วันฉัตรมงคล วันแห่งความปิติของปวงชนชาวไทย


854 ผู้ชม


ประวัติความเป็นมาและสาระสำคัญที่คนไทยทุกคนควรรู้   

วันฉัตรมงคล   วันแห่งความปิติของปวงชนชาวไทย

วันฉัตรมงคล วันแห่งความปิติของปวงชนชาวไทย

รัฐบาลประชาสัมพันธ์งานวันฉัตรมงคลยิ่งใหญ่

     ทำเนียบฯ 30 เม.ย. - นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 60 แห่งการบรมราชาภิเษก (วันฉัตรมงคล) วันที่ 5 พฤษภาคม ว่า ได้ประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์วิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ ทั้งความร่วมมือการจัดทำและเผยแพร่สารคดีที่เกี่ยวกับงานวันฉัตรมงคล รวมถึงพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อที่จะปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์

ซึ่งในวันดังกล่าวจะมีการถ่ายทอดสดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะจัดขึ้นทั้ง 9 เวที ตั้งแต่ลานพระราชวังดุสิต ถนนราชดำเนิน จนถึงมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยทั้ง 9 เวทีจะมีกิจกรรม การแสดงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในแต่ละด้าน โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. และเวลา 20.00 น. นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานถวายสัตย์ปฏิญาณตน ที่เวทีหลัก ณ ลานพระราชวังดุสิต ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดพร้อมกันทั่วประเทศ.   อ้างอิงจาก https://news.mcot.net

     วันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ แล้วจึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทย และรัฐบาลไทย ได้น้อมเกล้าฯ จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ เหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้ถือเอาวันที่ ๕ พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคลรำลึก เราในฐานะพสกนิกรของพระองค์ท่าน เรามาศึกษาสาระสำคัญของวันนี้กันดีไหมครับ

 ประวัติความเป็นมาของการจัดพิธีบรมราชาภิเษก

วันฉัตรมงคล วันแห่งความปิติของปวงชนชาวไทย

           พระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยทรงมีพระดำริว่า วันที่พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกนั้น เป็นมหามงคลสมัยซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินย่อมนับถือวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามมิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้วันบรมราชาภิเษกของพระองค์ตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานได้สมโภชเครื่องราชูปโภคแต่เดิมมา ควรมี่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ จึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า ฉัตรมงคล นี้ขึ้น การพระราชพิธีฉัตรมงคลเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มนั้น มีสวดมนต์เลี้ยงพระ เวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

           ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีเพิ่มการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า อาลักษณ์อ่านคำประกาศ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ชุมนุมถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เวียนเทียนสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์

           ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ การพระราชพิธีฉัตรมงคลได้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ซึ่งเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิ ตอน ๑ พระราชพิธีฉัตรมงคลซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองที่ได้บรมราชาภิเษกอีกตอน ๑ พระราชพิธีทักษิณานุปทานและพระราชพิธีฉัตรมงคล

           ในปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน ๓ วัน วันแรกตรงกับวันที่ ๓ พฤษภาคม เป็นงานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย อุทิศถวายแด่พระบรมราชบุรพการี เป็นพิธีสงฆ์ พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์แล้วพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี

           วันที่ ๔ พฤษภาคม เริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล หัวหน้าพราหมณ์ อ่านประกาศพระ-ราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เย็น วันที่ ๕ พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล มีงานเลี้ยงพระและสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตอนเที่ยงทหารบก ทหารเรือยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๒๑ นัด ในวันนี้จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระ-ราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า แก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานด้วย

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม


เครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์

      เครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์ คือ เครื่องทรงของพระมหากษัตริย์สยามตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี หรืออีกนัยหนึ่งเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์

      ไทยรับประเพณีการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์มาจากขอมซึ่งรับทอดมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์ ที่มีพราหมณ์ (พระมหาราชครู) เป็นผู้กล่าวคำถวาย ตามคติความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ เครื่องราชกกุธภัณฑ์จึงล้วนเป็นสัญลักษณ์แห่งเทพทั้งสิ้น

      ประเพณีการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยมีปรากฏมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย และในสมัยอยุธยาก็ยึดถือพระราชประเพณีนี้สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

      ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอุดลยเดช ฯ ทรงเครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องทรง 5 ชนิด ดังต่อไปนี้

 พระมหาพิชัยมงกุฎ

วันฉัตรมงคล วันแห่งความปิติของปวงชนชาวไทย

      เป็นราชสิราภรณ์ แสดงสัญลักษณ์ยอดวิมานของพระอินทร์หรือเทพ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้พระราชสมบัติไปเที่ยวหาซื้อเพชร ได้เพชรเม็ดใหญ่จากเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดับไว้บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ พระราชทานนามว่า "พระมหาวิเชียรมณี" พระมหาพิชัยมงกุฎรวมพระจอน สูง 66 เซนติเมตร หนัก 7.3 กิโลกรัม
      พระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 
 

พระแสงขรรค์ชัยศรี

วันฉัตรมงคล วันแห่งความปิติของปวงชนชาวไทย

       เป็นพระแสงราชศัสตราประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ พระขรรค์ หมายถึงพระปัญญาในการปกครองบ้านเมือง พระแสงองค์นี้มีประวัติว่า เป็นของเก่า เดิมตกจมอยู่ในทะเลสาบเขมร ที่เมืองเสียมราฐ ชาวประมงทอดแหได้ เมื่อปีพุทธศักราช 2327            เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เจ้าเมืองเสียมราฐ ได้นำทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อวันที่พระแสงองค์นี้มาถึงพระนคร ได้เกิดอสุนีบาตตกในพระนครถึง 7 แห่ง เช่นที่ประตูวิเศษไชยศรี และประตูพิมานไชยศรี ซึ่งเป็นทางที่อัญเชิญ พระแสงองค์นี้ผ่านไป ดังนั้น ประตูพระบรมมหาราชวังดังกล่าวจึงมี คำท้ายชื่อว่า "ไชยศรี" ทั้งสองประตู เช่นเดียวกับ ชื่อพระขรรค์องค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทำด้ามและฝักขึ้นด้วยทองลงยาประดับมณีใช้เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์
      พระแสงขรรค์ชัยศรีนี้ เฉพาะส่วนที่เป็นองค์พระขรรค์ยาว 64.5 เซนติเมตร ประกอบด้ามแล้วยาว 89.8 เซนติเมตร หนัก 1.3 กิโลกรัม สวมฝักแล้วยาว 101 เซนติเมตร หนัก 1.9 กิโลกรัม พระแสงขรรค์ชัยศรีเป็นพระแสงราชศัสตราที่สำคัญที่สุดในพระราชพิธีสำคัญหลายพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา 

 ธารพระกร

วันฉัตรมงคล วันแห่งความปิติของปวงชนชาวไทย

      ของเดิมทำด้วยไม้ชัยพฤษ์ปิดทอง หัวและสันเป็นเหล็ก คร่ำลายทอง ที่สุดสันเป็นซ่อม ลักษณะเหมือนกับไม้เท้าพระภิกษุที่ใช้ในการชักมหาบังสุกุล เรียกธารพระกรของเดิมนั้นว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างธารพระกรขึ้นใหม่องค์หนึ่งด้วยทองคำ ภายในมีพระแสงเสน่า ยอดมีรูปเทวดา จึงเรียกว่า ธารพระกรเทวรูป แต่ที่แท้ลักษณะเป็นพระแสงดาบมากกว่าเป็นธารพระกร แต่ได้ทรงสร้างขึ้นแล้วก็ทรงใช้แทนธารพระกรชัยพฤกษ์ ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กลับเอาธารพระกรชัยพฤกษ์ออกใช้อีก ยกเลิกธารพระกรเทวรูป เพราะทรงพอพระราชหฤทัยในของเก่า ๆ จึงคงใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์อยู่ต่อมา ธารพระกรมีความยาว 118 เซ็นติเมตร
      ธารพระกรนี้ เป็นที่นิยมตามราชสำนักอื่น ๆ เช่นกัน เป็นสัญลักษณ์แสดงว่า พระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์โดยธรรม  


 วาลวีชนี (พัดและแส้)

วันฉัตรมงคล วันแห่งความปิติของปวงชนชาวไทย

      พัดวาลวีชนีทำด้วยใบตาล แต่ปิดทองทั้ง ๒ ด้าน ด้ามและเครื่องประกอบทำด้วยทองลงยา ส่วนพระแส้ทำด้วยขนจามรี ด้ามเป็นแก้ว ทั้ง ๒ สิ่งนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้น "วาลวีชนี" เป็นภาษาบาลี แปลว่า เครื่องโบกทำด้วยขนวาล ตรงกับที่ไทยเรียกจามรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้สร้างแส้ขนจามรีขึ้น และให้ใช้คู่กันไปกับพัดวาลวิชนี
      วาลวีชนีเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพระราชภาระกิจของพระมหากษัตริย์ในฐานะองค์ผู้ปัดเป่าภัยให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน 

 ฉลองพระบาทเชิงงอน

วันฉัตรมงคล วันแห่งความปิติของปวงชนชาวไทย

      ฉลองพระบาทมีที่มาจากเกือกแก้ว ซึ่งหมายถึง แผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุราช และเป็นที่อาศัยแก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายทั่วแว่นแคว้นขอบขัณฑสีมา
      ฉลองพระบาทเชิงงอนนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ 


           เครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์นี้ และเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ เก็บรักษาไว้ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในหมู่พระมหามนเทียร ภายในพระบรมมหาราชวัง เดิมเจ้าพนักงานที่รักษาเครื่องราชูปโภคได้จัดพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภคและเครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นประจำทุกปี โดยเลือกทำในเดือน 6 เพราะมีพระราชพิธีน้อย จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่าวันพระบรมราชาภิเษก เป็นวันมงคล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2394 พระราชทานชื่อว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชแห่งกรุงรัตน-โกสินทร์ เปลี่ยนเรียกชื่อพระราชพิธีว่า พระราชกุศลทักษิณานุปทาน และ พระราชพิธีฉัตรมงคล สืบมาจนปัจจุบันนี้

ประเด็นอภิปราย

                  ในสภาพสังคมปัจจุบันสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญต่อประเทศชาติในด้านใดบ้าง

ที่มาและแหล่งอ้างอิง
• เรียบเรียงจากข้อมูลจาก "จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 4 ฉบับที่ 40, กันยายน 2537" ลงพิมพ์ใน https://www.royin.go.th (5 พ.ค. 2549)

• ภาพประกอบจาก เว็บไซต์พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ (15 มิ.ย. 2549) ศูนย์ประชาสัมพันธ์พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร

อ้างอิงจาก  https://ayutthayastudies.aru.ac.th/

                      https://news.mcot.net

 

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=189

อัพเดทล่าสุด