สยามยุคปฎิรูปประเทศ รัชกาลที่ 4-6


1,075 ผู้ชม


นำเสนอการพัฒนาประเทศในรัชสมัย ร.4-ร.6   

ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
( รัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 6 )

สยามยุคปฎิรูปประเทศ รัชกาลที่ 4-6

1. ด้านการปกครอง
                    แม้ว่ารัชกาลที่ 4 จะทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดตามแบบพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่พระองค์ก็ได้ทรงเริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติบางอย่าง เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาราษฎร์ โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับประชาชน รัชกาลที่ 4 ทรงพิจารณาว่าประเพณีบางอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม เช่น ห้ามราษฎรเข้าใกล้ชิดรวมทั้งมีการยิงกระสุนเวลาเสด็จพระราชดำเนินและบังคับให้ราษฎรปิดประตูหน้าต่างบ้านเรือน เป็นประเพณีที่ล้าสมัย ประเทศตะวันตกที่มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ไม่มีประเพณีตัดสิทธิราษฎรแบบนี้ จึงโปรดให้ยกเลิกประเพณีดังกล่าว อนุญาตให้ราษฎรเข้าเฝ้าโดยสะดวกและเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนถวายฎีการ้องทุกข์ในขณะที่เสด็จพระราชดำเนินด้วย
                    ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะใน พ.ศ.2416 และทรงว่าราชการด้วยพระองค์เอง จึงทรงเริ่มปรับปรุงการปกครองซึ่งเรียกว่า “การปฏิรูปการปกครอง”
            1. การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 แบ่งเป็น 2 ระยะคือ
                    1.1 การปรบปรุงการปกครองประเทศในตอนต้นรัชกาล ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หรือเรียกว่า “เคาน์ซิล ออฟ สเตท” (Council of State) และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ หรือเรียกว่า “ปรีวี เคาน์ซิล” (Privy Council) สภาทั้งสองนี้มีหน้าที่ในการออกกฎหมายและยกเลิกกฎหมาย รวมทั้งยกเลิกประเพณีโบราณต่างๆ ที่เห็นว่าไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมในสมัยนั้น ปรากฏว่าสภาทั้ง 2 ดำเนินงานไปได้ไม่นาน ก็ต้องหยุดชะงักเพราะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่เรียกว่า“วิกฤตการณ์วังหน้า” (เป็นความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ซึ่งดำรงตำแหน่งวังหน้า อันเนื่องมาจากความหวาดระแวงซึ่งกันและกันจนเกือบจะมีการประทะกันระหว่างกัน) ขึ้นในปลาย พ.ศ.2417 แต่ก็สามารถยุติลงได้
                    1.2 การปฏิรูปการปกครองในช่วงหลัง รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักถึงภยันตรายจากการแสวงหาอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก และทรงเห็นว่าลักษณะการปกครองของไทยใช้มาแต่เดิมล้าสมัยไม่สอดคล้องกับความเจริญก้าวของบ้านเมือง ดังนั้นใน พ.ศ.2430 ทรงเริ่มการปฏิรูปการปกครองแผนใหม่ตามแบบตะวันตก โดยเฉพาะในส่วนกลางมีการจัดแบ่งหน่วยงานการปกครองออกเป็น 12 กรม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนไปใช้คำว่า “กระทรวง” แทนโดยประกาศสถาปนากรมหรือกระทรวงต่างๆ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2435 และยังได้ประกาศตั้งเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่างๆ ขึ้น ยุบตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและเสนาบดีจตุสดมภ์ทุกตำแหน่ง มีสิทธิเท่าเทียมกันในที่ประชุม ต่อจากนั้นได้ยุบกระทรวงและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเสียใหม่เหลือไว้เพียง 10 กระทรวง คือ
                              1. กระทรวงมหาดไทย
                              2. กระทรวงกลาโหม
                              3. กระทรวงการต่างประเทศ
                              4. กระทรวงวัง
                              5. กระทรวงเมือง (นครบาล)
                              6. กระทรวงเกษตราธิการ
                              7. กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
                              8. กระทรวงยุติธรรม
                              9. กระทรวงธรรมการ
                            10.กระทรวงโยธาธิการ
                            11.(กระทรวงยุทธนาธิการ) ต่อมาไปอยู่กระทรวงกลาโหม เนื่องจากมีหน้าที่คล้ายคลึงกัน
                            12.(กระทรวงมุรธาธิการ) ต่อมาไปอยู่กระทรวงวัง เนื่องจากมีหน้าที่คล้ายคลึงกัน
                    ส่วนภูมิภาค ได้ยกเลิกการจัดเมืองเป็นชั้นเอก โท ตรี จัตวา เปลี่ยนเป็นการปกครองแบบเทศาภิบาล คือ รวมหัวเมืองหลายเมืองเข้าด้วยกันเป็นมณฑลๆ หนึ่ง โดยมีข้าหลวงเทศาภิบาล เป็นผู้ปกครองมณฑล ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลนี้เป็นการรวมอำนาจการปกครองทั้งด้านการเมือง และเศรษฐกิจเข้าสู่ส่วนกลาง ทำให้การปกครองหัวเมืองเป็นแบบเดียวกันและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็นเมือง(จังหวัด) อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ตามลำดับ
                    แต่เนื่องจากระยะนี้บรรดาประเทศมหาอำนาจต่างกำลังแสวงหาอาณานิคม ประเทศไทยก็ถูกฝรั่งเศสคุกคามอย่างหนัก จนทำให้การพัฒนาประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ดำเนินไปไม่ดีเท่าที่ควรและเกิดความล่าช้า เนื่องจากพื้นฐานทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของไทยขัดต่อการพัฒนาประเทศตามแบบแผนใหม่ หรือตามแบบประเทศตะวันตก
                    2. การวางฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ไทยได้เริ่มมีการวางราฐานการปกคารองระบอบประชาธิปไตย มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยใช้แบบแผนการปกครองตามอย่างสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วนำมาปรับปรุงใหม่ คือ ในส่วนกลาง ตั้งกระทรวงทหารเรือ กระทรวงพาณิชย์ ในส่วนภูมิภาค รวมมณฑลต่างๆ เข้าเป็นภาค มีอุปราชและ สมุหเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง กรุงเทพฯ ก็นับเป็นมณฑลหนึ่งมีสมุหพระนครปกครองให้เรียกเมืองต่างๆว่า จังหวัด และ พ.ศ.2461 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองจำลองขึ้นในบริเวณพระราชวังดุสิต ชื่อว่า “ดุสิตธานี” และจัดการปกครองเป็นแบบเทศบาล แบ่งเขตการปกครองออกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ตามกฎหมายลักษณะการปกครองท้องที่ มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครอง เรียกว่า “ธรรมนูญลักษณะการปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พุทธศักราช 2461” รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำการทดลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยให้ข้าราชการบริพารได้เข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการปกครองในระบอบนี้ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นโดยผ่านทางหนังสือและอออกพระราชาบัญญัติประถมศึกษาอีกด้วย
                    3. การปฏิรูประบบกฎหมายและการศาล สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นระยะเวลาที่ชาวยุโรปเริ่มแสวงหาอาณานิคมและแผ่อิทธิพลเข้ามาในเมืองไทย พระองค์จึงได้ทรงตรากฎหมายและประกาศต่างๆ ขึ้นใช้บังคับมากมาย เพื่อให้ทันสมัยเหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในขณะนั้น เช่น พระราชบัญญัติมรดกสินเดิมและสินสมรส ใน พ.ศ. 2394 พระราชบัญญัติพระสงฆ์สามเณร และศิษย์วัด พ.ศ. 2402
                    ในการติดต่อกับต่างประเทศ ทำให้ไทยเสีย “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” โดยต่างชาติอ้างว่ากฎหมายไทยป่าเถื่อนและรังเกียจวิธีการพิจารณาคดีแบบจารีตนครบาล (คือวิธีการไต่สวนคดีของตุลาการอย่างทารุณ เช่น การตอกเล็บ บีบขมับ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯยกเลิก เมื่อ พ.ศ.2439) จึงไม่ยอมให้ใช้บังคับคนต่างชาติหรือคนในบังคับบัญชา ทำให้ไทยต้องทำการปฏิรูปกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 5
                    การปฏิรูปกฎหมายไทย การปฏิรูปกฎหมายไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มเมื่อ พ.ศ.2440 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชุรีดิเรกฤทธิ์ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาตลับ ได้ทรงศึกษาวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมและได้รับยกย่องว่าเป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายและการศาลไทย” ทรงตั้งโรงเรียนสอนวิชากฎหมายขึ้น โดยดำเนินการสอนเอง โรงเรียนกฎหมายแห่งนี้ต่อมาได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจชำระและร่างกฎหมาย ได้แก่ กฎหมายลักษณะอาญา ประกาศใช้ใน พ.ศ.2451 จัดเป็นกฎหมายฉบับใหม่และทันสมัยที่สุดฉบับแรกของไทย ต่อมาได้ประกาศใช้กฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 พระราชบัญญัติสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ.120 กฎหมายว่าด้วยการเลิกทาส พ.ศ2448 ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการปฏิรูปภาษากฎหมายไทยให้รัดกุม ชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น
                    สมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯให้ดำเนินงานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อจากที่ทำไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 และ พ.ศ.2466 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมร่างกฎหมายขึ้น
                    การศาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ.2434 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ตุลาการขาดความยุติธรรม ทุจริตตัดสินคดีความล่าช้า เป็นต้น โดยแยกตุลาการออกจากฝ่ายธุรการ และรวมศาลที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ มาไว้ที่กระทรวงยุติธรรมเพียงแห่งเดียว และใน พ.ศ.2435 ได้มีการเปลี่ยนแปลงงานด้านการศาล คือ รวมศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์ ตั้งศาลราชทัณฑ์พิเฉทขึ้น ยกเลิกกรมรับฟ้องโดยตั้งจ่าศาลเป็นพนักงานรับฟ้องประจำศาลต่างๆ ต่อมารวมศาลราชทัณฑ์พิเฉทกับศาลอาญา รวมศาลแพ่งเกษมกับศาลแพ่งไกรศรีเป็นศาลแพ่ง ใน พ.ศ.2441 จัดแบ่งศาลออกเป็น 3 แผนก ได้แก่ ศาลฎีกา ศาลกรุงเทพฯ และศาลหัวเมือง
                    ความสำเร็จในการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลของไทยนั้น นอกจากจะเป็นผลงานของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการไทยที่มีความรู้ความสามารถ เช่นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม องค์แรก และขุนหลวงพระยาไกรสี ผู้พิพากษาไทยคนแรกที่เรียนวิชากฎหมายสำเร็จได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษแล้ว ไทยยังได้จ้างนักกฎหมายชาวต่างประเทศที่มีความรู้มาเป็นที่ปรึกษากฎหมายอีกด้วย บุคคลสำคัญ ได้แก่ นายโรลัง ยัคมินส์ ขาวเบลเยี่ยม นายโตกิจิ มาซาโอะ ชาวญี่ปุ่น นายวิลเลียม อัลเฟรด ติลเลเก ชาวลังกา และนายยอร์ช ปาดู ชาวฝรั่งเศส

สยามยุคปฎิรูปประเทศ รัชกาลที่ 4-6

2. ด้านเศรษฐกิจ
                    ในสมัยรัชกาลที่ 4 ไทยได้ทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีการค้ากับอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2398 เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” หลังจากทำสนธิสัญญาเบาว์ริงแล้วได้มีชาติอื่นๆ เข้ามาขอเจราจาทำสนธิสัญญาตามแบบอย่างอังกฤษอีกหลายชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส โปรตุเกส เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น เมื่อมีชาวต่างประเทศเดินทางมาค้าขายมากขึ้น สินค้าแปลกๆใหม่ๆ และวิทยาการต่างๆ ก็แพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไป ทำให้มีการพัฒนาบ้านเมือง เพื่อให้ทันสมัยทัดเทียมกับต่างประเทศ เช่น มีการตัดถนนสายต่างๆ ได้แก่ ถนนเจริญกรุง หรือถนนใหม่ บำรุงเมือง เฟื่องนคร สีลม และมีการขุดคลองผดุงกรุงเกษม คลองดำเนินสะดวก ฯลฯ
                    ตามข้อความในสนธิสัญญาเบาว์ริงกำหนดให้ไทยเรียกเก็บภาษีขาเข้าไม่เกินร้อยละ 3 เท่านั้น แต่เนื่องจากมีเรือเข้ามาค้าขายมากกว่าแต่ก่อนถึงปีละ 103 ลำ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าทุกปี แต่การจัดเก็บภาษีในสมัยนี้ไม่รัดกุมพอ เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นใน พ.ศ.2416 เพื่อรวบรวมภาษีอากรทุกชนิดจากทุกหน่วยงาน และได้ตรมพระราชบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรหลายฉบับ กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แบ่งงานในแต่ละกระทรวง กำหนดอัตราภาษีอากรที่แน่นอน ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกมากมาย
                    เงินตรา ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงกษาปณ์ขึ้นใน              พ.ศ.2403 ได้เปลี่ยนจากการใช้เงินพดด้วงเป็นเงินเหรียญ  
                    ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาตราเงินไทยมาใช้ระบบทศนิยมกำหนดให้ 1 บาท มี 100 สตางค์ สร้างเหรียญสตางค์ทำด้วยทองขาว และเหรียญทองแดง และได้โปรดเกล้าฯ ได้พิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้อย่างจริงจัง โดยตราพระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ.121 (พ.ศ.2445)และตั้งกรมธนบัตรขึ้น สังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ นอกจากนี้ยังประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตราทองคำ ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) โดยใช้ทองคำเป็นมาตรฐานเงินตราแทนเงิน และในปีเดียวกันได้ประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วง เหรียญ เฟื้อง เบี้ยทองแดงต่างๆ เบี้ยสตางค์ทองขาว โดยให้ใช้เหรียญบาท สลึง และเหรียญสตางค์อย่างไหมแทน
                    การธนาคารและคลังออมสิน 
                    สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดตั้งธนาคารขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ.2431 ดำเนินการโดยชาวต่างประเทศ ต่อมาใน พ.ศ.2449 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันตมงคล) ได้เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งแรกที่ดำเนินการโดยคนไทย ชื่อว่า “บุคคลัภย์” (Book Club) ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้จดทะเบียนตั้งเป็นธนาคารได้ถูกต้องตามกฎหมาย ใช้ชื่อว่า “บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด (Siam Commercial Co,) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด”
                    คลังออมสินจัดตั้งในสมัยรัชกาลที่ 6 ใน พ.ศ.2458 ตามพระราชบัญญัติออมสิน และได้วิวัฒนาการเป็นธนาคารออมสิน

สยามยุคปฎิรูปประเทศ รัชกาลที่ 4-6

3. สภาพสังคมและการศึกษา
                    การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงดำริว่า การที่ประเทศไทยมีชนชั้นทาสมากเท่ากับเป็นการเสียเศรษฐกิจของชาติ และทำให้ต่างชาติดูถูกและเห็นว่าประเทศไทยป่าเถื่อนด้อยความเจริญ ซึ่งมีผลทำให้ประเทศมหาอำนาจต่างๆ คิดจะเข้าครอบครองไทย โดยอ้างว่า เพื่อช่วยพัฒนาประเทศไทยให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ที่เจริญแล้วทั้งหลาย 
                    ดังนั้น ใน พ.ศ.2417 พระองค์จึงทรงเริ่มออกพระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรอายุลูกทาสลูกไทขึ้น โดยกำหนดค่าตัวทาสอายุ 7-8 ปี มีค่าตัวสูงสุด 12-14 ตำลึง แล้วลดลงเรื่อยๆ เมื่อมีอายุ 21 ปี ค่าตัวจะเหลือเพียง 3 บาท ซึ่งทำให้ทาสมีโอกาสไถ่ตัวเป็นไทได้มากและใน พ.ศ.2420 พระองค์ทรงบริจาคเงินจำนวนหนึ่งเพื่อไถ่ตัวทาสที่อยู่กับเจ้านายมาครบ 25 ปี จำนวน 45 คน พ.ศ.2443 ทรงออกกฎหมายให้ทาสสินไถ่อายุครบ 60 ปี พ้นจากการเป็นทาสและห้ามขายตัวเป็นทาสอีก พ.ศ.2448 ออกพระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124 บังคับทั่วประเทศ ห้ามมีการซื้อทาสต่อไป ให้ลดค่าตัวลงเดือนละ 4 บาท จนครบจำนวนเงิน และให้บรรดาทาสเป็นไททั้งหมด
                    การเลิกทาสของพระองค์ประสบความสำเร็จอย่างดี เป็นเพราะพระปรีชาญาณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ทรงใช้ทางสายกลาง ค่อยๆดำเนินงานไปทีละขั้นตอน ทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงดังเช่นประเทศต่างๆ ที่เคยประสบมา
                การศึกษา
                ผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาสมัยใหม่ในระยะแรกของไทย คือ คณะมิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 แหม่มแมตตูน ภรรยามิชชันนารีอเมริกัน ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2395 ต่อมาได้รวมกับโรงเรียนของซินแส กีเอ็ง ก๊วยเซียน ซึ่งเป็นชาวจีนที่นับถือนิกายโปรเตสแตนส์ โรงเรียนนี้รับนักเรียนชายล้วน มีครูใหญ่เป็นคนไทย และสอนด้วยภาษาไทยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้ายาที่ตำบลสำเหร่ ชื่อว่า โรงเรียนสำเหร่บอยคริสเตียนไฮสกูล ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ตำบลสีลม เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” นับเป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกของไทย
                ส่วนโรงเรียนสตรีแห่งแรกในประเทศไทย คือ โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ตั้งโดยแหม่มเฮาส์ ใน พ.ศ.2417  ในต่างจังหวัด พวกมิชชันนารีได้ตั้งโรงเรียนขึ้นหลายแห่ง เช่น โรงเรียนปริ๊นส์รอแยลวิทยาลัย และดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนผดุงราษฎร์ จังหวัดพิษณุโลก โรงเรียนอรุณประดิษฐ์ จังหวัดเพชรบุรี
                การปฏิรูปการศึกษาสมัยรัชกาลที่ 5
                สาเหตุที่ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา คือ พระองค์ต้องการสร้างคนที่มีความรู้เพื่อเข้ารับราชการช่วยบริหารประเทศให้พัฒนามากขึ้น โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกคือ โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2414 ทรงพระราชทานเสื้อผ้า อาหารกลางวันทุกวัน ครูก็ได้ค่าจ้าง ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระตำหนักเดิมที่สวนกุหลาบ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพระบรมมหาราชวัง ให้ชื่อว่า โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โดยมีพระยาสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) หรือหลวงสารประเสริฐเป็นอาจารย์ใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในวัง มีฟรานซิส ยี แปตเตอร์สัน เป็นครู
                อีกสาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากการปลดปล่อยทาสให้เป็นไท พระองค์ทรงห่วงใยมาก เพื่อที่จะไม่ให้กลับมาเป็นทาสอีก จึงเป็นต้องให้คนเหล่านั้นได้รับการศึกษา เพื่อให้มีวิชาความรู้นำไปประกอบอาชีพได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้น ชื่อ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ใน พ.ศ.2427
                แบบเรียนที่ใช้ในโรงเรียนขณะนั้นมีทั้งหมด 6 เล่ม ซึ่งเรียบเรียงโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์และพิศาลกานต์ ต่อมาได้จัดตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2430 ภายหลังยกฐานะเป็นกระทรวงธรรมการ มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการศึกษา (สมัยรัชกาลที่ 6 เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการ) และให้ใช้หนังสือแบบเรียนเร็วของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพแทนแบบเรียนทั้ง 6 เล่ม ต่อได้มีการประกาศใช้โครงการศึกษาชาติ อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ตามแบบแผนของอังกฤษ และโปรดเกล้าฯ ให้มีการสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงขึ้น เรียกว่า “คิงสกอลาชิป” ตั้งแต่ พ.ศ.2440 เป็นประจำทุกๆ ปี ปีละ 2 คน ส่งไปศึกษายังทวีปยุโรปหรืออเมริกา
                การศึกษาแบบแผนใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการแบ่งการศึกษาออกเป็นสามัญศึกษาเกี่ยวกับการศึกษาทั่วไปและวิสามัญศึกษาเกี่ยวกับวิชาชีพโดยเฉพาะ โดยขยายไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กตามแบบอังกฤษแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียน “วชิราวุธวิทยาลัย”
                พ.ศ.2464 ได้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นใช้ กำหนดให้เด็กชาย-หญิงทั่วพระราชอาณาจักรที่มีอายุตั้งแต่ 7-14 ปี เข้าเรียนในโรงเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ทุกคนต้องจบชั้น ป.4 เมื่ออายุ 15 ปี ถ้าผู้ปกครองคนใดฝ่าฝืนจะมีโทษ (ครั้นถึง พ.ศ.2503 จึงได้มีขยายการศึกษาภาคบังคับออกเป็น 7 ปี และ 12 ปีในปัจจุบัน) สำหรับการศึกษาประชาบาลในแต่ละท้องถิ่น กำหนดได้โดยอาศัยทุนทรัพย์ของคนในท้องถิ่น ซึ่งเรียกว่า “เงินศึกษาพลี” และคนในท้องถิ่นเป็นผู้ตั้งโรงเรียนขึ้นเอง แต่อยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐบาล
                การตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รัชกาลที่ 6 ทรงยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเดิม ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษา ให้ชื่อว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย ใน พ.ศ.2459 เพื่อจะได้ผลิตผู้มีความรู้ความสามารถสูงสำหรับเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ โดยไม่ต้องจ้างชาวต่างประเทศด้วยค่าจ้างแพง บางคนทำงานไม่ค่อยได้ผล เพราะขาดความรู้ความเข้าใจ สภาพแวดล้อมและปัญหาที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่

สยามยุคปฎิรูปประเทศ รัชกาลที่ 4-6

4. การศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี
                การศาสนา รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดต่างๆ ได้แก่                       วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดปทุมวนาราม และวัดราชประดิษฐ์
                รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งสถานศึกษาสำหรับสงฆ์ คือ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย หรือมหาธาตุวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาฝ่ายมหานิกาย และมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งขึ้นใน พ.ศ.2436 เป็นสถานศึกษาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สำหรับวัดที่ทรงสร้างในสมัยนี้ ได้แก่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นต้น
                ขนบธรรมเนียมประเพณี การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเพณี วัฒนธรรมของชาติให้เป็นแบบอารยประเทศ ได้เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับกาลเวลาและเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรในเวลาเดียวกันด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มที่ราชสำนักก่อน แล้วจึงขยายไปสู่ระดับประชาชน แต่ผลกระทบของการรับประเพณีวัฒนธรรมแบบตะวันตกบางอย่างก็เห็นชัดเฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ตามหัวเมือง และในชนบทยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม
                นับแต่ต้นรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงประเพณีเดิมเป็นแบบตะวันตกหลายประการ คือ มีประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า ให้ชาวตะวันตกที่อยู่ในกรุงเทพฯ เข้าเฝ้าขณะเสด็จออกมหาสมาคมพร้อมกับข้าราชการไทยเป็นครั้งแรก ให้ชาวต่างประเทศถวายคำนับและนั่งเก้าอี้เวลาเข้าเฝ้าได้ ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการนับถือศาสนาและการประกอบอาชีพ ในด้านสิทธิเสรีภาพของสตรีรัชกาลที่ 4 ทรงพยายามยกฐานะของสตรีให้ดีขึ้น สำหรับข้าราชการฝ่ายในที่ไม่สมัครใจจะอยู่ในวังต่อไป ก็ทรงอนุญาตให้ลาออกจากราชการได้ ทรงริเริ่มให้สตรีในราชสำนักได้มีโอกาสเล่าเรียนวิชาภาษาอังกฤษจากสตรีในคณะมิชชันนารีอเมริกัน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดทางการศึกษาของสตรีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากนี้ยังทรงเริ่มใช้ชาวต่างประเทศเป็นข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ เพื่อปรับปรุงประเทศเป็นแบบตะวันตกด้วย
                ประเพณี วัฒนธรรมของไทยได้มีการแก้ไขปรับปรุงครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเสด็จประพาสต่างประเทศทั้งในเอเชียและยุโรป คือให้ผู้ชายไทยในราชสำนักเลิกไว้ผมทรงมหาดไทยเปลี่ยนเป็นไว้ผมยาวทั้งศีรษะอย่างฝรั่ง ส่วนผู้หญิงให้เลิกไว้ผมปีก ให้ไว้ผมตัดยาวทรงดอกกระทุ่ม ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างออกแบบตัดแปลงจากเสื้อนอกของฝรั่งเรียกว่า “เสื้อราชประแตน” และสวมหมวกอย่างยุโรป ให้ข้าราชการทหารแต่งเครื่องแบบ นุ่งกางเกงอย่างทหารยุโรป แทนการนุ่งโจงกระเบนแบบเก่า 
                รัชกาลที่ 5 ทรงแก้ไขประเพณีการสืบราชสันตติวงศ์ ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลใน พ.ศ.2429 โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งตำแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” ตาแบบประเทศตะวันตก ที่เรียกองค์รัชทายาทว่า “Crown Prince” 
                รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกประเพณีวัฒนธรรมที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน ที่สำคัญคือ เลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าและให้ยืนเข้าเฝ้าแทน ยกเลิกการโกนผมเมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต คงให้มีการไว้ทุกข์เพียงอย่างเดียว เปลี่ยนวิธีการไต่สวนของตุลาการแบบเก่า ยกเลิกจารีตนครบาล เพราะเป็นวิธีลงโทษที่ชาวตะวันตกรังเกียจทารุณไร้อารยธรรม พระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่ 5 ในการเปลี่ยนแปลงประเพณีและวัฒนธรรมของไทยให้เป็นไปตามคตินิยมตะวันตก คือ การเลิกทาสและเลิกระบบไพร่ อันเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ประชาราษฎรโดยตรง
                ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัตินามสกุล          พ.ศ.2455 ให้ใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นศักราชทางราชการ พ.ศ.2456 แทนการใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เพราะเป็นศักราชทางศาสนาที่ชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับประเทศตะวันตกที่ใช้ศักราชของศาสนาที่ชนส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศักราช (ค.ศ.) และเปลี่ยนแปลงการนับเวลาทางราชการเสียใหม่ให้สอดคล้องกับสากลนิยม โดยถือเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นเวลาเปลี่ยนวันใหม่ กำหนดคำนำหน้าสตรีที่ยังเป็นโสดว่า “นางสาง” ผู้ที่มีสามีแล้ว ใช้คำว่า “นาง” และกำหนดคำนำหน้านามเด็กว่า “เด็กชาย” และ “เด็กหญิง” ขึ้นด้วย 
                นอกจากนี้เมื่อไทยส่งกองทหารอาสาไปสมทบกับกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรป พ.ศ. 2460 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯให้ประดิษฐ์ธงชาติขึ้นใหม่ใช้ 3 สี คือ สีน้ำเงิน สีขาว และสีแดง ตามแบบสีธงชาติของอารยประเทศส่วนใหญ่ใช้กันอยู่ และพระราทานนามธงชาติแบบสามสีห้าริ้วที่ประกาศใช้ขึ้นใหม่ว่า “ธงไตรรงค์” ซึ่งยังคงใช้เป็นประจำชาติมาจนทุกวันนี้ 
                พ.ศ.2461 โปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ตามแบบประเทศยุโรปที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  วางลำดับผู้ที่จะทรงได้ราชสมบัติไว้โดยละเอียด
                ในด้านการแต่งกาย การเปลี่ยนแปลงการแต่งกายแบบตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นไปเฉพาะราชสำนักและในหมู่ข้าราชการชั้นสูงเท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ 7 สตรีไทยหันไปแต่งกายแบบตะวันตกมากขึ้น นิยมนุ่งซิ่นแค่เข่า สวมเสื้อทรงกระบอกตัวยาวแขนสั้น ไว้ผมบ๊อบ ส่วนการแต่งกายของชายที่เป็นข้าราชการพลเรือนยังคงนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน สวมเสื้อราชปะแตน รองเท้า สวมหมวกสักหลาดมีปีก หรือหมวกกะโล่

สยามยุคปฎิรูปประเทศ รัชกาลที่ 4-6

5. วรรณกรรรมและศิลปกรรรม
                1. วรรณกรรม
                        1.1 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นทั้งกวี มีความสามารถในด้านศาสนา โบราณคดี โหราศาสตร์ และภาษาอังกฤษ   กวีและวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4 มีดังนี้
                                1) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ประกาศและพระบรมราชาธิบายต่างๆ
                                2) หม่อมราโชทัย ได้แก่ จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย นิราลอนลอน
                        1.2 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยนี้มีการปรับปรุงบ้านเมืองหลายอย่างที่ช่วยสนับสนุนให้งานวรรณกรรมก้าวหน้า คือ การตั้งโรงเรียน การพิมพ์หนังสือ การตั้งหอสมุดแห่งชาติและเกิดโบราณคดีสโมสรที่ช่วยส่งเสริมงานด้านการประพันธ์ การศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี ประกอบกับได้รับอารยธรรมตะวันตกเผยแพร่เข้ามาอีกด้วย
                        กวีและวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 มีดังนี้
                                1) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ไกลบ้าน พระราชวิจารณ์ทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ลิลิตนิทราชาคริต บทละครเรื่องเงาะป่า กวีนิพนธ์เบ็ดเตล็ด
                                2) พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แก่ แบบเรียนภาษาไทย 6 เล่ม
                        1.3 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นระยะที่วรรณกรรมได้รับอิทธิพลของตะวันตกมากที่สุด วรรณกรรมทั้งร้อยแก้วและร้องกรองเจริญถึงขีดสุด ทรงพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์และพระราชทานเสรีภาพในการประพันธ์อย่างกว้างขวาง และยังทรงตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้น เพื่อส่งเสริมการแต่งหนังสือไทยให้ดีขึ้น
                        กวีและวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 6 มีดังนี้
                                1) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วรรณกรรมที่ทรงพระราชนิพนธ์ ได้แก่ 
                                    ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เช่น เที่ยวเมืองพระร่วง สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์ เที่ยวเมืองไอยคุปต์ นารายณ์สิบปาง ตำนานชาติฮั่น  
                                    บทละคร มีอยู่หลายเรื่อง เช่น หัวใจนักรบ มัทนะพาธา พระร่วง วิวาห์ พระสมุทร ความเสียสละ เวนิสวานิช ตามใจท่าน เห็นแก่ลูก ท้าวแสนปม ศกุนตลา ฯลฯ  
                                    ปาฐกถาและบทความ เช่น เทศนาเสือป่า ปลุกใจเสือป่า ยิวแห่งบูรพาทิศ โคลนติดล้อ   
                                    ร้อยกรอง เช่น พระนลคำหลวง ลิลิตพายัพ นิราศพระมะเหลเถไถ กาพย์เห่เรือ มงคลสูตรคำฉันท์
                                    สารคดี เช่น บ่อเกิดรายเกียรติ์
                                2) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ทรงนิพนธ์หลายเรื่อง เช่น ไทยรับพม่า นิราศนครวัด เที่ยวเมืองพม่า นิทานโบราณคดี เสด็จประพาสต้น จดหมายเหตุ เป็นต้น
                                3) กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เรื่องเด่นๆ ที่นิพนธ์ เช่น จดหมายจางวางหร่ำ ตลาดเงินตรา นิทานเวตาล พระนางฮองไทเฮา กนกนคร พระนลคำฉันท์ เป็นต้น
                                4) พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) ได้แก่ ตำราไวยากรณ์ อักขรวิธี วจีวิภาค วายกสัมพันธ์ ฉันทลักษณ์ สงครามภารตะคำกลอน รำพึงในป่าช้า
                            หลังรัชกาลที่ 6 วรรณประเภทร้อยแก้วเจริญขึ้นมาก เช่น นวนิกาย เรื่องสั้น บทความและสารคดี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากยุโรป มีการแปลวรรณคดีและเรียบเรียงวรรณคดีของต่างประเทศหลายเรื่อง เช่น สาวเครือฟ้า ละครเรื่องเจ้าหญิงแสนหวี ของหลวงวิจิตรวาทการ สี่แผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้น
                2. ศิลปกรรม
                        2.1 สมัยรัชกาลที่ 4
                                1) ด้านสถาปัตยกรรม เริ่มนิยมตามแบบตะวันตก เช่น พระราชวังสราญรมย์ สถาปัตยกรรมแบบไทย เช่น ปราสาทพระเทพบิดร เจดีย์สำคัญ เช่น พระปฐมเจดีย์ พระมหาเจดีย์ในวัดพระเชตุพนฯ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) พระสมุทรเจดีย์ เป็นต้น
                                2) ด้านจิตรกรรม เช่น ภาพเขียนฝาผนังในพระอุโบสถและวิหารวัดบวรนิเวศวิหาร ภาพเหมือนพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝีมือขรัวอินโข่ง
                        2.2 สมัยรัชกาลที่ 5
                                1) ด้านสถาปัตยกรรม ได้รับอิทธิพลของตะวันตกมากขึ้น เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งอนันตสมาคม พระรามราชนิเวศน์ จังหวัดเพชรบุรี ศาลว่าการกระทรวงกลาโหม วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
                                สถาปัตยกรรมแบบไทย เช่น วัดเบญจมบพิตรฯ วัดราชบพิตร วัดเทพศิรินทราวาส พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระราชวังบางประอิน อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
                                2) ด้านประติมากรรม เช่น พระพุทธชิราชจำลอง พระสัมพุทธพรรณี พระบรมรูป เช่น พระบรมรูปหล่อพระมหากษัตริย์ 4 รัชกาล ในปราสาทพระเทพบิดร พระบรมรูปทรงม้า
                                3) ด้านนาฏกรรม เกิดละครแบบใหม่ เช่น ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ ละครร้อง ละครพูด
                                4) ด้านจิตรกรรม เช่น ภาพเขียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ในอุโบสถวัดราชาธิวาส
                        2.3 สมัยรัชกาลที่ 6
                                1) ด้านสถาปัตยกรรมสร้างตามแบบไทย เช่น หอประชุมโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนุสาวรีย์ทหารอาสา
                                สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เช่น พระราชวังสนามจันทร์ พระราชวังพญาไท (ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า)
                                2) ด้านจิตรกรรม เช่น ภาพเขียนผนังวิหารทิศที่พระปฐมเจดีย์ ภาพเขียนที่ผังพระที่นั่งอนันตสมาคม
                                3) ด้านประติมากรรม เช่น พระแก้วมรกตน้อย พระนิพพาน แม่พระธรณีบีบมวยผม รูปปั้นหล่อด้วยปูนและโลหะ บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอัมพรสถาน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
                                4) ด้านนาฏกรรม ในสมัยนี้ศิลปะด้านโขนและละครและดนตรีเจริญที่สุด มีการตั้งโรงเรียนหลวงสอนด้านนาฏศิลป์ ตั้งคณะละคร สร้างโรงละคร ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูด ฝึกหัดประชาชนทั่วไปให้เล่นโขน มีทั้งโขนสมัครเล่น โขนบรรดาศักดิ์และโขนเชลยศักดิ์

สยามยุคปฎิรูปประเทศ รัชกาลที่ 4-6

6. การต่างประเทศ 
                    นโยบายต่างประเทศในสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีดังนี้
                    1. นโยบายต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เริ่มมีสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจตะวันตกอย่างกว้างขวาง มีการวางนโยบายแผนใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและรับสถานการณ์ต่างๆ ของโลกภายนอก ที่มีผลกระทบกระเทือนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อประเทศไทย นโยบายต่างประเทศของไทยแต่ละรัชกาลพอจะสรุปได้ ดังนี้
                            1.1 นโยบายต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 4 สมัยนี้เป็นสมัยของการเริ่มต้นเปิดประเทศครั้งใหญ่ของไทย รัฐบาลถูกบีบบังคับให้ทำสนธิสัญญาที่ผูกมัดเอารัดเอาเปรียบและไม่ธรรม แต่เพื่อความปลอดภัยและเอกราชของชาติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ใช้นโยบาย “ผ่อนสั้นผ่อนยาว” ขึ้นเป็นพระองค์แรก ซึ่งทำให้ไทยรอพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นและเป็นเอกราช มาจนปัจจุบัน และยังเป็นแนวทางให้รัฐบาลสมัยต่อๆ มาได้ดำเนินนโยบายตามอีกด้วย
                            1.2 นโยบายต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 ได้สร้างสัมพันธไมตรีอันดีต่อนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก โดยส่งเอกอัครราชทูตไปประจำประเทศต่างๆ เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และการส่งเอกอัครราชทูตไปประจำยังต่างประเทศนี้ก็ได้ปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน ผลจากการมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อนานานประเทศนี้ ทำให้ความตึงเครียดทางด้านการเมืองของไทยกับต่างประเทศดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ประเทศรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจบางประเทศ ซึ่งผิดกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบที่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจต่างๆ จนหมดสิ้น และยังเป็นแนวทางนำไปสู่การแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
                2. การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศตะวันตก
                        2.1 อังกฤษ พ.ศ.2398 สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย พระราชินีนาถของประเทศอังกฤษ ได้แต่งตั้งให้ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม อัญเชิญพระราชสาสน์มาขอเจราจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีกับไทย ซึ่งไทยก็ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ   
                        สนธิสัญญาที่ไทยทำกับอังกฤษในครั้งนี้ เรียกว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ทำเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2398 ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
                                1) อังกฤษขอตั้งศาลกงสุลในไทย เพื่อคอยดูแลผลประโยชน์ของคนอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษ ถ้าเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกับคนไทย หรือกระทำความผิด ให้คนเหล่านี้ขึ้นศาลกงสุลอังกฤษเท่านั้น
                                2) คนอังกฤษมีสิทธิเช่าที่ดินในไทยได้ แต่ถ้าจะซื้อที่ดินต้องอยู่ในเมืองมาแล้ว 10 ปี ขึ้นไป
                                3) อังกฤษมีสิทธิสร้างวัดและเผยแผ่ศาสนาคริสต์ได้อย่างเสรี
                                4) ให้ไทยยกเลิกการเก็บภาษีปากเรือ ให้เก็บแต่เพียงภาษีขาเข้าได้ไม่เกินร้อยละ 3 ส่วนภาษีขาออกให้เสียเพียงครั้งเดียว
                                5) เปิดโอกาสให้พ่อค้าอังกฤษกับราษฎรไทยค้าขายกันอย่างเสรี
                                6) สินค้าต้องห้าม มี 3 อย่าง คือ ข้าว ปลา เกลือ และอังกฤษสามารถนำฝิ่นเข้ามาขายให้แก่เจ้าภาษีโดยไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเจ้าภาษีไม่ซื้อให้นำกลับออกไป ถ้าลักลอบขายจะถูกริบฝิ่น
                                7) ถ้าไทยทำสนธิสัญญานี้กับชาติอื่น โดยยกประโยชน์ให้ชาตินั้นๆ นอกเหนือจากที่ทำกับอังกฤษในครั้งนี้ ก็ต้องทำให้อังกฤษด้วย
                                8) สนธิสัญญานี้จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ ไม่ได้ นอกเหนือจากเวลาล่วงไปแล้ว 10 ปี หลังจากนั้นจะทำการแก้ไขต้องตกลงยินยอมด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย และต้องบอกล่วงหน้า 1 ปี  
                     ในการทำสนธิสัญญาครั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมากมาย เป็นการบีบบังคับโดยที่ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ข้อเสียเปรียบที่ไทยได้รับ มีดังต่อไปนี้
                            1. ทำให้ไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่คนอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษ (คนในบังคับอังกฤษ หมายถึง คนอังกฤษ คนในชาติที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และยังหมายถึงคนเอเชียที่มาขอจดทะเบียนเป็นคนในบังคับของอังกฤษโดยที่ประเทศตนไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษก็ตาม)
                            2. อังกฤษเป็นชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง ในการมีสิทธิ์พิเศษอื่นๆ นอกเหนือจากสนธิสัญญาที่ไทยทำกับอังกฤษ ถ้าไทยทำการตกลงกับชาติอื่นๆ
                            3. สนธิสัญญานี้อังกฤษเป็นฝ่ายได้เปรียบ จึงไม่ยอมทำการแก้ไข
                    แต่สนธิสัญญานี้ก็ยังพอมี ผลดีอยู่บ้าง คือ
                            1. ทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
                            2. การค้าขายขยายตัวมากขึ้น ทำให้ฐานะของประชาชนดีขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศก็พลอยดีขึ้นตามไปด้วย
                            3. ทำให้อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย และสามารถนำมาปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น
                    2.2 ประเทศอื่นๆ หลังจากไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษแล้ว ได้มีชาติอื่นๆ เข้ามาเจรจาขอทำสนธิสัญญาตามแบบอย่างอังกฤษหลายชาติ ตามลำดับดังต่อไปนี้
                            1) พ.ศ.2399 ประธานาธิบดี แฟรงคลิน เพียส แห่งสหรัฐอเมริกา ส่งนายเทาน์เซนต์ แฮริส เป็นทูตมาขอแก้ไขสัญญากันไทย และในปีเดียวกันนี้เอง พระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศสได้ส่ง นายมองตินยี ราชทูตเข้ามาทำสัญญากับไทย
                            2) พ.ศ.2401 ทำสนธิสัญญากับโปรตุเกสและเดนมาร์ก
                            3) พ.ศ.2403 ทำสนธิสัญญากับเนเธอร์แลนด์
                            4) พ.ศ.2404 ทำสนธิสัญญากับปรัสเซีย
                            5) พ.ศ.2411 ทำสนธิสัญญากับนอร์เว สวีเดน เบลเยี่ยม อิตาลี
                            6) พ.ศ. 2412 ทำปฏิญญาว่าด้วยการค้าและการเดินเรือกับรุสเซีย
                3. การส่งราชทูตไปยุโรป สมัยรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ.2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) และหม่อมราโชทัย อัญเชิญพระราชสาสน์ไปถวายสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียที่ประเทศอังกฤษ
                    พ.ศ. 2404 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) เป็นอัครราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส
                    พ.ศ. 2410 ทรงแต่งตั้ง เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เป็นอัครราชทูตไทยประจำยุโรปคนแรก โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสยามานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการทำสนธิสัญญากับประเทศต่างๆ เช่น นอร์เว  สวีเดน เบลเยียม และอิตาลี

7. อิทธิพลของอายธรรมตะวันตกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของไทยในด้านต่างๆ
                    1. จากการที่ไทยยอมเปิดประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยยอมทำสนธิสัญญาทางการทูตและการค้ากับประเทศตะวันตก ทำให้เกิดผลต่อประเทศ คือ
                            1.1 ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะเกิดตามมาได้โดยปลอดภัย โดยเฉพาะครั้งที่ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เดินทางเข้ามาขอทำสนธิสัญญากับไทย ถ้าไทยไม่ยอมหรือขัดขืนต่อข้อเรียกร้องของอังกฤษ อังกฤษก็จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด ดังเช่นที่เคยทำกับจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียมาแล้ว
                            1.2 จากข้อตกลงที่ทำกันทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนใหญ่ไทยมักเสียเปรียบ ประเทศที่ทำสัญญากับไทยจึงมีความเห็นอกเห็นใจ และยอมผ่อนผันข้อตกลงบางประการให้ไทยบ้าง ทำให้ไทยเสียผลประโยชน์น้อยกว่าที่คิดไว้
                            1.3 ไทยสามารถนำเอาอารยธรรมและวิชาการความรู้สมัยใหม่ที่ได้รับจากชาติตะวันตก มาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เช่น ด้านการศึกษา ด้านการทหาร ยกเลิกประเพณีเก่าแก่ล้าสมัย ยอมรับความคิดแบบใหม่ ยกเลิกความเชื่อเก่าๆ ที่ไร้เหตุผล ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่เล็งเห็นการณ์ไกล
                            1.4 จาการทำสนธิสัญญาทางด้านการค้าขายกับต่างประเทศ และการเปิดประเทศของไทยนี้ ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนยกระดับสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างเห็นได้ชัด
                    แต่สนธิสัญญานี้ไทยก็ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างมากมาย ไทยถูกผูกมัดและจำกัดอำนาจอธิปไตยหลายอย่าง ข้อเสียเปรียบต่างๆ มีดังนี้
                        1) ไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เมื่อคนต่างชาติหรือคนในบังคับต่างชาติกระทำผิดต้องนำขึ้นศาลกงสุลต่างชาติ ซึ่งทำให้ไทยเสียเปรียบในเรื่องอำนาจทางการศาล และสร้างความเดือดร้อนยุ่งยากในการปกครองเป็นอย่างมาก
                        2) ไทยถูกจำกัดการเก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 ถ้าสินค้านั้นขายไม่ได้ถูกส่งกลับ ไทยต้องคืนค่าภาษีให้ด้วย ทำให้รายได้ของประเทศน้อยลงกว่าเดิม
                        3) สนธิสัญญาที่ทำกับนานาประเทศไม่มีกำหนดเวลา ต้องใช้ตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีวิธีที่จะยกเลิกได้เลย นอกจากขอแก้ไข ซึ่งก็เป็นการลำบากมาก เพราะต้องได้รับการยินยอมจากทั้ง 2 ฝ่าย
                        4) หลังจากไทยทำสนธิสัญญากับต่างประเทศแล้ว ทำให้ต้องเลิกการค้าระบบผูกขาด ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียประโยชน์ส่วนนี้ไป
                2. สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มแต่งตั้งเอกอัครราชทูตไปประจำยังต่างประเทศเป็นครั้งแรก เอกอัครราชทูตไทยคนแรก คือ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์ ประจำที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ต่อมาได้ส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และญี่ปุ่น ยอกจากนี้ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่ทรงเสด็จประพาสต่างประเทศ ซึ่งการเสด็จประพาสต่างประเทศนี้ก็ได้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติมากมาย คือ
                        2.1 ทำให้ไทยได้รับการถ่ายทอดขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของประเทศตะวันตกมาดัดแปลงและปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทยมากขึ้น เช่น เปลี่ยนการแต่งกายเป็นแบบสากลนิยมไว้ทรงผมแบบฝรั่ง ฯลฯ
                        2.2 ได้ทรงนำเอาแบบฉบับการปกครองที่เหมาะสมมาใช้กับประเทศไทย เช่น การตั้งกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ การศึกษา การทหาร การศาล การสื่อสาร การคมนาคม การสุขาภิบาล ฯลฯ
                        2.3 ทำให้ความตึงเครียดทางด้านการเมืองระหว่างประเทศลดน้อยลง เช่น ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
                        2.4 การที่พระองค์ทรงมีสัมพันธ์ส่วนพระองค์กับประมุขของประเทศมหาอำนาจ เช่น เยอรมนี สหภาพโซเวียต ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ได้
                        2.5 สัมพันธไมตรีอันดีที่มีต่อกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ เป็นผลดีที่ทำให้ไทยเรียกร้องขอแก้ไขสัญญา และยกเลิกสิทธิสภาพนอาณาเขตได้ในเวลาต่อมา
                        2.6 เป็นการประกาศความเป็นเอกราชของไทย และเผยแพร่เกียรติคุณของประเทศให้แก่ประเทศต่างๆ ได้รู้จัก
                        2.7 เกิดบทพระราชนิพนธ์เนื่องจากการเสด็จประพาสต่างประเทศที่สำคัญ ๆ หลายเรื่อง เช่น ไกลบ้าน พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ ที่ทรงพระราชทานแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ฯลฯ
                    ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 ทั่วโลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญ คือ การเกิดวิกฤตการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งไทยก็มีส่วนเข้าร่วมด้วย และในระหว่างสงครามนี้ไทยได้เปลี่ยนธงชาติมาใช้ธงไตรรงค์ แทนธงช้างและใช้สืบต่อมาจนทุกวันนี้

สยามยุคปฎิรูปประเทศ รัชกาลที่ 4-6

8. การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 6 
                    สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสงครามครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งและครั้งแรกของโลกที่ทำลายชีวิตมนุษย์ ทรัพย์สิน ทรัพยากรธรรมชาติ และจิตใจของผู้คนไปมากมาย
                    1. ประเทศที่เข้าร่วมสงคราม แบ่งออกเป็นสองฝ่าย
                            1.1 ฝ่ายพันธมิตรสามเส้า หรือมหาอำนาจกลาง ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และตุรกี
                            1.2 ฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและไทย   ในตอนแรกไทยรักษาความเป็นกลางอย่างมั่นคง แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัว ทรงให้ความสนใจและติดตามข่าวการสงครามอย่างใกล้ชิด พระองค์ทรงเล็งเห็นการณ์ไกลในการให้ประเทศไทยประกาศตัวเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพราะถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ จะมีผลดีในการที่ประเทศไทยจะเรียกร้องสิทธิต่างๆ เช่น ขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ทำไว้กับนานาประเทศ จึงได้ประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 โดยประกาศกระแสพระบรมราชโองการประณามว่า “เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เป็นฝ่ายละเมิดเมตตาธรรมของมวลมนุษย์ มิได้มีความนับถือต่อประเทศเล็ก ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นผู้ก่อกวนความสุขของโลก” ซึ่งเหตุการณ์ก็เป็นดังที่พระองค์ทรงคาดไว้ คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ
                    การตัดสินพระทัยของพระองค์ในครั้งนั้น ปรากฏว่าได้รับการคัดค้านจากประชาชนทั่วไป เนื่องจากในสมัยนั้นมีคนไทยไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีเป็นจำนวนมาก จึงนิยมและเคารพเยอรมนีเป็นเสมือนครูบาอาจารย์ และเยอรมนีไม่เคยสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้คนไทยมาก่อนเลย และในการรบระยะแรก เยอรมนีเป็นฝ่ายได้ชัยชนะมาตลอด ไม่น่าไปได้ว่าเยอรมนีจะเป็นฝ่ายแพ้สงครามในที่สุด ยุทธภูมิในการรบครั้งนี้ก็ไกลมาก ส่วนใหญ่เกิดในทวีปยุโรป ประชาชนโดยทั่วไปมีความเห็นว่า เมืองไทยไม่น่ามีส่วนเกี่ยวพันด้วย ทั้งเมืองไทยก็ยังเป็นประเทศเล็กๆ ควรอยู่อย่างสงบดีกว่า
                    หลังจากที่ไทยประกาศสงครามกับเยอรมนีแล้ว ไทยก็เริ่มทำการจับเชลยที่เป็นชาวเยอรมนีและออสเตรีย เพื่อป้องกันการก่อการไม่สงบ ยึดเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ เรือบรรทุก เรือลำเลียง จับลูกเรือเป็นเชลย และริบทรัพย์เชลยเหล่านี้เสีย ต่อมาไทยได้ส่งกองทหารอาสาเข้าร่วมในสมรภูมิยุโรปด้วย
                    การส่งทหารไปร่วมรบในครั้งนี้มีผู้มาสมัครเป็นทหารอาสามากมาย ไทยได้จัดส่งทหารไปเป็น 2 กอง คือ กองบินทหารบกประมาณ 400 คนเศษ และกองทหารบกรถยนต์ประมาณ 850 คน เดินทางไปถึงเมืองท่ามาร์แชล ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 ซึ่งนับเป็นหน่วยทหารไทยกองแรกในประวัติศาสตร์ที่ยาตราทัพเป็นระยะทางไกลที่สุดถึงทวีปยุโรป
                    กองทัพไทยถูกส่งประจำการแนวหน้าทันที ทำหน้าที่ลำเลียงกำลังให้แก่กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเข้มแข็งและกล้าหาญ ทั้งกลางวันและกลางคืนท่ามกลางหิมะ สามารถยึดดินแดนของเยอรมนีทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์มาได้ ร่วมกับกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตร รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้ให้ตรา “ครัวซ์เดอแกร์” มาประดับธงชัยเฉลิมพล เพื่อเป็นเกียรติแก่กองทหารรถยนต์ไทย กับได้ให้ตรานี้แก่ทหารไทย 2 นายที่ได้ตรวจทางกระสุนปืนของข้าศึกด้วยความกล้าหาญ สำหรับกองบินทหารบกนั้นไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมในสมรภูมิครั้งนี้ เพราะสงครามได้ยุติลงเสียก่อน
                    จากการเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ไทยได้สร้าง “อนุสาวรีย์ทหารอาสา” และ “วงเวียน 22 กรกฎา” ไว้เป็นอนุสรณ์ที่ระลึกไว้ด้วย

สยามยุคปฎิรูปประเทศ รัชกาลที่ 4-6


                    2. ผลที่ไทยได้รับจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 มีดังนี้
                            2.1 ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรป
                            2.2 ทำให้ได้รับการยกย่องว่ามีฐานะและสิทธิเท่าเทียมกับอารยประเทศ
                            2.3 ทำให้ไทยมีโอกาสเรียกน้องขอแก้สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมได้สำเร็จ โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งยอมยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับไทยเป็นประเทศแรก
                            2.4 จากประสบการณ์ในการสงคราม ทำให้ไทยสามารถนำมาปรับปรุงวิชาการทหารให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น
                            2.5 ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2460 เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ได้ยกเลิกสนธิสัญญาที่ทำไว้กับประเทศไทยและอำนาจศาลกงสุล
                            2.6.ไทยได้ผลประโยชน์จากการยึดทรัพย์สินและห้างร้านของเชลย
                            2.7. ไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ริเริ่มในองค์การสันนิบาตชาติ


9.  การเสียดินแดนในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 

สยามยุคปฎิรูปประเทศ รัชกาลที่ 4-6

                    ในช่วง พ.ศ.2394-2453 การล่าอาณานิคมของประเทศต่างๆ ในยุโรป ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในทวีปเอเชีย ประเทศต่างๆ ในเอเชียจึงต้องตกเป็นอาณานิคมแก่ประเทศในยุโรปหลายประเทศด้วยกัน
                    ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ถูกอิทธิพลจากการล่าอาณานิคมครอบคลุมมาถึงจนกระทั่งทำให้ต้องเสียดินแดนบางส่วนไป แต่ก็ยังรักษาเอกราชของชาติไว้ ดินแดนทั้งหมดที่ไทยต้องเสียไป มีดังนี้
                    1. การเสียดินแดนในเขมรหรือเขมรส่วนนอก พ.ศ.2410 (ร.ศ.86) ฝรั่งเศสคิดว่าแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านดินแดนของประเทศเขมร สามารถนำฝรั่งเศสเข้าไปสู่แคว้นยูนานของประเทศจีนได้ ซึ่งฝรั่งเศสจะใช้เป็นที่ระบายสินค้าที่สำคัญ
                    ขณะนั้นเขมรตกเป็นประเทศราชของไทย ฝรั่งเศสกับไทยจึงเกิดเรื่องบาดหมางใจกันขึ้น โดยฝรั่งเศสอ้างว่า ญวนได้ตกเป็นของฝรั่งเศสและดินแดนต่อจากญวนลงไป โดยที่เขมรยินยอมทำสนธิสัญญาลับยอมอยู่ภายใต้อำนาจของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2406 แต่ถึงกระนั้นสมเด็จพระนโรดมแห่งเขมรได้ทรงมีหนังสือรายงานกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าพระองค์ทรงถูกบีบบังคับให้ลงนาม แต่ยังมีความจงรักภักดีต่อไทยเสมอ
                    ต่อมาในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2410 ไทยจึงจำต้องยอมลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศสรับรองอย่างเป็นทางการว่าเขมรเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส โดยไทยจะไม่เรียกร้องให้เขมรส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่ไทยดังแต่ก่อน ส่วนดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ (เขมรส่วนใน) ก็ยังอยู่ภายใต้การปกครองของไทยตามเดิม
                    2. การเสียแคว้นสิบสองเจ้าไทย พ.ศ.2431 (ร.ศ. 107) ฝรั่งเศสขอทำสนธิสัญญากับไทย เพื่อตั้งสถานกงสุลที่หลวงพระบาง พ.ศ.2431 โดยให้ นายออกุสต์ ปาวี (Monsieur August Pavie) เป็นกงสุลประจำ ต่อมาพวกฮ่อเข้าปล้นเขตแดนไทยจนถึงหลวงพระบาง ไทยจึงรีบยกทัพไปปราบ ปรากฏว่าสามารถขับไล่พวกฮ่อออกจากเขตแดนไทยได้ทั้งหมด แต่ฝรั่งเศสยังคงยึดแคว้นสิบสองเจ้าไทย และหัวพันทั้งห้าทั้งหกไว้ไม่ยอมยกทัพกลับไป โดยอ้างว่าจะคอยปราบปรามพวกฮ่อ
                    3. การเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) ฝรั่งเศสต้องการให้ลาวหรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตกเป็นเมืองขึ้นของตน จึงใช้ข้ออ้างว่าญวนและเขมรเคยมีอำนาจเหนือลาวมาก่อน เมื่อญวนกับเขมรเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสดินแดนต่างๆ เหล่านี้ก็ควรตกเป็นของฝรั่งเศสด้วยใน พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) ฝรั่งเศสจึงส่งกองทัพเรือมาตามลุ่มแม่น้ำโขงและส่งเรือรบ 2 ลำ มาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทหารได้ทำการยิงต่อสู้ไม่สำเร็จ มีคนได้รับบาดเจ็บและเรือเสียหายมาก นายปาวีซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้ยื่นคำขาดที่จะปิดน่านน้ำไทย ถ้าไทยไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส และปิดอ่าวไทยทันที่ รัฐบาลไทยจึงต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสทุกประการ เพื่อเอกราชและอธิปไตยของชาติ วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 นี้นับว่าไทยสูญเสียดินแดนครั้งสำคัญและมากที่สุด โดยต้องยอมยกอาณาจักรลาวเกือบทั้งหมดให้กับฝรั่งเศส
                    4. การเสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง พ.ศ.2446 (ร.ศ. 122) จากวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ทำให้ฝรั่งเศสยึดดินแดนจันทบุรี ซึ่งนับว่าเป็นเมืองยุทธศาสตร์เมืองหนึ่งของไทย ไว้เป็นประกันถึง 10 ปี ไทยจึงหาทางแลกเปลี่ยนโดยยอมยกเมืองมโนไพรและจำปาศักดิ์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองปากเซ และดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองหลวงพระบางให้ใน พ.ศ.2448 ฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหารออกจันทบุรี แต่กลับไปยึดเมืองตราดไว้แทน
                    5. การเสียดินแดนมณฑลบูรพา พ.ศ.2449 (ร.ศ. 125) ไทยยอมทำสัญญายกมณฑลบูรพา ซึ่งประกอบด้วยเมือง พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ (เขมรส่วนใน) ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกเปลี่ยนกับจังหวัดตราดและเกาะต่างๆ ที่อยู่ใต้แหลมสิงห์ ลงไปจนถึงเกาะกูดที่ฝรั่งเศสยึดไว้
                    สิ่งสำคัญที่ไทยได้รับจากการลงนามในสัญญานี้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 คือ ฝรั่งเศสย่อมผ่อนผันให้คนในบังคับฝรั่งเศสที่เป็นชาวเอเชีย ซึ่งมาจดทะเบียนภายหลังวันลงนามในสัญญาให้ขึ้นอยู่ในอำนาจของศาลไทย แต่ศาลกงสุลของฝรั่งเศสก็ยังคงมีอำนาจที่จะเรียกคดีจากศาลไทยไปพิจารณาใหม่ได้ จนกว่าไทยจะประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้ว
                    6. อนุสัญญาลับไทยกทำกับอังกฤษ พ.ศ.2440 วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2440 รัฐบาลได้ลงนามในอนุสัญญาลับร่วมกับอังกฤษ โดยตกลงว่ารัฐบาลไทยจะไม่ยินยอมให้ชาติหนึ่งชาติใด เช่าซื้อหรือถือกรรมสิทธิ์ในดินแดนไทย ตั้งแต่บริเวณใต้ตำบลบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนอังกฤษตกลงให้ความคุ้มครองทางทหารแก่ไทยกรณีที่ถูกชาติอื่นรุกราน
                    ผลของอนุสัญญาฉบับนี้ ทำให้อังกฤษมีอิทธิพลทางด้านการเมืองและการค้าในดินแดนไทย ตั้งแต่ตำบลบางสะพานไปจนตลอดแหลมมลายู เพียงชาติเดียว ทำให้ไทยเสียเปรียบมาก และเมื่อไทยถูกฝรั่งเศสบังคับให้ยกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส อังกฤษก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด และอนุสัญญานี้ยังเป็นการละเมิดสิทธิประเทศอื่นๆ ที่มีไมตรีกับไทยอีก ทำให้รัฐบาลต้องพยายามหาวิถีทางจะยกเลิกเสียโดยเร็ว
                    7. การเสียรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิสให้อังกฤษ ร.ศ. 128 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ.2452 นายเอ็ดเวิร์ด สโตรเบล ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชาแผ่นดินชาวอเมริกาเสนอให้ไทยแลกดินแดนมลายูกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ของคนในประเทศอังกฤษในประเทศไทย ขอกู้เงินสร้างทางรถไฟสายใต้ และยกเลิกอนุสัญญาลับปี พ.ศ.2440 การดำเนินงานนี้ประสบผลสำเร็จ มีการลงนามในสนธิสัญญา วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2451 มีใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้
                    รัฐบาลไทยยอมยกดินแดนรัฐมลายู คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้อังกฤษ ฝ่ายอังกฤษยอมให้คนในบังคับอังกฤษทั้งยุโรปและเอเชีย ซึ่งได้จดทะเบียนไว้กับกงสุลก่อนทำสัญญานี้ ให้ไปขึ้นกับศาลต่างประเทศ ส่วนคนในบังคับอังกฤษที่จดทะเบียนหลังทำสนธิสัญญาฉบับนี้ให้ไปขึ้นศาลไทย แต่ขอให้มีที่ปรึกษาทางกฎหมายเป็นชาวยุโรปเข้าร่วมพิจารณาด้วย แต่ศาลกงสุลของอังกฤษก็ยังมีสิทธิจะถอนคดีของคนในบังคับอังกฤษไปพิจารณาได้
                    สนธิสัญญานี้มีผลกระทั่งไทยประกาศใช้ประมวลกฎหมายให้ครบถ้วนเป็นเวลา 5 ปี ในสัญญานี้ให้ยกเลิกอนุสัญญาลับ พ.ศ.2440 ด้วย และการสร้างรถไฟสายใต้ รัฐบาลอังกฤษจะให้รัฐบาลไทยกู้เงิน 5 ล้านปอนด์ โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ แต่ต้องให้ชาวอังกฤษเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้เอง เพราะอังกฤษต้องการให้บรรจบกับทางรถไฟในมลายูของอังกฤษ

สยามยุคปฎิรูปประเทศ รัชกาลที่ 4-6

ประเด็นอภิปราย

การปฎิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่4-รัชกาลที่6 ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในปัจจุบันอย่างไร

--------------------------------------------------------------------------------
แหล่งอ้างอิง

https://www.bp-smakom.org/BP_School/Social/King/History-R4-6.htm

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1613

อัพเดทล่าสุด