อาหารสำหรับหน้าหนาว


657 ผู้ชม


อาหารเพื่อสุขภาพหน้าหนาว   

อาหารช่วงเปลี่ยนฤดูหนาว

 
ไข้เปลี่ยนฤดู คือ อาการที่ร่างกายปรับตัวตามธรรมชาติไม่ทัน อากาศหนาวและความร้อนเป็นธรรมชาติของลม ฝน อากาศ แสงแดด บางเวลาร้อนมากที่สุด บางเวลาหนาวมากที่สุด แต่บางโอกาสอบอุ่นพอดี สภาวะที่ผันเปลี่ยนไปโดยที่ร่างกายเราปรับตัวไม่ทัน ความผิดปกติทางร่างกายย่อมบังเกิดขึ้น ในช่วงระยะเวลาที่อากาศเริ่มหนาวร่างกายต้องการความอบอุ่นเข้าช่วยเหลือ ดังนั้นจึงควรพักผ่อนอยู่ในที่มิดชิด มีผ้าปกปิดที่หนาๆ คลุมเพื่อให้เกิดความอบอุ่นเมื่อร่างกายเกิดความสมดุลจะรู้สึกสบาย

จากฤดูร้อนเปลี่ยนเป็นฤดูฝน และที่ร่างกายทนได้ยากที่สุด คือ จากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ฤดูหนาวเป็นธรรมชาติที่รุนแรง หากไออุ่นภายในร่างกายไม่สมดุลกับอากาศ ร่างกายจะต้านทานอากาศหนาวไม่ได้ และขั้นรุนแรงที่สุดถึงกับเสียชีวิตได้ อากาศที่หนาวจะรุนแรงกว่าอากาศอื่นๆ ทั้งหมด หากไม่มีเครื่องกันหนาวปกปิดร่างกาย หรือสิ่งอื่นเพื่อไล่ความหนาวออกไป อาการป่วยไข้จะแทรกซ้อนตามมา จนถึงกับเสียชีวิตได้

แพทย์แผนไทยตระหนักในความผิดปกติของธรรมชาติ จึงขอเตือนให้ทุกคนเฝ้าระวังอาการป่วยไข้ ในฤดูหนาว ซึ่งก่อให้ร่างกายผิดปกติต่างๆ กันไป เช่น ผิวหนังภายนอกแห้งแตกระแหง ผิวหนังชั้นนอกหลุดร่วงไป รู้สึกคันตามผิวหนังทั่วร่างกาย ภายในปากมักจะแตกร้าว ถ้ารุนแรง เลือดจะไหลออกจากปาก คัดจมูก เจ็บคอ แน่นหน้าอก หรืออาจจะเป็นบิด เพราะเสมหะให้โทษ รู้สึกสะบัดร้อนสะบัดหนาวแต่มักไม่มีไข้ขึ้นสูง อาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาคืออาการของไข้เปลี่ยนฤดูที่มาคู่กันกับลมหนาว

การเฝ้าระวังในช่วงฤดูหนาว คือ ต้องพยายามหาเครื่องป้องกันอากาศหนาว เช่น ผ้าห่ม เสื้อผ้าที่หนาๆ และอบอุ่น หรืออาจจะก่อไฟผิง แต่การผิงไฟป้องกันความหนาวหากทำมากเกินไป ก็คงไม่ดี เพราะร่างกายที่ถูกอากาศหนาวหากไปผิงไฟให้ร้อนมากร่างกายก็ปรับตัวไม่ทันอีก เหมือนเวลาที่เราออกกำลังกาย กำลังร้อนจัด เหงื่อโทรมกายแล้ว รีบอาบน้ำทันที ร่างกายจะเกิดอาการผิดปกติจนถึงกับป่วยไข้ได้ การป้องกันที่ดีที่สุดคือสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาๆ อบอุ่นได้พอสบายๆ และพยายามอยู่ในที่มิดชิดควรหลีกเลี่ยงที่ลมผ่านมากๆ หรือที่กลางแจ้ง

แพทย์แผนไทยขอแนะนำอาหารเกี่ยวกับฤดูหนาว อาหารที่กินควรเป็นอาหารที่มีรสสุขุม คือ รสไม่จัด ควรงดเว้นรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด หรือมันจัด โดยเฉพาะอาหารที่มีรสมันเกือบทุกชนิด สมควรงดเว้นชั่วคราวจนกว่าฤดูหนาวจะผ่านพ้นไป ควรกินอาหารที่มีรสร้อน เช่น พริกไทย พริกไทยผงหรือพริกไทยสดแก่ๆ ถ้ากินเป็นอาหารมื้อละ ๑-๒ พวง กินพร้อมกับอาหารเช้า-เย็นจะดีมากๆ หรือจะใช้พริกไทยป่นจะเป็นพริกไทยดำหรือพริกไทยขาวก็ได้ ใช้ผสมลงไปในอาหาร ที่จะกินในแต่ละมื้อ จะทำให้ร่ายกายอบอุ่นได้ดีที่สุด

ถ้าเป็นพริกไทยป่นสมควรใช้ประมาณครึ่งช้อนชาต่อหนึ่งมื้ออาหาร จะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานความหนาวได้อย่างดียิ่ง รสอื่นๆ เช่น รสเปรี้ยว ใช้ประจำในฤดูหนาวก็เหมาะสมมาก แต่ไม่ควรใช้รสที่เปรี้ยวจัด ควรใช้ผักที่มีรสเปรี้ยวพอเหมาะ เช่น ผัก กระเจี๊ยบแดง ยอดส้มมะขาม ยอดหรือส้มมะม่วง จะใช้แกงเลียงหรือแกงส้มก็ได้ รสที่เปรี้ยวพอเหมาะจะช่วยทำให้เลือดซ่านกระจายและบรรเทาเสมหะในลำคอ ในทรวงอกหรือทางทวารได้ดีมาก ขอย้ำว่าอาหารที่ดีที่สุดในฤดูหนาว คือ พริกไทย ผักกระเจี๊ยบ ยอดมะขาม เป็นต้น

อาหารที่สมควรงดเว้น คือ รสมันทุกชนิด เพราะรสมันแม้จะป้องกันความหนาวได้บ้างก็จริง แต่ไปขัดกับสมุฏฐานโรคเสมหะ เท่ากับไปเพิ่มเสมหะให้กำเริบมากขึ้น อีกประการหนึ่งบางท่านอาจจะใช้แอลกอฮอล์ดื่มป้องกันหนาว ข้อนี้ควรระวังเป็นพิเศษ ถ้าหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นได้จะดีมากๆ เพราะแอลกอฮอล์จะทำลายเลือดในขณะดื่ม ในฤดูหนาวจะไม่รู้สึกว่ามีอะไรเกิดขึ้น แต่พ้นจากฤดูหนาวท่านจะพบกับความผิดหวังของชีวิต กลายเป็นนักเสพติดที่ถอนตัวไม่ได้ ขอย้ำว่าแอลกอฮอล์ คือ มหันตภัยร้ายที่เข้าใจผิด คิดว่าป้องกันตัวแต่กลับทำลายตัวเองอย่างสิ้นเชิง จึงสมควรพิจารณาดูให้รอบคอบว่าไข้เปลี่ยนฤดูมักจะมาคู่กับลมหนาว ควรระวังให้ดี ในคำว่า ไข้เปลี่ยนฤดูเสมอ

ก่อนจากผู้เขียนขอฝากไข้ที่น่ากลัวมากที่สุดที่มาพร้อมกับฤดูหนาว คือ ไข้ภายใน อาการไข้ภายในที่มากับสมุฏฐานเป็นมูลเหตุ โรคจรภายใน คือ ตัวราคะ ราคะ หมายถึง ความกำหนัดยินดีในเพศตรงกันข้าม พอเกิดราคะมากขึ้นกลายเป็นสมุฏฐานโมหะเต็มตัว คือ ความมืดบอด ขาดสติสัมปชัญญะ ยับยั้งชั่งจิตไม่ทัน มองเห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด ราคะจริตจึงเข้าทำลายคิดว่าน่าจะช่วยแก้ไขป้องกันความหนาวได้ แท้จริงความหนาวภายนอกยังระงับได้โดยเฉพาะหนาวทางร่างกาย แต่ถ้าสภาพของจิต หนาวราคะ ความกำหนัดยินดีเกิดขึ้น ระงับดับได้ยากที่สุด

สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม   ทุกระดับชั้น และทุกคนที่สนใจ

ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน

อาหารมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

กิจกรรมเสนอแนะ นักเรียนควรศึกษาจากห้องสมุด จากอินเตอร์เน็ต

การบูรณาการ ภาษาไทย อ่านจับใจความ  อ่านออกเสียง อ่านคำยาก

ภาษาอังกฤษ เขียนคำสัพท์

ที่มาและแหล่งข้อมูลhttps://www.doctor.or.th/node/2962

อัพเดทล่าสุด