ทำไมต้องเกษตรอินทรีย์ (ตอนที่ 1)


682 ผู้ชม


การใช้สารเคมีของเกษตรกรใช้กับพืชผลทางการเกษตรมีปริมาณมากขึ้นทุกวัน และตกค้างในผลผลิตทางการเกษตรในปริมาณมาณมาก มีผลโดยตรงกับสุขภาพผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหันมาใช้ เกษตรอินทรีย์   

ทำไมต้องเกษตรอินทรีย์ (ตอนที่ 1)

             หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คอลัมน์ข่าวเกษตรทั่วไป ได้กล่าวถึงสารพิษไซเปอร์เมทริน ที่ตกค้างในพืชผักทางการเกษตร ซึ่งมีการค้นพบเมื่อปี 2546 และมีปริมาณมากขึ้นเป็นลำดับ ปีล่าสุด 2551 พบสารไซเปอร์เมทรินมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของผักและผลไม้ที่ส่งออก สารพิษนี้เป็นอันตรายมากต่อแมลงและมนุษย์ กลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศญี่ปุ่นได้กำหนดค่าความปลอดภัย (MRL) ไว้ต่ำมาก คือ 0.03 ppm. แต่ในไทยกลับพบสารนี้ตกค้างในพืชผักสูงถึง 9 ppm.

             ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนเราควรจะหันมาบริโภคพืชผักและทำการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดสารพิษ โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตรหรือเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบกับอันตรายที่เกิดจากสารพิษตกค้างมากที่สุด ทั้งโดยการฉีดพ่นสารเคมี การบริโภคพืชผักที่ตนเองผลิต เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม “เกษตรอินทรีย์” จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่เรา ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคไม่ควรมองข้าม
 

ทำไมต้องเกษตรอินทรีย์ (ตอนที่ 1)
ภาพจาก ครบเครื่องเรื่องเกษตร

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือช่วงชั้นที่ 4

 
เกษตรอินทรีย์คืออะไร?
             เกษตรอินทรีย์ คือการทำการเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ บนพื้นที่การเกษตรที่ไม่มีสารพิษตกค้างและหลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศเพื่อส่งเสริมความอุดสมสมบูรณ์ของดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ ในระบบนิเวศน์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสู่สมดุลธรรมชาติโดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์หรือสิ่งที่ได้มาจากการตัดต่อพันธุกรรม ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบในการผลิตภายใต้มาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผผลิตสูงอุดมด้วยคุณค่าทางอาหารและปลอดสารพิษโดยมีต้นทุนการผลิตต่ำเพื่อคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจพอเพียง แก่มวลมนุษยชาติ และสรรพชีวิต

ทำไมต้องเกษตรอินทรีย์?
              การใช้ทรัพยากรดินโดยไม่คำนึงถึงผลเสียของ ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในแร่ธาตุและกายภาพของดินทำให้สิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ในดินนั้นสูญหาย และไร้สมรรถภาพความไมาสมดุลนี้เป็นอันตรายยิ่งกระบวนการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ผืนดินที่ถูกผลาญไปนั้น ได้สูญเสียความสามารถในการดูดซับแร่ธาตุ ทำให้ผลผลิตมีแร่ธาตุ วิตามิน และพลังชีวิตต่ำเป็นผลให้เกิดการขาดแคลนธาตุอาหารรองในพืช พืชจะอ่อนแอ ขาดภูมิต้านทานโรคและทำให้การคุกคามของแมลง และเชื้อโรคเกิดขึ้นได้ง่ายซึ่งจะนำไปสู่การใช้สารเคมีฆ่าแมลงและเชื้อราเพิ่มขึ้น ดินที่เสื่อมคุณภาพนั้น จะเร่งการเจริญเติบโตของวัชพืชให้แข่งกับพืชเกษตร และนำไปสู่การใช้สารเคมีสังเคราะห์กำจัดวัชพืช ข้อบกพร่องเช่นนี้ก่อให้เกิดวิกฤติในห่วงโซ่อาหาร และระบบการเกษตรของเราซึ่งทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง ในโลกปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรเป็นเงินปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท เกษตรกรต้องซื้อปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ในการเพาะปลูกทำให้การลงทุนสูง และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะที่ราคาผลผลิตในรอบยี่สิบปี ไม่ได้สูงขึ้นตามสัดส่วนของต้นทุนที่สูงขึ้นนั้นมีผลทำให้เกษตรกรขาดทุน มีหนี้สินล้นพ้นตัวเกษตรอินทรีย์จะเป็นหนทางของการแก้ปัญหาเหล่านั้นได้


เป็นเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไร?
            การเกษตรปัจจุบัน สามารถปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ได้โดยเริ่มต้นศึกษาหาความรู้จากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ถูกกำหนดขึ้นควรเริ่มต้นด้วยความสนใจ และศรัทธาหลักทฤษฎีเพื่อการปฏิบัติ โดยศึกษาหาความรู้จากธรรมชาติเมื่อเริ่มปฏิบัติตามนี้แล้ว ก็นับได้ว่าก้าวเข้าสู่การทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ในระยะปรับเปลี่ยนเมื่อปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องตามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่นานก็จะเป็นเกษตรอินทรีย์ได้

มาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ของประเทศไทย มีประเด็นหลักสำคัญ ดังนี้

        - ที่ดินไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด
       - พื้นที่ปลูกต้องไม่มีสารเคมีสังเคราะห์ตกค้าง
        - ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในกระบวนการผลิต
        - ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่คลุกสารเคมีสังเคราะห์
        - ไม่ใช้สิ่งที่ได้จากการตัดต่อทางพันธุกรรม
        - ไม่ใช้มูลสัตว์ที่เลี้ยงอย่างผิดมาตรฐาน
        - ปัจจัยการผลิตจากภายนอกต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน
        - กระบวนการผลิตต้องปราศจากสิ่งปนเปื้อนสารเคมีสังเคราะห์
        - ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งแวดล้อม
        - ต้องได้รับการรับรองมารฐานอย่างเป็นทางการ

หลักการผลิตพืชอินทรีย์

         1. เลือกพื้นที่ที่ไม่เคยทำการเกษตรเคมีมาไม่น้อยกว่า 3 ปี
         2. เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างดอนและโล่งแจ้ง
         3. อยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม
         4. อยู่ห่างจากแปลงที่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี
         5. ห่างจากถนนหลวงหลัก
         6. มีแหล่งน้ำที่ปลอดสารพิษ

ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
 1. นักเรียนคิดว่าสารพิษที่ตกค้างในพืชผลการเกษตรมีปริมาณมากพอที่จะเป็นอันตรายต่อคนเราหรือไม่ เพราะเหตุใด
 2. นักเรียนคิดว่าเกษตรกรควรหันมาผลิตพืชผลทางการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์ได้หรือยัง เพราะเหตุใด
 3. เกษตรอินทรีย์ จะแก้ปัญหาเรื่องความยากจนของเกษตรกรได้หรือไม่เพราะเหตุใด

กิจกรรมเสนอแนะ
           ศึกษาวิธีการลงทุนทำการทำเกษตรในท้องถิ่น ว่าส่วนมากทำการเกษตรแบบใด มีต้นทุนการผลิตที่ต้องใช้จ่ายมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องใด และสุดท้ายมีกำไรจากการทำการเกษตรมากน้อยเพียงใด จัดทำเป็นรายงานกลุ่มนำส่งครูผู้สอน

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
          สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช


 ทำไมต้องเกษตรอินทรีย์ (ตอนที่ 1)
ภาพจาก มูลนิธิข้าวขวัญ

คลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่

แหล่งที่มาของข้อมูล
ศูนย์รวมข่าวสารการเกษตร

https://www.organic.moc.go.th/uploadfile/32/doc/agri.doc

 

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=218

อัพเดทล่าสุด