ทำไมต้องทราบประวัติกีฬาบาสเกตบอล


682 ผู้ชม


หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ สรุปข่าวกีฬา 3 พันธมิตร "กมธ.กีฬา สพก. ส.ยัดห่วง" เตรียมจับมือกันจัดทัวร์นาเมนต์สำหรับเยาวชนใน "ภูธร" หวัง "บูม" กีฬาบาสเกตบอลให้คืนชีพอีกหน ด้าน "นิโรธ สุนทรเลขา" เชื่อ หากทำสำเร็จจะกลับมาเป็น   

            หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ สรุปข่าวกีฬา 3 พันธมิตร "กมธ.กีฬา สพก. ส.ยัดห่วง" เตรียมจับมือกันจัดทัวร์นาเมนต์สำหรับเยาวชนใน "ภูธร" หวัง "บูม" กีฬาบาสเกตบอลให้คืนชีพอีกหน ด้าน "นิโรธ สุนทรเลขา" เชื่อ หากทำสำเร็จจะกลับมาเป็นกีฬายอดฮิตอีกครั้งแน่นอน 

            กีฬาทุกชนิดมีประวัติเป็นอย่างไรบ้าง บาสเกตยอลก็เช่นเดียวกัน การเรียนรู้และทำความเข้าใจกีฬาบาสเกตบอลทำให้เราทราบและเข้าใจการพัฒนาการกีฬาบาสเกตบอลเป็นอย่างดี  

สาระการเรียนรู้ สุขศึกษาและพลศึกษา   ช่วงชั้นที่ 4 (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  4 - 6) 
มาตารฐานการเรียนรู้ที่ 3.1 

ผลการเรียนรู้ที่คาดหว้ง สามารถอธิบายประวัติความเป็นมาของกีฬาบาสเกตบอล
 
         บาสเกตบอล ( Basketball ) เป็นกีฬาประจำชาติอเมริกัน ถูกคิดขึ้น เพื่อต้องการช่วยเหลือบรรดาสมาชิก Y.M.C.A. ได้เล่นกีฬาในฤดูหนาว เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวสภาพพื้นภูมิประเทศโดยทั่วๆไป ถูกหิมะปกคลุม อันเป็นอุปสรรคในการเล่น
กีฬากลางแจ้ง เช่น อเมริกันฟุตบอล เบสบอล คณะกรรมการสมาคม Y.M.C.A. ได้พยายามหาหนทางแก้ไขให้บรรดาสมาชิกทั้งหลายได้เล่นกีฬาในช่วงฤดูหนาวโดยไม่บังเกิดความเบื่อหน่าย

         ในปี ค.ศ.1891 Dr.James A.Naismith ครูสอนพลศึกษาของ The International Y.M.C.A. Training School อยู่ที่เมือง Springfield รัฐ Massachusetts ได้รับมอบหมายจาก Dr.Gulick ให้เป็นผู้คิดค้นการเล่นกีฬาในร่มที่เหมาะสมที่จะใช้เล่นในช่วงฤดูหนาว Dr.James ได้พยายามคิดค้นดัดแปลงการเล่นกีฬาอเมริกันฟุตบอลและเบสบอลเข้าด้วยกันและให้มีการเล่นที่เป็นทีม

         ในครั้งแรก Dr.James ได้ใช้ลูกฟุตบอลและตะกร้าเป็นอุปกรณ์สำหรับให้นักกีฬาเล่น เขาได้นำตะกร้าลูกพีชไปแขวนไว้ที่ฝาผนังของห้องพลศึกษา แล้วให้ผู้เล่นพยายามโยนลูกบอลลงในตะกร้านั้นให้ได้ โดยใช้เนื้อที่สนามสำหรับเล่นให้มีขนาดเล็กลงแบ่งผู้เล่นออกเป็นข้างละ 7 คน ผลการทดลองครั้งแรกผู้เล่นได้รับความสนุกสนานตื่นเต้น แต่ขาดความเป็นระเบียบ มีการชนกัน ผลักกัน เตะกัน อันเป็นการเล่นที่รุนแรง
   
         ในการทดลองนั้น ต่อมา Dr.James ได้ตัดการเล่นที่รุนแรงออกไป และได้ทำการวางกติกาห้ามผู้เล่นเข้าปะทะถูกเนื้อต้องตัวกัน นับได้ว่าเป็นหลักเบื้องต้นของการเล่นบาสเกตบอล Dr.James จึงได้วางกติกาการเล่นบาสเกตบอลไว้เป็นหลักใหญ่ๆ 4 ข้อ ด้วยกัน คือ
      
      1. ผู้เล่นที่ครอบครองลูกบอลอยู่นั้นจะต้องหยุดอยู่กับที่ห้ามเคลื่อนที่ไปไหน
      2. ประตูจะต้องอยู่เหนือศีรษะของผู้เล่น และอยู่ขนานกับพื้น
      3. ผู้เล่นสามารถครอบครองบอลไว้นานเท่าใดก็ได้ โดยคู่ต่อสู้ไม่อาจเข้าไปถูกต้องตัวผู้เล่นที่ครอบครองบอลได้ 
      4. ห้ามการเล่นที่รุนแรงต่างๆโดยเด็ดขาด ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่กระทบกระแทกกัน

          เมื่อได้วางกติกาการเล่นขึ้นมาแล้วก็ได้นำไปทดลอง และพยายามปรับปรุงแก้กไขระเบียบดีขึ้น เขาได้พยายามลดจำนวนผู้เล่นลงเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน จนในที่สุดก็ได้กำหนดตัวผู้เล่นไว้ฝ่ายละ 5 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมที่สุดกับขนาดเนื้อที่สนาม
     
         Dr.James ได้ทดลองการเล่นหลายครั้งหลายหน และพัฒนาการเล่นเรื่อยมา จนกระทั่งเขาได้เขียนกติกาการเล่นไว้เป็นจำนวน 13 ข้อ ด้วยกัน และเป็นต้นฉบับการเล่นที่ยังคงปรากฏอยู่บนกระดานเกียรติยศในโรงเรียนพลศึกษา ณ Springfield อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

     กติกา 13 ข้อ ของ Dr.James มีดังนี้
            1. ผู้เล่นห้ามถือลูกบอลแล้ววิ่ง
            2. ผู้เล่นจะส่งบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
            3. ผู้เล่นจะเลี้ยงบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
            4. ผู้เล่นต้องใช้มือทั้งสองเข้าครอบครองบอล ห้ามใช้ร่างกายช่วยในการครอบครองบอล
            5. ในการเล่นจะใช้ไหล่กระแทก หรือใช้มือดึง ผลัก ตี หรือทำการใดๆให้ฝ่ายตรงข้ามล้มลงไม่ได้ ถ้าผู้เล่นฝ่าฝืนถือเป็นการฟาวล์ 1 ครั้ง ถ้า ฟาวล์ 2 ครั้ง หมดสิทธิ์เล่น จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำประตูกันได้จึงจะกลับมาเล่นได้อีก ถ้าเกิดการบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน จะไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่น
           6. ห้ามใช้ขาหรือเท้าแตะลูก ถือเป็นการฟาวล์ 1 ครั้ง
           7. ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำฟาวล์ติดต่อกัน 3 ครั้ง ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ประตู
           8. ประตูที่ทำได้หรือนับว่าได้ประตูนั้น ต้องเป็นการโยนบอลให้ลงตะกร้า ฝ่ายป้องกันจะไปยุ่งเกี่ยวกับประตูไม่ได้เด็ดขาด
           9. เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำลูกบอลออกนอกสนาม ให้อีกฝ่ายหนึ่งส่งลูกเข้ามาจากขอบสนามภายใน 5 วินาที ถ้าเกิน 5 วินาที ให้เปลี่ยนส่ง และถ้าผู้เล่นฝ่ายใดพยายามถ่วงเวลาอยู่เสมอให้ปรับเป็นฟาวล์
        10. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าผู้เล่นคนใดฟาวล์ และลงโทษให้ผู้เล่นหมดสิทธิ์
        11. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าลูกใดออกนอกสนาม และฝ่ายใดเป็นฝ่ายส่งลูกเข้าเล่น และจะทำหน้าที่เป็นผู้รักษาเวลาบันทึกจำนวนประตูที่ทำได้ และทำหน้าที่ทั่วไปตามวิสัยของผู้ตัดสิน
       12. การเล่นแบ่งออกเป็น 2 ครึ่งๆละ 20 นาที
       13. ฝ่ายที่ทำประตูได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ ในกรณีคะแนนเท่ากันให้ต่อเวลาออกไป และถ้าฝ่ายใดทำประตูได้ก่อนถือว่าเป็นฝ่ายชนะ
      
      แม้ว่ากติกาการเล่นจะกำหนดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้เล่นเพื่อความสนุกสนานในแง่นันทนาการ แต่กีฬานี้ก็ได้รับความนิยมจากเยาวชนอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่มีผู้คนเป็นจำนวนมากเห็นว่าเป็นกีฬาสำหรับผู้อ่อนแอ และพยายามที่จะพิสูจน์ความเห็นนี้ด้วยการหาเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้เล่นบาสเกตบอลก็ตาม อย่างไรก็ดี ความรู้สึกเช่นนี้ค่อยๆเริ่มจางหายไปเมื่อความรวดเร็วและความแม่นยำในการเล่นบาสเกตบอล ได้สร้างความประทับใจและดึงดูดความสนใจของผู้คนเพิ่มมากขึ้น และได้แพร่กระจายไปทางตะวันออกของอเมริกาอย่างรวดเร็วและเมื่อโรงเรียนต่างๆได้ตระหนักถึงความสำคัญของกีฬาชนิดนี้ จึงพากันนิยมเล่นไปทั่วประเทศ

     ก่อนปี ค.ศ. 1915 แม้ว่าบาสเกตบอลจะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเป็นอย่างมากก็ตาม แต่ก็จำกัดเป็นเพียงการเล่นเพื่อออกกำลังกายในห้องพลศึกษาเท่านั้น ไม่มีองค์กรใดรับผิดชอบจัดการเล่นเป็นกิจลักษณะ ยกเว้นองค์กรบาสเกตบอลอาชีพที่เกิดขึ้นเพียง 2-3 องค์กรแล้วก็เลิกล้มไป ฉะนั้นการเล่นบาสเกตบอลในแต่ละที่แต่ละแห่งจึงต่างก็ใช้กติกาผิดแผกแตกต่างกันออกไป ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนากีฬาบาสเกตบอลเป็นอย่างมาก

     ดังนั้นในปี ค.ศ. 1915 สมาคม Y.M.C.A. สมาคมกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติและสมาพันธ์กีฬาสมัครเล่น ได้ร่วมประชุมเพื่อร่างกติกาการเล่นบาสเกตบอลขึ้นมาเพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน กติกานี้ไดใช้สืบมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1938 และได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 11 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี โดยคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติเป็นผู้พิจารณา

     สหรัฐอเมริกายอมรับการเล่นบาสเกตบอลเป็นกีฬาประจำชาติเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1892 ซึ่งได้มีการเล่นบาสเกตบอลอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก สมาคม Y.M.C.A. ได้นำกีฬาบาสเกตบอลไปเผยแพร่ในทุกส่วนของโลก ได้แพร่เข้าไปในประเทศจีนและอินเดียในราวปี ค.ศ. 1894, ฝรั่งเศส ในราวปี ค.ศ. 1895, ญี่ปุ่นราวปี ค.ศ. 1900 เกือบจะกล่าวได้ว่า บาสเกตบอลมีการเล่นในทุกประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และคาดว่าก่อนปี ค.ศ. 1941 มีประชาชนทั่วโลกเล่นกีฬาบาสเกตบอลเป็นจำนวนถึง 20 ล้านคน ในขณะนี้มีผู้นิยมเล่นบาสเกตบอลกันทั่วทุกมุมโลก ไม่น้อยกว่า 52 ประเทศ นอกจากนี้ได้มีการแปลกติกาการเล่นเป็นภาษาต่างๆมากกว่า 30 ภาษา

ประวัติกีฬาบาสเกตบอลในประเทศ  
      ประเทศไทยเริ่มเล่นกีฬาบาสเกตบอลกันตั้งแต่เมื่อใด สมัยใด ยังไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างแน่ชัด แต่เท่าที่ค้นคว้าและมีหลักฐานยืนยันว่าในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นายนพคุณพงษ์สุวรรณ อาจารย์สอนภาษาจีนได้แปลกติกา การเล่นบาสเกตบอลจากภาษาอังกฤษ
เป็นภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก   

       พ.ศ ๒๔๗๗ กรมพลศึกษาได้จัดการแข่งขันกีฬา บาสเกตบอลระดับนักเรียนขึ้น เป็นครั้งแรก สมัยที่ น.อ หลวงศุภชลาศัย ร.น ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพลศึกษา  พ.ศ ๒๔๙๕ ได้มีการจัดการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลระหว่างนักเรียนหญิง และการแข่งขันระหว่างประชาชนทั่วๆไป

     พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้มีการจัดตั้งสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย และได้เป็นสมาชิก สมาคมบาสเกตบอลระหว่างประเทศตั้งแต่ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๖

      ปัจจุบันกีฬาบาสเกตบอลถูกบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนแทบ ทุกระดับการศึกษาคือตั้งแต่ระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังมี การแข่งขัน อยู่ตลอดเวลา องค์กรสำคัญที่ส่งเสริมและจัดการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอล ในประเทศไทย ได้แก่สมาคมบาเกตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ กรมพลศึกษา กรุงเทพมหานคร การกีฬาแห่งประเทศไทย ทบวงมหาวิทยาลัย (กีฬามหาวิททยาลัย) กองทัพ (กีฬาเหล่าทัพ) กองทัพอากาศ (กีฬานักเรียน) สถาบันการศึกษาทั่วไป

ประโยชน์ของการเล่นกีฬาบาสเกตบอล 
    กีฬาบาสเกตบอลเป็นกีฬาที่ทำให้ผู้เล่นได้รับประโยชน์ดังนี้
๑. ช่วยพัฒนาส่งเสริมสมรรถภาพด้านต่าง ๆ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์และสังคมแก่บุคคล
๒. ช่วยพัฒนาส่งเสริมกลไกการเคลื่อนไหวของร่างกาย (motor skills) ให้ทำงานประสาน กันดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมือ เท้า สายตาให้เคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง
๓. เป็นกิจกรรมนันทนาการสำหรับพักผ่อน คลายความตึงเครียด แก่ผู้เล่นและผู้ชม
๔. ช่วยฝึกการตัดสินใจ และรู้จักคิดแก้ปัญหา ตลอดจนมีสมาธิที่ดี
๕. ช่วยฝึกให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะ และรู้จักให้อภัย
๖. ใช้เป็นสื่อนำในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและส่วนรวม
๗. ใช้เป็นสื่อนำในการจัดการกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา
๘. ผู้เล่นที่มีความสามารถจะทำชื่อเสียงให้แก่ตัวเอง วงศ์ตระกูล และประเทศชาติ
๙. เป็นวิชาชีพด้านหนึ่งสำหรับงานกีฬา เช่น การแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลอาชีพ 
    เป็นต้น

ที่มา:  https://www.sport-za.com

ประเด็นคำถาม 
1. ประวัติกีฬาบาสเกตบอลเป็นอย่างไรบ้าง

การบูรณาการกับเรียนรู้สาระเรียนรู้อื่นๆ 
1. lสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง การอภิปรายประวัติความเป็นมาของกีฬาบาสเกตบิล
2. สาระการเรียนรู้สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกีฬาบาสเกตบอล

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=974

อัพเดทล่าสุด