กรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 1


1,004 ผู้ชม


นำเสนอประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1-3   

พัฒนาการของอาณาจักรกรุงรัตนโกสินทร์

 กรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 1

        ภายหลังสิ้นสมัยธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี ได้ทรงย้ายราชธานีของไทยจากกรุงธนบุรีมาสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่เมื่อ พ.ศ. 2325

การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี

            เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยังคงดำรพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ปราบปรามการจลาจลที่เกิดขึ้นในปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจนบ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย          พวกขุนนาง ข้าราชการ และราษฎรทั้งกลายจึงเห็นพ้องต้องกันในการอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระนามที่ปรากฏในพระสุพรรณบัฏ คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ส่วนพระนามพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น เป็นพระนามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงถวาย นับว่าพระองค์ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ในบรมราชจักรีวงศ์

สาเหตุการย้ายราชธานี

            เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบจลาจลภายในกรุงธนบุรีและสร้างความมั่นคงภายในประเทศแล้ว พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้เนื่องด้วยสาเหตุหลายประการ ดังนี้

1. พระราชวังเดิมของกรุงธนบุรีคับแคบ มีวัดขนาบอยู่ทั้ง 2 ด้าน คือ วัดแจ้ง(วัดอรุณราชวราราม)และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) ทำให้ไม่สามารถขยายอาณาเขตของพระราชวังให้กว้างขวางขึ้นได้

2. พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยที่จะให้พระนครแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลาง เป็นเสมือนเมืองอกแตก เพราะหากข้าศึกยกทัพเข้ามาตามลำแม่น้ำ ก็สามารถบุกตีใจกลางเมืองหลวงได้ ทำให้ยากแก่การเคลื่อนพลจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการยากลำบากมาก ดังนั้นพระองค์จึงย้ายพระนครมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดียว โดยมีแม่น้ำเป็นคูเมืองทางด้านตะวันตกและใต้ ส่วนทางด้านตะวันออกและทางด้านเหนือโปรดเกล้าฯให้ขุดคลองขึ้นเพื่อเป็นคูเมืองป้องกันพระนคร

3. พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม สามารถขยายเมืองให้กว้างออกไปได้เรื่อยๆ เพราะส่วนทางฝั่งตะวันออกของพื้นที่เป็นแหลม โดยมีแม่น้ำเป็นกำแพงกั้นอยู่เกือบครึ่งเมือง

4. ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่เป็นท้องคุ้ง น้ำกัดเซาะตลิ่งพังทลายอยู่เสมอ จึงไม่เหมาะแก่การสร้างอาคารหรือถาวรวัตถุใดๆ ไว้ริมฝั่งแม่น้ำ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงให้สร้างเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณหัวโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา คือ บริเวณพระบรมมหาราชวังในปัจจุบันและพระราชทานนามเมืองใหม่นี้ว่า กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยามหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถานอมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ ต่อมาในรัชกาลที่ 3 ทรงเปลี่ยนจากคำว่า บวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์

 พระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

รัชกาลที่ 1

 
 กรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 1

 พ.ศ. 2325-2352 ครองราชย์ 27 พรรษา พระชนมายุ 74 พรรษา 

            องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ตรงกับ วันพุธแรม 5 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง ได้รับราชการ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี เป็นพระยาราชนรินทรในกรมพระตำรวจ เจ้าพระยาจักรี และสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก สมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรี ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยาม เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาเป็นกรุงเทพมหานคร เริ่มสร้างพระบรม มหาราชวังและสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เสร็จในปี พ.ศ. 2327 
 
          ทรงเป็นนักรบและตรากตรำการสงครามมาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ตลอดสมัยกรุงธนบุรีและในรัชสมัยของพระองค์เอง ในด้านการศาสนา ได้โปรดให้มีการสังคายนา ชำระพระไตรปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถา ฎีกา ฯลฯ ณ วัดมหาธาตุ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างหอมณเฑียรธรรมขึ้นในบริเวณวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง สำหรับเป็นที่เก็บคัมภีร์ ทางพระพุทธศาสนา และทรงจัดการปกครองคณะสงฆ์ให้เรียบร้อย 
 
         พระราชานุกิจ (กิจวัตรประจำวัน) ของพระองค์ ตลอดรัชสมัย เป็นที่น่าประทับใจ พระองค์ทรงงานตั้งแต่เช้าตรู่ จนดึกดื่นทุกวันมิได้ขาด เริ่มตั้งแต่ ทรงบาตรถวายภัตตาหารพระสงฆ์ ฟังรายงานจากพระคลังมหาสมบัติ ออกรับพระ บรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง ฟังรายงานและ วินิจฉัยคดีจาก จางวางและปลัดกรมตำรวจ วินิจฉัยเหตุการณ์บ้านเมืองทั้งข้าราชการจากฝ่ายทหารและพลเรือน แล้วจึงเสวยพระกระยาหารเช้า แล้วพบข้าราชการฝ่ายใน หลังพระกระยาหารค่ำ ทรงฟังพระธรรมเทศนา ฟังรายงานการใช้จ่ายเงินคลัง การก่อสร้าง เสร็จแล้วเสด็จออกรับขุนนาง ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน กรมท่านำใบบอกหัวเมืองมากราบทูลทรงวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ อยู่จน 4 ทุ่ม หรือดึกกว่านั้น แล้วจึงเสด็จขึ้น 
 

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
 รัชกาลที่ 2 

กรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 1
 
  
 พ.ศ. 2352-2367 ครองราชย์ 15 พรรษา พระชนมายุ 58 พรรษา

                เสด็จพระราชสมภพ เมื่อ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 พระนามเดิมว่า ฉิม เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก่อนขึ้นครองราชย์ทรงดำรงพระยศเป็น เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์มีความสามารถทางอักษรศาสตร์เป็นอย่างดี ทรงร่วมนิพนธ์วรรณคดี กับสมเด็จพระราชบิดาไว้หลายเรื่อง ได้แก่ อุณรุท รามเกียรติ์ อิเหนา และดาหลัง ซึ่งเรียกว่า พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 
 
      นอกจากนี้ยังได้ทรงนำบทละครเก่ามานิพนธ์ขึ้นใหม่ ได้แก่ ไกรทอง คาวี ไชยเชษฐ์ สังข์ทอง มณีพิไชย ฯลฯ ด้านดนตรี ทรงเป็นปราชญ์ในทางสีซอสามสาย 
 
                 ด้านศิลปะ โปรดการเขียนลวดลายอันวิจิตรงดงาม ตัวอย่างที่เด่นชัดปรากฎที่บานประตูวัดสุทัศน์เทพวราราม เมื่อปฐมวัยได้ ทรงติดตามพระราชบิดาไปในงานสงครามแทบทุกครั้ง ตั้งแต่พระชมมายุได้ 8 พรรษา 
 
                ทรงผนวช เมื่อพระชนมายุ 22 พรรษา ทรงจำพรรษา ณ วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) เป็นเวลา 1 พรรษา ลาผนวชแล้ว ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชสมัยของพระองค์ ประเทศโปรตุเกส และประเทศอังกฤษ ได้ส่งผู้แทนทางการทูต มาเจริญสัมพันธไมตรีเป็นครั้งแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์ คือ ได้ส่งมา เมื่อ พ.ศ. 2361 และ พ.ศ. 2363 ตามลำดับ ด้านกฎหมาย ทรงปรับปรุงและออกกฎหมายต่าง ๆ ได้แก่ กฎหมายห้ามขายฝิ่น สัญญาเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน พินัยกรรม และกฎหมายอาญาอื่น ๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับการลงโทษ ทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร 
 
         สุนทรภู่ กวีเอกของไทย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในรัชกาลนี้ 
 
                                      
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 3 

กรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 1
 
ครองราชย์ 26 ปี (พ.ศ. 2367-2394) พระชนมายุ 64 พรรษา 

       เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าทับ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าจอมมารดาเรียบ ก่อนขึ้นครองราชย์ทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงเคยว่าราชการ มาหลายตำแหน่ง เช่น กรมท่า (กระทรวงการต่างประเทศ) กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมตำรวจ และผู้ว่าความในศาลฎีกา 
      ในรัชสมัยของพระองค์ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ เอาใจออกห่าง กระด้างกระเดื่อง เป็นกบฎไปเข้ากับญวณ แล้วฉวยโอกาสยกทัพเข้าตีเมืองอุบล ร้อยเอ็ด ตัวเจ้าอนุวงศ์เองยกทัพจากเวียงจันทร์ลงมาตีเมืองนครราชสีมาได้ แล้วให้ทัพหน้าเข้าตีสระบุรี พระองค์ได้จัดทัพใหญ่เตรียมรับศึก ในกรุงเทพ ฯ ได้จัดการป้องกันพระนคร วางกำลัง รายรอบเมืองตั้งแต่ทุ่งบางเขนถึงทุ่งหัวลำโพง จัดกำลังทหารไปตั้งรับที่สระบุรี ทัพเจ้าอนุวงศ์ได้กวาดต้อนผู้คนไปเวียงจันทร์ทุกวัน คุณหญิงโม ภรรยาปลัดเมืองนครราชสีมา เป็นหัวหน้ารวบรวมพวกเชลยไทยต่อสู้ พอทัพจากกรุงเทพ ฯ ยกขึ้นไปช่วย เจ้าอนุวงศ์จึงถอยทัพกลับไปเวียงจันทร์ โดยวางกำลังคอยต้านทานกองทัพไทย ที่ยกไปตีเวียงจันทร์ไว้ที่เมืองหล่มเก่า และเมืองภูเขียว 
 
     โปรดให้กรมพระราชวังบวรเป็นแม่ทัพ ยกทัพผ่านนครราชสีมา  ขึ้นไปตีเวียงจันทร์สายหนึ่ง อีกสายหนึ่งให้กรมหมื่นสุรินทร์รักษ์เป็นแม่ทัพยกไปตีฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ ที่มายึดเมืองอุบล และเมืองร้อยเอ็ด แล้วไปบรรจบกับกองทัพใหญ่ที่เวียงจันทร์ อีกสายหนึ่งให้เจ้าพระยาอภัยภูธรเป็นแม่ทัพ ยกไปตีฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ที่เมืองหล่มสัก แล้วไปบรรจบทัพใหญ่ที่เวียงจันทร์ กองทัพไทยปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์ได้ราบคาบ ตีกรุงเวียงจันทร์แตก จับเจ้าอนุวงศ์ได้ ในปี พ.ศ. 2371 
 
        เสร็จศึกแล้วได้โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งคุณหญิงโม เป็นท้าวสุรนารี 
 
       ในรัชกาลของพระองค์ ประเทศไทยได้เริ่มเปิดประเทศรับชาวยุโรปอย่างกว้างขวาง อังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา ส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย การค้าขายกับ อังกฤษรุ่งเรืองมาก บางคราวมีเรือสินค้าเข้ามาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 50 ลำ ทางสหรัฐอเมริกาได้ส่งมิชชันนารีเข้ามาสอนศาสนา และนำเอาวิชาการแพทย์แผนใหม่ โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ และสอนภาษาอังกฤษให้คนไทย ผู้ที่ควรได้รับเกียรติในผลงานนี้ คือ หมอบรัดเลย์ 
 
        ทรงโปรดให้มีประกาศห้ามนำฝิ่นเข้ามาขายในประเทศ และให้เก็บฝิ่นที่มีอยู่ในประเทศ นำไปเผาทั้งหมด 
        ด้านพระศาสนา ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา สร้างวัดใหม่ 9 วัด บูรณะวัดเก่า 60 วัด โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระนอนใหญ่ที่วัดโพธิ์ และในรัชกาลนี้  ได้มีกวีแก้วแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เกิดขึ้น คือ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์ วาสุกรี พระราช โอรสในรัชกาลที่ 1) 
 

 แหล่งอ้างอิง https://ecurriculum.mv.ac.th/elibrary/library/theyoung.net/praratchapravat_8.htm        

กรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 1

ด้านการเมืองการปกครอง
สมัยรัชกาลที่ 1 - 3

ประเด็นอภิปราย

        ข้อดีและข้อเสียของรูปแบบการปกครองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น          มีอย่างไรบ้าง

 

แหล่งข้อมูล

    1.   https://www.ben2.ac.th/SET_1/DATA_1/E_LEARNING/data_el/Bangkok/BK4.htm
    2.ผศ.ดร.นิคม จารุมณี. คู่มือหลักสูตรใหม่สังคมศึกษา ส 305  ส 306 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3. กรุงเทพฯ : ฝ่ายวิชาการ สำนักพิมพ์ประสานมิตร , หน้า 121-122

          พระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ทรงมีพระราชอำนาจเป็นล้นพ้น  ทรงเป็นเจ้าชีวิตและเจ้าแผ่นดิน ตามแบบอย่างคติสมมติเทวราชา หรือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
      1. การปกครองส่วนกลาง (การปกครองราชธานี)
               ประกอบด้วยอัครมหาเสนาบดีสำคัญ 2 ตำแหน่ง คือ
                    1.1 ฝ่ายทหาร   มีสมุหพระกลาโหม เป็นหัวหน้า  มีราชทินนามว่า "เจ้าพระยามหาเสนา"  ใช้ตราคชสีห์ เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ หัวเมืองมลายู และกิจการทั่วไปเกี่ยวกับทหาร
                    1.2 ฝ่ายพลเรือน   มีสมุหนายก เป็นหัวหน้า  มีราชทินนามวา เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์"  ใช้ตราราชสีห์ เป็นตราประจำตำแหน่ง  มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ อีสาน ล้านนาไทย และหัวเมืองลาวซึ่งเป็นประเทศราช
               นอกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีทั้ง 2 ตำแหน่งแล้ว ยังมีตำแหน่งรองลงมาอีก คือ จตุสดมภ์ อีก 4 ตำแหน่ง  คือ
                    (1)  นครบาล (กรมเวียง)  มีราชทินนามว่า "พระยายมราช"  ใช้ตราพญายมทรงสิงห์ เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและตัดสินคดีความในเขตพระนคร
                    (2)  ธรรมาธิกรณ์ (กรมวัง)  มีราชทินนามว่า "พระยาธรรมาธิบดี" หรือ "พระยาธรรมาธิกรณ์"  ใช้ตราเทพยดาทรงพระนนทิการ (พระโค) เป็นตราประจำตำแหน่ง  มีหน้าที่จัดพระราชพิธีทั้งหมดของราชสำนัก และพิพากษาคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผู้คนภายในพระราชวัง
                    (3)  โกษาธิบดี (กรมคลัง)  หรือกรมท่า  มีราชทินนามว่า "เจ้าพระยาพระคลัง"  ใช้ตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่ง  กรมท่านี้แบ่งออกเป็นกรมท่าขวา ซึ่งมีหน้าที่ดุแลการค้ากับอินเดียและชาติตะวันตก และกรมท่าซ้ายมีหน้าที่ดูแลการค้ากับจีน
                    (4)  เกษตราธิการ (กรมนา)  มีราชทินนามว่า "พระยาพลเทพ"  ใช้ตราพระพิรุณทรงนาค เป็นตราประจำตำแหน่ง  มีหน้าที่ดูแลเรือกสวนไร่นา เก็บภาษีข้าวเพื่อเป็นเสบียง  นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ซื้อข้าวไว้ในฉางหลวงและพิจารณาคดีเกี่ยวกับเรื่องนาและสัตว์พาหนะ
     2.  การปกครองหัวเมือง
               ประกอบด้วย
                    2.1  สมุหพระกลาโหม  มีอำนาจในการควบคุมทหารและดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้
                    2.2  สมุหนายก  มีอำนาจทางทหารและดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ
                    2.3  กรมท่า  มีอำนาจหน้าที่ดูแลหัวเมืองชายฝั่งทะเล
             หัวเมืองของไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท  ได้แก่
                    (1)  หัวเมืองชั้นใน  เป็นเมืองที่อยู่รายรอบราชธานี  ส่วนมากพระมหากษัตริย์จะส่งขุนนางที่ใกล้ชิดออกไปทำหน้าที่ปกครอง
                    (2)  หัวเมืองชั้นนอก  เป็นเมืองที่อยู่ไกลจากราชธานี  โดยแบ่งเมืองเหล่านี้ออกเป็นเมือง เอก โท ตรี และจัตวา  ตามลำดับความสำคัญ  เมืองชั้นเอก  เช่น นครศรีธรรมราช  พิษณุโลก  นครราชสีมา  สงขลา  เป็นต้น
                    (3)  เมืองประเทศราช  คือ เมืองต่างชาติ  ต่างภาษา  ที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจของไทย  แต่มีสิทธิในการปกครองตนเอง  โดยต้องส่งเครื่องราชบรรณาการและดอกไม้ทอง  เงิน  มาถวายเป็นประจำทุกปี หรือ 3 ปี ต่อ 1 ครั้ง  โดยฝ่ายไทยเป็นผู้กำหนดเครื่องราชบรรณาการ  เมืองประเทศราชที่สำคัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้แก่
                              -  ทางเหนือ  มีหัวเมืองในแคว้นล้านนาไทย  ซึ่งประกอบด้วยเมืองเชียงใหม่  ลำพูน  ลำปาง  แพร่  น่าน  เชียงราย
                              -  ทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ  ได้แก่  ทางด้านลาว  มีเมืองหลวงพระบาง  เวียงจันทน์  และจำปาศักดิ์  ทางด้านเขมร  มีพระตะบองและเสียมราฐ  ให้ขุนนางไทยปกครองดูแล  อีกส่วนหนึ่งให้เจ้านายเขมรปกครองเอง
                              -  ทางใต้  ได้แก่  มลายู  เมืองไทรบุรี  ปัตตานี  กลันตัน  ตรังกานู  ผู้ปกครองเป็นสุลต่าน  มียศเป้นพระยา  เป็นผู้ปกครองดูแลเอง  แต่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหัวเมืองเอก  ยกเว้น  ปัตตานีและตรังกานู  ให้สงขลาซึ่งเป็นหัวเมืองเอกอีกเมืองหนึ่งของทางใต้ควบคุมดูแล
   
 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1422

อัพเดทล่าสุด