จะแดงหรือเหลืองก็เรื่องของสี


1,116 ผู้ชม


การมองเห็นสีในรูปแบบต่างๆ   
        ภาพข่าวที่เห็นจนชินตาในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมาคือการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ กลุ่มผู้ชุมนุมข้างต้น ต่างมีสัญลักษณ์ที่เป็นที่รับรู้กันคือสีของเสื้อ  โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ส่วนใหญ่จะถูกเรียกว่า กลุ่มเสื้อเหลือง  ส่วนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกเรียกว่า กลุ่มเสื้อแดง  คุณผู้อ่านจะเห็นว่า สีของเสื้อถูกนำมาแบ่งเป็นฝ่าย 
และมีอิทธิพลต่อทั้งสองกลุ่มเป็นอย่างมาก
จะแดงหรือเหลืองก็เรื่องของสี
ที่มาภาพ : ภาพจากวิกิพีเดีย
การนำสีมาใช้ในการแบ่งกลุ่มนอกเหนือจากที่ยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น เราจะพบว่าตั้งแต่อดีตกาล เราใช้สีเข้ามาช่วยในการแบ่ง จำแนก แยกแยะสิ่งต่าง ๆ และสีเข้ามามีบทบาทในกิจกรรมในชีวิตประจำวันเสมอ ๆ   ทำไมสีจึงมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ถึงเพียงนี้  สีมีต้นกำเนิดเกิดมาอย่างไร? มาลองติดตามกันครับ....
เนื้อหาเหมาะสำหรับนักเรียนชั้น มัธยมศึกษา
เรามองเห็นสีได้อย่างไร?
         มนุษย์เรานั้นเกิดมาพร้อมกับอวัยวะสุดวิเศษที่เรียกว่าดวงตา  ซึ่งภายในดวงตาเองก็ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนหลายชิ้นด้วยกัน  ตาของมนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ เพราะนอกจากจะมีความสามารถในการรับรู้แสงแล้ว ยังมีส่วนที่ทำให้รับรู้ความเป็นสามมิติ และที่สำคัญสามารถรับรู้สีได้อีกด้วย
จะแดงหรือเหลืองก็เรื่องของสี
         สี คือการรับรู้ความถี่ (หรือความยาวคลื่น) ของแสง ในทำนองเดียวกันกับที่ระดับเสียง (หรือโน้ตดนตรี) คือการรับรู้ความถี่หรือความยาวคลื่นของเสียง  
มนุษย์สามารถรับรู้สีได้เนื่องจากโครงสร้างอันละเอียดอ่อนของดวงตา ซึ่งมีความสามารถในการรับรู้แสงในช่วงความถี่ที่ต่างกัน การรับรู้สีนั้นขึ้นกับปัจจัยทางชีวภาพ  ที่มา : วิกิพีเดีย
         กระบวนการรับรู้และแยกความแตกต่างของสีความสามารถในการรับรู้และแยกความแตกต่างระหว่างสีต่าง ๆ นั้นเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ เพราะตั้งแต่เด็กเราได้รับการสั่งสอนให้เรียกชื่อสีต่าง ๆ ที่เราเห็นตามผู้สอน หากแต่สีที่แต่ละบุคคลรับรู้นั้นอาจแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเซลล์รับแสงสี (cone photoreceptor) ที่จอประสาทตาโดยสัมพันธ์กับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ถูกสอนมา ดังนั้นเราอาจเห็นสีผิดปกติตั้งแต่เกิด แต่สามารถเรียกชื่อสีได้ถูกต้องตามผู้สอนก็เป็นไปได้ หรือเกิดจากโรคภัยต่าง ๆ ที่มีผลโดยตรงกับจอประสาทตา, เส้นประสาทตาและสมอง 
ที่มา : ชั้นของสี  อ.นพ. ณัฐวุฒิ รอดอนันต์  ภาควิชาจักษุวิทยา
โดยทั่วไปเราแบ่งสีออกเป็น 3 ชั้น  ได้แก่
1. สีพื้นฐาน (Primary Color) หรือแม่สี ได้แก่ แดง เหลือง น้ำเงิน
2. สีขั้นที่สอง (Secondary Color) เกิดจากการจับคู่แม่สีผสมกันในอัตราส่วนเท่ากัน ได้สีใหม่ 3 สีคือ เขียว ส้ม ม่วง
3. สีขั้นที่สาม (Tertiary Color) เกิดจากการจับคู่แม่สี ผสมกับสีขั้นที่สองที่อยู่ใกล้เคียงกัน ได้สีเพิ่มอีก 6 สี คือ เขียวเหลือง เขียวน้ำเงิน ม่วง น้ำเงิน ม่วงแดง ส้มแดง ส้มเหลือง
จะแดงหรือเหลืองก็เรื่องของสี
รูปวงสี : ภาพจากวิกิพีเดีย
ในทางฟิสิกส์เราสามารถจำแนกคลื่นตามสเปกตรัมที่สามารถมองเห็น ดังภาพ
รูปเสปกตรัมสี : 
จะแดงหรือเหลืองก็เรื่องของสี
สีกับประวัติศาสตร์มนุษย์
         มนุษย์เริ่มรู้จักใช้สีมาตั้งแต่ยุกต์ก่อนประวัติศาสตร์  ที่ปรากฎเด่นชัดในประเทศไทย คือภาพเขียนสีโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม ท้องที่บ้านกุ่ม   ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยแต่ละภาพ เรียงรายตามความยาวของหน้าผาติดต่อกันยาวประมาณ 180 เมตร มีไม่ต่ำกว่า 300 ภาพ ซึ่งเป็นจำนวนภาพเขียนสีโบราณ ที่มากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในประเทศไทยและในต่างประเทศ ลักษณะของภาพแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ภาพคนทำนา ภาพสัตว์ ภาพมือ ภาพลายเรขาคณิต และภาพตุ้ม
         แน่นอนครับว่าสมัยก่อนนั้นกระบวนการใช้สีไม่ได้เกิดจากวิทยาศาสตร์ หากแต่เป็นการนำเอาสีที่เกิดจากธรรมชาติ  นำเอาวัตถุดิบที่มีอยู่ ธรรมชาติมาทำให้เกิดสีเช่น สีแดง ได้จากยางไม้ ดินแดงหรือหินสี  มาบดหรือแม้บางครั้งก็นำมาจากเลือดของสัตว์ สีขาวได้จากดินขาว สีดำได้จากการนำเอาเขม่าจากก้นภาชนะมาละลายน้ำ สีครามได้จากดอกไม้บางชนิด สีเหลืองได้จากดินเหลือง เป็นต้น   ร่องรอยอารยธรรม ความเจริญของมนุษย์ถูกถ่ายทอดออกมาทางภาพ  ผ่านวิวัฒนาการของการใช้สีอย่างต่อเนื่อง  จากสีเพียงไม่กี่สี  จนมีความหลากหลายขึ้น  ทำให้กลายเป็นความเชื่อที่มีต่อสีต่าง ๆ กัน
       ความเชื่อหนึ่งที่เกี่ยวกับสีและเรามักคุ้นเคยกัน แม้กระทั่งในปัจจุบันก็คือ ความเชื่อเรื่องสีประจำวันเกิดความเชื่อนี้ได้รับอิทธิพลมาการอินเดีย  เพราะชาวอินเดียเชื่อว่าพระอิศวร เป็นผู้สร้างเทพเจ้าประจำวันขึ้นมา และสีประจำวันนั้นมาจากสีกายของเทพเจ้า ซึ่งมีที่มาดังต่อไปนี้
      พระอาทิตย์มีกายสีแดง เกิดจากพระอิศวรร่ายพระเวทให้ราชสีห์ ๖ ตัวกลายเป็นผง แล้วห่อด้วยผ้าสีแดง ประพรมด้วยน้ำอมฤต       
      พระจันทร์มีกายสีเหลือง เกิดจากพระอิศวรร่ายพระเวทให้นางฟ้า ๑๕ นางกลายเป็นผง แล้วห่อด้วยผ้าสีเหลือง ประพรมด้วยน้ำอมฤต
      พระอังคารมีกายสีชมพูเกิดจากพระอิศวรร่ายพระเวทให้กระบือ ๘ ตัวกลายเป็นผง แล้วห่อด้วยผ้าสีชมพู ประพรมด้วยน้ำอมฤต
      พระพุธมีกายสีเขียว เกิดจากพระอิศวรร่ายพระเวทให้ช้าง ๑๗ ตัว กลายเป็นผง แล้วห่อด้วยผ้าสีเขียว ประพรมด้วยน้ำอมฤต       
      พระพฤหัสบดีมีกายสีแสด เกิดจากพระอิศวรร่ายพระเวทให้พระฤๅษี ๑๙ ตน กลายเป็นผง แล้วห่อด้วยผ้าสีแสด ประพรมด้วยน้ำอมฤต        
      พระศุกร์มีกายสีน้ำเงิน เกิดจากพระอิศวรร่ายพระเวทให้โค ๒๑ ตัวกลายเป็นผง แล้วห่อด้วยผ้าสีน้ำเงิน ประพรมด้วยน้ำอมฤต        
      พระเสาร์มีกายสีดำ เกิดจากพระอิศวรร่ายพระเวทให้เสือ ๑๐ ตัวกลายเป็นผง แล้วห่อด้วยผ้าสีดำ ประพรมด้วยน้ำอมฤต
จะแดงหรือเหลืองก็เรื่องของสี
คนไทยส่วนมากเชื่อว่าสีประจำวันเกิดเป็นสีมงคลประจำตัว และมักจะใช้เสื้อผ้าและเครื่องใช้ตามสีประจำวันเกิด อีกด้วย
คุณสามารถศึกษาเรื่องความเชื่อที่เกี่ยวกับสีได้ที่นี่
1. สีที่เป็นมงคลและไม่เป็นมงคล ของบุคคลที่เกิดในวันต่าง ๆ 
2. สีเสื้อผ้าที่ใช้แต่งตัว | ความเชื่อเรื่องสีประจำวัน 
3. สีของไทย ความหมายของสีตามประเพณีไทย 
นอกจากความเชื่อที่มีต่อสีแล้ว  เราสามารถรับรู้ถึงพลังของสีที่มีผลต่อจิตวิทยา ที่แตกต่างกัน 
สีไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่เราสามารถรับรู้และมองเห็นได้ด้วยตาเท่านั้น แต่พลังของสียังส่งผลต่ออารมณ์ 
ความรู้สึกนึกคิดและการตัดสินใจของเราอีกด้วยต่อมไพเนียลจะมีปฏิกิริยาในการตอบสนองต่อสีแต่ละสีแตกต่างกันออกไป 
ซึ่งส่งผลให้ความรู้สึก จิตใจ ฮอร์โมนและอารมณ์ในร่างกายของเราในขณะนั้นแตกต่างกัน  
ด้วยความหลากหลายของสีนี่เอง นักจิตวิทยาจึงสามารถนำพลังของสีแต่ละสีมาปรับใช้เพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วย 
ด่างๆ ของร่างกายและจิตใจให้กับผู้ป่วยมากมายในปัจจุบัน โดยเรียกศาสตร์แห่งการรักษานี้ว่า ‘’’สีบำบัด’’’ หรือ ‘’’Color Therapy’’’
โดยทั่วไปศาสตร์ของการรักษาโรคโดยการใช้สีบำบัด เราสามารถแบ่งชนิดหรือโทนสีออกเป็น 2 แบบคือ
- กลุ่มสีโทนร้อน เป็นกลุ่มสีที่ทำให้เกิดความรู้สึกมีพลัง เร่าร้อน กระตือรือร้นและกระฉับกระเฉง ในทางจิตวิทยาความแรงของสีโทนร้อนจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากอาหาร ทำให้เกิดความรู้สึกหิวและกระตุ้นให้มีชีวิตชีวาอยู่เสนอ
- กลุ่มสีโทนเย็น เป็นกลุ่มสีที่ให้ความรู้สึกสดชื่น สงบ ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย สบายใจและไม่ทำให้เครียด สีโทนเย็นจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ต้องทำงานหนักและใช้ความคิดเป็นอย่าง มาก
จากการศึกษานี้เราการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่าย ๆ เช่น
* หากตื่นนอนแล้วแต่ยังรู้สึกง่วงเมื่อเข้าห้องน้ำก็ควรเลือกใช้แปรงสีฟันสีแดง สีส้ม
* ผู้ที่นอนไม่ค่อยหลับให้สวมชุดนอนหรือชุดเครื่องนอนสีฟ้าหรือสีเขียวอ่อน
* ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการใช้สายตามากๆ เช่น คอมพิวเตอร์ ก็ควรมีกระถางต้นไม้เล็กๆ ตั้งข้างๆ
* ใช้ภาชนะสีแดงเพื่อเป็นตัวกระตุ้นการเจริญอาหาร
(ที่มา : วิกิพีเดียอ่านเพิ่มเติม 
การผลิตสีในรูปแบบอุตสาหกรรม
ในปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิต และผสมสีมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการนำระบบอิเล็กทรอนิก และคอมพิวเตอร์มาใช้ในการผลิต ผู้ใช้สามารถเลือกแบบสีและสั่งผสมสีได้จากร้านและพร้อมใช้งานได้ทันที นับว่าเป็นความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด ศึกษาการผลิตสีเบื้องต้นได้จาก ที่นี่
ประโยชน์ของสี
เราได้รับรู้เป็นเบื้องต้นแล้วว่าสีมีอิทธิพลต่อสภาพจิตใจ จิตวิทยา  ซึ่งช่วยให้เราประยุกต์ใช้ในการบำบัดอาการอย่างใดอย่างหนึ่งได้  นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น
1. ทำให้เกิดความสวยงาม สะอาดเรียบร้อยและทำความสะอาดดูแลได้ง่าย
2. เพื่อป้องกันการกัดกร่อน (สำหรับโลหะ) และป้องกันการทำลายของเชื้อรา (สำหรับไม้)
3. ใช้รองพื้น
4. ใช้อุดรอยขีดข่วน หรือหลุมลึกบนผิวงาน
5. ใช้ป้องกันความชื้นในเนื้อวัสดุ
6. ใช้ตกแต่งผิวงานขั้นสุดท้าย
      เนื่องจากสีมีความหลากหลาย มีอิทธิพลและเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวันตลอดเวลา การศึกษาหาความรู้และเข้าใจในเรื่องของสี  ย่อมส่งผลดี มีประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  เราลองหันมามองรอบตัวสักนิด  ปรับชีวิตไปกับสีสันรอบข้าง  คุณจะพบว่ากับคุณค่าที่อาจมองเลยผ่านไป  และเหนือสิ่งอื่นใด อย่ายึดติดเอาสีของเสื้อมาใช้เพื่อแบ่งฝ่าย ควรมีสติ พิจารณา  นั่นหมายถึงคุณผู้อ่านเข้าใจถึงเรื่องของสีอย่างแท้จริง ....
บูรณาการสู่กลุ่มสาระวิชาอื่น
กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี
เราใช้โปรแกรมจัดการภาพเช่น photoshop , Gimp และใช้เครื่องมือเลือกสีบ่อย ๆ 
ลองมาศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้กับความรู้เรื่องสีที่เกี่ยวเนื่องกับ โหมดของสี 

กลุ่มสาระภาษาไทย

สุนทรภู่กล่าวไว้ใน "สวัสดิรักษา"  ความว่า 
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน
เป็นมงคลขัติยาไม่ราคี
เครื่องวันพุธสุดดีที่สีแสด
กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี
ผู้สอนสามารถนำนักเรียนศึกษาเรื่อง บทประพันธ์ที่เกี่ยวกับสี  
ที่มีอยู่มากมาย หรืออาจพานักเรียนแต่กลอนง่าย ๆ ที่เกี่ยวกับสี
จะแดงหรือเหลืองก็เรื่องของสี
กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์
1. ฟิสิกส์ของสี 
2. สีของดาวฤกษ์ 
3. ความรู้เรื่องตา 
กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ
คำศัพท์สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา
1. color
2. สีต่าง  ๆ เช่น red , green , black , white ฯลฯ
กลุ่มสาระศิลปะศึกษา
ขอแนะนำเว็บไซต์เกี่ยวกับทฤษฎีสี 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3730

อัพเดทล่าสุด