“อยู่อย่างไร...ให้พอเพียง”


671 ผู้ชม


พอเพียงกับตัวเอง ทำให้อยู่ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน มีสิ่งจำเป็นที่ทำได้โดยตัวเองไม่ต้องแข่งขันกับใคร อยู่ได้แบบมีสุข อยู่แบบ“เศรษฐกิจพอเพียง”   

อยู่อย่างเป็นสุข...กับหลัก“เศรษฐกิจพอเพียง”

          เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจที่พอเพียงกับตัวเอง ทำให้อยู่ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน มีสิ่งจำเป็นที่ทำได้โดยตัวเองไม่ต้องแข่งขันกับใคร และมีเหลือเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่มี อันนำไปสู่การแลกเปลี่ยนในชุมชน และขยายไปจนสามารถที่จะเป็นสินค้าส่งออก เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจระบบเปิดที่เริ่มจากตนเองและความร่วมมือ วิธีการเช่นนี้จะดึงศักยภาพของ ประชากรออกมาสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ซึ่งมีความผู้พันกับ “จิตวิญญาณ” คือ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า”


เศรษฐกิจพอเพียง

“เศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน              แบบพอมีพอกินนั้น
หมายความว่าอุ้มชู ตัวเองได้           ให้มีพอเพียงกับตัวเอง

พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
               “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
               
              
                " เศรษฐกิจพอเพียง แปลว่า Sufficiency Economy… คำว่า Sufficiency Economy นี้ไม่มีในตำราเศรษฐกิจจะมีได้อย่างไร เพราะว่าเป็นทฤษฎีใหม่  เพราะหมายความว่าเรามีความคิดใหม่ และโดยที่ท่านผู้เชี่ยวชาญสนใจ ก็หมายความว่า เราก็สามารถที่จะไปปรับปรุง หรือไปใช้หลักการเพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศและของโลกพัฒนาดีขึ้น "   พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542
 
 
 

 
คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ พร้อม ๆ กัน ดังนี้
  • ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
  • ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
  • การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
  • เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
  • เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
  • เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
  • แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี
 

 
 
กรอบแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง มาตั้งแต่เริ่มงานพัฒนาเมื่อ 50 ปี ที่แล้ว และทรงยึดมั่นหลักการนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการเกษตร เราเน้นการ ผลิตสินค้า เพื่อส่งออกเป็นเชิงพาณิชย์ คือ เมื่อปลูกข้าวก็นำไปขาย และก็นำเงินไปซื้อข้าว เมื่อเงินหมดก็จะไปกู้ เป็นอย่างนี้มาโดยตลอดจนกระทั่ง ชาวนาไทยตกอยู่ในภาวะหนี้สิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงปัญหาด้านนี้ จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งธนาคารข้าว ธนาคารโค-กระบือขึ้น เพื่อช่วยเหลือราษฎร นับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งที่มาของ "เศรษฐกิจพอเพียง" นับตั้งแต่อดีตกาล แม้กระทั่งโครงการแรกๆ แถวจังหวัดเพชรบุรี ก็ทรงกำชับหน่วยราชการมิให้นำเครื่องมือกลหนักเข้าไปทำงาน รับสั่งว่าหากนำเข้าไปเร็วนัก ชาวบ้านจะละทิ้งจอบ เสียม และในอนาคตจะช่วยตัวเองไม่ได้ ซึ่งก็เป็นจริงในปัจจุบัน
       
          จากนั้นได้ทรงคิดค้นวิธีการที่จะช่วยเหลือ ราษฎรด้านการเกษตร จึงได้ทรงคิด "ทฤษฎีใหม่" ขึ้น เมื่อปี 2535 ณ ครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอัน เนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสระบุรี เพื่อเป็น ตัวอย่างสำหรับการทำการเกษตรให้แก่ราษฎร ในการจัดการด้านที่ดินและแหล่งน้ำในลักษณะ 30:30:30:10 คือ ขุดสระและเลี้ยงปลา 30 ปลูกข้าว 30 ปลูกพืชไร่พืชสวน 30 และสำหรับเป็นที่อยู่อาศัย ปลูกพืชสวน และเลี้ยงสัตว์ใน 10 สุดท้าย ต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมมา โดยตลอด เพื่อให้เกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีความแข็งแรงพอ ก่อนที่จะไปผลิตเพื่อการค้าหรือเชิงพาณิชย์ โดยยึดหลักการ "ทฤษฎีใหม่" 3 ขั้น

 

การปฏิบัติตนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

1.    ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการดำรงชีพอย่างจริงจังดังพระราชดำรัส
        ว่า  . . ความเป็นอยู่ที่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง. . .

 2.   ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพก็ตาม ดังพระราช
       ดำรัสที่ว่า  . . . ความเจริญของคนทั้งหลายย่อมเกิดมาจาก การประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพ ของตนเป็นหลัก
       สำคัญ. . .

3.   ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าขายประกอบอาชีพแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรงดังอดีต
      ซึ่งมีพระราชดำรัสเรื่องนี้ว่า  . . . ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามา
     ได้ด้วยความเป็นธรรมทั้งในเจตนา และการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมา
     จากผู้อื่น. . .
4.  ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางในชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยากครั้งนี้ โดยต้องขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้เกิดมีรายได้เพิ่ม
     พูนขึ้นจนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ พระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ให้ความชัดเจนว่า . . . การที่ต้องการให้ทุก
     คนพยายามที่ จะหาความรู้ และสร้างตนเองให้มั่นคงนี้เพื่อตนเอง เพื่อที่จะให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้า ที่มี
     ความสุข พอมีพอกินเป็นขั้นหนึ่ง และขั้นต่อไป ก็คือให้มีเกียรติว่ายืนได้ด้วยตัวเอง. . .

5. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดีลดละสิ่งยั่วกิเลสให้หมดสิ้นไป ทั้งนี้ด้วยสังคมไทยที่ล่มสลายลงในครั้งนี้ เพราะยังมีบุคคลจำนวนมิใช่น้อยที่ดำเนินการโดยปราศจากละอายต่อแผ่นดิน พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราโชวาท ว่า       " ถ้าไม่มีเศรษฐกิจพอเพียงเวลาไฟดับ …จะพังหมด จะทำอย่างไร. ที่ที่ต้องใช้ไฟฟ้าก็ต้องแย่ไปหากมีเศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่เต็มที่ถ้าเรามีเครื่องปั่นไฟก็ให้ปั่นไฟ หรือถ้าขั้นโบราณกว่ามืดก็จุดเทียนคือมีทางที่จะแก้ปัญหาเสมอฉะนั้น เศรษฐกิจพอเพียงนี้ก็มีเป็นขั้นๆแต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์นี่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้จะต้องมีการแลกเปลี่ยนต้องมีการช่วยกัน พอเพียงในทฤษฎีหลวงนี้ คือให้สามารถที่จะดำเนินงานได้   " พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา 23 ธันวาคม 2542
 
 
          
หลักการของเศรษฐกิจพอเพียง

1. การพึ่งตนเอง เป็นหลักการที่ยึดหลักของตนเป็นที่พึ่งแห่งตน สามารถพึ่งตนเองได้ อุ้มชูตนเองได้และไม่พึ่งพาปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่เราได้เป็นเจ้าของ และพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และไม่เป็นภาระของใคร รู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิต

2. การรวมกลุ่มของชาวบ้านมารวมกลุ่มกันดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสานรวมกลุ่มกันทำหัตถกรรม การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การใช้ภูมิปัญญาจากท้องถิ่น การพัฒนาเทคโนโลยีพื้นบ้านและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นตนเอง

3. ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความสามัคคี การอยู่รวมกันในสังคมควรจะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน มีจิตใจเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ มีการประนีประนอม และควรมีความสามัคคีเพื่อจะได้ร่วมมือกันในการประกอบกิจการงานต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จ

4. การจัดการ ควรจะมีการบริหารจัดการที่ดี การประกอบอาชีพใด ๆ ควรใช้ความรู้ ความสามารถ และการจัดการที่จะรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างชาญฉลาด

ที่มาของภาพ

วิธีการปฏิบัติตนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
           คนไทยจะต้องยึดหลักพออยู่ พอกิน พอใช้
  • มีความประหยัด โดยพยายามตัดทอนรายจ่าย และลดความฟุ่มเฟือยในการดำรงชีวิต
  • ประกอบอาชีพด้วยความถูกต้องและสุจริต ไม่ประกอบอาชีพที่ผิดศีลธรรมและผิดกฎหมาย
  • ไม่ควรแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันในการประกอบอาชีพอย่างรุนแรง
  • ใช้ความรู้ความสามารถพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน
  • ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีความสามัคคีในครอบครัวและชุมชนการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอ 

        

วิธีการของเศรษฐกิจพอเพียง

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิดที่เรียกว่า “การเกษตรทฤษฎีใหม่” มีหลักสำคัญ คือ การบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินจำนวนไม่มากนักให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้

         
 ขั้นที่ 1 มีความพอเพียงสามารถเลี้ยงตนเองได้บนพื้นฐานของความประหยัด
เป็นขั้นตอนที่ทำการเกษตร คือ มีข้าว พืชผัก ผลไม้ ที่อยู่อาศัย และน้ำในพื้นที่ที่ตนมีอยู่ โดยไม่ต้องอาศัยใคร เป็นการอยู่แบบพอมีพอกิน
                    
 ขั้นที่ 2 รวมพลังกันในรูปของกลุ่มเพื่อทำการผลิต การตลาด และการจัดการ เน้นการช่วยเหลือและร่วมมือกัน รวมทั้งส่งเสริม ด้านการศึกษา สวัสดิการต่าง ๆ ให้กับคนในชุมชน
          
ขั้นที่ 3 ขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยติดต่อจัดหาทุนเพื่อนำมาใช้ในการลงทุน และพัฒนาคุณภาพชีวิต จัดตั้งกองทุนสนับสนุนเกษตรกร เป็นต้น 
                                    
ประเด็นคำถาม :    นักเรียนสามารถนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการเรียน การทำงาน ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง         

กิจกรรมเสนอแนะ : ให้นักเรียนจัดทำบันทึกความพอเพียง เพื่อบันทึกเรื่องราวและกิจกรรมที่นักเรียนคิดว่าได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต อย่างน้อยเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อประเมินความสุขที่ได้รับจากการยึดหลักความพอเพียง...และเพียงพอในชีวิต



ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=173

อัพเดทล่าสุด