การฝึกเล่นซออู้ ซอด้วงและการเทียบเสียง


812 ผู้ชม


ปัจจุบันเยาวชนไทยเริ่มหันมาสนใจดนตรีไทยมากขึ้น รวมถึงนักดนตรีรุ่นเก่า ต่างก็ให้ความสนใจดนตรีไทย ปัจจุบันเยาวชนไทยเริ่มหันมาสนใจดนตรีไทยมากขึ้น รวมถึงนักดนตรีรุ่นเก่า ต่างก็ให้ความสนใจดนตรีไทย ดังข่าวที่มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดคอนเสิร์ตดนตรีไทย   
การฝึกซออู้
  การเทียบเสียงซออู้

        ใช้ขลุ่ยเพียงออเป่าเสียง ซอล โดยปิดมือบนและนิ้วค้ำ เป่าลมกลาง ๆ จะได้เสียง ซอล เพื่อเทียบเสียงสายเอก ส่วนสายทุ้ม ให้ปิดมือล่างหมด จนถึงนิ้วก้อย เป่าลมเบา ก็จะได้เสียง โด ตามต้องการ เพื่อเทียบเสียงสายทุ้ม ให้ตรงกับเสียงนั้น
  การนั่งสีซอ
        นั่งขัดสมาธิบนพื้น หากเป็นสตรีให้นั่งพับเพียบขาขวาทับขาซ้าย วางกะโหลกซอไว้บนขาพับด้านซ้าย มือซ้ายจับคันซอให้ตรงกับที่มีเชือกรัดอก ให้ต่ำกว่าเชือกรัดอกประมาณ 1 นิ้ว ส่วนมือขวาจับคันสี-โดยแบ่งคันสีออกเป็น 5 ส่วน แล้วจับตรง 3 ส่วนให้คันสีพาดไปบนนิ้วชี้ และนิ้วกลางในลักษณะหงายมือ ส่วนนิ้วหัวแม่มือ ใช้กำกับคันสีโดยกดลงบนนิ้วชี้ นิ้วนางและนิ้วก้อยให้งอติดกัน เพื่อทำหน้าที่ดันคันชักออกเมื่อจะสีสายเอก และ ดึงเข้าเมื่อจะสีสายทุ้ม
 การสีซอ
         วางคันสีให้ชิดด้านใน ให้อยู่ในลักษณะเตรียมชักออก แล้วลากคันสีออกช้าๆด้วยการใช้วิธีสีออก ลากคันสีให้สุด แล้วเปลี่ยนเป็นสีเข้าในสายเดียวกัน ทำเรื่อยไปจนกว่าจะคล่อง พอคล่องดีแล้ว ให้เปลี่ยนมาเป็นสีสายเอก โดยดันนิ้วนางกับนิ้วก้อยออกไปเล็กน้อย ซอจะเปลี่ยนเป็นเสียง ซอล ทันที ดังนี้คันสี ออก เข้า ออก เข้า เสียง โด โด ซอล ซอล ฝึกเรื่อยไปจนเกิดความชำนาญ
ข้อควรระวัง ต้องวางซอให้ตรง โดยใช้มือซ้ายจับซอให้พอเหมาะ อย่าให้แน่นเกินไป อย่าให้หลวมจนเกินไป ข้อมือที่จับซอต้องทอดลงไปให้พอดี ขณะนั่งสียืดอกพอสมควร อย่าให้หลังโกงได้ มือที่คีบซอให้ออกกำลังพอสมควรอย่าให้ซอพลิกไปมา

การฝึกซอด้วง
  การเทียบเสียงซอด้วง

         ใช้ขลุ่ยเพียงออเป่าเสียง ซอล โดยการปิดมือบน และ นิ้วค้ำ เป่าลมกลาง ๆ ก็จะได้เสียง ซอล ขึ้นสายทุ้มของซอด้วง ให้ตรงกับเสียงซอลนี้ ต่อไปเป็นเสียงสายเอก ใช้ขลุ่ยเป่าเสียง เร โดยปิดนิ้วต่อไปอีก 3 นิ้ว เป่าด้วยลมแรง ก็จะได้
เสียง เร ขึ้นสายเอกให้ตรงกับเสียง เร นี้

  การนั่งสีซอ
         นั่งพับเพียบบนพื้น จับคันซอด้วยมือซ้าย ให้ได้กึ่งกลางต่ำกว่ารัดอกลงมาเล็กน้อย ให้ซอโอนออกกจากตัวนิดหน่อย คันซออยู่ในอุ้งมือซ้าย ตัวกระบอกซอวางไว้บนขา ให้ตัวกระบอกซออยู่ในตำแหน่งข้อพับติดกับลำตัว มือขวาจับคันสีด้วยการแบ่งคันสีให้ได้ 5 ส่วน แล้วจึงจับส่วนที่ 3 ข้างท้าย ให้คันสีพาดไปบนมือนิ้วชี้ นิ้วกลางเป็นส่วนรับคันสี ใช้นิ้วหัวแม่มือกดกระชับไว้ นิ้วนางกับนิ้วก้อยงอไว้ส่วนใน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดันคันสีออกมาหาสายเอก และ ดึงเข้าเมื่อต้องการสีสายทุ้ม
  การสีซอ
         วางคันสีไว้ด้านใน ให้อยู่ในลักษณะเตรียมชักออก ค่อยๆลากคันสีออกให้เกิดเสียง ซอล จนสุดคันชัก แล้วเปลี่ยนเป็นสีเข้าในสายเดียวกัน (ทำเรื่อยไปจนกว่าจะคล่อง) พอซ้อมสายในคล่องดีแล้ว จึงเปลี่ยนมาสีสายเอกซึ่งเป็นเสียง เร โดยการใช้นิ้วนางกับนิ้วก้อยมือขวา ดันคันสีออก ปฏิบัติจนคล่อง
ฝึกสลับให้เกิดเสียงดังนี้
คันสี ออก เข้า ออก เข้า
เสียง ซอล ซอล เร เร

ข้อควรระวัง ต้องวางซอให้ตรง โดยใช้ข้อมือซ้ายควบคุม อย่าให้ซอบิดไปมาได้
ชวนกันตอบปัญหา ๑.ซออู้ทำมาจากวัสดุอะไรบ้าง ๒.ซออู้มีทั้งหมดกี่สาย ๓.สายเอกของซอด้วงมีเสียงใดบ้าง ๔.สายเอกของซออู้มีเสียงใดบ้าง ๕.สายทุ้มของซออุ็มีเสียงใดบ้าง ๖.สายทุ้มของซอด้วงมีเสียงใดบ้าง ๗.เสียงใดของซออู้ที่มีเสียงสูง ๘.เสียงใดของซอด้วงที่มีเสียงสูง ๙.เสียงใดเป็นเสียงแรกของซออู้ ๑๐.เสียงใดเป็นเสียงสุดท้ายของการไล่เีสียงซอด้วง กิจกรรมเสนอแนะ - นักเรียนฝึกปฏิบัติจากเครื่องดนตรีของจริง - นักเรียนเขียนชื่อเครื่องดนตรีที่นักเรียนรู้จัก - นักเรียนหาชื่อครูภูมิปัญญาท้องถิ่นและฝึกเล่นดนตรีกับครูปัญญาท้องถิ่น การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ - ภาษาไทย : เขียนชื่อเครื่องดนตรี - คณิตศาสตร์ : จำนวน และการวัด - วิทยาศาสตร์ : เสียง และแหล่งกำเนิดเสียง - สังคมศึกษาฯ : ท้องถิ่นของเรา ภูมิปัญญา - ทัศนศิลป์ : การวาดภาพระบายสี ที่มาของเรื่อง   : https://www4.msu.ac.th/satit/studentProj/2547/pj102-2-2547/g15-ThaiMusic/web9.htm
 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2496

อัพเดทล่าสุด