ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS)


874 ผู้ชม


ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นเทคโนโลยีอีกแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน   

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม   และผู้ที่สนใจทั่วไป
ความหมายของคำว่า "ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ( Geographic Information System ) : GIS"
         ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ Geographic Information System : GIS คือกระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลในเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่ใช้กำหนดข้อมูลและสารสนเทศ ที่มีความสัมพันธ์กับตำแหน่งในเชิงพื้นที่ เช่น ที่อยู่ บ้านเลขที่ สัมพันธ์กับตำแหน่งในแผนที่ ตำแหน่ง เส้นรุ้ง เส้นแวง ข้อมูลและแผนที่ใน GIS เป็นระบบข้อมูลสารสนเทศที่อยู่ในรูปของตารางข้อมูล และฐานข้อมูลที่มีส่วนสัมพันธ์กับข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) ซึ่งรูปแบบและความสัมพันธ์ของข้อมูลเชิงพื้นที่ทั้งหลาย จะสามารถนำมาวิเคราะห์ด้วย GIS และทำให้สื่อความหมายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับเวลาได้ เช่น การแพร่ขยายของโรคระบาด การเคลื่อนย้าย ถิ่นฐาน การบุกรุกทำลาย การเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ 
 

      

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS)

      GIS เป็นระบบข้อมูลข่าวสารที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ สามารถแปลความหมายเชื่อมโยงกับสภาพภูมิศาสตร์อื่นๆ สภาพท้องที่ สภาพการทำงานของระบบสัมพันธ์กับสัดส่วนระยะทางและพื้นที่จริงบนแผนที่ ข้อมูลที่จัดเก็บใน GIS มีลักษณะเป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) ที่แสดงในรูปของภาพ (graphic) แผนที่ (map) ที่เชื่อมโยงกับข้อมูลเชิงบรรยาย (Attribute Data) หรือฐานข้อมูล (Database)การเชื่อมโยงข้อมูลทั้งสองประเภทเข้าด้วยกัน จะทำให้สามารถแสดงข้อมูลทั้งสองประเภทได้พร้อมๆ กัน เช่นสามารถจะค้นหาตำแหน่งของจุดตรวจวัดควันดำ - ควันขาวได้โดยการระบุชื่อจุดตรวจ หรือในทางตรงกันข้าม สามารถที่จะสอบถามรายละเอียดของ จุดตรวจจากตำแหน่งที่เลือกขึ้นมา แผนที่ใน GIS จะมีความสัมพันธ์กับตำแหน่งในเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ คือค่าพิกัดที่แน่นอน ข้อมูลใน GIS ทั้งข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลเชิงบรรยาย สามารถอ้างอิงถึงตำแหน่งที่มีอยู่จริงบนพื้นโลกได้โดยอาศัยระบบพิกัดทางภูมิศาสตร์ (Geocode) เช่น ตำแหน่งอาคาร ถนน

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS)


องค์ประกอบของ GIS ( Components of GIS )
         องค์ประกอบหลักของระบบ GIS จัดแบ่งออกเป็น 5 ส่วนใหญ่ ๆ คือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (Hardware) โปรแกรม (Software) ขั้นตอนการทำงาน (Methods) ข้อมูล (Data) และบุคลากร (People) โดยมีรายละเอียดของแต่ละองค์ประกอบดังต่อไปนี้ 
 

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS)


 1. อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 
         คือ เครื่องคอมพิวเตอร์รวมไปถึงอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ เช่น Digitizer, Scanner, Plotter, Printer หรืออื่น ๆ เพื่อใช้ในการนำเข้าข้อมูล ประมวลผล แสดงผล และผลิตผลลัพธ์ของการทำงาน 
 2. โปรแกรม
         คือชุดของคำสั่งสำเร็จรูป เช่น โปรแกรม Arc/Info, MapInfo ฯลฯ ซึ่งประกอบด้วยฟังก์ชั่น การทำงานและเครื่องมือที่จำเป็นต่าง ๆ สำหรับนำเข้าและปรับแต่งข้อมูล, จัดการระบบฐานข้อมูล, เรียกค้น, วิเคราะห์ และ จำลองภาพ 
 3. ข้อมูล
          คือข้อมูลต่าง ๆ ที่จะใช้ในระบบ GIS และถูกจัดเก็บในรูปแบบของฐานข้อมูลโดยได้รับการดูแล จากระบบจัดการฐานข้อมูลหรือ DBMS ข้อมูลจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญรองลงมาจากบุคลากร 
 4. บุคลากร
       คือ ผู้ปฏิบัติงานซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เช่น ผู้นำเข้าข้อมูล ช่างเทคนิค ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญสำหรับวิเคราะห์ข้อมูล ผู้บริหารซึ่งต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ บุคลากรจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในระบบ GIS เนื่องจากถ้าขาดบุคลากร ข้อมูลที่มีอยู่มากมายมหาศาลนั้น ก็จะเป็นเพียงขยะไม่มีคุณค่าใดเลยเพราะไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน อาจจะกล่าวได้ว่า ถ้าขาดบุคลากรก็จะไม่มีระบบ GIS 
 5. วิธีการหรือขั้นตอนการทำงาน
        คือ กระบวนการวิเคราะห์ การนำเอาระบบ GIS ไปใช้งานโดยแต่ละ ระบบแต่ละองค์กรย่อมีความแตกต่างกันออกไป ฉะนั้นผู้ปฏิบัติงานต้องเลือกวิธีการในการจัดการกับปัญหาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับของหน่วยงานนั้น ๆ เอง

ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
        1. ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ คืออะไร
       2. องค์ประกอบของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ มีอะไรบ้าง
       3. ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ด้านใดบ้าง
       4. ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ มีความสำคัญอย่างไร
       5. ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มีลักษณะที่โดดเด่นกว่าแผนที่ทั่วไปอย่างไร

กิจกรรมเสนอแนะ
        1. ศึกษาค้นคว้าการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 
       2. ศึกษาโปรแกรมเกี่ยวกับ GIS

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
 สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์  ภาษาต่างประเทศ   การงานอาชีพและเทคโนโลยี

อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล  / ภาพประกอบ
https://www.gisthai.org/about-gis/gis.html
https://202.28.94.55/web/322103/2551/work1/g5/GIS1.htm
https://th.wikipedia.org
https://www.gis.rgs.org
https://www.fileguru.com/GIS-ObjectLand/screenshot
https://www.uflib.ufl.edu/fefdl/gisday07
https://www.thaigoodview.com/library/contest2552/type1/tech03/29/con5.html



ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2656

อัพเดทล่าสุด