เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 21 ตอน1


1,435 ผู้ชม


นำเสนอกรณีตึกเวิล์ดเทรดถล่ม   

สถานการณ์สำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ 21

          โลกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่โลกมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อันสืบเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ของทุกภูมิภาคของโลกเข้าด้วยกัน ส่งผลทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ชาติโดยรวมในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ดังตัวอย่างต่อไปนี้

การก่อการร้าย เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001

รูปตีกเวิล์ดเทรด

    การก่อการร้าย หมายถึง การใช้ความรุนแรงหรือขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงต่อบุคคลหรือ กลุ่มบุคคล เพื่อเปลี่ยนแปลงผลของกระบวนการทางการเมืองบางประการ ผู้ก่อการอาจเป็น ชนกลุ่มน้อยในประเทศหรือเป็นสมาชิกองค์กรใต้ดินต่างๆ โดยจุดมุ่งหมายของการก่อการร้ายกล่าว อย่างกว้างๆ มี 2 ประการ 
        ประการที่หนึ่ง คือ เพื่อแสดงออกซึ่งความไม่พอใจในสิ่งที่ตนเผชิญอยู่
        ประการที่สอง คือ เพื่อเรียกร้องความสนใจและสร้างให้เกิดความกลัวขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีทางด้านข่าวสารพัฒนาก้าวหน้าไปมาก กลุ่มผู้ก่อการร้ายสามารถใช้สื่อสารมวลชนช่วยกระจายความต้องการหรือ ข้อเรียกร้องของตนออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ประชาชนและผู้ปกครองต้องหันมาสนใจและเกิดความกลัวขึ้นมาว่า หากไม่ทำตามคำเรียกร้อง กลุ่มก่อการร้ายก็อาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาได้


           การก่อการร้ายที่สร้างความเสียหายครั้งสำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ 21 คือ เหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายได้จี้บังคับเครื่องบินโดยสารภายในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 4 ลำ พุ่งชนอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ รัฐนิวยอร์ก และพุ่งชนอาคารเพนตากอน ที่ทำการกระทรวงกลาโหม รัฐวอชิงตัน ดี.ซี. ผลปรากฏว่าอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่มทั้งสองอาคาร ส่วนอาคารเพนตากอนเสียหายอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 3,000 คน และทรัพย์สินถูกทำลายเสียหายมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา รวมทั้งขวัญกำลังใจของชาวอเมริกันตกต่ำลงเนื่องจากเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยอันมาจากการถูกโจมตีภายในประเทศของตนเป็นครั้งแรก
        จากเหตุการณ์การก่อการร้ายนี้ นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างวิเคราะห์สาเหตุของเหตุการณ์ว่าน่าจะมาจากการที่สหรัฐอเมริกาเป็นชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกมาตลอดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศในลักษณะ แผ่ขยายอำนาจไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนตะวันออกกลางที่มีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ คือ น้ำมัน         ด้วยการแทรกแซงและสนับสนุนการก่อตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ใน ค.ศ. 1948 จากนั้นสหรัฐอเมริกาก็ดำเนินนโยบายสนับสนุนอิสราเอลมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการทำสงครามกับกลุ่มประเทศอาหรับ การยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ ขณะเดียวกันก็ให้การสนับสนุนรัฐบาลของประเทศอาหรับที่เป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกา การกระทำเช่นนี้สร้างความไม่พอใจให้กับหมู่ชาวอาหรับซึ่งเห็นว่าสหรัฐอเมริกามีนโยบายคุกคามกลุ่มประเทศอาหรับและต้องการเข้ามามีอำนาจในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ การแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้นำมาซึ่งความขัดแย้งนับครั้งไม่ถ้วนของประเทศต่างๆ หลายครั้ง นอกจากนี้ความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ก่อการร้ายที่เป็นมุสลิมมีเป้าหมายในการทำสงครามเพื่อศาสนาหรือการทำจิฮัด (Jihad) ต่อต้านสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร โดยเฉพาะอิสลาเอลให้ออกไปจากดินแดนปาเลสไตน์ รวมทั้งต่อต้านประเทศมุสลิมที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา อย่างเช่นซาอุดีอาระเบีย

 
                                                       ภาพตึกเวิร์ดเทรดถล่ม
            การที่สหรัฐอเมริกาถูกโจมตีด้วยการถล่มตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ สัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจและอาคารเพนตากอน ที่ทำการกระทรวงกลาโหม สัญลักษณ์ทางการทหารของสหรัฐอเมริกานั้นนับเป็นปฏิกิริยาที่มีต่อบทบาทของสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกาในฐานะชาติมหาอำนาจและเป็นศูนย์กลางระบบทุนนิยมโลก
            สหรัฐอเมริกาไม่สามารถยอมให้เหตุการณ์การก่อการร้ายนี้ผ่านไปโดยหาผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของขบวนการอัล เคดา หรือ อัล กออิดะห์ (Al Qa’ida) ที่มีนายอุซามะ บิน ลาเดน (Usama Bin Ladin) เป็นผู้นำ สหรัฐอเมริกาจึงได้ประกาศสงครามกับกลุ่มก่อการร้ายและพร้อมจะทำลายกลุ่มองค์กรเหล่านี้ รวมทั้งรัฐบาลที่ให้แหล่งพักพิงและสนับสนุนการก่อการร้าย ดังนั้นสังคมโลกในคริสต์ศตวรรษ ที่ 21 จึงก้าวเข้าสู่สงครามต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ทั้งนี้การก่อการร้ายระหว่างประเทศนอกจากจะเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาแล้ว ยังคงเกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ทั่วโลก ประเทศต่างๆ ตระหนักว่ากลุ่มก่อการร้ายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ปฏิบัติการเคลื่อนไหวผ่านเครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วโลก จึงเกิดการตื่นตัวในการร่วมมือป้องกันและปราบปรามการ ก่อการร้ายระหว่างประเทศ เช่น ประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะสหภาพยุโรป รัสเซีย และจีน กลายเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายและทำสงครามโค่นล้มรัฐบาลของประเทศอัฟกานิสถาน โดยอ้างถึงความกดขี่ในด้านการปกครองและการสนับสนุนการก่อการร้ายของรัฐบาลกลุ่มตาลีบันของอัฟกานิสถาน แต่ส่วนใหญ่คัดค้านสหรัฐอเมริกาในการ ทำสงครามกับอิรัก เพราะไม่ต้องการสนับสนุนการดำเนินนโยบายแบบฝ่ายเดียวกับสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันกลุ่มก่อการร้ายก็ทำการก่อวินาศกรรมต่อต้านสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร อย่างเช่นอังกฤษและออสเตรเลีย ด้วยการก่อวินาศกรรมทำลายชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น เช่น เหตุการณ์การก่อการร้ายระเบิดสถานบันเทิงในเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2002 ที่มีผู้เสียชีวิต 202 คนและบาดเจ็บกว่า 300 คน เป็นต้น


      การก่อการร้ายระหว่างประเทศยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งระหว่างประเทศและส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศอีกต่อไป เนื่องจากสหรัฐอเมริกายังเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกที่จะเรียกร้องและกดดันให้ประเทศต่างๆ มีส่วนรับผิดชอบต่อการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก ดังนั้นรัฐบาลในหลายประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับกลุ่มก่อการร้ายภายในประเทศซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศ เช่น เครือข่ายกลุ่มอัล กออิดะห์ ดังเช่นรัฐบาลฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียกำลังเผชิญอยู่ อาจต้องขยายความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาและยินยอมให้สหรัฐอเมริกาเข้าไปมีบทบาทในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายภายในประเทศของตน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนในประเทศนั้นๆ รวมตัวต่อต้านสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรงและใช้วิธีการก่อการร้ายเพื่อเรียกรอ้งความต้องการของกลุ่มตน
ประเด็นอภิปราย
เหตุการณ์ก่อการร้ายวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ส่งผลกระทบอย่างไรต่อสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคต่างๆ(เสนอประเด็นอภิปรายส่งในemail  [email protected] โดยระบุชื่อ ชั้น เลขที่ ก่อนเรียน ครั้งต่อไป 2 วัน)

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3302

อัพเดทล่าสุด