มารู้จักโรคความดันโลหิตสูงกันเถอะ


773 ผู้ชม


หากมีอาการปวดศีรษะอย่างเฉียบพลัน มีเลือดกำเดาไหล เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ชัก ให้สงสัยว่าเกิดภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤตซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ จึงต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วนที่สุด   

มารู้จักโรคความดันโลหิตสูงกันเถอะ... 
  
ความดันโลหิต คือ แรงที่เลือดกระทำต่อผนังหลอดเลือด ซึ่งจะมีค่ามากหรือน้อยขึ้นกับการบีบตัวของหัวใจ หรือ อัตราการเต้นของหัวใจ และความต้านทานในหลอดเลือด แม้แต่ในคนๆ เดียวกัน ค่าความดันโลหิตก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างเช่น อารมณ์ ความเครียด อุณหภูมิอากาศ ภาวะการเล่นกีฬา หรือการพักผ่อน นอกจากนี้ค่าความดันโลหิตยังมีลักษณะเป็น Circadian rhythm นั่นคือค่าจะแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของวัน โดยทั่วไปความดันจะตกในช่วงกลางคืนและเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วในตอนเช้า ค่าความดันโลหิตที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วงที่ค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวต่ำกว่าหรือเท่ากับ 120 มม.ปรอท และค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวต่ำกว่าหรือเท่ากับ 80 มม.ปรอท แต่หากวัดค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวได้สูงกว่า 140 มม.ปรอท และ/หรือความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวสูงกว่า 90 มม.ปรอท ก็เรียกว่า ความดันโลหิตสูง

ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 80 จัดเป็นความดันโลหิตสูงชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ (Essential Hypertension) แต่ก็พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ กรรมพันธุ์ ความอ้วน การสูบบุหรี่ ความเครียด ผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะในสำนักงานจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่ทำงานใช้กำลัง การรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียม หรือมีสัดส่วนของไขมันชนิดอิ่มตัวสูง ผู้ที่มีความผิดปกติของไขมันในเลือดหรือเป็นโรคเบาหวาน ส่วนอีกร้อยละ 20 ของผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีสาเหตุมาจากการเกิดโรคหรือ ความผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ โรคไต โรคคอพอกชนิดตาโปน โรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคสมองอักเสบ หรือมีการใช้ยา เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดบางชนิด

โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุบัติการณ์เกิดโรคของหลอดเลือดสมอง โรคไต รวมถึงโรคที่เกิดจากความผิดปกติในระบบหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ ส่งผลให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะถึงขั้นพิการ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถฟื้นฟูให้เหมือนปกติได้ หรือบางครั้งอาจรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนต่างๆ ผู้ที่ความดันโลหิตสูงนานๆ มักจะมีภาวะหลอดเลือดแดงเล็กแข็งตัวร่วมด้วยเป็นผลให้เกิดพยาธิสภาพที่อวัยวะที่สำคัญ ปัจจุบันพบว่าโรคไตเป็นภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมีอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นมาก หากเกิดอาการรุนแรง ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะเลือดเป็นพิษจากปัสสาวะและเสียชีวิตได้ และในกรณีที่เกิดพยาธิสภาพในสมองก็อาจทำให้เกิด Stroke มีผลทำให้เนื้อสมองเกิดภาวะขาดออกซิเจนและถูกทำลาย การที่ค่าความดันโลหิตมีการเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วในช่วงเช้า ยิ่งทำให้โอกาสที่หลอดเลือดแดงเล็กในสมองแตกและก่อให้เกิดอันตรายในช่วงเวลาดังกล่าวยิ่งมีมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุจะพบความเสี่ยงต่อการเกิดโรคชนิดนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรัง ต้องใช้เวลาในการรักษานาน อาการที่พบก็เป็นอาการที่มีสาเหตุได้หลายอย่าง ดังนั้นเมื่อมีอาการผู้ป่วยอาจเข้าใจผิดว่าเกิดจากสาเหตุอื่น ไม่ใช่มาจากการที่ความดันโลหิตสูงขึ้น อาการดังกล่าวได้แก่ ปวดศีรษะบริเวณท้ายทอยจนอาจรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน เมื่อยเอว ปวดหลัง หูอื้อ หน้ามืดตาลาย สำหรับผู้ที่มีประวัติความดันโลหิตสูง หากมีอาการปวดศีรษะอย่างเฉียบพลัน มีเลือดกำเดาไหล เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ชัก ให้สงสัยว่าเกิดภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤตซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ จึงต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วนที่สุด 
ดังนั้นผู้ป่วยควรสังเกตอาการเหล่านี้และไม่ควรปล่อยปละละเลยตนเอง แม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ทางร่างกายเกิดขึ้น ก็ควรทำการตรวจสอบค่าความดันโลหิตและควบคุมให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ในการตรวจสอบค่าความดันโลหิต

มีข้อแนะนำในการเตรียมตัวเมื่อจะทำการวัดความดันโลหิต ดังนี้
- ควรใส่เสื้อตัวหลวม ไม่ควรสวมเสื้อรัดแขน
- ไม่ควรวัดความดันโลหิต ภายใน 2-3 ชม.หลังออกกำลังกายอย่างหนัก
- งดสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ อย่างน้อย 30 นาที ก่อนวัด
- พักเงียบๆ สบายๆ อย่างน้อย 5 นาที ก่อนวัดความดันโลหิต
- หลีกเลี่ยงความเครียด ความรู้สึกตื่นเต้น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ซึ่งจะมีผลต่อค่าความดันโลหิตที่วัดได้

เนื่องจากค่าความดันโลหิตจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย บางคนวัดได้ค่าความดันโลหิตสูงเฉพาะเมื่อมาพบแพทย์ แต่เมื่อวัดที่บ้านได้ค่าปกติ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า White Coat Hypertension ซึ่งแสดงว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่มีค่าความดันสูงผิดปกติเนื่องจากความเครียด ความตื่นเต้นหรือปัจจัยอื่นๆ จะเห็นได้ว่าผลการวัดความดันโลหิตเพียงครั้งเดียวไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง หากจะให้แน่ใจต้องทำการวัดซ้ำอย่างน้อย 2-3 ครั้ง

เอกสารอ้างอิง:
1. Sheldon GS. The sixth report of the Joint National Committee on prevention, detection,
evaluation, and treatment of high blood pressure. Arch Intern Med 1997Nov;
157:2415-46.
2. Pine JW, editor. Clinical hypertension. 7th ed. Pennsylvania: Williams & Wilkins,1998:
3. อดุลย์ รัตนมั่นเกษม,แปล. ความดันโลหิตสูง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: รุ่งแสงการพิมพ์, 2538.
 

แหล่งที่มาของข้อมูล
 https://www.srbr.in.th/Health/hypertension.htm

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=930

อัพเดทล่าสุด