ความเป็นมา วัตถุประสงค์ และกรอบความร่วมมือ เพื่อก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 7 - 8 พฤษภาคม ณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ได้ปิดฉากลงแล้ว พร้อมออกแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับ
ฉบับแรกว่าด้วยเรื่องบทบาทของประชาคมอาเซียนในประชาคมโลก ฉบับที่สองว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันอาเซียนเพื่อสันติภาพและความสมานฉันท์ ส่วนแถลงการณ์ร่วมฉบับที่สามว่าด้วยเรื่องความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์
สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปีหน้า จะจัดขึ้นที่ประเทศเมียนมาร์
ที่มา : https://news.voicetv.co.th/global/9780.html
ที่มาภาพ : https://www.mcot.net/
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศมหาอำนาจแต่เดิมโดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส ประสบความเสียหายจากสงคราม ต้องบูรณะฟื้นฟูประเทศ จึงยังไม่เข้ามามีบทบาทในการเมืองระหว่างประเทศเท่าใดนัก ในขณะที่ประเทศที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจในช่วงนี้ คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ความแตกต่างทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองของมหาอำนาจทั้งสองนี้นำโลกเข้าสู่สงครามในรูปแบบใหม่ที่รู้จักกันในนามของ “สงครามเย็น” ในท่ามกลางของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดังกล่าว
ประเทศไทยอยู่ในฝ่ายโลกเสรีประชาธิปไตย โดยมีนโยบายต่อต้านการเผยแพร่ของลัทธิคอมมิวนิสต์ ดังปรากฏอยู่ในวัตถุประสงค์ของคณะรัฐประหารที่ทำการปกครองประเทศในช่วงหนึ่งที่ว่า “การทำรัฐประหาร เพื่อกำจัดลัทธิคอมมิวนิสต์ให้สูญสิ้นไปจากแผ่นดินไทย เชิดชูบวรพุทธศาสนาให้สถิตถาวรสืบไป”
ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ได้แสดงตนว่าต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างจริงจังโดยการแสดงตนเป็นฝ่ายสหรัฐอเมริกามากขึ้น โดยเฉพาะการเป็นหลักในการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ เช่น การส่งกองกำลังทหารและข้าวไปช่วยกองทัพสหประชาชาติ
ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาในสงครามเกาหลี การเข้าเป็นสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือองค์การ สปอ. (SEATO) รวมทั้งการรับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในด้านต่างๆ
สำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาคนั้น เริ่มจากรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ. 2505 ไทย ฟิลิปปินส์ และมลายู (ต่อมาคือประเทศมาเลเซีย) ได้ประกาศตั้งสมาคมอาสาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาซียน ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกแรกตั้ง 5 ประเทศคือ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ นับเป็นการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคนี้ โดยไม่มีมหาอำนาจอื่นๆเข้าร่วมด้วยเป็นครั้งแรก วัตถุประสงค์ของอาเซียนคือเพื่อร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจ สนับสนุนนโยบายเป็นกลางไม่ผูกพันกับฝ่ายใด
อาเซียนดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ และยังคงมีบทบาทจนถึงปัจจุบันนี้ ขณะที่สมาชิกของอาเซียนก็ขยายตัวครอบคลุมทั้งภูมิภาค
ในการดำเนินงานของอาเซียน โดยปกติจะเป็นการดำเนินงานโดยยึดหลักความเห็นชอบร่วมกันเป็นเอกฉันท์
ประเทศต่างๆมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างอิสระ ก่อนเป็นอาเซียนสิบประเทศความแตกต่างระหว่างภาคีสมาชิกย่อมปรากฏอยู่ด้วย แต่ความพยายามในการ “แสดงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”
ในสมาชิกดั้งเดิมที่เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองทำให้อาเซียนดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและมีภาพของความเป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูง แต่ด้วยความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของทั้งกัมพูชา ลาว และเวียดนามตลอดระยะเวลาอันยาวนานของสงครามกัมพูชา รวมทั้งความเหมือนกันของระบบการเมืองและระดับการพัฒนา อาจทำให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศเหล่านี้เป็นกลุ่มย่อยภายในสมาคมอาเซียน ภาวะเช่นนี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาในการดำเนินงานของอาเซียนที่ยึดหลักความเห็นชอบร่วมกันเป็นเอกฉันท์ได้ อย่างไรก็ตาม การมีจิตใจร่วมกันอย่างมั่นคงในบรรดาภาคีของอาเซียนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำอาเซียนเข้าสู่ศตวรรษใหม่อย่างมีประสิทธิภาพและสง่างาม
การก่อตั้ง
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญา
กรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีของ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย
ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ต่อมาประเทศบรูไน ดารุสซาลาม เข้าเป็น
สมาชิกประเทศที่ 6 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2527 เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 7 เมื่อวันที่ 28
กรกฎาคม 2538 ลาวและพม่าเข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 8 และ 9 ตามลำดับ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม
2540 และกัมพูชาเป็นสมาชิกประเทศที่ 10 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542
อาเซียนปัจจุบันประกอบด้วยประชากรรวมกันประมาณ 500 ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่ 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร
วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสมาคมอาเซียน ตามปฏิญญากรุงเทพฯ
1. เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ และความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม
วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร
2. เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค
3. เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและพัฒนาการทางวัฒนธรรม
ในภูมิภาค
4. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี
5. เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปของการฝึกอบรมและการวิจัย และส่งเสริม
การศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
6. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรม การขยายการค้า ตลอดจน
การปรับปรุงการขนส่งและการคมนาคม
7. เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนกับประเทศภายนอก องค์การความร่วมมือ
แห่งภูมิภาคอื่น ๆ และองค์การระหว่างประเทศ
โครงสร้างของอาเซียน โครงสร้างของอาเซียนจะประกอบด้วยส่วนสำคัญ
1. สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat)
สำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงที่ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ
อาเซียนในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 1 ในปี 2519 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและ
ดำเนินงานตามโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมอาเซียน และเป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่าง
สมาคมอาเซียน คณะกรรมการ ตลอดจนสถาบันต่าง ๆ และรัฐบาลของประเทศสมาชิก
สำนักเลขาธิการอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีหัวหน้า สำนักงานเรียกว่า “เลขาธิการอาเซียน”
2. สำนักงานอาเซียนแห่งชาติ หรือกรมอาเซียน (ASEAN National Secretariat)
เป็นหน่วยงานในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิก ซึ่งแต่ละประเทศ
ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบประสานงานเกี่ยวกับอาเซียนในประเทศนั้น ๆ และติดตามผล
ของการดำเนินกิจกรรม/ความร่วมมือต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการจัดตั้งกรมอาเซียน
ให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานด้านอาเซียนดังกล่าว
ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง
อาเซียนเห็นว่า สันติภาพและเสถียรภาพทางการเมืองเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนา ในด้านต่างๆ จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมให้มีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน (confidence building) ตลอดจนการสร้างเสถียรภาพ (stability) และสันติภาพ (peace) ในภูมิภาค
ตลอดระยะเวลา 41 ปีที่ผ่านมา อาเซียนสามารถระงับข้อพิพาทไม่ให้ขยายตัวเป็นความตึงเครียดโดยการเจรจาหารือทางการเมืองและการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นพ้องในการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community–APSC) อันมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความมั่นใจว่าประเทศในภูมิภาคจะอยู่ร่วมกันและร่วมกับประเทศอื่นๆ ในโลกด้วยความสงบสุขในสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตยและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว
ประเทศสมาชิกของประชาคมได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะพึ่งพากระบวนการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และคำนึงว่าความมั่นคงของประเทศสมาชิกจะเกี่ยวโยงกันตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ วิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ร่วมกัน
อันประกอบด้วย การพัฒนาด้านการเมือง การกำหนดและยึดถือบรรทัดฐานและการมีค่านิยมร่วมกัน การป้องกันความขัดแย้ง การการแก้ไขความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพหลังความขัดแย้ง โดยอยู่บนพื้นฐานอันมั่นคงของกระบวนการ หลักการ ความตกลง และโครงสร้างของอาเซียนที่มีวิวัฒนาการมาช้านาน ซึ่งปรากฏใน เอกสารสำคัญทางการเมืองดังนี้
- ปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) ณ กรุงเทพฯ วันที่ 8 สิงหาคม 2510
- ปฏิญญาว่าด้วยเขตสันติภาพ อิสรภาพ และการวางตนเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality Declaration) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2514
- ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord) ณ บาหลี วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2519
- สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia ) ณ บาหลี วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2519
- ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยทะเลจีนใต้ (ASEAN Declaration on the South China Sea) ณ กรุงมะนิลา วันที่ 22 กรกฎาคม 2535
- สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty on the Southeast Asia Nuclear-Free Zone : SEANWFZ) ณ กรุงเทพฯ วันที่ 15 ธันวาคม 2540
- วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (ASEAN Vision 2020) ณ กัวลาลัมเปอร์ วันที่ 15 ธันวาคม 2540
- ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ครั้งที่ 2 (Declaration of ASEAN Concord II) ณ บาหลี วันที่ 7 ตุลาคม 2546
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
ประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area –AFTA) ในปี 2535 ตามข้อเสนอของนายอานันทน์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีไทยในสมัยนั้น เพื่อเป็นกลไกช่วยขยายการค้าระหว่างประเทศสมาชิกและดึงดูดการลงทุนจากภายนอก ขณะนี้ (ปี 2551) ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ได้ลดภาษีสินค้าในกรอบ AFTA
ทุกรายการลงเหลือร้อยละ 0-5 โดยสินค้าร้อยละ 80 มีอัตราภาษีที่ร้อยละ 0 แล้ว ส่วนสินค้าที่เหลือ ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิมมีเป้าหมายที่จะลดอัตราภาษีเป็นร้อยละ 0 ในปี 2553 และประเทศสมาชิกใหม่ (CLMV) ในปี 2558
สำหรับการค้าบริการได้ทยอยเปิดเสรีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมุ่งเน้นใน 7 สาขา คือ การเงิน ขนส่งทางทะเล ขนส่งทางอากาศ การสื่อสาร โทรคมนาคม การท่องเที่ยว ก่อสร้าง และบริการธุรกิจ
ส่วนการลงทุน ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ดำเนินความร่วมมือในการส่งเสริมการลงทุนครอบคลุมสาขาการผลิต เกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และบริการที่เกี่ยวข้องกับ 5 สาขาดังกล่าว (services incidental) แต่ยังจำกัดเฉพาะการลงทุนโดยตรง (FDI) ไม่รวมถึงการลงทุนด้านหลักทรัพย์ (portfolio investments)
นอกจากนี้ อาเซียนมีความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน (ASEAN Industrial Cooperation - AICO) ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาคเอกชน AICO มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้าอุตสาหกรรมของอาเซีย โดยสนับสนุนการแบ่งการผลิตภายในภูมิภาค ลดต้นทุนการผลิตโดยการลดภาษีนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูป และวัตถุดิบ แต่มีเพียงอุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้นที่ใช้ประโยชน์จากความตกลงนี้
พัฒนาการในด้านแนวคิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งผู้นำประเทศอาเซียนได้เห็นชอบให้มีการกำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน ได้แก่ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ซึ่งอาจะเป็นไปในทำนองเดียวกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรปในระยะเริ่มต้น
อาเซียนได้ดำเนินการหลายด้านเพื่อผลักดันการจัดตั้ง AEC โดยมีแนวทางดำเนินงานที่สำคัญ
การนำร่องการรวมกลุ่ม 11 สาขาสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือในสาขานำร่องทั้ง 11 สาขาที่เสรี และสร้างการรวมกลุ่มที่เป็นรูปธรรมพร้อมกำหนดประเทศผู้ประสานงานหลัก (Country Coordinators) ในแต่ละสาขา ดังนี้
อินโดนีเซีย
1) ยานยนต์ 2) ผลิตภัณฑ์ไม้
มาเลเซีย
2) ผลิตภัณฑ์ยาง 4) สิ่งทอ
พม่า
5) ผลิตภัณฑ์เกษตร 6) ผลิตภัณฑ์ประมง
ฟิลิปปินส์
7) อิเล็กทรอนิกส์
สิงคโปร์
8) เทคโนโลยีสารสนเทศ 9) สุขภาพ
ไทย
10) การท่องเที่ยว 11) การบิน
ประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน
1. การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลก ซึ่งนับวันจะเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยอาเซียนจะสามารถขยายการค้าและการลงทุนทั้งภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคให้สูงขึ้นเนื่องจากการลดอุปสรรคทางด้านภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีต่าง ๆ
2. การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนจะมีส่วนสำคัญในการช่วยขยายการค้า และการลงทุนภายในภูมิภาคให้สูงขึ้น เนื่องจากทำให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และเงินทุนได้ อย่างเสรีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต และส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบ/ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในภูมิภาค มากยิ่งขึ้น
3. AEC จะช่วยลดการพึ่งพาตลาดในประเทศที่สาม โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มที่อาเซียนมีศักยภาพและสามารถผลิตได้ในระดับมาตรฐานสากล อาทิ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ และเครื่องสำอาง เป็นต้น
4. การเป็นประชาคมจะช่วยสร้างอำนาจการต่อรองของอาเซียนในเวทีโลก เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ได้เพิ่มมากขึ้นทั้งในกรอบพหุภาคี และกรอบภูมิภาค การรวมกลุ่มของอาเซียนจึงช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองกับกลุ่มเศรษฐกิจอื่น ๆ และนำมาซึ่งผลประโยชน์โดยรวมของภูมิภาค
5. การเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของปัจจัยการผลิตจะช่วยเพิ่มสวัสดิการและยกระดับความเป็นอยู่ของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น
เนื่องจากผู้บริโภคจะสามารถเลือกสรรสินค้าต่าง ๆ ได้หลากหลายมากขึ้นในราคาที่ถูกลง รวมทั้งได้รับสินค้าที่มีมาตรฐานในระดับภูมิภาคและระดับโลก
6. ความร่วมมือที่เข้มข้นขึ้นจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน โดยยกระดับกระบวนการผลิต และเกื้อกูลกันในขั้นตอนกระบวนการผลิต ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อ กระบวนการผลิต และการตลาด
7. ผลประโยชน์ข้างเคียงจากการเป็นประชาคมคือ ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อันเนื่องมาจากการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) การแบ่งงานกันทำ (division of labor) และการพัฒนาความชำนาญในการผลิต (specialization) ตลอดจนมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกัน
ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
- นักเรียนคิดว่าการรวมกลุ่มภายใต้สมาคมอาเซียน ส่งผลดีต่อประเทศไทยอย่างไร
- หากนักเรียนมีโอกาสเสนอปัญหาเข้าสู่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN SUMMIT) นักเรียนคิดว่านักเรียนจะเสนอปัญหาหรือประเก็นใดในที่ประชุม และเพราะเหตุใด
กิจกรรมเสนอแนะ
กิจกรรมที่ 1
1. ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มออกเป็นกลุ่มละ 10 คน
2. ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มจับสลากเป็นตัวแทนของแต่ละชาติ แล้วให้นักเรียนแต่ละคนศึกษาข้อมูลโดยทั่วไปของชาติที่ตนได้รับมอบหมาย
3. จำลองการประชุมอาเซียน โดยให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม ร่วมประชุมในฐานะตัวแทนของชาติที่ตนได้รับ พร้อมกับกำหนดกรอบ/หัวข้อการประชุม เช่น สิ่งแวดล้อม สันติภาพ
4. ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมประชุม แล้วหาข้อสรุป พร้อมทั้งทำออกมาเป็นปฏิญญา โดยครูแจกอุปกรณ์ เช่น กระดาษปรู๊ฟ ปากกาเมจิกให้
5. แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอ ปฏิญญา ตามหัวข้อที่กลุ่มของตนเองได้รับ
การบูรณาการกับสาระวิชาอื่นๆ
สาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล
- https://www.mfa.go.th/asean/asean_web/docs/asean_background.doc
- https://aseansummit.mfa.go.th/15/thai/about_15thasean.php
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3753