ชื่อเต็มคือ “พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” แหล่งเรียนรู้เรื่องไม้กลายเป็นหิน ช้างดึกดำบรรพ์ และไดโนเสาร์ เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทยและแห่งแรกของภูมิภาคเอเซียที่มีการจัดแสดงนิทรรศการและซากดึกดำบรรพ์
"พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน" ได้รวบรวมเอาไม้กลายเป็นหินมากกว่าร้อยชิ้น อายุประมาณ 8 แสน-320 ล้านปี มาจัดแสดงไว้ ทั้งบริเวณรอบๆ อาคารพิพิธภัณฑ์ และภายในอาคารด้วยเช่นกัน โดยหากนักท่องเที่ยวมาชม ก็ขอแนะนำให้เข้าไปปูพื้นฐานกันก่อนที่ห้องชมวิดีทัศน์เรื่องกำเนิดโลก ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้เบื้องต้นก่อนจะชมพิพิธภัณฑ์แล้ว ก็ยังจะได้ตื่นเต้นไปกับเทคนิคประกอบเรื่องที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง เช่นเมื่อเกิดภูเขาไฟระเบิดที่นั่งของผู้ชมก็จะสั่นไหวเหมือนกับมีแผ่นดินไหวตามไปด้วย
หลังจากรู้เรื่องราวการกำเนิดโลกแล้ว จากนั้นก็จะเข้าสู่ส่วนจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ของไม้กลายเป็นหิน ก็จะได้พบคำตอบว่า "ไม้กลายเป็นหิน" หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Petrified Wood" นั้น ก็คือไม้ที่กลายสภาพไปเป็นหิน เกิดขึ้นได้เพราะมีสารละลายแร่แทรกซึมเข้าไปแทนที่เนื้อไม้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้าง ทำให้ไม้กลายเป็นหินบางท่อนนั้นยังมีลายวงปี เสี้ยนไม้ หรือเปลือกไม้ที่ยังเห็นได้ชัด เพียงแต่เนื้อไม้นั้นกลายเป็นหินไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนสาเหตุที่ไม้กลายมาเป็นหินนั้น ส่วนมากจะเกิดจากอิทธิพลของภูเขาไฟ เช่นเถ้าถ่านของภูเขาไฟซึ่งมีแร่ซิลิกาเป็นส่วนประกอบทับถมปกคลุมบริเวณที่มีต้นไม้หรือท่อนไม้ฝังอยู่ หรืออีกเหตุหนึ่งก็คืออิทธิพลของน้ำท่วม ทำให้ต้นไม้ถูกทับถมอยู่ใต้ตะกอนต่างๆ ในระดับลึก จนเกิดกระบวนการเปลี่ยนไม้ให้กลายเป็นหินเกิดขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีสีต่างๆ กันไป เช่น สีส้ม สีแดง สีเขียว สีดำ ฯลฯ เนื่องจากแร่ธาตุต่างๆ ที่มาเป็นองค์ประกอบอีกด้วย
สำหรับในประเทศไทยนั้น จังหวัดที่พบไม้กลายเป็นหินมากที่สุดคือจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งไม้กลายเป็นหินที่อายุมากที่สุดนั้นพบที่ อ.ปากช่องและวังน้ำเขียว มีอายุประมาณ 150 ล้านปี ด้วยกัน แต่ในภาคอีสานนั้นก็พบไม้กลายเป็นหินกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เช่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น เป็นต้น สิ่งที่ไม่ควรพลาดชมในพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินนี้ก็คือ ไม้กลายเป็นหินอัญมณี (Opallized Wood) พบที่บ้านมาบเอื้อง อ.เมือง จ.นครราชสีมา อายุประมาณ 800,000 ปี ความยาวประมาณ 2 เมตร เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นเนื้อไม้กลายเป็นผลึกคล้ายอัญมณีตลอดทั่วทั้งลำต้น
นอกจากนั้น ภายในพิพิธภัณฑ์นี้ก็ยังมีตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับไม้กลายเป็นหินของประเทศต่างๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่นในประเทศไทย เชื่อกันว่า มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาศัยอยู่ในไม้กลายเป็นหิน และหากใครได้สัมผัสก็จะทำให้มีอายุยืนยาว แต่ต้องบอกนิดหนึ่งสำหรับคนที่อยากได้ไม้กลายเป็นหินมาไว้ในครอบครองว่า ต้องระวังจะถูกจำคุกไม่เกิน 7 ปี และ/หรือทั้งจำทั้งปรับอีก 7 แสนบาทด้วย
ที่ด้านนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ เพราะตรงส่วนนี้ได้จัดทำเป็นสวนไม้กลายเป็นหิน ที่จำลองภูมิประเทศของภาคอีสานบริเวณลุ่มน้ำชี-มูล และมีไม้กลายเป็นหินจากหลายแหล่งที่มาจัดแสดงไว้บริเวณนั้น
ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
1. ไม้กลายเป็นหิน เกิดขึ้นได้อย่างไร
2. ปัจจัยที่ก่อให้เกิดไม้กลายเป็นหินมีอะไรบ้าง
3. ไม้กลายเป็นหินมีสีสรรแตกต่างกันเพราะเหตุใด
กิจกรรมเสนอแนะ
1. ค้นคว้าเพิ่มเติมแหล่งที่พบไม้กลายเป็นหินในประเทศไทย
2. ทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือแหล่งอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ
สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การงานอาชีพและเทคโนโลยี
อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.oknation.net/blog/kintaro/2009/05/11/entry-1
https://www.dmr.go.th/ewt_news.php?nid=3114&filename=salt_index07
https://www.oknation.net/blog/kintaro/2009/05/11/entry-1
https://www.7wondersthailand.com/wizContent.asp?wizConID=272&txtmMenu_ID=7
https://th.wikipedia.org/wiki
https://www.hotsia.com/nakhonratchasima/1337.shtml
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3180