สมเด๋จพระเจ้าตากสินมหาราช


706 ผู้ชม


นำเสนอพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระเจ้าตากสินมหาราช   

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระราชประวัติ 


         ๏ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า “สิน” พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗ เป็นบุตรของ “ นายไหฮอง ” และ “ นางนกเอี้ยง ” ซึ่งพระยาจักรีได้ขอไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่ออายุได้ ๕ ปี พระยาจักรีได้นำไปฝากเรียนกับพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส ( วัดคลัง ) โดยเรียนหนังสือขอมและหนังสือไทยจนจบบริบูรณ์ แล้วจึงเรียนพระไตรปิฎกจนแตกฉาน เมื่ออายุครบ ๑๓ ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำตัวเด็กชายสิน ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระธรรมราชาธิราชที่ ๓ ( สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ) พระองค์ได้ทรง   พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำราชการกับหลวงศักดิ์นายเวร ซึ่งเป็นบุตรของพระยาจักรี เมื่อมีเวลาว่างจะไปเรียนวิชากับอาจารย์จีน อาจารย์ญวนและอาจารย์แขก จนสามารถพูดภาษาทั้งสามได้อย่างคล่องแคล่ว 
      เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ได้อุปสมบท ณ วัดโกษาวาส พระภิกษุสิน อยู่ในสมณเพศได้ ๓ พรรษา ก็ลาสิกขา และกลับเข้ารับราชการตามเดิม ด้วยความฉลาด รอบรู้ขนบธรรมเนียม ภารกิจต่างๆเป็นอย่างดี จนสามารถทำงานต่างพระเนตรพระกรรณได้ จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นมหาดเล็ก รายงานราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทย และกรมวังศาลหลวง 
          ครั้น พ.ศ. ๒๓๐๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จเสวยราชสมบัติได้ ๓ เดือนเศษ ก็ถวายราชสมบัติให้พระเชษฐาสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ ( สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ) สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์โปรดเกล้าฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงาน เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งนายสินปฏิบัติราชการได้สำเร็จเรียบร้อย จนมีความชอบมาก   จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกบัตรเมืองตาก ช่วยราชการพระยาตาก เมื่อพระยาตากถึงแก่กรรม ก็โปรดให้เลื่อนเป็นพระยาตากเพื่อปกครองเมืองตาก 
    ในปี พ.ศ. ๒๓๐๗ พม่ายกกองทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทย โดยมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ ปรากฎว่าพม่าตีเมืองทางใต้ได้อย่างง่ายดาย จึงตีเรื่อยตลอดหัวเมืองทางใต้จนถึงเมืองเพชรบุรี ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพไทยซึ่งมีพระยาโกษาธิบดีกับพระยาตาก ไปรักษาเมืองเพชรบุรีไว้ จนตีพม่าแตกถอยไปทางด่านสิงขร 
        ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๐๘ พม่ายกกองทัพมาตีไทยอีก พระยาตากได้มาช่วยรักษาพระนครไว้ได้ จึงได้บำเน็จความดีความชอบในสงคราม จึงโปรดให้เลื่อนเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่ยังไม่ทันได้ปกครองเมืองกำแพงเพชร ก็เกิดศึกกับพม่าครั้งสำคัญขึ้น จึงถูกเรียกตัวให้เข้ารับราชการในกรุง      เพื่อป้องกันพระนคร จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๐๙ ขณะที่ไทยกับพม่ากำลังรบกันอย่างดุเดือด    พระยาวชิรปราการ เกิดท้อแท้ใจหลายประการคือ 
๑. พระยาวชิรปราการ คุมทหารออกไปรบนอกเมืองจนได้ชัยชนะยึดค่ายพม่าได้ แต่ทางผู้รักษาพระนครไม่ส่งกำลังไปหนุน ทำให้พม่าสามารถยึดค่ายกลับคืนได้ 
๒. ขณะที่ยกทัพเรือออกรบร่วมกับพระยาเพชรบุรีนั้น พระยาวชิรปราการ เห็นว่าพม่ามีกำลังมากกว่าจึงห้ามมิให้พระยาเพชรบุรีออกรบ แต่พระยาเพชรบุรีไม่เชื่อฟัง ขืนออกรบ และพ่ายแพ้แกพม่าจนตัวตายในที่รบ พระยาวชิรปราการ ถูกกล่าวหาว่าทอดทิ้งให้พระยาเพชรบุรีเป็นอันตราย 
๓. ก่อนเสียกรุง ๓ เดือน พม่ายกทัพเข้าปล้นพระนคร ทางด้านที่พระยาวชิรปราการรักษาอยู่ เมื่อเห็นจวนตัว พระยาวชิรปราการจึงยิงปืนใหญ่ขัดขวาง โดยมิได้ขออนุญาตจากศาลาลูกขุน จึงถูกฟ้องชำระโทษให้ภาคทัณฑ์ 
ด้วยสาเหตุดังกล่าว พระยาวชิรปราการเห็นว่าขืนอยู่ช่วยป้องกันพระนครต่อไป ก็ไม่มีประโยชน์อันใด และเชื่อว่ากรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่าในครั้งนี้เป็นแน่ 
ด้วยผู้นำอ่อนแอ และไม่นำพาต่อราชการบ้านเมือง จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกได้ประมาณ ๕๐๐ คน ตีฝ่าวงล้อม ออกจากค่ายพิชัย มุ่งออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรวบรวมกำลังกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาต่อไป ครั้นถึงพ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าก็ยกทัพตีพระนครและยกเข้าพระนครได้ นับเป็นเวลาที่พม่าล้อมค่ายอยู่ถึง ๑ ปี ๒ เดือน กรุงศรีอยุธยาจึงเสียแก่พม่า ในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ จึงนับว่าเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา 
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว บ้านเมืองเกิดแตกแยก หัวเมืองต่างๆตั้งตัวเป็นใหญ่ ต่างคนต่างรวมสมัครพรรคพวก ตั้งเป็นก๊กต่างๆ ได้แก่ ก๊กสุกี้พระนายกอง ก๊กพระยาพิษณุโลก ก๊กเจ้าพระฝาง ก๊กเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และก๊กเจ้าพิมาย 
  


พระยาวชิรปราการได้จัดเตรียมกองทัพ สะสมเสบียงอาหาร ศาสตราวุธ และกองทัพเรืออยู่เป็นเวลา ๓ เดือน ก็ยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา ตีเมืองธนบุรีแตก จับนายทองอินประหารแล้วเลยไปตีค่ายโพธิ์สามต้นจนแตกยับเยิน สุกี้พระนายกองตายในที่รบ ขับไล่พม่าออกไปพ้นแผ่นดินไทยสำเร็จ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ซึ่งใช้เวลากู้อิสรภาพกลับคืนจากพม่า ภายในเวลา ๗ เดือนเท่านั้น 

จากนั้น พระยาวชิรปราการจึงยกทัพกลับมากรุงธนบุรี และปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔” แต่ประชาชนนิยมเรียกพระนามว่า “พระเจ้าตากสิน” เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีด้วย และต่อจากนั้นพระเจ้าตากสินก็ยกกองทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆ จนราบคาบ ทรงใช้เวลารวบรวมอณาเขตอยู่ ๓ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๑ - พ.ศ. ๒๓๑๓ จึงได้อณาเขตกลับคืนมา รวมเป็นพระราชอณาจักรเดียวกันดังเดิม 
สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ สิริพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา ทรงครองราชย์เป็นเวลา ๑๕ ปี พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ กอบกู้ประเทศชาติให้เป็นเอกราชอิสรภาพตราบเท่าทุกวันนี้ ประชาราษฎร์ผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงยกย่องถวายพระเกียรติพระองค์ท่านว่า “มหาราช” คณะรัฐบาล ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้พร้อมใจกันสร้างอนุเสาวรีย์ เพื่อน้อมรำลึกในพระเกียรติประวัติ เกียรติยศ เกียรติคุณ ให้ปรากฎกับอนุชนตราบเท่าทุกวันนี้ 
ประเด็นอภิปราย
             คุณลักษณะข้อใดของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่นักเรียนสามารถนำมาเป็นแบบอน่างในการดำเนินชีวิตได้
แหล่งอ้างอิง
       บทความพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากหนังสือแจกของวัดสุทธาราม เขตคลองสาน กทม. พุทธศักราช  ๒๕๓๖ ( ไม่ปรากฎชื่อหนังสือและนามผู้แต่ง ) 
       ภาพอนุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากหนังสือ ๑๐๐ ปี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พ.ศ. ๒๕๓๕ สำนักพิมพ์ บริษัท อัมรินทร์ปริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง จำกัด 
      ภาพลายเส้นกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากหนังสือ จิตกรรมเล่าเรื่อง : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระผู้กู้ชาติ ณ ท้องพระโรงกรุงธนบุรี เมืองโบราณ โดย น. ณ ปากน้ำ สำนักพิมพ์ : เมืองโบราณ พุทธศักราช ๒๕๓๖ 

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1347

อัพเดทล่าสุด