อารยะธรรมขอมในดินแดนไทย


842 ผู้ชม


พิมาย เป็นโบราณสถานของขอมที่มีอายุมากที่สุดในประเทศไทย เป็นโบราณสถานที่นำเราไปสู่อารยะธรรมขอมในอดีตได้อีกครั้ง   

อารยะธรรมขอมในดินแดนไทย

ปราสาทหินพิมาย  

       อยู่ที่อำเภอพิมาย จังหวัด นครราชสีมา จัดเป็นศาสนสถานขอมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ชื่อ “พิมาย” มาจาก “วิมาย” ตามที่ปรากฏในจารึกที่กรอบประตูปราสาทว่า “กมรเตงชคตวิมาย”  และ “พิมาย” เป็นชื่อของเมืองโบราณที่ปรากฏในศิลาจารึกมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ที่กล่าวถึงเมือง “ภีมปุระ” และจารึกรุ่นหลังที่ปราสาทพระขรรค์ (พุทธศตวรรษที่ ๑๘) กล่าวถึงเมือง “วิมายะปุระ” ดังนั้นปราสาทหินพิมาย และเมืองพิมายจึงเป็นศูนย์กลางทางศาสนา และเป็นเมืองที่สำคัญในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ศิลปะขอมแพร่หลายในดินแดนไทย

หลักฐานในการก่อสร้างปราสาทหินพิมาย
  เชื่อว่าเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาล พระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ (พ.ศ. ๑๖๒๓ - ๑๖๕๐)  และสร้างเพิ่มเติมสมัยต่อมาในรัชกาลพระเจ้า ธรนินทรวรมันที่  ๑  (พ.ศ. ๑๖๕๐ - ๑๖๕๕)  และ รัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒  (พ.ศ. ๑๖๕๖ - หลัง  พ.ศ. ๑๖๙๓) จากหลักฐานได้พบจารึกที่กรอบประตูโคปุระด้านทิศใต้ระบุ พ.ศ. ๑๖๕๑ จึงอาจถือเป็นศักราชของการสถาปนาปราสาทหินพิมาย

องค์ประกอบของปราสาทหินพิมาย
          - ประตูเมืองและกำแพงเมืองปราสาทหินพิมายเป็นศาสนสถานศูนย์กลางของเมืองพิมาย  ดังนั้นจึงมีกำแพงเมืองคูน้ำและคันดินล้อมรอบ  ที่กำแพงเมืองแต่ละ ด้านประกอบด้วยประตู
ทางเข้า 
          - กำแพงและซุ้มประตูทางเข้าปราสาท (โคปุระ)  มี ๒  ชั้น ถัดจากประตูเมืองเข้าไป เป็นกำแพงของปราสาทที่ล้อมรอบ ศาสนสถานชั้นนอก ระหว่างทางเดินเข้าไป จะมีอาคารที่เรียกว่า ธรรมศาลา(ที่พักคนเดินทาง) และสะพานนาคราชปรากฏอยู่แล้ว จึงเข้าสู่ประตูทางเข้าที่เรียกว่า โคปุระ ซึ่งมีทั้ง ๔ ด้าน บริเวณนี้มีบรรณาลัยตั้งอยู่ระหว่างทาง ๒ หลัง ถัดจากชั้นนอกจึงเข้าสู่
กำแพงชั้นในที่มีโคปุระทั้ง ๔  ด้านเช่นเดียวกัน เมื่อผ่านกำแพงชั้นในจึงเข้าสู่บริเวณปราสาท
         - ปราสาท ประกอบด้วยปราสาทประธานและอาคารด้านหน้า ๓ หลัง ได้แก่ ปรางค์พรหมทัต หอพราหมณ์ และปราสาทหินแดง ซึ่ง ๓ หลังนี้สร้างขึ้นภายหลังในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

อารยะธรรมขอมในดินแดนไทย

สะพานนาคราช

ปราสาทประธาน   ประกอบด้วย  
          อาคารทรงปราสาทที่ตั้งอยู่บนฐานบัวเตี้ยๆ  ๒  ฐาน  รองรับส่วนกลางที่เป็นเรือนธาตุ  ส่วนยอดเป็นหลังคาทรงปราสาทแบบเรือนชั้นซ้อนกัน  ๕  ชั้น ที่มุมประธานของแต่ละชั้นประดับนาคปัก ส่วนที่ด้านประดับด้วยบันแถลง  ส่วนยอดสุดเป็นทรงกลมคล้ายหม้อน้ำเทพมนตร์ เรียกว่า กลศ รูปแบบพิเศษของชั้นหลังคาปราสาทหินพิมาย  คือ เปลี่ยนการประดับปราสาทจำลองในแต่ละชั้นมาเป็นนาคปัก ทำให้ชั้นหลังคาเกิดเป็นทรงพุ่ม อันเป็นวิวัฒนาการสำคัญทางด้านรูปแบบปราสาทขอมในสมัยนครวัด

         ตัวปราสาทประธานมีห้องที่เข้าไปภายในได้เรียกว่า  ห้องครรภคฤหะ  อันเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพทางศาสนา ด้านหน้ามีอาคารห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้ายื่นออกมา เรียกว่า “มณฑป”  มีทางเดินเชื่อมต่อกันเรียกว่า  “มุขกระสัน”  หรือ  “อันตราละ”

อารยะธรรมขอมในดินแดนไทย

ภาพพระกมรเตงชคตวิมายะ

ภาพเล่าเรื่องบนทับหลังและหน้าบัน 
          ศิลปกรรมที่ปราสาทหินพิมายที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ประติมากรรมภาพเล่าเรื่องบน ทับหลังและหน้าบัน เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ว่าปราสาทหินพิมายจะเป็นพุทธสถานนิกายมหายาน แต่ภาพเล่าเรื่องที่ประกอบอยู่โดยรอบกลับเป็นเรื่องเล่าของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู  ยกเว้นภาพเล่าเรื่องที่ประดับรอบห้องครรภคฤหะที่เป็นส่วนสำคัญของศาสนสถาน จึงเป็นเรื่องของพุทธประวัติในนิกายมหายาน

ภาพเล่าเรื่องที่ปรากฏมากที่สุด ได้แก่ รามายณะ (รามเกียรติ์) ตอนสำคัญ  เช่น  พระรามพระลักษมณ์ต้องศรนาคบาศ    การรบระหว่างยักษ์กับลิง พระรามจองถนน และท้าวมาลีวราชว่าความ  นอกนั้นจะเป็นเรื่องของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ เช่น  พระศิวนาฏราช  พระอุมามเหศวร  พระกฤษณะ และรูปเทพเจ้าประจำทิศ  ส่วนรูปสำคัญที่อยู่โดยรอบห้องครรภคฤหะ  ได้แก่   พุทธประวัติตอนโปรดพญามาร หรือทรมานพญามหาชมพู  และพระพุทธรูปนาคปรก นอกจากนี้ยังมีรูปพระโพธิสัตว์ชิ้นสำคัญ  ๒  รูป เป็นเรื่องของพระวัชรสัตว์  คือ  พระโพธิสัตว์ที่ได้รับยกย่องว่ามีฐานะเสมือนพระพุทธเจ้า และเรื่องไตรโลกยวิชัย ผู้กำจัดความโลภ โกรธ หลง เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ปราสาทหินพิมายนี้สร้างขึ้นเพื่อพระพุทธศาสนานิกายมหายาน

คำถามเพื่ออภิปราย
          1.  นอกจากปราสาทหินพิมายแล้ว  ยังมีอะไรบ้างที่แสดงว่าเป็นอารยะธรรมขอม  ทำไมคิดว่าใช่

ที่มา  :  https://guru.sanook.com/enc_preview.php?id=2799#ช่วงพุทธศตวรรษที่%20๑๖%20-%20๑๗

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1880

อัพเดทล่าสุด