ภาคเหนือสะเทือน แผ่นดินไหวที่พม่า 6.7 ริกเตอร์


660 ผู้ชม


เมื่อเวลา 20.55 น. ตามเวลาในประเทศไทย ของวันที่ 24 มีนาคม 2554 ได้เกิดแผ่นดินไหว ผู้คนในภาคเหนือต่างรู้สึกตกใจ บางคนบอกเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม บางคนวิ่งหาที่ปลอดภัย แม้แต่คนที่อยู่ในตึกสูงที่กรุงเทพมหานครก็ยังรับรู้ถึงแผ่นดินไหวในครั้งนี้   

ภาคเหนือสะเทือน แผ่นดินไหวที่พม่า 6.7 ริกเตอร์

ที่มา : https://www.tmd.go.th


เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม   และผู้ที่สนใจทั่วไป


        แผ่นดินไหวในครั้งนี้ จุดศูนย์กลางอยู่ที่ในประเทศพม่า  วัดแรงสั่นสะเทือนได้  6.7  ริกเตอร์ ละติจูดที่ 20° 52' 12'' เหนือ    ลองจิจูดที่ 99° 54' 36'' ตะวันออก  ลึกจากพื้นดิน  10  กิโลเมตร โดยห่างจาก อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย ของประเทศไทยประมาณ 30 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ของประเทศไทย  รวมถึงกรุงเทพมหานคร  ผู้ที่อยู่ตามอาคารสูงรู้สึกได้ และแรงสั่นสะเทือนไปถึง ประเทศลาว  เวียดนาม   
        นอกจากนี้ยังมีแผ่นดินไหวตามมา (after-shock) ตามอีกหลายครั้งได้แก่  วันที่ 24  มีนาคม  เวลา 21.23   วัดได้ 4.9  ริกเตอร์ ลึกจากพื้นดิน  10  กิโลเมตร     และ เวลา  22.54  วัดได้  5.3  ริกเตอร์  ลึกจากพื้นดิน  40  กิโลเมตร      ล่าสุด  วันที่ 25  มีนาคม 2554 เวลา  07.22 น.  วัดได้  4.9  ริกเตอร์  ลึกจากพื้นดิน  40  กิโลเมตร     และจากรายงานการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าใน เวลา 02.15 น. วันที่ 25 มีนาคม2554 มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวตามมา จานวน 40 ครั้ง ขนาดตั้งแต่ 3.0 – 6.2 ริกเตอร์
        รายงานความเสียหายจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ที่จังหวัดเชียงราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นางหงษ์ อายุ 55 ปี บ้านพังที่สร้างด้วยปูนล้มทับ  หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง นอกจากนี้เสาไฟฟ้าในตัวเมืองยังมีความเสียหาย การติดต่อทางโทรศัพท์เป็นไปด้วยความลำบาก เจ้าหน้าที่ต้องใช้วิทยุในการสื่อสาร
        ส่วนรายงานใน จ.น่าน พระอุโบสถและพระวิหารวัดภูมินทร์ได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือน พบรอยแตกร้าวหลายจุด ทั้งภายนอกและภายในตัวพระวิหาร เศษกระจกที่ใช้ประดับเชิงชายหลุดร่วง มีรอยผงปูนที่ฉาบตัวอาคารด้านนอกร่วงหล่น ภายในพระวิหาร พบว่ามีรอยแตกร้าวตามผนังอาคาร ส่งผลให้ภาพวาดจิตรกรรมวัดภูมินทร์ เสียหาย บนผนังภาพหลายจุด  บริเวณกรอบประตู หน้าต่างมีรอยร้าว
        การเกิดแผ่นดินไหวในที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบเพราะ ตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกที่ชื่อว่า ยูเรชั่นเพลท คือแผ่นดินแถบยุโรปบวกกับแผ่นดินเอเชีย ส่วนด้านข้างก็จะเป็นอินเดียบวกออสเตรเลียและแปซิฟิก เวลานี้แผ่นดินอินเดีย+ออสเตรเลีย เคลื่อนตัวจากทิศตะวันตกมายังทิศตะวันออกอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการชนกับแผ่นดินของยุโรป+เอเชีย ซึ่งเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกันแต่ช้ากว่า จึงทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดินข้างหนึ่ง ผลที่ตามมาก็คือการเกิดแผ่นดินไหว และอาจจะเกิดสึนามิขึ้นอีกครั้งในฝั่งทะเลแถบอันดามัน ในส่วนของประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเพราะมีประเทศพม่ามารองรับ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะเกิดนั่นก็คือการเกิดแผ่นดินไหวในแถบพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ภูเก็ต   เพราะพื้นที่เหล่านี้ตั้งอยู่ใกล้บนรอยร้าวของแผ่นเปลือกโลก

ขั้นตอนการปฏิบัติตัวรับมือแผ่นดินไหว
ก่อนการเกิดแผ่นดินไหว

1. ควรมีไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย และกระเป๋ายาเตรียมไว้ในบ้าน และให้ทุกคนทราบว่าอยู่ที่ไหน
2. ศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
3. ควรมีเครื่องมือดับเพลิงไว้ในบ้าน เช่น เครื่องดับเพลิง ถุงทราย เป็นต้น
4. ควรทราบตำแหน่งของวาล์วปิดน้ำ วาล์วปิดก๊าซ สะพานไฟฟ้า สำหรับตัดกระแสไฟฟ้า
5. อย่าวางสิ่งของหนักบนชั้น หรือหิ้งสูง ๆ เมื่อแผ่นดินไหวอาจตกลงมาเป็นอันตรายได้
6. ผูกเครื่องใช้หนัก ๆ ให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน
7. ควรมีการวางแผนเรื่องจุดนัดหมาย ในกรณีที่ต้องพลัดพรากจากกันเพื่อมารวมกันอีกครั้งในภายหลัง
8. สร้างอาคารบ้านเรือนให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว

ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว
1. อย่าตื่นตกใจ พยายามควบคุมสติอยู่อย่างสงบ ถ้าท่านอยู่ในบ้านก็ให้อยู่ในบ้าน ถ้าท่านอยู่นอกบ้านก็ให้อยู่นอกบ้าน เพราะส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บเพราะวิ่งเข้าออกจากบ้าน
2. ถ้าอยู่ในบ้านให้ยืนหรือหมอบอยู่ในส่วนของบ้านที่มีโครงสร้างแข็ง แรง ที่สามารถรับน้ำหนัก ได้มาก และให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง และหน้าต่าง
3. หากอยู่ในอาคารสูง ควรตั้งสติให้มั่น และรีบออกจากอาคารโดยเร็ว หนีให้ห่างจากสิ่งที่จะล้มทับได้
4. ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้งให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้าและสิ่งห้อยแขวนต่าง ๆ ที่ปลอดภัยภายนอกคือที่โล่งแจ้ง
5. อย่าใช้ เทียน ไม้ขีดไฟ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดเปลวหรือประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วอยู่บริเวณนั้น
6. ถ้าท่านกำลังขับรถให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ จนกระทั่งการสั่นสะเทือนจะหยุด
7. ห้ามใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาดขณะเกิดแผ่นดินไหว
8. หากอยู่ชายหาดให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง


หลังเกิดแผ่นดินไหว
1. ควรตรวจตัวเองและคนข้างเคียงว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ให้ทำการปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อน
2. ควรรีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวตามมาอาคารอาจพังทลายได้
3. ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพราะอาจมีเศษแก้ว หรือวัสดุแหลมคมอื่น ๆ และสิ่งหักพังแทง
4. ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส ถ้าแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊ส ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟ หรือก่อไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว
5. ตรวจสอบว่า แก๊สรั่ว ด้วยการดมกลิ่นเท่านั้น ถ้าได้กลิ่นให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน
6. ให้ออกจากบริเวณที่สายไฟขาด และวัสดุสายไฟพาดถึง
7. เปิดวิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉิน อย่าใช้โทรศัพท์ นอกจากจำเป็นจริง ๆ
8. สำรวจดูความเสียหายของท่อส้วม และท่อน้ำทิ้งก่อนใช้
9. อย่าเป็นไทยมุงหรือเข้าไปในเขตที่มีความเสียหายสูง หรืออาคาร
10. อย่าแพร่ข่าวลือ

ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
1. แผ่นดินไหวเกิดในประเทศพม่าบ่อยครั้ง เป็นเพราะเหตุใด
2. การเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยจะไม่รุนแรงมากนักเป็นเพราะเหตุใด
3. ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
4. หลังเกิดแผ่นดินไหวควรปฏิบัติอย่างไร

กิจกรรมเสนอแนะ
       1.  ค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผ่นดินไหว
       2.  ทำรายงานเรื่องแผ่นดินไหว

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ
 สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์   สุขศึกษาพลศึกษา

อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล  
https://www.tmd.go.th/earthquake_report.php

https://www.seismology.tmd.go.th/

https://news.impaqmsn.com/articles_hn.aspx?id=406582&ch=hn

https://news.impaqmsn.com/articles_hn.aspx?id=405681&ch=hn

https://www.talkystory.com/?p=9223

 

 ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3578

อัพเดทล่าสุด