แข้งดวลแข้ง


942 ผู้ชม


เมื่อแข้งในพรีเมียร์ลีก มาดวลกับผืนป่าห้วยขาแข้ง ใครจะแน่กว่ากัน   

          เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ พ.ค. แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เปิดสนามโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด เอาชนะ “สิงโตน้ำเงินคราม” รองจ่าฝูง ๒-๑ ประตู ขยับเข้าใกล้หยิบถ้วยแชมป์ครั้งที่ 19 ของสโมสร แซงหน้าสถิติ ที่ตอนนี้อยู่ร่วมกับลิเวอร์พูลที่ ๑๘ ครั้ง โดยต้องการอีกคะแนนเดียวในสองนัดที่เหลือ ซึ่งพบกับทีมแบล๊กเบิร์น และแบล๊กพูล  คุณผู้อ่านจะเห็นว่ามีการดวลแข้งในฤดูกาลนี้  เป็นที่คาดการณ์กันว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีฟอร์มการเล่นที่ดีสมควรได้แชมป์ในฤดูกาลนี้

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNd05EZzJOall5TXc9PQ==&sectionid=

แข้งดวลแข้ง

          ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจะมีการดวลแข้งกันอย่างดุเดือด  สนุกสนาน น่าสนใจมากเพียงใด ยังมีแข้งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือห้วยขาแข้ง  แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก ซึ่งนับวันผืนป่าในประเทศไทยลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เรามาเรียนรู้ผืนป่าเล็ก ๆ ผืนหนึ่งที่ความสำคัญไม่ได้เล็กเลย ว่าทำไมจึงได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก  ทำไมจึงทำให้คน ๆหนึ่งต้องสละชีวิตตนเองเพื่อผืนป่าแห่งนี้.....

เนื้อหาเหมาะสมกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑
สาระภูมิศาสตร์
มาตรฐาน ส ๕.๒    เข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์วัฒนธรรม  มีจิตสำนึก และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์
ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

                          แข้งดวลแข้ง

                            ที่มา :https://www.rd1677.com/backoffice/PicUpdate/67742.jpg

ประวัติความเป็นมา
         
กรมป่าไม้ได้เข้าไปดำเนินการเพื่อจัดการป่าห้วยขาแข้งให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 แต่ในเวลานั้นทางราชการไม่สนับสนุนให้มีการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๕๑๕ เมื่อนโยบายทางราชการเปลี่ยนแปลงไป จึงได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังด้วยออกพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าห้วยขาแข้งให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฏหมาย โดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๐๑ ลงวันที่๒๖สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ต่อมาเมื่อวันที่  ๒๑พฤษภาคม  พ.ศ.๒๕๒๙ได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตเพิ่มเนื้อที่ให้มากขึ้น สืบเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และสัตว์ป่าจนเป็นที่ยอมรับของนักวิจัยชาวไทยและชาวต่างประเทศว่า เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ มีความหลากหลายของพันธุ์สัตว์และพรรณพืชดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๓๔  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งรวมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลก โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมรดกโลก ในการประชุม ครั้งที่ ๑๕  ณ เมืองคาร์เถจ ประเทศตูนีเซีย

ที่มา:https://www.youtube.com/watch?v=yiJD4DdMnjw&feature=related

ตำนานของห้วยขาแข้ง 
         สืบ นาคะเสถียร เดินทางมารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ และสืบได้พยายามเสนอให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าห้วยขาแข้ง มีฐานะเป็นมรดกโลกอย่างเป็น
ทางการจากองค์การสหประชาชาติ โดยเล็งเห็นว่าฐานะดังกล่าวจะเป็นหลักประกันสำคัญ ที่จะคุ้มครองป่าผืนนี้เอาไว้อย่างถาวร โดย ปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๒ สืบได้รับทุนเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่อังกฤษ พร้อมกับได้รับมอบหมาย ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ที่มีความสำคัญมากไม่แพ้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ สืบได้จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ได้เป็นวิทยากรบรรยาย และร่วมอภิปรายในโอกาสและสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง โดยเน้นเรื่อง "การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและปัญหาที่เกี่ยวข้อง" และ "การอพยพสัตว์ป่าตกค้างในเขื่อนเชี่ยวหลาน" ด้วยป่าห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่อุดมไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่าอันล้ำค่า ทำให้หลายฝ่ายต่างก็จ้องบุกรุกเข้ามาหาผลประโยชน์ สืบได้แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะรักษาป่าผืนนี้ไว้ให้ได้อย่างชัดแจ้ง ได้ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า "ผมมารับงานที่นี่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน" ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปรับงานหัวหน้าเขตฯ ถึงแม้กระนั้นก็ยังไม่สามารถปกป้องป่าได้ เนื่องจาก การดูแลผืนป่าขนาดมากกว่าหนึ่งล้านไร่ ด้วยงบประมาณและกำลังคนที่จำกัด รวมถึงการทุจริตของเจ้าหน้าที่ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย และมากกว่านั้นปัญหาความยากจนของชาวบ้านที่อยู่อาศัยโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลที่หวังผลประโยชน์ ได้ว่าจ้างชาวบ้านในเขตป่าสงวนเข้ามาตัดไม้ และลักลอบล่าสัตว์ในเขตป่าอนุรักษ์ในทรรศนะของสืบ หนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้คือการสร้างแนวป่ากันชนขึ้นมา โดยให้ชาวบ้านอพยพออกนอกแนวกันชน และพัฒนาแนวกันชนให้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับความสนใจและความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่

แข้งดวลแข้ง

ที่มา : https://www.gum-moon.com/board/photo/00219.jpg

 การเสียสละด้วยชีวิต 
         บ้านพักของสืบในห้วยขาแข้งสถานที่ที่เขาเลือกที่จบชีวิตลงเช้ามืดวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๓ สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง สืบได้สั่งเสียลูกน้องคนสนิทและเขียนจดหมาย
สั่งเสีย ๖ ฉบับ ชำระสะสางภาระรับผิดชอบ และทรัพย์สินส่วนตัวที่คั่งค้าง รวมถึงมอบ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่า ให้สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ตั้งศาลเพื่อแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเจ้าหน้าที่ ซึ่งพลีชีพรักษาป่าห้วยขาแข้ง แล้วสวดมนต์ไหว้พระจนจิตใจสงบ เสียงปืนดังขึ้นนัดหนึ่งในราวป่าลึก ที่ห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร ได้จบชีวิตของเขาลง และเป็นจุดเริ่มต้นของ "ตำนานนักอนุรักษ์ไทย สืบ นาคะเสถียร ผู้ที่รักป่าไม้ สัตว์ป่าและธรรมชาติ ด้วยกายและใจ"สองอาทิตย์ต่อมา บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมป่าไม้ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นายอำเภอ ป่าไม้เขต และ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อีกนับร้อยคน ได้เปิดประชุมเพื่อหามาตรการป้องกันการบุกรุกป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยสืบ นาคะเสถียร ได้พยายามจัดตั้งการประชุมหลายสิบครั้งแต่ไม่มีการตอบรับจากเจ้าหน้านี้สักครั้งจนกระทั่งการเสียชีวิตของสืบ ทำให้มีข้อกล่าวว่า หากไม่มีเสียงปืนนัดนั้น การประชุมดังกล่าวก็คงไม่เกิดขึ้น การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร ได้ส่งผลสะเทือนอย่างล้ำลึกต่อผู้คนที่รักธรรมชาติ และแสวงหาความเป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้เพราะว่าในยามที่ยังมีชีวิตอยู่ สืบมิได้เป็นเพียงข้าราชการอาชีพที่มีภาระการงานเกี่ยวกับการพิทักษ์ป่า และสัตว์ป่าเท่านั้น หากเป็นผู้นำคนสำคัญของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทย เป็นผู้ที่เคยต่อสู้เพื่อปกปักรักษาทรัพยากรป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยไม่คำนึงภัยอันตราย การจากไปของเขานับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และเป็นความสูญเสียที่นักอนุรักษ์ธรรมชาติทุกคน ไม่อาจปล่อยให้ผ่านพ้นไป โดยปราศจากความทรงจำ

                          แข้งดวลแข้ง

                         ที่มา :https://www.sadoodta.com/files/images2/huaikhakhaeng012.jpg

มรดกโลกทางธรรมชาติ
        เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง - ทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีพื้นที่รวม ๔,๐๑๗,๐๘๗ ไร่ มีความต่อเนื่องและเป็นแกนกลางของผืนป่าตะวันตก ครอบคลุมในพื้นที่ ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัด
อุทัยธานี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดตาก    เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารของแม่น้ำสายหลักของประเทศหลายสาย เช่น แม่กลอง  สาละวิน สะแกกรัง ท่าจีน และบางส่วนของเจ้าพระยา และ เป็นผืนป่าธรรมชาติที่รวบรวมไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ มีความงดงามตามธรรมชาติและมีความสมบูรณ์ของระบบชีวาลัย  ด้วยคุณลักษณะที่โดดเด่นของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง - ทุ่งใหญ่นเรศวร รัฐบาลไทยจึงได้จัดทำรายงานรวบรวมความสำคัญของป่าผืนนี้ เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้พิจารณาประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เพื่อเชิดชูและร่วมกันดูแลรักษาให้เกิดความยั่งยืน ในคราวประชุมเพื่อคัดเลือกแหล่งมรดกโลก เมื่อ วันที่ ๙ - ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ณ ประเทศตูนีเซีย และได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการดังกล่าว ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ รวม ๓ ประการ คือ 
        (๑) มีความโดดเด่นเป็นเลิศในด้านวิวัฒนาการทางชีวภาพ ชีวาลัย เป็นพิเศษของโลก เพราะประกอบด้วยระบบนิเวศ ทั้ง ๔ ภูมิภาค ได้แก่ ภูมิภาคซุนเดอิก (Sundaic) ภูมิภาคอินโด - เบอร์มิส 
(Indo - Burmese) ภูมิภาคอินโด - ไชนิส (Indo - Chinese) และภูมิภาคไซโน - หิมาลายัน (Sino - Himalayan)
        (๒) เป็นแหล่งธรรมชาติพิเศษ ที่เป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญหลายสายของประเทศ มีป่าไม้นานาชนิด ประกอบด้วย เทือกเขา เนินเขา ตลอดจนทุ่งหญ้า ลักษณะทั้งหมดจึงมีคุณค่าในด้าน
วิทยาศาสตร์ มีความงดงาม ทางธรรมชาติที่หาได้ยากแห่งหนึ่งของโลก
       (๓) เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่หายาก หรืออยู่ในภาวะที่อันตรายแต่ยังสามารถดำรงพันธุ์อยู่ได้ ซึ่งรวมถึงเป็นระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของพืชและ
สัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ 
          ต่อมา เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๘ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ กำหนดให้ วันที่ ๙ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง - ทุ่งใหญ่นเรศวร มรดกโลก เพื่อให้ประชาชน
ตระหนักในความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว และร่วมมือร่วมใจ ปกป้องรักษา เพื่อการส่งมอบให้อนุชนรุ่นต่อไปได้อย่างสมบูรณ์

แข้งดวลแข้ง

                     ที่มา : https://www.huaikhakhaeng.net/images/management/map002.gif

ลักษณะภูมิประเทศ
       โดยทั่วไปมีสภาพเป็นภูเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง ๒๐๐ - ๑,๖๕๐ เมตร เป็นต้นน้ำลำธารของลำห้วยหลายสาย ที่สำคัญที่สุด คือ ห้วยขาแข้ง ซึ่งไหลผ่านกลางพื้นที่และมีน้ำ
ตลอดปี ทางซีกตะวันตกเป็นป่าทึบและภูเขาสลับซับซ้อน จึงก่อให้เกิดลำธารสั้น ๆ หลายสายไหลลงห้วยขาแข้ง ทางซีกตะวันออกมีลำห้วยที่ใหญ่กว่า ได้แก่ ห้วยไอ้เยาะ ที่มีต้นน้ำมาจากเขานางรำและเขาเขียว ห้วยแม่ดีเกิดจากเทือกเขาน้ำเย็น ไหลลงสู่ลำห้วยขาแข้ง และห้วยทับเสลา ซึ่งมีต้นน้ำไหลมาจากเทือกเขาในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นแนวเขตธรรมชาติของเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าทางด้านตะวันออกและไหลผ่านที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลงสู่แม่น้ำสะแกกรัง

ชนิดป่าและพรรณไม้
      สภาพป่าส่วนมากยังสมบูรณ์ เนื่องจากไม่เคยผ่านการทำไม้มาก่อน บริเวณที่ลุ่ม ริมห้วยขาแข้งและห้วยใหญ่ ๆ เป็นป่าดงดิบชื้น ที่สูงขึ้นไปจะเป็นส่วนผสมระหว่างป่าดิบแล้งและป่า
เบญจพรรณ บางแห่งจะมีไผ่รวกขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ หรือกระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ บนยอดเขาสูงมาก ๆ จะเป็นป่าดิบเขา

แข้งดวลแข้งแข้งดวลแข้ง

                               ที่มา: https://images.thaiza.com/37/37_201002051048121..jpg

สัตว์ป่า
       ป่าห้วยขาแข้งเป็นป่าผืนใหญ่ที่มีเนื่อที่กว้างขวาง มีอาณาเขตบริเวณติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่เชื่อมโยงไปถึงประเทศพม่า สัตว์ป่าสามารถหลบหลีกไปถึงกันได้ จึง
มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม  เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด  จากจำนวน ๒๖๕ ชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีถึง ๖๗ ชนิดที่พบในป่าแห่งนี้ รวมทั้งบางชนิดที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ ได้แก่ วัวแดง กวางควายป่า ช้างป่า กระทิง เก้ง หมูป่า ลิง ชะนี ค่าง สมเสร็จ เสือชนิดต่าง ๆ นกยูง ไก่ฟ้า ไก่ป่า นกหัวขวาน และนกชนิดอื่น ๆ อยู่กระจัดกระจายทั่วไป ซึ่งสามารถเห็นตัวและพบร่องรอยอยู่เสมอ  มีการพบควายป่า ๑ ฝูง ประมาณ ๒๐ ถึง ๔๐ ตัว (ซึ่งน่าจะเป็นเพียงฝูงเดียวในประเทศไทย) ในทางตอนใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ชัดเจนว่าได้มีการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กับควายบ้านหรือไม่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิดที่อยู่ในภาวะคุกคาม ได้แก่ หมาป่า, เสือ, เสือดาว, ช้างเอเชีย,(มีอยู่ประมาณ ๑๕๐ ถึง ๒๐๐ ตัว) สมเสร็จ (ไม่ค่อยพบตัว พบแต่เพียงรอยเท้าในพื้นที่บางส่วนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) 

แข้งดวลแข้ง

ที่มา: https://www.the-eastern-forest.org/

จุดเด่นที่น่าสนใจ
        • ลำห้วยขาแข้ง ได้ชื่อว่าเป็นลำน้ำที่มีความสวยงามตามธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นลำน้ำสายใหญ่ให้น้ำตลอดปี นอกจากจะมีน้ำที่ใสแล้วบางตอนยังเกิดหาดทรายที่
ขาวสะอาดทอดไปตามริมลำห้วย มีปลาชุกชุมมาก รวมทั้งสัตว์ป่าและสัตว์ปีกที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ตอนที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ บริเวณสบห้วยไอ้เยาะไหลลงห้วยขาแข้ง 
       • น้ำตกโจน เป็นน้ำตกที่มีน้ำตลอดปี เป็นส่วนหนึ่งของลำห้วยทับเสลาไหลผ่านช่องเขาแคบ ๆ และเปลี่ยนระดับฉับพลันก่อให้เกิดน้ำตกมีความสูงประมาณ ๕๐ เมตร 
       • วงตีไก่ เป็นปรากฏการณ์ประหลาดของธรรมชาติที่เกิดมีก้อนหินขนาดต่าง ๆ วางเรียงกันเป็นวง ๆ หลายวง มีชื่อทางเข้าคล้ายประตู ๔  ด้าน 
       • โป่งนายสอ ตั้งชื่อตามชื่อพรานป่าซึ่งเสียชีวิตเพราะถูกแรดทำร้าย อยู่ทางฝั่งขวาของลำห้วยขาแข้ง ตอนกลางของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีน้ำซับตลอดปี จึงมีสัตว์ป่าชุกชุมมาก 
       • โป่งพุน้ำร้อน เป็นโป่งใหญ่อยู่ทางตอนเหนือทางฝั่งซ้ายของลำห้วยขาแข้ง มีบ่อ น้ำพุร้อนอยู่ใกล้ ๆ สัตว์ป่าโดยเฉพาะกระทิง วัวแดง และกวาง มีชุกชุมมาก นอกจากนี้ยังมีโป่งต่าง ๆ ซึ่งมีชื่อเสียง
มากอีกหลายโป่ง เช่น โป่งแสนโต๊ะ โป่งตะคร้อ โป่งหญิง โป่งเจียว โป่งสมอ เป็นต้น

แข้งดวลแข้ง

ที่มา: https://www.thairath.co.th/media/content/2009/11/07/45203/hr1667/630.jpg

การเดินทาง
 จากจังหวัดอุทัยธานีผ่านอำเภอหนองฉางและอำเภอลานสัก ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๕๓ มีทางแยกทางซ้ายเข้าไปอีกประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ถึงสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง รวม
ระยะทางจากจังหวัดอุทัยธานีประมาณ ๙๐กิโลเมตร

คำถามชวนคิด
 ๑.  ป่าห้วยขาแข้ง มีความสำคัญอย่างไร  เหตุใดจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
 ๒.  ในฐานะคนไทยเราจะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ผืนป่าที่สำคัญนี้อย่างไร
 ๓.  หากไม่มีผืนป่าห้วยขาแข้ง ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร  เราจะมีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาปัญหาการตัดไม้อย่างไร

กิจกรรมเสนอแนะ
 ๑.  แสดงละครสั้นสร้างเสริมคุณธรรม  เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
 ๒. จัดทำภาพยนตร์สั้นสร้างสรรค์สังคม
 ๓.  ศึกษาบุคคลตัวอย่างที่มีผลงานในการอนุรักษ์ในท้องถิ่น
 ๔.  จัดทำหนังสือพิมพ์เสมือน ในการนำเสนอข่าวในท้องถิ่นเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

การบูรณาการ
 ๑.  กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างประเทศ  เกี่ยวกับคำศัพท์ เช่น  คำศัพท์ทางภูุมิศาสตร์
 ๒.  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  เรียงความ แต่งคำประพันธ์
 ๓.  กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  เรื่อง ยีนและพันธุกรรม  พันธุ์พืช 
 ๔.  กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ  วาดภาพป่าห้วยขาแข้ง  ร้องเพลงเกี่ยวกับการอนุรักษ์  
 ๕.  กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี   อาหารจากป่า   
 ๖.  กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  เรียนรู้การดำรงชีวิตในป่า


ที่มา 
https://www.oceansmile.com/N/Uthaithani/AniThungyai.htm
https://www.westernforest.org/th/areas/huai_kha_kaeng.htm
https://www.huaikhakhaeng.net/profile/index.html

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3843

อัพเดทล่าสุด