เตือนภัย....ระวัง !! ทะเลดูด


708 ผู้ชม


ภัยร้ายที่มากับการเล่นน้ำทะเล...หาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง   

 เตือนภัย ...ระวังทะเลดูด

เตือนภัย....ระวัง !! ทะเลดูด

       นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า การเล่นน้ำทะเลในช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งสภาพอากาศมีความแปรปรวน ทำให้เกิดฝนตกหนักพายุลมแรง และคลื่นในทะเลสูงกว่าปกติส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการจมน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าช่วงปกติ เนื่องจากในช่วงฤดูฝนของทุกปี มักมีผู้เสียชีวิตจากการถูกคลื่นดูดลงไปใต้ท้องทะเล ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า Rip Current เนื่องจากกระแสน้ำมีความแปรปรวนและทะเลมีคลื่นสูง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง บริเวณชายทะเลหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี และหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว มักเกิดขึ้นหลังจากฝนตกหนักและในวันที่คลื่นทะเลมีความปั่นป่วน โดยมีสาเหตุจากกระแสน้ำทะเลที่พัดเข้ามาในแนวตั้งฉากกับชายฝั่งแล้วม้วนกลับออกไปในทะเล โดยอาจมีแนวหินปะการัง หรือสิ่งปลูกสร้างใต้น้ำกีดขวางการไหลย้อนกลับของคลื่น ทำให้เกิดคลื่นม้วนตัวกลับสู่ท้องทะเล ส่งผลให้ผู้เล่นน้ำทะเลในบริเวณดังกล่าวถูกคลื่นซัดจมน้ำเสียชีวิต

เตือนภัย....ระวัง !! ทะเลดูด

      กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนนักท่องเที่ยวที่เล่นน้ำทะเลในช่วงฤดูฝนหรือภายหลังฝนหยุดตก ให้เพิ่มความระมัดระวังมากกว่าช่วงปกติ โดยก่อนออกเดินทางท่องเที่ยวควรศึกษาสภาพอากาศของแหล่งท่องเที่ยว หากมีคำเตือนเกี่ยวกับพายุลมแรง ให้งดหรือเลื่อนการเดินทางออกไป ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยของแหล่งท่องเที่ยว และเลือกเล่นน้ำในบริเวณที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการเลนน้ำบริเวณน้ำลึก บริเวณที่มีคลื่นลมแรงและบริเวณที่มีโขดหินอย่างเด็ดขาด

เตือนภัย....ระวัง !! ทะเลดูด

       โดยสามารถสังเกตได้จากธงที่ปักไว้แสดงระดับความลึกของน้ำ ถ้าเป็นธงสีเขียวสามารถลงเล่นน้ำได้ หากเป็นธงสีแดง ๒ อัน แสดงว่า พื้นที่นั้นอันตรายมาก ไม่ควรลงเล่นน้ำอย่างเด็ดขาด รวมทั้งใส่เสื้อชูชีพเล่นน้ำทุกครั้ง ไม่เล่นน้ำตามลำพัง เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดคิด จะทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ปลอดภัยได้ ตลอดจนไม่ลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่ฝนตกหนักหรือในวันที่คลื่นทะเลปั่นป่วน ที่สำคัญ ผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที กรณีที่เล่นน้ำแล้วถูกกระแสคลื่นน้ำทะเลดูด ให้ว่ายน้ำเลี่ยงจากจุดที่น้ำดูด อย่าพยายามว่ายเข้าหาฝั่งในทันที ให้ว่ายสวนหรือว่ายขวางกระแสน้ำ โดยว่ายไปในแนวระนาบขนานกับชายฝั่ง จะช่วยให้รอดพ้นจากการถูกน้ำทะเลดูดจนเสียชีวิตได้ สุดท้ายนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทะเลในช่วงฤดูฝน นักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามป้ายประกาศเตือนที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ติดไว้อย่างเคร่งครัด และรับฟังประกาศแจ้งเตือนของเจ้าหน้าที่ หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะสามารถหาวิธีหลบหนีจากภัยพิบัติได้ทันท่วงที ที่มา :ไทยพีอาร์เนต

ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหา ทะเลดูด (Rip Current)

       ทะเลดูด คือ กระบวนการเคลื่อนย้ายทราบไปตามชายฝั่ง เกิดจาการที่คลื่นกระทบฝั่งเป็นมุมเฉียง ทำให้เกิดจะงอย ตามปากแม่น้ำหรือเป็นสันทรายตามชายฝั่ง เมื่อมวลน้ำไม่มีที่จะไปตามชายฝั่งก็จะไหลออกนอกชายฝั่งเป็นก้อนมวลน้ำที่ไหลตั้งฉากกับชายฝั่ง

ประเทศไทย มีอาณาเขตทางทะเล (Maritime Zone) กว่า 350,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของอาณาเขตทางบกที่มีอยู่ประมาณ 513,000 ตารางกิโลเมตร ความยาวของชายฝั่งทะเลรวมฝั่งอ่าวไทยและอันดามันกว่า 2,815s กิโลเมตร ใน 23 จังหวัด 
อาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยจากแนวคิดที่ว่าคนไทยมิได้ใช้ทะเลเฉพาะแต่ในเขตทางทะเลของประเทศเราเองเท่านั้น หากยังสามารถใช้ทะเลไปถึงนอกเขตทางทะเลของประเทศด้วย ดังนั้นในการจัดเขตน่านน้ำที่ทำการศึกษาจึงแบ่งออกเป็น 6 เขต โดยให้ความหมายตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย. 2548. หนังสือแปล อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982, กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, กรุงเทพฯ.)ได้แก่

 

 

 

น่านน้ำภายใน

 

 (Internal Water) คือ น่านน้ำทางด้านแผ่นดินของเส้นฐาน  (baselines) แห่งทะเลอาณาเขต (อนุสัญญาฯ ข้อ 8 วรรคหนึ่ง) เช่น อ่าว แม่น้ำ ปากแม่น้ำ ทะเลสาบ เป็นต้น รัฐชายฝั่งย่อมมีอำนาจอธิปไตย (sovereignty) เหนือน่านน้ำภายใน (อนุสัญญาฯ ข้อ 2) ในทำนองเดียวกับที่รัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน (territory)ดังนั้นหากเรือต่างชาติหรืออากาศยานต่างชาติจะผ่านเข้ามาในเขตน่านน้ำภายในของรัฐชายฝั่ง เรือต่างชาติหรืออากาศยานต่างชาตินั้นจะต้องขออนุญาตรัฐชายฝั่งก่อน ได้แก่พื้นที่ ที่แสดงด้วยสีเขียวทั้งหมด ซึ่งอยู่ด้านในถัดจากเส้นฐาน ไปถึงฝั่ง มีอยู่ 5 บริเวณ

 

อ่าวประวัติศาสตร์ ได้แก่พื้นที่บริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก. เหนือเส้นฐานที่กำหนดขอบเขตอ่าวประวัติศาสตร์

 

บริเวณที่ 1 ได้แก่พื้นที่บริเวณแหลมลิง ถึงหลักเขตแดนไทย-เขมร

 

บริเวณที่ 2 ได้แก่พื้นที่บริเวณตั้งแต่แหลมใหญ่ ถึงแหลมหน้าถ้ำ

 

บริเวณที่ 3 ได้แก่พื้นที่บริเวณตั้งแต่ เกาะภูเก็ต ถึง พรมแดนไทย-มาเลเซีย เชื่อมเส้นฐานตรงและน่านน้ำภายใน ของประเทศไทย

 

บริเวณที่ 4 ได้แก่พื้นที่บริเวณตั้งแต่เกาะกงออก ถึง พรมแดนไทย-มาเลเซีย

 

 

 

ทะเลอาณาเขต

 

     (Territorial Sea) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ได้กำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขตว่าต้องไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลโดยวัดจากเส้นฐาน (baselines) ได้แก่ พื้นที่ที่แสดงด้วยสีเหลือง ซึ่งรัฐชายฝั่งเป็นผู้กำหนดตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลอาณาเขตของตน ซึ่งหมายความรวมถึงอำนาจอธิปไตยในห้วงอากาศ (air space) เหนือทะเลอาณาเขต และอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นดินท้องทะเล (sea-bed) และดินใต้ผิวดิน (subsoil) แห่งทะเลอาณาเขตด้วย (อนุสัญญาฯ ข้อ 2 (1) และ (2) ) โดยมีข้อยกเว้นในการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐชายฝั่งเหนือทะเลอาณาเขต คือ “การใช้สิทธิการผ่านโดยสุจริต” (right of innocent passage) ของเรือต่างชาติในทะเลอาณาเขตของรัฐชายฝั่ง (อนุสัญญาฯ ข้อ 17)

 

 

 

เขตต่อเนื่อง

 

      (Contiguous Zone) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี ค.ศ. 1982 กำหนดให้เขตต่อเนื่องมิอาจขยายเกินกว่า 24 ไมล์ทะเล จากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต (อนุสัญญาฯ ข้อ 33 วรรคสอง) ได้แก่ พื้นที่ที่แสดงด้วยสีน้ำเงิน รัฐชายฝั่งอาจดำเนินการควบคุมที่จำเป็นเพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับศุลกากร (customs) การคลัง (fiscal) การเข้าเมือง (immigration)หรือการสุขาภิบาล (sanitation) ภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของตน และลงโทษการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งได้กระทำภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของตน รัฐชายฝั่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองวัตถุโบราณ หรือวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่พบใต้ทะเลในเขตต่อเนื่อง

 
 

 

 

เขตเศรษฐกิจจำเพาะ

 

      (Exclusive Economic Zone) คือบริเวณที่อยู่เลยไปจากและประชิดกับทะเลอาณาเขต โดยเขตเศรษฐกิจจำเพาะจะต้องไม่ขยายออกไปเลย 200 ไมล์ทะเล จากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต (อนุสัญญาฯ ข้อ 55 และข้อ 57) ได้แก่ พื้นที่ที่แสดงด้วยสีฟ้าและสีม่วง รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยเพื่อความมุ่งประสงค์ในการสำรวจ (exploration) และการแสวงประโยชน์ (exploitation) การอนุรักษ์ (conservation) และการจัดการ (management) ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตในน้ำเหนือพื้นดินท้องทะเล (water superjacent to the sea-bed) และในพื้นดินท้องทะเล (sea-bed) กับดินใต้ผิวดิน (subsoil) ของพื้นดินท้องทะเลนั้น และมีสิทธิอธิปไตยในส่วนที่เกี่ยวกับกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อการแสวงประโยชน์และการสำรวจทางเศรษฐกิจในเขต อาทิเช่น การผลิตพลังงานจากน้ำ (water) กระแสน้ำ (currents)และลม (winds)(อนุสัญญาฯ ข้อ 56 วรรคหนึ่ง (เอ))รัฐชายฝั่งมีสิทธิแต่ผู้เดียว (exclusive rights)ในการสร้างหรืออนุญาตให้สร้าง และควบคุมการสร้างเกาะเทียม (artificial islands)สิ่งติดตั้ง (installations)และสิ่งก่อสร้าง (structures) เพื่อทำการสำรวจ และแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือควบคุมการใช้สิ่งติดตั้งหรือสิ่งก่อสร้างอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิของรัฐชายฝั่งในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ รัฐอื่นๆ ย่อมมีเสรีภาพในการเดินเรือ (freedom of navigation) การบินผ่าน (freedom of over flight) การวางสายเคเบิลและท่อใต้ทะเล (freedom of the laying of submarine cables and pipelines)

 

 

 

ไหล่ทวีป

 

        (Continental Shelf) หมายถึง พื้นดินท้องทะเล (sea-bed) และดินใต้ผิวดิน (subsoil) ของบริเวณใต้ทะเล ซึ่งขยายเลยทะเลอาณาเขตของรัฐตลอดส่วนต่อออกไปตามธรรมชาติ (natural prolongation) ของดินแดนทางบกของตนจนถึงริมนอกของขอบทวีป (continental margin) หรือจนถึงระยะ 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตในกรณีที่ริมนอกของขอบทวีปขยายไปไม่ถึงระยะนั้น (อนุสัญญาฯ ข้อ 76 วรรคหนึ่ง) ในกรณีที่ริมนอกของขอบทวีปสั้นกว่า 200 ไมล์ทะเล ซึ่งเป็นความกว้างของเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ก็ให้ถือว่าไหล่ทวีปมีความกว้างถึง 200 ไมล์ทะเลตามความกว้างของเขตเศรษฐกิจ รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตย (sovereign rights)เหนือทรัพยากรธรรมชาติบนและใต้ไหล่ทวีป ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต โดยมีลักษณะพิเศษ 2ประการคือ

 

เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (exclusive rights) กล่าวคือ หากรัฐชายฝั่งไม่สำรวจหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรบนหรือได้ไหล่ทวีปแล้ว รัฐอื่นจะสำรวจหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรบนหรือใต้ไหล่ทวีปโดยมิได้รับความยินยอมอย่างชัดแจ้งจากรัฐชายฝั่งมิได้

 

สิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือไหล่ทวีปนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการครอบครอง (occupation) ไม่ว่าอย่างแท้จริงหรือเพียงในนาม หรือกับการประกาศอย่างชัดแจ้งใดๆ กล่าวคือ สิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือเขตไหล่ทวีปนั้นเป็นสิทธิที่รัฐชายฝั่งมีอยู่แต่ดั้งเดิม (inherent right) โดยไม่ต้องทำการประกาศเข้ายึดถือเอาแต่อย่างใด รัฐชายฝั่งได้สิทธิอธิปไตยดังกล่าวมาโดยอัตโนมัติ

 
 

ทะเลหลวง

 

     (High Seas) หมายถึง ทุกส่วนของทะเลซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) ในทะเลอาณาเขต (territorial sea) หรือในน่านน้ำภายใน (internal waters) ของรัฐ หรือในน่านน้ำหมู่เกาะ (archipelagic waters) ของรัฐหมู่เกาะ (อนุสัญญาฯ ข้อ 86) เป็นที่น่าสังเกตว่า ห้วงน้ำ (water column) และผิวน้ำเหนือไหล่ทวีปที่อยู่นอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะยังคงเป็นเขตทะเลหลวง ถึงแม้ไหล่ทวีปและทรัพยากรบนไหล่ทวีปจะตกอยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตย (sovereign rights) ของรัฐชายฝั่งก็ตาม ทะเลหลวงเปิดให้แก่รัฐทั้งปวง ไม่ว่ารัฐชายฝั่ง (coastal states) หรือ รัฐไร้ฝั่งทะเล (landlocked states) เสรีภาพแห่งทะเลหลวงใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยอนุสัญญาฯ และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิเช่น เสรีภาพในการเดินเรือ (freedom of navigation) เสรีภาพในการบิน (freedom of overflight) เสรีภาพในการทำประมง (freedom of fishing) โดยหน้าที่ประการสำคัญของรัฐต่าง ๆ ที่ทำการประมงในทะเลหลวง คือ ต้องร่วมมือกันเพื่อกำหนดมาตรการในการอนุรักษ์ และจัดการทรัพยากรที่มีชีวิตในท้องทะเล

 

   ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล www.marinepolicy.trf.or.th

 

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1272

อัพเดทล่าสุด