เชิญชมพิธีเวียนเทียนรอบวัดติโลกอารามอายุกว่า 500 ปี กลางกว๊านพะเยา งานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2552 ภาพพุทธศาสนิกชนจังหวัดพะเยา ร่วมเวียนเทียนรอบวัดติโลกอารามอายุกว่า 500 ปี กลางกว๊านพะเยา |
|
พุทธศาสนิกชนจังหวัดพะเยา ร่วมเวียนเทียนรอบวัดติโลกอารามอายุกว่า 500 ปี กลางกว๊านพะเยาเนื่องใน วันวิสาขบูชา ประจำปี 2552 รายงานข่าวจากจังหวัดพะเยา แจ้งว่า ชมรมเรือแจวกว๊านพะเยา และคณะศรัทธาวัดติโลกอารามกลางกว๊านพะเยา ได้จัดกิจกรรมเวียนเทียนทางน้ำ รอบวัดติโลกอารามกลางกว๊านพะเยา อายุกว่า 500 ปี เนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2552 โดยมีพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดพะเยา และต่างจังหวัด ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก โดยการเวียนเทียนทางน้ำ รอบวัดติโลกอารามกลางกว๊านพะเยา ทางชมรมเรือแจวกว๊านพะเยา และคณะศรัทธาวัดติโลกอารามกลางกว๊านพะเยา ได้จัดเป็นประจำทุกปี เพื่อสืบสานวัฒนธรรมการเวียนเทียนกลางน้ำ ที่ไม่มีให้เห็นในประเทศไทย สำหรับบรรยากาศการเวียนเทียน หลายวัดในจังหวัดพะเยา มีประชาชนร่วมพิธีอย่างคึกคักโดยเฉพาะวัดศรีโคมคำที่มีการจัดงานประเพณีแปดเป็ง มีประชาชน ร่วมงานจำนวนมาก เพื่อถวายสักการะพระเจ้าตนหลวง และเป็นการร่วมทำนุบำรุง สืบสานพระพุทธศาสนา ตลอดจนอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงาม แปดเป็ง ถือเป็นภาษาพื้นเมืองทางเหนือของชาวล้านนาแยกออกเป็นสองคำ คือ แปด กับ เป็ง "แปด" คือวันเพ็ญเดือน 8 เหนือ (ภาคกลางถือเป็นเดือน 6) ดังนั้นพอถึงเดือน 8 เหนือ อันเป็นเดือนที่เสวยฤกษ์วิสาขะ หรือวันวิสาขบูชา ส่วนคำว่า "เป็ง" คือคืนวันเพ็ญ หรือคืนที่พระจันทร์เต็มดวง มีค่าแทนคำว่า วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ
|
|
| | แหล่งข่าว ผู้จัดการออนไลน์ |
มาเรียนรู้สาระประวัติศาสตร์ล้านนากัน............
เมืองภูกามยาว
พะเยา เป็นเมืองประวัติศาสตร์ เดิมมีชื่อว่า เมืองภูกามยาว หรือ พยาว มีเอกราชสมบูรณ์ มีกษัตริย์ปกครองสืบราชสันติวงศ์มา ปรากฎตามตำนานเมืองพะเยา กษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์เมืองภูกามยาว มีดังนี้ |
ขุนจอมธรรม ขุนจอมธรรม เป็นพระราชโอรสของขุนเงินหรือลาวเงิน กษัตริย์ผู้ครองนครเงินยางเชียงแสน เมื่อ พุทธศักราช 1602 (จุลศักราช 421) พ่อขุนเงินหรือลาวเงิน ดำริให้พระราชโอรส 2 องค์ คือ ขุนชิน ให้อยู่ในราชสำนักครองนครเงินยางเชียงแสน และ ขุนจอมธรรม โอรสองค์ที่ 2ให้ปกครองเมืองภูกามยาว ซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ ขุนจอมธรรมพร้อมข้าราชการบริวาร ขนเอาพระราชทรัพย์ บรรทุกม้า พร้อมพลช้าง พลม้า ตามเสด็จถึงเมืองภูกามยาว และตั้งรากฐานเมืองใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณเมืองหนึ่ง นามว่า “สีหราช” อยู่เชิงเขาชมภูหางดอยด้วน ลงไปจรดฝั่งแม่น้ำสายตา มีสัณฐานคล้ายลูกน้ำเต้า มีหนองน้ำใหญ่อยู่ทางตะวันตก (อันหมายถึงกว๊านพะเยาในปัจจุบัน) และทางทิศอีสาน คือ หนองหวีและหนองแว่น ต่อมารวมไพร่พลหัวเมืองต่าง ๆ ได้ 80,000 คน จัดแบ่งได้ 36 พันนา นาละ 500 คน มีเขตแคว้นแดนเมืองในครั้งกระโน้น ดังนี้ ทิศบูรพา จรดขุนผากาดจำบอน ตาดม้าน บางสีถ้ำ ไทรสามต้น สบห้วยปู น้ำพุง สบปั๋ง ห้วยบ่อทอง ตาดซาววา กิ่วแก้ว กิ่วสามช่อง มีหลักหินสามก้อนฝังไว้ กิ่วฤาษี แม่น้ำสายตา กิ่วช้าง กิ่วง้ม กิ่วเปี้ย ดอยปางแม่นา ทิศตะวันตก จรดโป่งปูดห้วยแก้วดอยปุย แม่คาว ไปทางทิศใต้ กิ่วรุหลาว ดอกจิกจ้อง ขุนถ้ำ ดอยตั่ง ดอยหนอก ผาดอกวัว แซ่ม่าน ไปจรดเอาดอยผาหลักไก่ทางทิศหรดี ทิศใต้สุดจรดนครเขลางค์และนครหริภุญชัย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือต่อแดนขรนคร (เชียงของ) มีเมืองในอำนาจปกครอง คือ เมืองงาว เมืองกาว สะเอียบ เชียงม่วน เมืองเทิง เมืองสระ เมืองออย สะสาว เมืองดอบ เชียงคำ เมืองลอ เมืองเชียงแลง เมืองหงาว แซ่เหียง แซ่ลุล ปากบ่อง เมืองป่าเป้า เมืองวัง แซ่ซ้อง เมืองปราบ แซ่ห่ม ขุนจอมธรรมปกครองไพร่ฟ้าประชาชน โดยตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และยึดมั่นในบวรพุทธศาสนา บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองด้วยโภคสมบัติ ฟ้าฝนตกตามฤดูกาล ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน ซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน ไม่มีสงคราม เจ้าประเทศราชต่าง ๆ มีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน ทรงสั่งสอนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยหลักธรรม 2 ประการ คือ อปริหานิยธรรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม 1 ประเพณีธรรมขนบธรรมเนียมอันเป็นระเบียบแบบแผนอันดีงานของครอบครัว 1 ขุนจอมธรรมครองเมืองพะเยาได้ 2 ปี มีโอรส 1 พระองค์ โหรถวายคำพยากรณ์ว่า ราชบุตรองค์นี้จะเป็นจักรพรรดิราชปราบชมพูทวีป มีบุญญาธิการมากเวลาประสูติ มีของทิพย์เกิดขึ้น 3 อย่าง คือ แส้ทิพย์ พระแสงทิพย์ คณโฑทิพย์ จึงให้พระนามว่า “ขุนเจื๋อง” ต่อมาอีก 3 ปี ได้ราชบุตรอีกพระนามว่า “ขุนจอง” หรือ “ชิง” ขุนจอมธรรมปกครองเมืองพะเยาได้ 24 ปี พระชนมายุได้ 49 พรรษา |
|
พระยาเจื๋องธรรมมิกราช หรือ ขุนเจื๋อง พระยาเจื๋องธรรมมิกราช หรือ ขุนเจื๋อง ประสูติเมื่อปีพุทธศักราช 1641 เป็นโอรสของขุนจอมธรรม เมื่อเจริญวัยขึ้น ทรงศึกษาวิชายุทธศาสตร์ เช่น วิชาดาบ มวยปล้ำ เพลงชัย จับช้าง จับม้า และเพลงอาวุธต่าง ๆ เมื่อพระชนมายุได้ 16 ปี พาบริวารไปคล้องช้างที่เมืองน่าน เจ้าผู้ครองเมืองน่าน เห็นความสามารถแล้วพอพระทัย ยกธิดาชื่อ “จันทร์เทวี” ให้เป็นชายาขุนเจื๋อง พระชนมายุได้ 17 ปี พาบริวารไปคล้องช้างที่เมืองแพร่ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่พอพระทัย จึงยกธิดาชื่อ “นางแก้วกษัตริย์” ให้เป็นชายา พระราชทานช้าง 200 เชือก ขุนเจื๋องครองราชย์สืบแทนขุนจอมธรรมเมื่อพระชนมายุ 24 ปี ครองเมืองได้ 6 ปี มีข้าศึกแกว (ญวน) ยกทัพมาประชิดนครเงินยางเชียงแสน ขุนชินผู้เป็นลุง ได้ส่งสาส์นขอให้ส่งไพร่พลไปช่วย ขุนเจื๋องได้รวบรวบรี้พลยกไปชุมนุมกันที่สนามดอนไชยหนองหลวง และเคลื่อนทัพเข้าตีข้าศึกแตกกระจัดกระจายไป เมื่อขุนชินทราบเรื่องก็เลื่อมใสโสมนัสยิ่งนัก ทรงยกธิดาชื่อ “พระนางอั๊วคำคอน” ให้และสละราชสมบัตินครเงินยางเชียงแสนให้ขุนเจื๋องครองแทน เมื่อขุนเจื๋องได้ครองราชเมืองเงินยางแล้ว ทรงพระนามว่า “พระยาเจื๋องธรรมมิกราช” ได้มอบสมบัติให้โอรสชื่อ“ลาวเงินเรือง” ครองเมืองพะเยาแทน หัวเมืองใหญ่น้อยเหนือใต้ยอมอ่อนน้อม ได้ราชธิดาแกวมาเป็นชายานามว่า “นางอู่แก้ว” ขุนเจื๋องมีโอรส 3 พระองค์คือ ท้าวผาเรือง ท้าวคำห้าว และท้าวสามชุมแสง ต่อมายกราชสมบัติเมืองแกวให้ท้าวผาเรือง ให้ท้าวคำห้าวไปครองเมืองล้านช้าง ท้าวสามชุมแสงไปครองเมืองน่าน ต่อมาได้โยธาทัพเข้าตีเมืองต่างๆ ที่ยังไม่ยอมสวามิภักดิ์ ทรงชนช้างกับศัตรูเสียทีข้าศึกเพราะชราภาพ จึงถูกฟันคอขาดและสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง พวกทหารจึงนำพระเศียรไปบรรจุไว้ที่พระเจดีย์เมืองเหรัญนครเชียงแสน ขุนเจื๋องครองราชย์สมบัติครองแคว้นล้านนาไทยได้ 24 ปี ครองเมืองแกวได้ 17 ปี รวมพระชนมายุ 67 ปี ฝ่ายท้าวจอมผาเรืองราชบุตรขึ้นครองราชสมบัติเมืองพะเยาได้ 14 ปี ก็ถึงแก่พิราลัย ขุนแพงโอรสครองราชย์ แทนได้ 7 ปี ขุนซอง ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า แย่งราชสมบัติ และได้ครองราชย์เมืองพะเยาต่อมาเป็นเวลา 20 ปี และมีผู้ขึ้นครองราชสืบต่อมา |
|
พ่อขุนงำเมือง พ่อขุนงำเมือง เป็นกษัตริย์เมืองพะเยาองค์ที่ 9 นับจากพ่อขุนจอมธรรม ประสูติเมื่อพุทธศักราช 1781 เป็นราชบุตรของพ่อขุนมิ่งเมือง สืบเชื้อสายมาจากท้าวจอมผาเรือง เมื่อพระชนมายุ 14 ปี พระราชบิดาส่งไปศึกษาเล่าเรียนศิลปะศาสตร์เทพในสำนักเทพอิสิตนอยู่ภูเขาดอยด้วน 2 ปี จึงจบการศึกษา เมื่อพระชนมายุได้ 16 ปี พระราชบิดาส่งไปศึกษาต่อ ขอถวายตัวอยู่ในสำนักสุกันตฤาษี ณ กรุงละโว้ (ลพบุรี) จึงได้รู้จักคุ้นเคยกับ พระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย สนิทสนมผูกไมตรีต่อกันอย่างแน่นแฟ้น ศึกษาศิลปศาสตร์ร่วมครูอาจารย์เดียวกันเป็นสหายกันตั้งแต่นั้นมา ทรงเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์เช่นเดียวกับพระร่วงเจ้า เมื่อเรียนจบก็เสด็จกลับเมืองพะเยา ปีพุทธศักราช 1310 พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ จึงครองราชย์สืบแทน ตำนานกล่าวถึงพ่อขุนงำเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า ทรงเป็นศรัทธาเลื่อมใสใน พระพุทธศาสนา ไม่ชอบสงคราม ปกครองบ้านเมืองด้วยความเที่ยงธรรม ผูกไมตรีจิตต่อประเทศราช และเพื่อนบ้าน ขุนเม็งรายเคยคิดยกทัพเข้าบดขยี้เมืองพะเยา พ่อขุนงำเมืองล่วงรู้เหตุการณ์ ก่อนแทนที่จะยกทัพเข้าต่อต้าน ได้สั่งไพร่พลให้อยู่ในความสงบ สั่งให้เสนาอำมาตย์ออกต้อนรับโดยดี เชิญขุนเม็งรายเสวยพระกระยาหารและเลี้ยงกองทัพให้อิ่ม ขุนเม็งรายจึงเลิกการทำสงคราม แต่นั้นมา พ่อขุนงำเมือง จึงยกเมืองปลายแดน ซึ่งมีเมืองพาน เมืองเชี่ยงเคี่ยน เมืองเทิง และเมืองเชียงของ ให้แก่พระเจ้าเม็งราย และทำสัญญาปฏิญาณต่อกันจะเป็นมิตรต่อกันตลอดไป ฝ่ายพระยาร่วงซึ่งเป็นสหายคนสนิทก็ได้ถือโอกาสเยี่ยมพ่อขุนงำเมืองปีละ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่เสด็จในฤดูเทศกาลสงกรานต์ ได้มีโอกาสรู้จักขุนเม็งรายทั้ง 3 องค์ ได้ชอบพอเป็นสหายกัน เคยหันหลังเข้า พิงกันกระทำสัจจปฏิญาณแก่กัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำขุนภู ว่าจะไม่ผูกเวรแก่กัน จะเป็นมิตรสหายกัน กรีดโลหิตออกรวมกันขันผสมน้ำ ทรงดื่มพร้อมกัน (ภายหลังแม่น้ำนี้ได้ชื่อว่า แม่น้ำอิง) พ่อขุนงำเมืองเป็นผู้ทรงอุปฐากพระธาตุจอมทองซึ่งตั้งอยู่บนดอยจอมทอง ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองพะเยา ที่ประชาชนสักการะบูชามาจนตราบเท่าทุกวันนี้ พ่อขุนงำเมืองสิ้นพระชนมเมื่อปีพุทธศักราช 1816 โอรส คือ ขุนคำแดง สืบราชสมบัติแทน ขุนคำแดงมีโอรสชื่อ ขุนคำลือ ซึ่งครองราชสมบัติแทนต่อมา |
|
เมืองพะเยาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นล้านนาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 (หลัง พ.ศ. 1800 ) ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพระยาคำฤาบุตรพระยาคำแดง (สุวรรณสามราช) เป็นเจ้าเมืองครองเมืองพะเยาเป็นลำดับที่ 14 ตั้งแต่ขุนจอมธรรมเป็นต้นมา และเป็นลำดับที่ 3 ตั้งแต่พญางำเมืองมา พญาคำฟูแห่งเมืองเชียงแสน คบคิดกับเจ้าเมืองน่านทำศึกขนาบเมืองพะเยา เข้าสมทบกองทัพกันไปรบเมืองพะเยา ครั้งนั้นกองทัพพระยาคำฟูเข้าเมืองพะเยาได้ก่อน ได้ผู้คนช้างม้าและทรัพย์สิ่งของ เป็นอันมาก ก็มิได้แบ่งปันให้พระยากาวน่าน พระยากาวน่านขัดใจจึงยกกองทัพเข้ารบกับพระยาคำฟู พระยาคำฟูเสียที ล่าทัพหนีกลับมาเมืองเชียงแสน กองทัพน่านยกเลยไปตีปล้นเอาเมืองฝางได้ พระยาคำฟูก็ยกกองทัพใหญ่ไปตีกองทัพน่านยังเมืองฝาง กองทัพเมืองน่านสู้กำลังไม่ได้ก็เลิกถอยกลับไปเมืองน่าน พระยาคำฟูก็เลิกทัพกลับมาเมืองเชียงแสน นับแต่นั้นมา เมืองพะเยาก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา แล้วถูกลดฐานะเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่กับเมืองเชียงราย |
เมืองพะเยาภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา
ตำนานที่กล่าวถึงเมืองพะเยา มีปรากฏในยุคของกษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรล้านนา มีดังนี้ |
พระเจ้าติโลกราช พระเจ้าติโลกราช ครองอาณาจักรล้านนา ในช่วงพุทธศักราช 1985 - 2030 มีการทำสงครามขยายพระเดชานุภาพนับได้หลายครั้งตลอดรัชสมัย ทรงตีเมืองฝาง เมืองน่าน เมืองยอง ไทลื้อ เมืองหลวงพระบาง เมืองของหลวง เมืองของน้อย เมืองเชียงรุ่ง (ปัจจุบัน คือ แคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน) เมืองลอง เมืองตุ่น เมืองแช่ เมืองอิง เมืองนาย ไลค่า ล๊อกจ๊อก เชียงทอง เมืองปั่น หนองบอน ยองห้วย เมืองสู่ เมืองจีด เมืองจาง เมืองกิง จำคา เมืองพุย สีป้อ เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และมีเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ มาสวามิภักดิ์ อาทิ เมืองเชลียง เมืองสองแคว (พิษณุโลก) อาณาจักรล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช มีอาณาเขตกว้างขวาง โดยทิศเหนือจรดเมืองเชียงรุ้ง (เชอหลี่ใหญ่หรือจิ่งหง )สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ภาคใต้ของประเทศจีน และเมืองเชียงตุง(เชอหลี่น้อยหรือเขมรัฐ) ทิศตะวันตกจรดรัฐฉาน ฝั่งตะวันตกแม่น้ำสาละวิน ติดพรมแดนมู่ปางหรือแสนหวี คือเมืองสีป้อ เมืองนาย เมืองไลค่า เมืองเชียงทอง รวมกว่า 11 เมือง ทางทิศตะวันออกจรดล้านช้าง ประเทศลาว ทิศใต้จรด ตาก เชลียง (ศรีสัชนาลัย) เชียงชื่น (สวรรคโลก) พระเจ้าติโลกราชทรงปกครองอาณาจักรล้านนาเป็นระยะเวลา 46 ปี บ้านเมืองมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองและได้รับการทำนุบำรุงเป็นอย่างดี พระสงฆ์แตกฉานภาษาบาลี มีการตรวจชำระพระไตรปิฎกหรือสังคายนา เป็นครั้งที่ 8 ของโลก ณ วัดเจ็ดยอด อ.เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2020 |
|
พระยายุธิษฐิระ พระยายุธิษฐิระ หรือ พระยาสองแควเก่า เป็นพระโอรสของ พระมหาธรรมราชาที่ 4 (พระบรมปาล) แห่งแคว้นสุโขทัย ในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 4 เมืองสุโขทัยตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาอย่างสมบูรณ์ เมื่อพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) กษัตริย์อยุธยาเสด็จสวรรคต พระราเมศวรพระราชโอรส ขณะนั้นทรงเป็นเจ้าเมืองสองแควอยู่ (ขณะนั้นเมืองสองแควมีความสำคัญรองจากอยุธยาในฐานะเป็นเมืองลูกหลวง) เสด็จขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา แล้วเถลิงพระนามเป็น "สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ" และให้พระยายุธิษฐิระเป็นเจ้าเมืองสองแควแทน ตามหลักฐานในตำนานสิบห้าราชวงศ์เชียงใหม่และพงศาวดารโยนกได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า ก่อนที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงสัญญาไว้กับพระยายุธิษฐิระว่า ถ้าพระองค์ได้เป็นกษัตริย์อยุธยาแล้ว จะทรงแต่งตั้งให้พระยายุธิษฐิระ ผู้เป็นพระญาติทางฝ่ายมารดา เป็นอุปราชครองแคว้นสุโขทัยทั้งหมด แต่เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว หาได้ทรงกระทำตามสัญญาไม่ กลับโปรดฯ ให้พระยายุธิษฐิระเป็นเพียงแค่เจ้าเมืองสองแควเท่านั้น นอกจากนั้น พระองค์ทรงจัดให้มีการปฏิรูปการปกครองโดยลด ความสำคัญในฐานะเมืองลูกหลวงของเมืองสองแควลง พร้อมยกเลิกประเพณีการแต่งตั้งเจ้านายหรือพระญาติให้มาปกครองเมืองสำคัญ ทำให้เจ้านายเชื้อพระวงศ์สุโขทัยสูญเสียอำนาจและถูกลดบทบาทลง พระยายุธิษฐิระในฐานะเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ไม่พอพระทัย จึงเกิดความขัดแย้งรุนแรงกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในที่สุดพระยายุธิษฐิระตัดสินพระทัยหันไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้าติโลกราช และช่วยพระเจ้าติโลกราชทำสงครามรบกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเพื่อชิงดินแดนสุโขทัยกลับคืนจากอยุธยา สงครามยืดเยื้อถึง 7 ปีจึงสงบลง กองทัพล้านนาของพระเจ้าติโลกราชสามารถยึดครองเมืองสำคัญของสุโขทัยได้ครึ่งหนึ่ง เช่น เมืองทุ่งยั้ง เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนอยุธยาได้เมืองสองแคว เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัย เมืองนครไทย พระยายุธิษฐิระทรงได้รับปูนบำเน็จจากพระเจ้าติโลกราชโปรดชุบเลี้ยง ในตำแหน่งพระโอรสบุญธรรม ให้ครองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย รวมถึงพะเยาซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายอาคเนย์ ซึ่งรวมอาณาบริเวณเมืองพร้าว เมืองงาว และกาวน่าน การที่พระเจ้าติโลกราชทรงมอบ เมืองพะเยาและกาวน่าน ให้พระยายุทธิษฐิระ ปกครองนั้น อันเนื่องมาจาก กลุ่มหัวเมืองอาคเนย์นี้เป็นหัวเมืองที่ได้มาใหม่ เจ้าเมืองกาวน่านเดิมมีเชื้อสายพระร่วงเจ้าทางราชนิกูล ส่วนทางเมืองพะเยา ก็ให้ความเคารพพระร่วงเจ้าสุโขทัยมาแต่ครั้งพ่อขุนงำเมืองนั่นเอง ต่อมาเมื่อเสียสุโขทัยและศรีสัชนาลัยแก่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระยายุทธิษฐิระได้รับโปรดฯให้ไปเป็นเจ้าสี่หมื่นครองเมืองพะเยา และหัวเมืองอาคเนย์ พระยายุธิษฐิระ ทรงทรงทำนุบำรุงเมืองพะเยาเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ทรงสร้างเวียงใหม่ ที่บ้านพองเต่า สร้างวัดป่าแดงหลวง (ปัจจุบัน ราชการได้ประกาศรวมกับวัดดอนไชยบุนนาค ที่อยู่ติดกันเป็นวัดเดียวกัน ชื่อว่า วัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค) ทรงหล่อพระพุทธรูปหลวงพ่อนาค รวมถึงอัญเชิญพระพุทธรูปแก่นจันทน์ จากเมืองแจ้ตาก และ รอยพระพุทธบาท จากสุโขทัย มาประดิษฐานในเวียงใหม่ของพระองค์ จวบจนในปี 2022 ทรงมีคดีกับพระเจ้าติโลกราช จึงทรงถูกถอดยศเจ้าเมืองออก แต่ยังได้ความปราณี ยังคงชุบเลี้ยงในฐานะพระโอรสบุญธรรมต่อไป ส่วนเมืองพะเยา พระเจ้าติโลกราชทรงเวนราชสมบัติให้นางเจ้าหมื่นเมืองพะเยาปกครองต่อ |
|
ยุครุ่งเรืองของเมืองพะเยา ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา คือ มีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดทางศิลปและวิทยาการในช่วงเวลาประมาณ 100 ปี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 (หรือหลัง พ.ศ. 2000) ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 (หรือหลัง พ.ศ. 2100) หรืออาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เริ่มที่ยุคพระยายุทธิษฐิระเป็นเจ้าครองเมือง แล้วสิ้นสุดลงก่อนที่ อาณาจักรล้านนาจะถูกพม่ายึดครองเมื่อ พ.ศ. 2101 ซึ่งพม่าเข้าครอบครองเมืองเชียงใหม่และดินแดนล้านนาทั้งหมด พร้อมกวาดต้อนผู้คนไปด้วย ทำให้บ้านเมืองต่าง ๆ ร่วงโรยลง เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ อำนาจของพม่าซี่งปกครองที่เมืองเชียงใหม่อ่อนแอลง และบางครั้งก็ถูกกองทัพจากกรุงศรีอยุธยายกมารบกวนซ้ำอีก ทำให้บ้านเมืองต่าง ๆ ในดินแดนล้านนา คิดตั้งตัวเป็นอิสระแล้วแย่งชิงความกันเป็นใหญ่ จนเกิดความวุ่นวายทั่วไป ด้วยเหตุนี้เอง ฐานะและความสำคัญของเมืองพะเยาจึงหายจากดินแดนล้านนาราวกับร้างผู้คนไป |
เมืองพะเยาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ประวัติศาสตร์ของเมืองพะเยาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีดังนี้ |
ปี พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยึดเมืองเชียงใหม่สำเร็จ และโปรดให้พระเจ้ากาวิละเป็น เจ้าเมืองลำปาง ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายไทยเพื่อต่อต้านพม่าที่ยังยึดครองดินแดนล้านนาบางส่วน ปี พ.ศ. 2330 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พม่ายกกองทัพเข้าตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ เดินทางผ่านเมืองฝาง เชียงราย เชียงแสน และพะเยา เจ้าเมืองและชาวบ้านฝ่ายล้านนาต่างพากัน ลี้ภัยอพยพไปอยู่ลำปาง ทำให้เมืองพะเยาร้างไป ปี พ.ศ. 2386 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พระยาน้อยอินทร์ ผู้ครองนครลำปาง กับ พระยาอุปราชมหาวงศ์ ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ทูลขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยา เป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ เจ้าหลวงวงศ์ (หรือ พุทธวงศ์) น้องชายของพระยาน้อยอินทร์ เป็น " พระยาประเทศอุดรทิศ " ผู้ครองเมืองพะเยา เจ้าหลวงยศ (หรือ มหายศ) เป็นพระยาอุปราชเมืองพะเยา เจ้าบุรีรัตนะ (หรือ แก้ว) เป็นพระยาราชวงศ์เมืองพะเยา เจ้าหลวงวงศ์นำชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลำปาง แล้วฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นใหม่ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา ทั้งสิ้น 7 องค์ มีดังนี้ พ.ศ. 2386 | เจ้าหลวงวงศ์ เป็นผู้นำชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลำปาง แล้วฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นเจ้าเมืองพะเยาจนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.2391 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3) | พ.ศ. 2392 | เจ้าหลวงยศ รับสัญญาบัตรขึ้นครองเมืองพะเยา จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2398 (ตรงกับสมัยรัลกาลที่ 3-4 ) | พ.ศ. 2398 | เจ้าหลวงบุรีขัติยวงศา รับสัญญาบัตรขึ้นครองเมืองพะเยา จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2403 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4) | พ.ศ. 2403 | เจ้าหอหน้าอินทรชมภู รับสัญญาบัตรขึ้นครองเมืองพะเยา จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2413 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4-5) | พ.ศ. 2418 | เจ้าหลวงอริยะ รับสัญญาบัตรขึ้นครองเมืองพะเยา จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.2436 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ) | พ.ศ. 2436 | เจ้าหลวงมหาประเทศอุดรทิศ รับสัญญาบัตรขึ้นครองเมืองพะเยา จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2448 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) | พ.ศ. 2449 | เจ้าอุปราชมหาชัยศีติสาร ได้รับสัญญาบัตรเป็นพระยาประเทศอุดรทิต ดำรงตำแหน่งผู้ครองเมืองพะเยาองค์สุดท้าย (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) | ในระหว่างปี พ.ศ. 2437 ถึง พ.ศ.2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ปฏิรูปการปกครองจากแบบเดิมเป็น “มณฑลเทศาภิบาล” มีการบริหารงานเป็นกระทรวง มณฑล จังหวัด อำเภอ ผู้บริหารระดับกระทรวงเรียกว่าเสนาบดี ผู้บริหารระดับมณฑลเรียกว่าสมุหเทศาภิบาล ผู้บริหารระดับจังหวัดเรียกว่าข้าหลวงประจำจังหวัด ผู้บริหารระดับอำเภอเรียกว่านายอำเภอ เมืองพะเยาถูกปรับเปลี่ยนฐานะจาก “เมือง” เป็น “จังหวัด” เรียกว่า “จังหวัดบริเวณพะเยา” เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ มีที่ว่าการมณฑลอยู่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2448 ถูกยุบ “จังหวัดบริเวณพะเยา” ให้มีฐานะเป็น “อำเภอเมืองพะเยา” แล้วให้ เจ้าอุปราชมหาชัย ศีติสาร รักษาการในตำแหน่งเจ้าเมืองพะเยา องค์สุดท้าย ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 ให้ยุบ “อำเภอเมืองพะเยา” เป็น “อำเภอพะเยา” อยู่ในอำนาจการปกครองจังหวัดเชียงราย จากปี พ.ศ. 2457 จนถึงปี พ.ศ. 2520 อำเภอพะเยา มีนายอำเภอทั้งสิ้น 25 นาย |
|
การก่อตั้งจังหวัดพะเยา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตาม พระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 จังหวัดพะเยา ตั้งขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก คนแรก ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1230 |