ดาวเทียม THEOS ดาวเทียมของประเทศไทย


1,270 ผู้ชม



ดาวเทียมธีออส (THEOS) คือ ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย   

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม   และผู้ที่สนใจทั่วไป
        ดาวเทียมธีออส (THEOS) เป็นคำมาจาก Thailand Earth Observation Systems หมายถึงระบบสำรวจพื้นผิวโลกโดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมของประเทศไทย  ได้ทะยานขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันพุธที่ 1 ตุลาคม 2551 โดยจรวดนำส่ง "เนปเปอร์" (Dnepr) จากฐานส่งจรวดเมืองยาสนี (Yasny) ประเทศรัสเซีย   จากไซโล (ฐานที่ตั้งอยู่ใต้ดิน) ด้วยแรงขับเคลื่อนของจรวดจนถึงระดับความสูง 690 กิโลเมตรแล้ว ดาวเทียมจะแยกตัวจากจรวดท่อนสุดท้ายออกมาโคจรเป็นอิสระ ซึ่งสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมที่เมืองคิรูนา (Kiruna) ประเทศสวีเดน เป็นสถานีแรกที่ติดต่อกับดาวเทียมได้ (First Contact) ต่อจากนั้น ดาวเทียมโคจรผ่านประเทศไทยครั้งแรก ณ เวลา 21.16 น. ซึ่งสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม THEOS อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เริ่มปฏิบัติการควบคุมการโคจรดาวเทียมและตรวจสอบการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้ดาวเทียม THEOS มีความสมบูรณ์พร้อมใช้งาน และปฏิบัติภารกิจหลักในการให้บริการข้อมูลดาวเทียมแก่หน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป

 ดาวเทียม THEOS ดาวเทียมของประเทศไทย

ที่มา :  https://hilight.kapook.com/view/27447

        ดาวเทียมธีออส เป็นดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) เพื่อใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อปี 2547 โดยมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ดำเนินงานรับผิดชอบร่วมกับบริษัทเอียดส์ แอสเตรียม (EADS Astrium) ประเทศฝรั่งเศส ด้วยงบประมาณ 6,440 ล้านบาท

 ดาวเทียม THEOS ดาวเทียมของประเทศไทย


ที่มา  :   https://www.dhammadelivery.com/news-detail.php?news_id=223

โครงการดาวเทียมธีออส ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ :
        1.  Space Segment : ประกอบด้วย ดาวเทียมธีออส    ถูกออกแบบให้เป็นดาวเทียมขนาดเล็ก น้ำหนัก ประมาณ 750 กิโลกรัม มีอายุการใช้งานอย่างน้อย 5 ปี ทำงานโดยอาศัย แหล่งพลังงาน จากดวงอาทิตย์ สามารถบันทึกภาพได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก 
        2.  Ground Segment : ประกอบด้วย สถานีควบคุมดาวเทียมธีออสศรีราชา และ สถานีรับสัญญาณดาวเทียมลาดกระบัง

ดาวเทียม THEOS ดาวเทียมของประเทศไทย

ดาวเทียม THEOS ดาวเทียมของประเทศไทย

ที่มา  :   https://theos.gistda.or.th/index.php/about-theos/satellite-system-

        3.  Human Segment : ประกอบด้วย วิศวกรและเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานอยู่ที่สถานีควบคุมดาวเทียม และ สถานีรับสัญญาณดาวเทียม
 

ระบบบันทึกภาพของดาวเทียมธีออส
          ดาวเทียมธีออสมีกล้องบันทึกภาพขาว-ดำ (Panchromatic : PAN), และกล้องถ่ายภาพสีหลายช่วงคลื่น (Multispectral : MS) ซึ่งสามารถถ่ายภาพในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น (Blue, Green, Red) และช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ (NIR)   สามารถบันทึกภาพต่อเนื่อง มีความยาวแนวบันทึกภาพสูงสุดถึง 4,000 กม.  เมื่อบันทึกภาพในแนวดิ่ง ดาวเทียมธีออสจะบันทึกภาพขาว-ดำ ที่รายละเอียดภาพ 2 เมตร ที่ความกว้างแนวบันทึกภาพ 22 กิโลเมตร และภาพสีหลายช่วงคลื่น ที่รายละเอียดภาพ 15 เมตร ที่ความกว้างแนวบันทึกภาพ 90 กิโลเมตร  และเพื่อให้สามารถบันทึกภาพซ้ำในตำแหน่งเดิมได้ในเวลาอันสั้น ดาวเทียมธีออสจะเอียงตัวบันทึกภาพได้ในแนวซ้าย-ขวา และ ก้ม-เงย โดยมีมุมเอียงปกติที่ 30° และมุมเอียงสูงสุด 50°   จากความสามารถในการเอียงตัวบันทึกภาพ ทำให้เราสามารถสร้างภาพ 3 มิติได้ โดยการบันทึกภาพพื้นที่เดียวกัน 2 ภาพ จากแนวการโคจรเดียวกัน หรือจากแนวการโคจรต่างกัน

ดาวเทียม THEOS ดาวเทียมของประเทศไทย

ที่มา   :  https://theos.gistda.or.th/index.php/about-theos/cameras-

 ประโยชน์ของดาวเทียมธีออส
         1.  ภาพจากดาวเทียมสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งน้ำ และสามารถนำไปใช้ในการติดตามและประเมินความเสียหายจากอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         2. ใช้ในการสำรวจศึกษาหาพื้นที่ป่าไม้ หาพื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลาย ถูกไฟไหม้ การสำรวจหาพื้นที่สวนป่าและหาชนิดป่า
         3. ใช้ในการสำรวจหามลพิษจากคราบน้ำมันในทะเล หาแหล่งน้ำ หาพื้นที่ประสบภัยจากคลื่นสึนามิ
         4. ใช้เป็นข้อมูลการจัดทำแผนที่ภูมิประเทศ แผนที่ธรณีวิทยา ธรณีสัณฐานของประเทศไทย
         5. ใช้ในการศึกษาหาพื้นที่เพาะปลูก การคาดการณ์ผลผลิต ประเมินความเสียหายจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืช ตลอดจนการวางแผนกำหนดเขตเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ
         6. ใช้ในการสำรวจศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่อง
         7. ใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของชุมชน อีกทั้งสามารถเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์ เพื่อวางแผนพัฒนาการวางผังเมือง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปการต่างๆ 
         8. ภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออสสามารถนำมาขายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทย
         9. ภายใต้สัญญาสร้างดาวเทียมธีออส ประเทศฝรั่งเศสจะปรับปรุงสถานีรับสัญญาณดาวเทียมของไทยให้สามารถรับสัญญาณจากดาวเทียม SPOT ได้ และให้สิทธิ์ในการรับสัญญาณดาวเทียม SPOT-2, 4 และ 5 เพื่อให้หน่วยงานราชการได้ใช้ประโยชน์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้แต่ละหน่วยงาน นำไปใช้ประโยชน์ตามภารกิจของหน่วยงาน


ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
       1.   ดาวเทียมธีออสมีประวัติความเป็นมาอย่างไร
       2.   ดาวเทียมธีออสมีความสามรถในการบันทึกภาพอย่างไรบ้าง
       3.   ประโยชน์ที่สำคัญที่ได้จากดาวเทียมธีออสมีอะไรบ้าง
       4.   นักเรียนคิดว่าดาวเทียมธีออสน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นของเราอย่างไรบ้าง

กิจกรรมเสนอแนะ
       1.  ค้นคว้าข่าวจากการนำดาวเทียมธีออสมาใช้ประโยชน์
       2.  จัดป้ายนิเทศเกี่ยวกับดาวเทียมธีออส
       3.   ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับดาวเทียมดวงอื่น ๆ

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ
       สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์   ภาษาต่างประเทศ   คณิตศาสตร์

อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล  
https://theos.gistda.or.th
https://hilight.kapook.com/view/27447

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3107

อัพเดทล่าสุด