐ ประการจากพระอินทร์     ดนตรีบรรเลงเพลงสาธุการประกอบ    
ฟังเพลงสาธุการ

กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์
             กล่าวถึง นางผุสดี จุติยังเมืองมนุษย์ เป็นพระมเหสีของพระเจ้ากรุงสณชัย และมีพระราชโอรส คือ พระเวสสันดร  ต่อมาที่เมืองกลิงคราช เกิดทุกขภัย ชาวเมืองมาทูลขอช้างปัจยนาเคนทร์ พระเวสสันดรพระราชทานให้  จึงถูกเนรเทศออกจากเมือง
             ดนตรีบรรเลงเพลงตวงพระธาตุ จริงแล้วไม่เกี่ยวกับกับเหตุการณ์  แต่เกี่ยวกับการประทานช้างนั้นเปรียบเสมอด้วย การตวงพระธาตุของพระพุทธเจ้าแจกจ่ายทั่วไป

กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์   
             กรรมบันดาลให้พระเจ้ากรุงสณชัย ไม่ยินดีที่จะยกโทษให้พระเวสสันดร  พระนางมัทรีตามเสด็จ และได้บำเพ็ญทานไปตลอดทาง จนต้องเดินทางด้วยเท้า
             ดนตรีบรรเลงเพลงพญาโศก  ประกอบการทูลลา หรือการสั่งเมือง
ฟังเพลงพญาโศก

กัณฑ์ที่ ๔ วนประเวศ
             ทั้ง ๔ กษัตริย์เดินด้วยเท้าถึงเมืองเจตราช เจ้าเมืองทูลเชิญให้ครองเมือง  พระเวสสันดร ไม่ยอม เจ้าเมืองเจตราช จึงบอกทางให้เดินไปยังเขาวงกต
             ดนตรีบรรเลงเพลงพญาเดิน ประกอบการเดินของกษัตริย์

กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก
             ชูชก พราหมณ์แก่ มีเมียสาว ชื่อ นางอมิตดา ไม่ต้องการปรนนิบัติชูชก จึงให้ไปทูลขอทาส ไว้ใช้งาน โดยให้ไปขอ กัณหา และชาลี
             ดนตรีบรรเลงเพลงเซ่นเหล้า  ประกอบการเดิน โซซัดโซเซ เหมือนตาแก่ หรือคนขี้เมา แต่ไม่ได้บรรเลงประกอบการดื่มเหล้าแต่อย่างใด
         

ฟังเพลงไทยในพิธีเทศน์มหาชาติ

ภาพจาก  www.thaigoodview.com

กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน
               ชูชก  ถามทางพรานเจตบุตร พรานพรรณนาให้ฟังถึงลักษณะของป่าหิมพานต์ ซึ่งมีความแปลกประหลาด ต่าง ๆ นานา
             ดนตรีบรรเลงเพลงคุกพาทย์ ประกอบความแปลกประหลาด พิลึกพิลั่น สิ่งที่ไม่เคยเห็น ความน่าสพรึงกลัวของป่าหิมพานต์

กัณฑ์ที่ ๗ มหาพน
             ชูชกเดินทางไปตามทางพบพระอัตจุฤาษี  และถามทางต่อไป  พระฤาษี พรรณนา ความสวยงามของป่าเขา สระ ต่างๆ  และชี้ทางต่อไป
             ดนตรีบรรเลงเพลงเชิด ประกอบการเดินทางขั้นสุดท้าย

กัณฑ์ที่ ๘ กุมาร 
             ชูชกเดินทางไปถึงอาศรม และทูลขอ กัณหา ชาลี เป็นเวลาที่นางมัทรีไปหาอาหาร พระเวสสันดร พระราชทานให้  กัณหา ชาลี แอบหนีซ่อนตัวในสระ  แต่ต้องจำยอมไปกับชูชก และถูกชูชกเฆี่ยน ตี ไปตลอดทาง
             ดนตรีบรรเลงเพลงโอด เชิดฉิ่ง แสดงการฉุดกระชากของชูชก สลับกับการกรรแสงร่ำไห้ ของกัณหา ชาลี

กัณฑ์ที่ ๙ มัทรี
             นางมัทรีกลับจากหาอาหาร ไม่พบพระกัณหา ชาลี  ทูลถามพระเวสสันดร  พระองค์ทำเป็นหึง เพื่อดับความเศร้าโศก เสียก่อน แล้วจึงแจ้งความให้ทราบ
             ดนตรีบรรเลงเพลงทยอย โอด ประกอบอาการเดินหาไป คร่ำครวญไป และการร้องไห้

กัณฑ์ที่ ๑๐ สักบรรพ
             สักบรรพ เป็นชื่อพระอินทร์ ทรงเกรงว่าผู้อื่นจะมาขอนางมัทรีไป  จึงแปลงเป็นมนุษย์ ขอนางมัทรี เป็นบาทบริจาริกา  พระเวสสันดรพระราชทานให้ เกิดเป็นโลกธาตุหวั่นไหว  พระอินทร์ถวายนางคืน และพระเวสสันดรขอพร ๘ ประการ
             ดนตรีบรรเลงเพลงกลม ประกอบการเสด็จของเทวดาผู้ใหญ่

กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช
             ชูชกพากุมาร หลงเข้าไปในกรุงสญชัย  พระเจ้ากรุงสญชัยขอไถ่ตัวไว้ และยกทัพไปรับพระเวสสันดรพร้อมด้วยพระญาติ
             ดนตรีบรรเลงเพลงกราวนอก ประกอบการยกทัพของมนุษย์

กัณฑ์ที่ ๑๒ ฉกษัตริย์
             กษัตริย์ทุกพระองค์พบกัน ดีใจจนสลบไป
             ดนตรีบรรเลงเพลงตระนอน ประกอบอาการสลบ คล้ายกับว่า เป็นการนอนอย่างใหญ่

กัณฑ์ที่ ๑๓ นครกัณฑ์
             กษัตริย์ทั้ง ๖ เสด็จกลับนคร เสด็จอย่างช้า ๆ เป็นเวลาหลายเดือน
             ดนตรีบรรเลงเพลงกลองโยน ประกอบการชมนกชมไม้ ในขณะเสด็จดำเนินกลับเมือง
   

ฟังเพลงไทยในพิธีเทศน์มหาชาติ

แผนภูมิการจัดวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่
( ภาพจาก 
www.thaigoodview.com )

          ลักษณะการบรรเลงประกอบพิธีเทศน์มหาชาติ โดยใช้บทเพลงประจำกัณฑ์ทั้ง ๑๓ เพลงนั้น วงปี่พาทย์มีรูปแบบการปฏิบัติเปลี่ยนแปลงไป ด้วยวัดที่จัดเทศน์มหาชาติเปลี่ยนแปลงพิธีจากที่เคยจัดงาน ๒ วัน ๒ คืน โดยทำให้กระชับขึ้นด้วยการเทศน์รวบรัดให้จบภายในวันเดียว เนื่องจากพุทธศาสนิกชนผู้ฟัง ไม่มีเวลาที่จะมานั่งฟังได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน วงปี่พาทย์ที่บรรเลง จึงทำหน้าที่บรรเลงเพลงสาธุการส่งพระขึ้นธรรมาสน์ แล้วปิดท้ายด้วยเพลงเชิด  และเพลงกราวรำหลังจากพระเทศน์จบเท่านั้น   นักดนตรีรุ่นใหม่จึงแทบไม่ได้สัมผัสรับรู้กับเพลงประกอบพิธีเทศน์มหาชาติเหล่านี้อย่างสมบูรณ์แบบเช่นอดีต
           ปัจจุบันพบว่า การเทศน์มหาชาติมีความนิยมอีกรูปแบบหนึ่งคือ การเทศน์มหาชาติทรงเครื่อง หรือมหาชาติออกตัว โดยจัดให้มีผู้แสดงบทบาทประกอบ ตามเนื้อเรื่องเพื่อเพิ่มอรรถรส ให้ผู้ฟังเทศน์ได้ซาบซึ้งเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยผ่อนคลายที่ต้องนั่งฟังพระเทศน์เพียงอย่างเดียวด้วย  นอกจากนี้การแสดงดังกล่าว ยังเป็นกุศโลบาย ในการหาปัจจัยให้กับทางวัดได้ดีด้วย การเทศน์มหาชาติออกตัวนิยมแสดงในกัณฑ์มัทรี     อย่างไรก็ตามกลับเป็นผลดีทำให้วงปี่พาทย์ได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างขาดไม่ได้ แม้ว่าการบรรเลงของปี่พาทย์ มักทำหน้าที่บรรเลงเพลงประกอบการแสดงของตัวผู้แสดงออกตัวตามบทบาทนั้น ๆ เพลงที่ใช้เป็นเพลงหน้าพาทย์ง่าย ๆ เช่น เชิด โอด รัว และการบรรเลงประกอบการร้องทำนองเพลง กลอนสด แบบอย่างลิเก เป็นต้น  การบรรเลงปี่พาทย์ประกอบพิธีเทศน์มหาชาติ ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม  นักดนตรีรุ่นใหม่ไม่รู้จักเพลงบรรเลงประกอบการเทศน์มหาชาติ ด้วยความนิยมในการจัดให้มีการเทศน์มหาชาติลดน้อยลง  ในส่วนที่ยังคงปฏิบัติมักตัดทอนเวลาให้สั้นลงจบในวันเดียว จึงทำให้วงปี่พาทย์ที่เคยเป็นดนตรีประกอบการเทศน์ถูกลดบทบาทตามไปด้วย  ส่วนที่ยังเรียกใช้ในการบรรเลงประกอบการเทศน์มหาชาติทรงเครื่อง  บทบาทหน้าที่ของวงปี่พาทย์ ถูกปรับเปลี่ยนไป  โดยนัยทำหน้าที่ประกอบการแสดงของผู้แสดงประกอบมากกว่า การบรรเลงประกอบการเทศน์  บทเพลงต่าง ๆ ที่ใช้จึงเปลี่ยนแปลงไปตามหน้าที่ด้วย

  สานต่อก่อปัญญา
   ๑. เหตุผลในการบรรเลงดนตรีไทยประกอบพิธีเทศน์มหาชาติคืออะไร
   ๒. ความสำคัญของพิธีเทศน์มหาชาติมีอะไรบ้าง
   ๓. เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบพิธีเทศน์มหาชาติเป็นเพลงไทยประเภทใด
   ๔. วงดนตรีไทยที่บรรเลงประกอบพิธีเทศน์มหาชาติ คือวงดนตรีไทยประเภทใด มีเครื่องดนตรีไทยชนิดใดบ้าง
   ๕. วงดนตรีไทยที่มีเครื่องดนตรีไทยครบทั้ง ๔ ประเภท คือ วงดนตรีไทยประเภทใด  
 

 บูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้
     กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  เรื่อง  วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
     กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

แหล่งที่มาของข้อมูล
     www.gotoknow.org 

        
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1655

อัพเดทล่าสุด