ชนชาติไทยมาจากไหน


2,171 ผู้ชม



ชนชาติไทยมาจากไหน   

                              ชนชาติไทยมาจากไหน

                                  https://info.matichon.co.th/newsphoto/youth/you30110650p2.jpg

เนื้อหา สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับชั้น ม.ต้น
     ปัจจุบันยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า ชาติไทยมีถิ่นกำเนิดมาจากไหน นักประวัติศาสตร์ บ้างก็ว่า
            -ถิ่นกำเนิดของชาติไทยเราอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต ประเทศมองโกเลีย
            -ถิ่นกำเนิดของชาติไทยเราอยู่บริเวณมณฑลเสฉวน
            -ถิ่นกำเนิดของชาติไทยเราอยู่บริเวณมณฑลยูนนานตอนใต้ของจีน
            -ถิ่นกำเนิดของชาติไทยเราอยู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน
            -ถิ่นกำเนิดของชาติไทยเราอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายู
เนื้อเรื่อง นักประวัติศาสตร์ที่เชื่อมั่นในแนวคิดของตนก็จะหาเหตุผลมาสนับสนุนแนวคิดของตนอาทิ เช่น
            ขุนวิจิตรมาตรา ( สง่า กาญจนาคพันธ์ ) ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในหนังสือหลักไท ( พ.ศ. 2471 ) 
เชื่อว่าแหล่งกำเนิดของชนชาติไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไตของเอเชียกลาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพวก
มองโกลด้วยกัน ภายหลังจึงได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานแถบบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง และแม่น้ำแยงซีต่อมาเมื่อถูกรุกราน 
จึงค่อย ๆ อพยพลงมาสู่สุวรรณภูมิต่อมาภายหลัง เมื่อมีการศึกษาทางด้านโบราณคดีและด้านภูมิศาสตร์ ทำให้แนว 
ความคิดนี้ไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไปเพราะทาง แถบบริเวณเทือกเขาอัลไตของเอเชียกลางนั้นเป็นเขตแห้งแล้ง 
อากาศมีความหนาวเย็น และถ้าอพยพโยกย้ายลงมาก็ต้องผ่านทะเลทรายที่กว้างใหญ่และทุรกันดารมาก 
จึงไม่เหมาะสำหรับจะเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์
             เทเรียน เดอ ลา คูเปอรี ศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศส เจ้าของแนวความคิดที่เชื่อว่าความเป็น มาของคนไทยอยู่บริเวณมณฑลเสฉวนของจีนได้แสดงความ เห็นไว้ว่า คนเชื้อชาติไทยตั้งถิ่นฐานเป็นอาณาจักรอยู่ในดินแดนจีนมาก่อน 
เมื่อประมาณ 2,208 ปีก่อนคริสตกาล ชนชาติ " ไท"ได้ถูกระบุไว้ในรายงานสำรวจ ภูมิประเทศจีนในสมัยพระเจ้ายู้ 
จีนเรียกชนชาติไทยว่า "มุง" หรือ "ต้ามุง" ถิ่นที่อยู่ของคนไทยซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุจีนนี้อยู่ในเขตที่เป็นมณฑลเสฉวนปัจจุบัน 
            สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเสนอความเห็นไว้ว่า คนไทยน่าจะอยู่แถบดินแดนทิเบตต่อกับจีน ( มณฑลเสฉวนปัจจุบัน ) ราว พ.ศ. 500 ถูกจีนรุกรานจึงอพยพมาอยู่ที่ยูนนานทางตอนใต้ของจีน แล้วกระจายไปตั้งถิ่นฐานบริเวณเงี้ยว ฉาน สิบสองจุไท ล้านนา ล้านช้าง 
            รศ.ปรีชา กาญจนาคม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สมมติฐานไว้ว่า ถิ่นเดิมของชนชาติไทยอยู่ที่บริเวณมณฑลยูนนาน และทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน สมมติฐานนี้อิงอยู่กับทฤษฎีของการจัดกลุ่มภาษาไทย-กะได-อินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทย โดยนำมาศึกษาค้นคว้าร่วมกับแนวคิดของนักมานุษยวิทยา และเชื่อว่ากลุ่มคนที่พูดภาษาไทยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มในเขตร้อนชุ่มชื้น นอกจากนั้นยังเชื่อว่ากลุ่มคนที่พูดภาษาไทยจะต้องอพยพเคลื่อนย้ายจากทิศใต้ไปทิศเหนือ อย่างไรก็ตาม สมมติฐานนี้ก็ไม่มีหลักฐานข้อมูลใดๆ ที่สนับสนุนอย่างชัดเจน
             คอริช เวลส์ เป็นนักวิชาการตะวันตกคนแรกที่เสนอสมมติฐานว่า ถิ่นเดิมของชนชาติไทย อยู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน โดยอาศัยหลักฐานจากกะโหลกศรีษะ ที่ขุดได้จากตำบลพงตึก จังหวัดกาญจนบุรีที่มีอายุราวต้นคริสต์ศตวรรษ ซึ่งเวลส์เห็นว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับกระโหลกศรีษะของคนไทยปัจจุบัน นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้ทำการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ 37 โครง ซึ่งพบบริเวณสองฝั่งแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี พบว่าโครงกระดูกของ มนุษย์หินใหม่เหมือนกับโครงกระดูกของคนไทยปัจจุบันเกือบทุกอย่าง จึงสรุปว่าดินแดนไทยเมื่อครั้งอดีตน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษของคนไทยปัจจุบัน มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว
             ดร.ถาวร วัชราภัย ได้ทำวิจัยกลุ่มเลือดที่ทันสมัย สรุปได้ว่าไทยดำและผู้ไทยมีลักษณะเลือดใกล้เคียงกับชาวจีน
แต่ไม่ใกล้เคียงกับชาวมาเลย์ แต่ชาวมาเลย์มี ลักษณะเลือดใกล้เคียงกับชาวเขมร ขากรรไกรและฟันก็ได้ผลเช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้ทำผลงานการวิจัยเรื่องฮีโมโกลบิน อี พบว่า ฮีโมโกลบิน อี มีมากในผู้คนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ไทย ลาว เขมร พม่า มอญ และอื่น ๆ คนจีนเกือบไม่มีอยู่เลย แต่ปัจจุบันนี้ได้เลิกใช้ฮีโมโกลบิน อี เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ากลุ่มใดมีบรรพบุรุษร่วมกับกลุ่มใด เพราะมีการพิสูจน์ได้ว่าดินแดนที่มีฮีโมโกลบิน อี มาก คือดินแดนที่มีไข้มาลาเรียมาก แนวความคิดนี้ปัจจุบัน ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดและยังไม่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางนัก               
การอภิปราย
          ๑.จงอภิปราย ถิ่นกำเนิดชาติไทย อยู่ไหนกันแน่
          ๒.ให้นักเรียนวิพากษ์ ถิ่นกำเนิดชาติไทย ควรอยู่บริเวณใด
กิจกรรมเสนอแนะ ในการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย ถิ่นกำเนิดชาติไทยให้ศึกษาตามวิธีการทางประวัติศาสตร์โดยการนำนักเรียนไปศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ ศึกษาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นำมาวิพากษ์หาข้อสรุปด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
          ใช้บูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย การแต่งกลอน กลุ่มสาระศิลปะ การวาดภาพหลักฐานทางประวัติศาสตร์กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ เป็นไกด์นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 
อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล/ภาพประกอบ
          หนังสือ ชนชาติไทย ของกระทรวงศึกษาธิการ
          https://www.bandhit.com/History/King_s5.jpg

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2339

อัพเดทล่าสุด