การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนกับชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง ถือเป็นเหตุการณ์จลาจลที่มีความรุนแรงมากที่สุดของประเทศจีนนับแต่เหตุการณ์ ปราบปรามนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นต้นมา
จากข่าวเมืองอุรุมชีเมืองเอกของเขตปกครองซินเจียง อุยกูร์ หลังเกิดเหตุจลาจลของชนกลุ่มน้อยตลอด 3 วันที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต ไปกว่า 150 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนยืนยันว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ คนเหล่านี้ จะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต ด้านนายเรบิยา คาเดียร์ ผู้นำชาวกุยอูร์พลัดถิ่นให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุบีบีซีในอังกฤษ ตำหนินโยบายจีนว่าเป็นต้นเหตุของเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในเขตปกครองตนเอง ซินเจียง และว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวอาจสูงกว่าที่ทางการจีนรายงาน
มณฑลซินเจียงและชาวอุยกูร์ ที่คุณควรรู้จัก
การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนกับชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง ถือเป็นเหตุการณ์จลาจลที่มีความรุนแรงมากที่สุดของประเทศจีนนับแต่เหตุการณ์ ปราบปรามนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่จะยังไม่รู้จักมณฑลซินเจียงและชาวอุยกูร์มากนัก
หลังจากเพิ่งครบรอบสองทศวรรษของเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เหตุการณ์การจลาจลที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปีก็บังเกิดขึ้นอีกครั้งในประเทศจีนเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ณ เมืองอูรุมชี/อุรุมฉี เมืองเอกของมณฑลซินเจียง ทางตะวันตกของจีน
เหตุการณ์ความวุ่นวายเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ชาวอุยกูร์ หรือ อุ้ยเก๋อ ราว 1,000-3,000 คน มาชุมนุมกันอย่างสงบที่เมืองเอกของมณฑลซินเจียง เพื่อประท้วงเรียกร้องให้ทางการจีนสอบสวนหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังเหตุปะทะกัน ระหว่างคนงานชาวอุยกูร์กับคนงานชาวฮั่น ณ โรงงานแห่งหนึ่งเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จนส่งผลให้มีคนงานชาวอุยกูร์เสียชีวิต 2 คน ทั้งนี้ก่อนหน้าเหตุการณ์ดังกล่าว ได้เกิดข่าวลือว่า มีหญิงสาวชาวฮั่น 2 คน ถูกข่มขืนโดยชายชาวอุยกูร์ในโรงงาน
แต่การชุมนุมอย่างสงบก็บานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ โดยทางการจีนอ้างว่าผู้ชุมนุมชาวอุยกูร์เป็นฝ่ายสร้างความวุ่นวาย ทำลายทรัพย์สมบัติสาธารณะ รวมทั้งจุดไฟเผารถยนต์บนท้องถนน ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงชาวอุยกูร์ก็เห็นว่า ความรุนแรงดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นมาจากการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยทางการจีน ล่าสุดรายงานข่าวแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวน 156 คน และผู้มีบาดเจ็บ 828 คน
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ เมืองอูรุมชี ไม่ได้บังเกิดขึ้นมาโดยบังเอิญหรือฉับพลันทันใดชนิดที่ไร้ต้นสายปลายเหตุ ทว่าปมปัญหาเกี่ยวกับชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงนั้นดำรงคงอยู่มาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่จีนผนวกรวมดินแดนดังกล่าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเลยด้วยซ้ำไป
ดังนั้น การมาทำความรู้จักกับมณฑลซินเจียงและชาวอุยกูร์ จึงน่าจะทำให้เราเข้าใจถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมืองอูรุมชีได้ดียิ่งขึ้น
มณฑลซินเจียงเป็นพรมแดนที่กั้นระหว่างดินแดนเอเชียกลาง กับประเทศจีน มณฑลแห่งนี้มีขนาดใหญ่เป็น 3เท่าของประเทศฝรั่งเศส ในประวัติศาสตร์แล้ว ซินเจียงถือเป็นจุด นัดพบสำคัญทางการค้าและวัฒนธรรม เนื่องจากเคยเป็นพื้นที่หยุดพักผู้คนและสินค้าของ เส้นทางสายไหม ส่งผลให้ดินแดนแห่งนี้ได้รับมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นอย่างยิ่ง
กลุ่มชนพื้นเมืองของมณฑลซินเจียงคือชาว อุยกูร์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนมุสลิมที่มีลักษณะชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม เป็นพวกเติร์ก อันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากชาวฮั่นที่เป็นผู้ปกครองและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่ครอบครองดินแดนส่วนที่เหลือของจีน การดำรงอยู่ของชาวอุยกูร์นี่เองที่ทำให้ซินเจียงกลายเป็นมณฑลเดียวของประเทศจีนที่มีชาวมุสลิมเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่
ซินเจียงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจีนได้สำเร็จใน ปี พ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) มณฑลซินเจียงก็มีสถานะเป็น "เขตปกครองตนเอง" ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในมุมมองของรัฐบาลกลางพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปักกิ่ง ซินเจียงถือเป็นส่วนหนึ่งของจีนตลอดมา โดยรัฐบาลได้มองข้ามความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ใหญ่โตมหาศาล อันเกิดขึ้นจากการที่มณฑลแห่งนี้ได้หลอมรวมตนเองเข้ากับดินแดนเอเชียกลางและรัฐต่างๆ ของชาวเติร์กมาโดยตลอด และจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่ในซินเจียงก็ยังรู้สึกว่าพวกเขามีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับชาวเติร์กทางด้านตะวันตก มากกว่ารัฐบาลกลางที่ปักกิ่งทางด้านตะวันออก
แต่รัฐบาลกลางของจีนก็พยายามกลืนกลายชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง ด้วยนโยบายการส่งชาวฮั่นจำนวนมากเข้าไปอยู่อาศัยในมณฑลดังกล่าว จากที่ในปี พ.ศ.2496 (ค.ศ.1953) มีชาวฮั่นอยู่ในซินเจียงเพียง 5 แสนคน แต่ในปี พ.ศ.2543 (ค.ศ.2000) กลับมีชาวฮั่นในมณฑลแห่งนี้เพิ่มมากขึ้นเป็น 7.5 ล้านคน หรือถือเป็นร้อยละ 42 ของประชากรจำนวน 18 ล้านคนในมณฑล นอกจากนั้น ชาวฮั่นยังกลายเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของเมืองอูรุมชี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียงเสียด้วย
กลุ่มชนพื้นเมืองชาวอุยกูร์ไม่พอใจที่ผู้อพยพชาวฮั่นได้เข้ามาแย่งงานในอุตสาหกรรมน้ำมัน ปิโตรเคมี และในหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งควรเป็นแหล่งรายได้สำคัญของพวกตน ขณะที่ชาวฮั่นก็มองว่าพวกอุยกูร์เป็นคนเกียจคร้าน และไม่รู้จักสำนึกบุญคุณที่รัฐบาลกลางของจีนที่ปักกิ่งนำความทันสมัยและความ เจริญรุ่งเรืองมาสู่มณฑลซินเจียง
และยิ่งชาวฮั่นในซินเจียงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเท่าใด ชาวอุยกูร์ก็ยิ่งพยายามขับเน้นอัตลักษณ์ของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้เยาวชนชาวอุยกูร์รุ่นหลังเคร่งครัดในหลักการของศาสนาอิสลามยิ่งกว่าคนรุ่นพ่อแม่ นอกจากนี้พวกเขายังหันมาเรียนภาษาอารบิกกันมากขึ้น ซึ่งนี่อาจถือเป็นการประกาศว่าอัตลักษณ์ของชาวอุยกูร์นั้นมีความผิดแผกแตกต่างไปจากอัตลักษณ์ของชาวจีนฮั่นตั้งแต่ในระดับรากฐาน
แม้ชาวอุยกูร์ในเมืองเอกของมณฑลซินเจียงอย่างอูรุมชี อาจจะเริ่มมีวิถีชีวิตประจำวันคล้อยตามแบบชาวฮั่นอันเป็นคนกลุ่มใหญ่ของเมือง และหันมาหาเรื่องราวทางโลกย์ในสังคมสมัยใหม่มากขึ้น แต่สำหรับเมืองบริเวณชายแดนที่อยู่ติดกับดินแดนเอเชียกลางแล้ว รัฐบาลกลางของจีนยังต้องจัดส่งกำลังทหารเข้าไปควบคุมกิจกรรมทางการเมืองและบรรดา อิหม่ามในมัสยิดต่างๆ ของเมืองเหล่านั้นอย่างเข้มงวดกวดขัน เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าตนเองกำลังเผชิญหน้าอยู่กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เติบโตมากขึ้น จนมีผู้ขนานนามว่าซินเจียงถือเป็นทิเบตอีกแห่งหนึ่งของจีน
ทั้งนี้ กิจกรรมทางการเมืองในการแบ่งแยกดินแดนของชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงได้ถูกปลุกเร้าขึ้นในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เมื่อสหภาพโซเวียตแตกสลาย และรัฐมุสลิมเก่าแก่ทั้งหลายในเอเชียกลางได้มีโอกาสแยกตัวออกมาเป็นรัฐอิสระที่มีเอกราชเป็นของตนเอง เช่น คาซักสถาน คีร์กิสถาน และอุซเบกิสถาน เป็นต้น ชาวอุยกูร์จึงเกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแยกตนเองออกมาเป็นรัฐอิสระในนาม "อุยกูริสถาน" หรือ "เตอร์กิสถานตะวันออก" บ้าง อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนได้พยายามใช้มาตรการทางด้านเศรษฐกิจและการทูตอันชาญ ฉลาดมาหน่วงเหนี่ยวไม่ให้รัฐอิสระในเอเชียกลางต่างๆ ช่วยเหลือซินเจียงในการแยกตัวออกเป็นอิสระ กระทั่งขบวนการแบ่งแยกดินแดนในมณฑลแห่งนี้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของตนเองได้อย่างยากลำบากในที่สุด
ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางของจีนกับชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงคงไม่ได้จบสิ้นลงในเร็ววัน อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เราเห็นถึงปัญหาสำคัญของ "รัฐ-ชาติ" ในโลกสมัยใหม่ ที่ยากจะดำรงความเป็นเอกพันธุ์เอาไว้ได้ เมื่อโลกใบนี้ล้วนเต็มไปด้วยผู้คน วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ความทรงจำ และ "ชาติ" อันหลากหลาย ชนิดที่ไม่มีผู้มีอำนาจรายใดสามารถควบคุมหรือลดค่าความหลากหลายดังกล่าวให้ กลายเป็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวได้อย่างง่ายดาย กระทั่งอาจมีเพียงการพยายามทำความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายเท่านั้นที่จะ ช่วยให้ผู้คนบนโลกใบนี้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความทุกข์น้อยลง
ที่มา : มติชน
ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหา
เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (อุยกูร์شىنجاڭ ئۇيغۇرئاپتونومرايونى-; 新疆维吾尔自治区) ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีขนาดประมาณ 1/6 ของพื้นที่ทั้งประเทศ นับเป็นพื้นที่เขตปกครองที่ใหญ่ที่สุดของจีน:จีน:
ประวัติศาสตร์
ตั้งแต่สองพันปีก่อนเป็นต้นมา เขตซินเกียงก็เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศจีน ที่มีความเป็นเอกภาพและประกอบด้วยหลายชนชาติ เมื่อ60ก่อนคริสต์ศักราช ราชวงศ์ฮั่นได้จัดตั้งองค์กรบริหารซียี่ เพื่อปกครองเขตซินเกียงโดยตรง ซึ่งมีขอบเขตรวมถึงทะเลสาบบาเอ่อคาสือและเขตพ่าหมี่เอ่อ ภายในเวลา 1000 ปีเศษต่อจากนั้น เขตซินเกียงสังกัดอยู่ในองค์กรบริหารท้องถิ่น ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลกลาง
ครั้นถึงราชวงศ์ชิง รัฐบาลกลางได้แต่งตั้งนายพลอีหลี เพื่อปกครองดินแดนซินเกียงทั้งหมดและเมื่อถึงปี พ.ศ. 2427 (ค.ศ. 1884) เขตซินเกียงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมณฑล ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซินเกียงกับมณฑลต่างๆในแผ่นดินใหญ่จีนมีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น
เดือนกันยายน พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) ซินเกียงได้รับการปลดแอกอย่างสันติ จนเมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคม สาธารณรัฐประชาชนจีนได้สถาปนาขึ้น เขตซินเกียงจึงกลายเป็นเขตบริหารระดับมณฑลที่มีอำนาจปกครองตนเองได้เขตหนึ่งของจีน
ประวัติศาสตร์จีนในสมัยโบราณมีมาตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาแดงและเครื่องปั้นดินเผาดำเริ่มต้นการปกครองโดยราชวงศ์เซี่ย ราชวงส์ชาง ราชวงศ์โจว และราชวงส์ฉินตามลำดับ และสิ้นสุดลงที่สมัยราชวงส์ฮั่น ค.ศ. 220
ภูมิประเทศ
มีภูเขาอาเอ่อไท่ซัน ภูเขาเทียนชาน และภูเขาคุนหลุนชานตั้งอยู่จากทิศเหนือไปยังทิศใต้ มีแม่น้ำถ่าหลี่หมู่ ซึ่งเป็นแม่น้ำภายในดินแดนที่ไม่ไหลลงทะเล ที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีทะเลสาบบ๋อซือเถิง ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของจีน และมีพื้นที่ต่ำถู่หลู่ฟัน ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำสุดของจีน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ทะเลทรายทากลามากัน (ถ่าเค่อลาหม่ากัน) เป็นทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดของจีน และอันดับที่สองของโลก และมีทะเลทรายกู่เอ่อบันทงกู่เท่อ เป็นทะเลทรายใหญ่อันดับที่สองของจีน อุดมด้วยทรัพยากรน้ำมันปิโตเลียม แก๊ซธรรมชาติ
พื้นที่ 1.66 ล้านตร.กม แบ่งเขตการปกครองเป็น 17 เมือง 70 อำเภอ และ 844 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้มีหมู่บ้านชนส่วนน้อยถึง 42 หมู่บ้าน ในเมืองใหญ่ทั้ง 13 เมือง เป็นเขตปกครองตนเองของชนส่วนน้อยถึง 5 เมือง
กิจกรรมการเรียนรู้ : ให้นักเรียนศึกษาลักษณะการเมืองการปกครองของประเทศจีนและแบ่งกลุ่มอภิปรายหน้าชั้นเรียน
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1244