สถานการณ์ของไข้หวัดแม็กซิโกที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสนใจ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา กำหนดให้เรียนรู้เรื่องการป้องกันโรค ในสาระที่ 4 สพฐ. จึงได้ประสานข้อมูลเรื่องไข้หวัดแม็กซิโก เพื่อให้ครู
ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009
จากผลการประชุมศูนย์บัญชาการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไข สถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ กระทรวงสาธารณสุข สรุปว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปให้เปลี่ยนชื่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโก เป็น “ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” โดยเป็นไปตามสากล ซึ่งฟังแล้วเข้าใจได้ง่าย จากที่องค์การอนามัยโลกให้ใช้ชื่อว่า “ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A H1 N1” ซึ่งเป็นชื่อทางการ โดยชื่อภาษาอังกฤษ คือ Influenza A H1 N1 โดยจากนี้จะเรียกชื่อนี้แทน เพื่อไม่เกิดความสับสนกับประชาชน และหากใช้เป็นชื่อไข้หวัดเม็กซิโกก็เกรงใจประเทศเม็กซิโก จึงเห็นตรงกันว่าควรใช้ชื่อตามสากล
1. ไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดตามข่าวอยู่ในขณะนี้คือโรคอะไร
โรคที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน ไม่พบว่ามีการติดต่อมาจากสุกร เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (A/H1N1) ซึ่งเป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบทั้งในสุกรและในคน เป็นเชื้อที่เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ของสุกรเป็นส่วนใหญ่ และมีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคน และเชื้อไข้หวัดที่พบในนกด้วย ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเรียกชื่อโรคนี้ในเบื้องต้นว่า “โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก” ไปก่อน จนกว่าองค์การอนามัยโลกจะกำหนดชื่ออย่างเป็นทางการออกมา
2. เกิดการระบาดขึ้นที่ประเทศใดบ้าง
ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมา เริ่มพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยปอดบวม จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (ณ วันที่ 26 เมษายน 2552) มีผู้ป่วยที่สามารถยืนยันทางห้องปฏิบัติการได้ว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ 18 ราย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเม็กซิโกรายงานว่ามีผู้ป่วย 1,614 ราย เสียชีวิต 103 ราย ส่วนในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เดียวกัน 20 ราย ใน 5 มลรัฐ ได้แก่ รัฐแคลิฟอร์เนีย 7 ราย เท็กซัส 2 ราย ซึ่งทั้ง 2 รัฐนี้มีชายแดนติดกับประเทศเม็กซิโก รัฐนิวยอร์ก 8 ราย แคนซัส 2 ราย โอไฮโอ 1 ราย ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง และไม่มีผู้เสียชีวิต
3. เคยพบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้มีในประเทศไทยหรือไม่
จากระบบการเฝ้าระวังโรคของประเทศ ทั้งการเฝ้าระวังผู้ป่วยและการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ไม่เคยพบเชื้อดังกล่าวนี้ในประเทศไทย
4. คนติดโรคนี้ได้อย่างไร
คนส่วนใหญ่ติดโรคไข้หวัดใหญ่จากการถูกผู้ป่วยไอจามรดโดยตรง เนื่องจากมีเชื้อไวรัสอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แต่บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น
5. ขณะนี้สามารถรับประทานเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมู ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่
รับประทานได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากเชื้อไว้รัสไข้หวัดใหญ่จะถูกทำลายได้ด้วยความร้อนจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป และจากการสอบสวนโรคไม่เคยพบผู้ป่วยติดโรคจาการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุก
6. อาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีอะไรบ้าง
อาการใกล้เคียงกับอาการโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบตามปกติ เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ อาจมีอาเจียน ท้องเสียด้วย ผู้ป่วยที่สหรัฐมีอาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่หายป่วยโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยหลายรายในเม็กซิโก มีอาการปอดอักเสบรุนแรง (หอบ หายใจลำบาก) และเสียชีวิต
7. มียาชนิดใดบ้างที่สามารถรักษาโรคนี้ได้
ยาต้านไวรัสซึ่งใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่นี้ได้ผล คือ ยา oseltamivir เป็นยาชนิดกิน และยา zanamivir เป็นยาชนิดพ่น แต่ผลการตรวจเชื้อไวรัสนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าเชื้อนี้ดื้อต่อยาต้านไวรัส amantadine และ rimantadine
8. ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ในไทย ขณะนี้มีพอเพียงหรือไม่
ประเทศไทยได้สำรองยานี้ไว้พอเพียงสำหรับการรักษาผู้ป่วย ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้สำรองยาที่นี้ไว้ พอเพียงเพื่อการควบคุมการระบาดจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ณ จุดเกิดเหตุ โดยองค์การเภสัชกรรมผลิตยา GPO-A-Flu และพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุดหากเกิดการระบาดใหญ่
9. มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นี้หรือไม่
ขณะนี้ยังไม่มี และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ผลิตใช้อยูในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ได้
10. คำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อ
1. หากไม่จำเป็น ควรเลื่อนหรือชะลอการเดินทางไปยังประเทศที่เป็นพื้นที่เกิดการระบาดจนกว่าสถานการณ์จะยุติลง
2. หากจำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่เกิดการระบาด ให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไอจาม หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อแนะนำของทางการในพื้นที่นั้นๆ อย่างเคร่งครัด
3. ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เกิดการระบาด ถ้ามีอาการของไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ภายใน 7 วันหลังจากเดินทางกลับ ให้รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาและคำแนะนำในการปฏิบัติตนอย่างเข้มงวด
4. สร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง โดย
4.1 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียง
4.2 หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการไอ จาม
4.3 นอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง
4.4 ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
4.5 หากพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ภายในบ้านหรือสถานที่ทำงานเดียวกัน ต้องแจ้งสำนักงานสาธารณสุขเพื่อเข้าดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง
11. กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคนี้อย่างไรบ้าง
มาตรการสำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นการเฝ้าระวังโรคกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบรุนแรง และการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย สำรองเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิผู้เดินทาง (Infrared Thermo Scanner) ที่สนามบินนานาชาติ และการสื่อสารความเสี่ยง การให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ และให้บริการข้อมูลแก่ประชาชน โดยศูนย์ฮ็อตไลน์ โทร. 02-590-3333 ตลอด 24 ชั่วโมง จัดทำข่าวแจก จัดการแถลงข่าว และจัดทำคำแนะนำประชาชนเผยแพร่ทางเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข (www.moph.go.th) และ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ (https:// beid.ddc.moph.go.th)
-----------------------------------------
ที่มาของข้อมูล: กระทรวงสาธารณสุข 27 เมษายน 2552
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=183