นาฏศิลป์ไทย” แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ ๑. นาฏศิลป์ที่เป็นแบบแผน ได้แก่ การแสดงโขน ละคร ๒. นาฏศิลป์พื้นบ้าน เป็นการแสดงเฉพาะภูมิภาคของไทย
นาฏศิลป์ ไทย
“นาฏศิลป์ไทย” แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ
๑. นาฏศิลป์ที่เป็นแบบแผน ได้แก่ การแสดงโขน ละคร
โขน เป็นมหรสพชั้นสูง ซึ่งผู้แสดงต้องสวมหัวโขน ท่าร่ายรำ
จะมีแบบแผนในการแสดงโดยเฉพาะ ใช้การพากย์ เจรจา เป็นการดำเนินเรื่อง การแสดงโขนนี้สามารถแบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ
•โขนผู้หญิง หรือโขนที่เล่นในราชสำนัก ใช้ผู้แสดงที่เป็นสตรีในราชสำนัก แสดงถวายเฉพาะพระพักตร์ ปัจจุบันไม่มีการแสดงดังกล่าวแล้ว
•โขนผู้ชาย ใช้แสดงทั่วไป ผู้แสดงเป็นชายล้วน เนื้อหาที่นิยมใช้แสดงนำมาจากเรื่องรามเกียรติ์
ละคร เป็นการแสดงที่มีเนื้อเรื่อง ละครได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับมีหลายประเภท เช่น ละครรำ ละครร้อง ละครพูด ฯลฯ
ในอดีตละครไทยมีแต่ละครรำ แบ่งได้เป็น ละครใน ละครนอก ละครชาตรี
•ละครใน แสดงในราชสำนัก ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน มีเรื่องที่แสดงเพียง ๓ เรื่อง ได้แก่ อุณรุท อิเหนา และรามเกียรติ์
•ละครนอก แสดงภายนอกเขตพระราชฐาน ใช้ผู้ชายแสดงล้วน
•ละครชาตรี เป็นการแสดงของชาวบ้านที่มีมาก่อนการแสดงละครนอกและละครใน ต่อมาได้แพร่หลายไปยังภาคใต้
๒. นาฏศิลป์พื้นบ้าน เป็นการแสดงเฉพาะภูมิภาคของไทย จึงมีอัตลักษณ์เฉพาะตน ได้แก่
•นาฏศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ เรียกลักษณะการร่ายรำว่า “ฟ้อน” ท่ารำอ่อนช้อย นิ่มนวลไปตามท่วงทำนองจังหวะเพลงที่ช้า
•นาฏศิลป์พื้นบ้านภาคอีสาน เรียกลักษณะการร่ายรำว่า “เซิ้ง” ท่ารำกระฉับกระเฉง สนุกสนาน ส่วนใหญ่ท่วงทำนองจังหวะเพลงค่อนข้างเร็ว
•นาฏศิลป์พื้นบ้านภาคกลาง เรียกลักษณะการร่ายรำว่า “รำ” และ “ระบำ” บางชุดประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นระบำในละคร ซึ่งจะต้องประดิษฐ์ให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่องของละคร
•นาฏศิลป์พื้นบ้านภาคใต้ เรียกลักษณะการร่ายรำว่า “รำ” มีท่วงทำนองจังหวะเพลงหนักแน่น ประกอบให้ลีลาท่าร่ายรำ
กระฉับกระเฉง
นอกจากการแสดงดังกล่าวแล้ว ยังมีมหรสพอื่น ๆ ที่ได้รับความ นิยมและพัฒนามาเป็นลำดับ อาทิ หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก ลำตัด หนังใหญ่ ฯลฯ
บูรณาการกับกลุ่มสาระ ภาษาไทย - วรรณคดี วรรณกรรม
สังคมศึกษาฯ - ท้องถิ่น
ขอบคุณที่มาของเรื่อง https://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=1764
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2714