ถั่วเหลืองปลูกง่าย ปลูกได้ทุกฤดู และถั่วเหลืองสามารถนำมาทำเป็นน้ำนมถั่วเหลืองไว้ทานเองที่บ้านด้วยวิธีการที่ง่าย ๆได้ประโยชน์สูงสุด
เรียนรู้การปลูกถั่วเหลือง
การปลูกถั่วเหลืองสามารถปลูกได้ทุกฤดู และมีขั้นตอนการปลูก คือ อันดับแรกให้ไถแล้วพรวน 1-2 ครั้ง ขึ้นกับสภาพดิน และให้มีความลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ปรับระดับหน้าดินให้สม่ำเสมอไม่ให้มีน้ำขัง และมีการขุดร่อง โดยรอบแปลงปลูก เพื่อระบายน้ำได้สะดวก ในขณะปลูก ดินควรจะมีความชื้นที่ดี เพื่อให้เมล็ดงอกอย่างรวดเร็ว ดินที่จับตัวเป็นแผ่นแข็งที่หน้าดินหลังฝนตกหนักและแห้งนั้น จะทำให้ต้นกล้าไม่สามารถงอกทะลุผิวดินขึ้นมาได้ ทำให้ความงอกไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นดินที่เป็นดินเหนียว ดินร่วนปนเหนียวจึงไม่ควรเตรียมดินให้ละเอียดนัก
วิธีการปลูกถั่วเหลือง
การปลูกถั่วเหลืองมีหลายวิธี เช่น โรยเมล็ดเป็นแถว และวิธีหยอดเป็นหลุม ให้ลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร แต่ที่ให้ได้ผลดี คือ วิธีหยอดเมล็ดในหลุมที่เตรียมไว้ โดยมีระยะระหว่างแถวและระหว่างต้น ที่พอเหมาะกับการเจริญเติบโต คือ50x20 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 3-4 เมล็ด ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 7 กิโลกรัมต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่ หากเมล็ดพันธุ์มีความงอกต่ำจะต้องเพิ่มปริมาณหยอดเมล็ดต่อหลุมให้มากขึ้น
การปรับสภาพดิน
พื้นที่ที่ไม่เคยปลูกถั่วเหลืองมาก่อนหรือดินที่เป็นกรดหรือด่างมากเกินไป ควรปรับสภาพดินให้เหมาะสมก่อน และคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อน ซึ่งเชื้อนี้เป็นแบคทีเรีย มีคุณสมบัติพิเศษ สร้างปมที่ราก พืชตระกูล ถั่วสามารถดึงไนโตรเจนจากอากาศนำไปใช้ได้ ก่อนปลูกจะทำให้เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น มีจำหน่ายทั่วไปในตลาดในหลายยี่ห้อทางการค้า.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 พฤษภาคม 2552
https://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid= 200464&NewsType=1&Template=1
การทำน้ำนมถั่วเหลือง
น้ำนมถั่วเหลืองเป็น "สุดยอดอาหารเนื้อของคนยาก" เป็นคำกล่าวของ นายแพทย์ ยงค์ ชุติมา เป็นผู้เผยแพร่อาหารโปรตีนจากถั่วเหลืองจนแพร่หลายในปัจจุบัน
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
1. หม้อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20-25 ซม.
2. ตะแกรงสำหรับรองผ้าขาวบาง
3. ถั่วเหลืองผ่าซีกหรือไม่ผ่าซีก 1/2 กก.
4. น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลทรายไม่ฟอกสี
5. ผ้าขาวบางขนาดใหญ่กว่าฝาหม้อ
6. น้ำเปล่าปริมาณเต็มหม้อที่เตรียมไว้
7. เครื่องปั่นไฟฟ้า
8. ถ้วยหรือแก้วตักน้ำ
วิธีการทำ
1. นำถั่วเหลืองแช่น้ำใส่ผงล้างผักขจัดสารพิษ (Sodium Bicarbonate) สัก 10-15 นาที แล้วล้างน้ำออก แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน ใส่ไว้ในตู้เย็น ถ้าวางไว้ข้างนอกจะกลิ่น
2. ใส่น้ำในหม้อถั่วเหลืองให้น้ำท่วมถั่ว แล้วนำไปปั่นถั่วจนละเอียดประมาณ 20 วินาที
3. นำถัวเหลืองที่ปั่นแล้วเทลงผ้าขาวบาง ที่วางบนที่กรอง ใช้มือคั้นน้ำออกมาให้หมด
4. ที่เหลือจะได้กากถั่วสามารถนำไปประกอบอาหารต่อได้ เช่น ทำหมูทอดกากถั่วเหลือง
5. จะได้น้ำถั่วเหลืองส่วนหนึ่งแล้วให้ผสมน้ำเปล่าที่เหลือลงไปจนเต็มหม้อตักฟองออกให้หมดแล้วคน 1 รอบ
6. ต้มด้วยไฟอ่อนๆ สำหรับหัวเตาแก๊สปกติที่มี 2 วงให้หรี่ไฟจนวงนอกเกือบดับ ประมาณ 30-40 นาทีไม่ต้องคนระหว่างต้ม จนมองเห็นฟองเล็กๆ แบบไข่กบทั่วหม้อ แล้วปิดไฟ ถ้าปล่อยให้น้ำเดือดพล่าน้ำนมมันจะแตกตัวจะไม่ค่อยอร่อย
7. เติมน้ำตาล แล้วชิมตามชอบ ในรูปใช้น้ำตาลทรายแดงซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำตาลทรายปกติทั้งฟอกและไม่ฟอกสี
8. ได้น้ำนมถั่วเหลืองขาวข้น เสร็จแล้วรอจนเย็นแล้วใส่ตู้เย็น
จะได้นมไม่ต่ำกว่า 20 กล่อง ต้นทุนตกอย่างมากกล่องละ 85 สตางค์ เท่านั้น ถ้าหากเรารับประทานเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 1 แก้ว นมกล่องประมาณ 10 บาทต่อคน เท่ากับ 300 บาทต่อเดือน ถ้าเป็นราคาทำเอง ทั้งเดือนต่อคนก็ 25 บาท จะเห็นได้ว่าต่างมาก สมมติว่าครอบครัวหนึ่งมีสมาชิก 5 คน อาจต้องจ่ายค่านมถึงเดือนละ 1,500 บาท แต่ถ้าทำเองก็จะเหลือเดือนละ 125 บาท น้อยกว่ากันถึง 12 เท่า ที่สำคัญปริมาณที่ทำเองนี้เป็นปริมาณที่เข้มข้นกว่า
ที่มา https://www.numthang.org/content/588/1/
ช่วยกันหาคำตอบ
1. วิธีการปลูกถั่วเหลืองมีกี่วิธี อะไรบ้าง
2. การทำน้ำนมถั่วเหลืองต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง
3. บอกวิธีการขั้นตอนการทำน้ำนมถั่วเหลือง
4. ถั่วเหลือง 1/2 กิโลกรัม ทำน้ำนมถั่วเหลืองได้ปริมาณเท่าไร
5. ทำน้ำนมถั่วเหลืองไว้รับประทานเองได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง
ข้อเสนอแนะ
1. การทำน้ำนมถั่วเหลืองต้องระวังเรื่องความสะอาดให้มากที่สุด
2. กากถั่วเหลือไม่ควรทิ้ง เราสามารถนำไปทำเป็นอาหารหวาน อาหารคาวได้อีกด้วย
บูรณาการกับกลุ่มสาระต่างๆ เช่น
1. กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เรื่อง ประโยชน์ของพืช
2. กลุ่มสาระสุขศึกษาและพละศึกษา เรื่องการดูแลสุขภาพ
3. กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ เรื่อง การชั่ง เวลา
4. กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม เรื่อง ต้นทุนและผลผลิต
เอกสารอ้างอิง
https://www. dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?
Newsid=200464&NewsType=1&Template=1
https://www.numthang.org/content/588/1/
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=516