หมูเป็นไข้...ใครช่วยที


692 ผู้ชม


โรคภัยไข้เจ็บไม่เพียงแต่จะเกิดกับคนเท่านั้น กับสัตว์ก็เกิดได้เช่นเดียวกัน และที่เป็นข่าวกันครึกโครมตอนนี้ คือ "ไข้หวัดหมู" สายพันธ์ใหม่ มาติดตามรายละเอียดกันครับ   

สหรัฐผวา"ไข้หวัดหมู"สายพันธุ์ใหม่ระบาด

 หมูเป็นไข้...ใครช่วยที
[ภาพจาก : MCOT NEWS]

           วอชิงตัน 24 เม.ย. - ศูนย์ควบคุม และป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) รายงานว่า มีประชาชน 7 คนในรัฐแคลิฟอร์เนีย และเท็กซัส ได้รับการวินิจฉัยว่า ติดเชื้อไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่ 
          ซีดีซี ระบุว่า ผู้ติดเชื้อที่พบเป็นเด็กชาย และเด็กหญิง จาก 2 เมืองทางใต้สุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย ส่วนอีก 5 รายเป็นการตรวจพบระหว่างการตรวจตามปกติในฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ระบาด ผู้ป่วยมีอาการใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่ธรรมดา แต่ไม่มีผู้ป่วยคนใดสัมผัสกับหมูโดยตรง โดยผู้ติดเชื้อทั้ง 7 คนหายป่วยแล้ว มีผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียวที่ป่วยมากจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ดีพบว่า เชื้อไวรัสเป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบมาก่อนโดยผสมกันระหว่างไวรัสสายพันธุ์ที่พบในหมู นก และมนุษย์ เจ้าหน้าที่ซีดีซี คาดว่า จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ระบุว่า ยังไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกไปทั่วประเทศในตอนนี้
          เจ้าหน้าที่ซีดีซี ยังไม่แน่ใจว่า ผู้ป่วยที่พบมีความเกี่ยวข้องกับฤดูกาลไข้หวัดที่ยาวนาน รุนแรงกว่าปกติในเม็กซิโกและมีผู้เสียชีวิต 20 คนหรือไม่  ด้านเจ้าหน้าที่แคนาดาให้แพทย์ช่วยเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจของผู้ที่เดินทางมาจากเม็กซิโก ศูนย์ควบคุมโรครัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา แถลงว่า อาการของผู้ป่วยหนักในเม็กซิโก ได้แก่ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตา หายใจไม่สะดวก และร่างกายเหนื่อยล้ามาก โดยอาการป่วยจะพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีอาการหายใจลำบากอย่างรุนแรงภายในเวลา 5 วัน [ที่มา : MCOT NEWS]
 


          จากข่าว นักเรียนจะเห็นว่าการเลี้ยงสัตว์และการดูแลสัตว์ให้เจริญเติบโต โดยไม่มีโรคภัยมารบกวนนั้นย่อมจะเป็นไปไม่ได้ แต่หากขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่จะทำให้สัตว์เลี้ยงของเราเกิดโรคภัยต่าง ๆ เช่น  สถานที่หรือพื้นที่ที่ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ แรงงาน การจัดการ ทุน และการดูแลหรือสุขาภิบาลสัตว์
          การดูแลหรือสุขาภิบาลสัตว์นี้เอง ที่จะทำให้สัตว์ของเรามีสุขภาพดีและปลอดภัยจากโรคซึ่ง ตอนนี้โรคที่กำลังระบาดตอนนี้ และเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่น่าหวาดกลัวสำหรับเกษตรกร และผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรคือ ไข้หวัดหมู เราลองมาศึกษาดูนะครับว่า ไข้หวัดหมู พบที่ไหน ติดเชื้ออย่างไร แก้ไขและป้องกันอย่างไร มาติดตามกันครับ

ประเด็นจากข่าว
          • การดูแลสัตว์
          • หน่วยงาน ซีดีซี
          • ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไข้หวัดหมู
          • ความแตกต่างเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ช่วงชั้นที่ 2
สาระการเรียนรู้
การเลี้ยงสัตว์และการดูแลสัตว์

ผลการเรียนรู้
          1. บอกวิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงภายในบ้านได้ (มฐ.ง 5.1)
          2. เลี้ยงสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ได้ (มฐ.ง 5.1)

การดูแลสัตว์
          การดูแลสัตว์ หรือการสุขาภิบาลสัตว์ หมายถึง การปฏิบัติที่ช่วยรักษาสุขภาพและป้องกันดูแลสัตว์ที่เลี้ยงให้ปราศจากโรค ให้สัตว์เจริญเติบโต และให้ผลผลิตเต็มที่
          การดูแลสัตว์ มีวิธีการ ดังนี้
               1. ให้นำ และอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนตามที่สัตว์ต้องการ โดยควรเป็นอาหารที่สดใหม่ ไม่ควรเก็บอาหารไว้นานเกินไป และเลือกอาหารที่สัตว์ชอบกิน และกินได้ง่าย
               2. หมั่นตรวจโรคให้สัตว์ที่เลี้ยงเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เป็นโรคง่าย ๆ
               3. ในกรณีที่สัตว์เป็นโรค ต้องกักสัตว์ที่เป็นโรคไว้เฉพาะที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคระบาดไปติดสัตว์ตัวอื่น ๆ และทำการรักษาโรคสัตว์นั้น แต่ถ้าสัตว์เสียชีวิตให้ขุดหลุมให้ลึก แล้วใช้ปูนขาวโรยเพื่อฆ่าเชื่อโรค โดยผู้ที่นำซากสัตว์ไปฝัง ควรทำความสะอาดร่างกายหลังจากฝังสัตว์แล้วด้วย
               4. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่สัตว์เลี้ยงเพื่อให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งการฉีดวัคซีนควรฉีดในขณะที่สัตว์มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และไม่ได้เป็นโรคใด ๆ อยู่ [ที่มา : หนังสือสื่อการเรียนรู้สาระพื้นฐาน ชุด แม่บทมาตรฐานการงานอาชีพและเทคโนโลยี ป.6 โดย เอกรินทร์ สี่มหาศาลและคณะ]

ซีดีซี (Centers for Disease Control and Prevention — CDC)
          เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมและป้องกันโรคระบาด รวมถึงการรักษาดูแลอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อ ค้นหาและระงับการแพร่ระบาดของโรคที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ เช่น โรคเอดส์และไข้หวัดนก ได้อย่างทันท่วงที
          ปัจจุบัน ซีดีซี กำลังทำงานอย่างแข็งขัน โดยร่วมมือกับหน่วยงานสุขภาพต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อเข้าแก้ไขปัญหาภัยสุขภาพที่ท้าทาย จัดทีมงานและตั้งหน่วยงานในภาคสนาม ดำเนินงานและจัดกิจกรรมด้านสาธารณสุขใน 43 ประเทศ ภายใต้ความร่วมมือ และการสร้างพันธมิตรร่วมกับภาคราชการและหน่วยงานบริการสุขภาพกับประเทศเจ้าบ้าน ทำให้แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ของ ซีดีซี ทำงานอย่างใกล้ชิดกับบุคลากรต่าง ๆ ในพื้นที่ นำเอาความรู้ วิทยาการด้าน การเฝ้าระวังโรค วิทยาการระบาดวิทยา การวิเคราะห์วิจัยทางห้องปฎิบัติการและการปฎิบัติการควบคุมโรคที่รวดเร็ว ณ จุดที่เกิดปัญหาได้ [ที่มา : อะไรที่ไหน.คอม]

เชื้อไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่ 
          เชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส หรือ Streptococcus suis ไทป์ II หรือโรคไข้หวัดหมู ที่ติดจากหมูสู่คนในมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 36 คนแล้วนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ท่ามกลางความสงสัยที่ว่ามีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรง โดยนายบ็อบ ไดเอตซ์ โฆษกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกับออกมาระบุว่า "อาจจะ" มีแบคทีเรีย/ไวรัสชนิดอื่นๆ หรือสารพิษบางอย่าง หรือเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งแวดล้อมที่มณฑลเสฉวน ซึ่งช่วยเกื้อกูลให้เกิดการติดต่ออย่างรุนแรง 
          โอกาสติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ไทป์ II จะเป็นคนที่ฆ่าหมูและคนเลี้ยงมากกว่าคนทั่วไป แต่การปรับปรุงโรงฆ่าที่ผ่านมาก็มีปัญหา ผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ยังไม่ยอมลงทุนปรับปรุง และกรมปศุสัตว์ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักเพราะกฎหมายที่กระทรวงมหาดไทยโอนอำนาจการควบคุมโรงฆ่าสัตว์มาให้ทางกรมปศุสัตว์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานั้น ยังคงให้อำนาจกับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลโรงฆ่าสัตว์ในพื้นที่อยู่ [ที่มา : สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น]
          สาเหตุ
               ด้วยวิถีชีวิตการเลี้ยงหมูและการบริโภคหมูของคนไทยกับคนจีนไม่ได้แตกต่างกันมากนัก จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วง แต่ไม่ได้ต้องการให้คนแตกตื่นหรือหวาดกลัว
               หมูเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่นิยมรับประทานกันโดยทั่วไป ทำให้มีร้านจำหน่ายเนื้อหมูแพร่หลายทั่วประเทศ เนื้อหมูที่ได้จากหมูที่เลี้ยงในระดับครัวเรือนจะมีโอกาสปนเปื้อนโรคติดเชื้อได้ง่าย ถ้าหากนำเนื้อหมูที่ไม่สุกมารับประทานก็มีโอกาสได้รับเชื้อโรคเช่นเดียวกัน
               โรคติดเชื้อชนิดหนึ่งที่พบแพร่ระบาดโดยมีหมูเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้หวัดหมู ที่เกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า สเตรพโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) แบคทีเรียนี้จะพบอยู่ในช่องปากและโพรงจมูก จึงทำให้เชื้อแพร่ระบาดในหมูด้วยกันได้ง่าย หมูที่ติดเชื้อมักจะไม่แสดงอาการของโรคเนื่องจากมีความต้านทานโรคนี้ได้ แต่ในภาวะที่หมูมีความต้านทานโรคลดลง เช่น หมูที่มีความเครียดเนื่องจากการเลี้ยงอย่างแออัดหรือได้รับอาหารไม่เพียงพอหรือการเลี้ยงหมูด้วยการใช้ไฟฟ้าช็อร์ตเพื่อให้หมูมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาจะได้ให้เนื้อแดงมากและไขมันน้อย สภาพเช่นนี้จะทำให้หมูอ่อนแอ เป็นผลให้มีโอกาสเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ง่ายด้วยแบคทีเรียสเตรพโตคอคคัสซูอิส ถ้าหากนำเนื้อหมูที่ป่วยเป็นโรคไปรับประทานจึงมีโอกาสติดเชื้อโรคนี้ได้ง่ายเช่นกัน
          การแพร่ระบาด
               โรคไข้หวัดหมูจะเริ่มต้นจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู คนฆ่าหมูหรือชำแหละเนื้อหมู คนขายเนื้อหมู รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับหมู บุคคลเหล่านี้จะเป็นกลุ่มแรกที่มีโอกาสสัมผัสกับหมูที่เป็นโรคจึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดหมูอย่างมาก ส่วนผู้บริโภคก็อาจติดเชื้อได้จากการรับประทานเนื้อหมูที่เป็นโรคและไม่ปรุงสุก เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะพักตัวประมาณ 1-3 วัน
          อาการ
               ระยะแรกจะมีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดตามข้อ ต่อมาเชื้อจะแพร่เข้าสู่กระแสโลหิตจึงทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีการทรงตัวผิดปกติ เดินเอนไปเอนมาเหมือนคนเมาสุรา นอกจากนี้อาจสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกได้
          การรักษาและป้องกัน
               โดยใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าหากสามารถนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลได้ทันท่วงทีจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตได้ง่าย รวมถึงการรับประทานเนื้อหมูที่ปลอดภัยจากโรคต่าง ๆ ก็คือ การรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุกอยู่เสมอ โดยใช้ความร้อนในการปรุงอาหารจากเนื้อหมูที่อุณหภูมิไม่น้อยกว่า 75 องศาเซลเซียส หรือถ้าจะให้ดีก็ให้ใช้อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสหรืออุณหภูมิของน้ำเดือดนานอย่างน้อย 2 นาที ความร้อนดังกล่าวนี้จะสามารถทำลายแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดหมูได้ จึงช่วยให้มีความปลอดภัยจากโรคนี้ได้ครับ [ที่มา : สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา]

เชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย
          ข้อแตกต่างระหว่างเชื้อซึ่งเป็นแบคทีเรียและเป็นเชื้อไวรัสก็คือว่าถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียอาการจะค่อยๆลามไปตามส่วนต่างๆ ใช้เวลานานกว่าแต่ถ้าเป็นไวรัสอาการลุกลามและมีอาการหนักจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว แบคทีเรียนั้นเป็นเชื้อแบบจุลินทรีย์ ซึ่งสามารถมองด้วยกล้องจุลทรรศน์ได้ มีรูปร่างหลายแบบตัวกลมก็มี ตัวยาวก็มี เป็นแบบตัวไขควงก็มีเมื่อเข้าไปในตัวเราแล้ว มันก็จะค่อยๆขยายตัว เพิ่มตัวเอง และเข้าไปทำลายอวัยวะต่างๆทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะหรือของระบบในร่างกาย แบคทีเรียใช้ยาปฏิชีวนะฆ่ามันได้
          แต่ไวรัสนั้นตัวเล็กมากจนมองด้วยกล้องจุลทรรศน์ไม่เห็น และมันจะเข้าไปขยายตัว ในร่างกายเราได้ มันจะต้องเข้าไปอาศัยและยึดเอาเซลล์ในตัวเราเป็นที่อยู่แล้ว ทำลายเซลล์และขยายตัวไปในกลุ่มเซลล์ที่มันยึดเอาเป็นที่อยู่นั้นด้วย มันจะขยายตัวได้เร็วมาก เพราะเซลล์ในตัวเราโดยเฉพาะ Bเซลล์ และ T เซลล์ นั้น มีอยู่มากมายอยู่แล้ว B เซลล์ และ T เซลล์นี้ เป็นเซลล์ภูมิชีวิตของเราโดยตรง [ที่มา : กระบองดอทคอม]


ประเด็นคำถาม
          1. มีโรคอะไรที่จะเกิดกับสัตว์เลี้ยงได้
          2. หากโรคเกิดกับสัตว์และคน จะมีวิธีการป้องกันและรักษาอย่างไร


การบูรณาการ
          1. กลุ่มสาระสุขศึกษา
          2. กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์


อ้างอิงเพิ่มเติม
          https://ads.dailynews.co.th/news/images/2009/abroad/4/25/197273_title2.jpg
          https://news.mcot.net/_images/MNewsImages_90365.jpg
          https://news.mcot.net/international/inside.php?value=bmlkPTkwMzY1Jm50eXBlPXRleHQ=
          https://www.ryt9.com/s/prg/57731/
          https://www.dld.go.th/pvlo_kkn/News/news/sara_010.htm
          https://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=1687
          https://www.krabong.com/thairatboard/view.php?topic=17


โดย วัชรพงษ์  วันดี  โรงเรียนบ้านรุน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 3

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=88

อัพเดทล่าสุด