มารู้จักหมีแพนด้ากันเถอะ


1,078 ผู้ชม


หมีแพนด้า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์หมี (Ursidae) ถิ่นอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน   

เรื่อง มารู้จักหมีแพนด้ากันเถอะ

บทนำ ข่าวเดลินิวส์รายงานความคืบหน้าของหลินฮุ่ย หมีแพนด้าจากประเทศจีนให้กำเนิดแพนด้าน้อย ที่สวนสัตว์ จ.เชียงใหม่ พบว่าตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ มีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจำนวนมาก พาลูกจูงหลานและครอบครัว เพื่อมาดูลูกหมีแพนด้าน้อย แต่ต้องผิดหวังไปตาม ๆ กันเนื่องจากไม่สามารถเห็นตัวจริงของแพนด้าน้อยได้ แต่ทางสวนสัตว์ได้นำช่วงช่วง มาอยู่ในส่วนจัดแสดงเพื่อให้ประชาชนได้ชมกัน พร้อมกับนำโทรทัศน์มาติดตั้งเพิ่มเติมอีก 2 เครื่อง รวมเป็นทั้งหมด 4 เครื่อง เพื่อให้ประชาชนได้ชมภาพของหลินฮุ่ย กำลังเลี้ยงดูลูกน้อยอย่างทั่วถึง ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับประชาชนที่เข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก 

มารู้จักหมีแพนด้ากันเถอะ

เนื้อหาสาระ กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่องการเลี้ยงสัตว์

สาระกาเรียนรู้

ลักษณะทางกายภาพ
            แพนด้ามีขนบริเวณ หู รอบดวงตา จมูก ขา หัวไหล่ สีดำ ในขณะที่บริเวณอื่นจะมีสีขาว มีฟันกรามขนาดใหญ่ และมีกล้ามเนื้อขากรรไกรที่แข็งแรงสำหรับเคี้ยวต้นไผ่ ซึ่งเป็นอาหารของมัน ตัวของมันที่อ้วนและลักษณะการเดินที่อุ้ยอ้าย ทำให้มันดูเป็นสัตว์ที่น่ารัก แต่ในยามที่มีภัยมาถึงตัว แพนด้าก็มีวิธีการต่อสู้เหมือนหมีทั่วๆ ไป นักวิทยาศาสตร์คิดว่าลักษณะสีขาว-ดำ ของแพนด้า อาจช่วยให้มันดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่เป็นภูเขา และมีหิมะ

ขนาด
             เมื่อวัดส่วนสูงในท่ายืน 4 เท้า แพนด้าสูงประมาณ 2-3 ฟุต จากเท้าถึงหัวไหล่ ในขณะที่ท่ายืน 2 เท้า วัดได้ 4-6 ฟุต น้ำหนักประมาณ 80 ถึง 125 กิโลกรัม โดยตัวผู้จะมีน้ำหนักมากกว่าตัวเมีย 10 ถึง 20 %

มารู้จักหมีแพนด้ากันเถอะ

ถิ่นที่อยู่อาศัย
             แพนด้าอาศัยอยู่ในป่าไผ่ที่ความสูงประมาณ 3,600 ถึง 10,500 ฟุต ซึ่งครั้งหนึ่งพวกมันเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ต่ำกว่านี้ แต่การถางป่าเพื่อทำฟาร์ม หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่น ทำให้มันต้องเปลี่ยนถิ่นที่อยู่อาศัย เราพบแพนด้าอาศัยอยู่บริเวณภูเขาทั้งในตอนกลาง และตะวันตกของประเทศจีน

ศัตรู
            แพนด้าที่โตเต็มที่แล้วมีศัตรูน้อยมาก ศัตรูของมัน ได้แก่ เสือดาวที่อาศัยอยู่บนภูเขาที่มีหิมะ ซึ่งจับลูกหมีแพนด้าที่พลัดจากแม่ของมันกินเป็นอาหาร หรืออาจเป็นฝูงหมาป่าที่จับลูกหมีกินเช่นกัน แต่ศัตรูที่สำคัญที่สุดคือ มนุษย์ที่ล่าแพนด้าเพื่อนำหนังมาขายในตลาดมืด

อาหาร
           โดยปกติแพนด้ากินอาหารประมาณ 40 ปอนด์ต่อวัน อาหารหลักของแพนด้าที่อาศัยในป่าคือต้นไผ่ บางครั้งในยามขาดแคลนอาหารหลัก แพนด้าก็กินหัวของพืชประเภทที่เราใช้หัวเป็นอาหาร (เช่น แครอท มันฝรั่ง) หญ้า และสัตว์ขนาดเล็ก แพนด้าที่เลี้ยงในสวนสัตว์ (ต่างประเทศ) นอกจากจะได้รับไผ่เป็นอาหารหลักแล้ว อาหารอื่นๆ ได้แก่ แครอท แอปเปิ้ล มันฝรั่ง

มารู้จักหมีแพนด้ากันเถอะ

การสืบพันธุ์
           ระยะเวลาผสมพันธุ์อยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งในช่วงเวลานั้น ตัวเมียจะมีความต้องการเพียง 2 ถึง 3 วันเท่านั้น สิ่งที่ทำให้ตัวผู้และตัวเมียมาพบกันคือ เสียงร้อง หรือสิ่งที่ถูกขับออกมาจากตัวผู้หรือตัวเมียตามจุดต่างๆ เพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม ตัวเมียใช้ระยะตั้งครรภ์ตั้งแต่ 95 ถึง 160 วัน และถึงแม้ว่าแพนด้าตัวเมียสามารถให้กำเนิดลูกแพนด้าฝาแฝดได้ แต่ส่วนใหญ่จะมีลูกแพนด้าเพียงตัวเดียวที่รอดชีวิต เนื่องจากอาหารที่จำกัด 
ถ้ายกเว้นสัตว์จำพวกจิงโจ้แล้ว เราถือว่าลูกแพนด้าเป็นลูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุด ลูกแพนด้าที่เกิดใหม่มีน้ำหนักเพียง 4 ถึง 6 ออนซ์เท่านั้น (110 ถึง 170 กรัม) และยังไม่ลืมตา ลูกแพนด้ามีการเจริญเติบโตที่ช้า จะมีน้ำหนักเท่ากับแพนด้าพ่อ-แม่ของมันเมื่ออายุประมาณ 2 ถึง 4 ปี ลูกแพนด้าจะอยู่กับแม่จนอายุประมาณ 2 ปี จึงออกไปเผชิญโลกด้วยตัวเอง เนื่องจาก อายุที่สามารถสืบพันธุ์ได้ของแพนด้าตัวเมีย อยู่ในช่วงประมาณ 6 ถึง 20 ปี และตัวเมียจะให้กำเนิดลูกอย่างมาก 2 ปีต่อลูกแพนด้า 1 ตัว ดังนั้นแพนด้าตัวเมียสามารถให้กำเนิดลูกแพนด้าได้อย่างมากประมาณ 7 ตัว ในช่วงอายุขัยของมัน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการให้กำเนิดลูกที่น้อยมาก และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมจำนวนแพนด้าที่เกิดใหม่จึงไม่สามารถทดแทนแพนด้าที่ตายไปจากการถูกล่าได้ การลดจำนวนลงอย่างมากของหมีแพนด้าในระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้มีการตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่อนุรักษ์หมีแพนด้าขึ้น

อายุขัย
            นักวิทยาศาสตร์ยังหาข้อสรุปที่แน่นอนไม่ได้ว่าแพนด้ามีอายุได้ยืนยาวเท่าไร มีสถิติที่บันทึกไว้โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนว่า แพนด้าที่สวนสัตว์มีอายุถึง 35 ปี

มารู้จักหมีแพนด้ากันเถอะ

พฤติกรรม
แพนด้ามักอยู่ในท่านั่งเวลากินอาหาร ซึ่งคล้ายกับคนนั่ง มันใช้อุ้งเท้าของมันช่วยจับต้นไผ่ในขณะที่กินอาหาร เวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการพักผ่อน การกิน และการหาอาหาร งานวิจัยช่วงแรก ทำให้นักวิทยาศาสตร์คิดว่า แพนด้าเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่โดยลำพัง จะพบกันเฉพาะช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์เท่านั้น แต่จากงานวิจัยต่อมา พบว่าแพนด้ามีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยแต่ละกลุ่มมีการใช้ถิ่นที่อยู่อาศัยบางบริเวณร่วมกัน และบางครั้งสมาชิกในกลุ่มหนึ่งออกมาพบสมาชิกในกลุ่มอื่นในช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์ อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการทำวิจัยต่อไป

ช่วง ช่วง (CHUANG CHUANG) 
หมีแพนด้า เพศผู้ อายุ 5 ปี เกิดวันที่ 6 สิงหาคม 2543 
พ่อชื่อ ชิงชิง แม่ชื่อ ไป่แฉว บ้านเกิดอยู่ที่ ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้าประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน 
ปัจจุบันน้ำหนัก 150 กิโลกรัม อาศัยอยู่ ณ สวนสัตว์เชียงใหม่ ประเทศไทย

หลินฮุ่ย (LIN HUI) 
หมีแพนด้า เพศเมีย อายุ 4 ปี เกิดวันที่ 28 กันยายน 2544 
พ่อชื่อ พ่านพ่าน แม่ชื่อ ถาง ถาง บ้านเกิดอยู่ที่ ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้าประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน 
ปัจจุบันน้ำหนัก 110 กิโลกรัม อาศัยอยู่ ณ สวนสัตว์เชียงใหม่ ประเทศไทย

ข้อคำถามสานต่อความคิด
                การเลี้ยงหมีแพนด้าในประเทศไทย ต้องเลี้ยงในห้องปรับอากาศ ถ้าต้องการเลี้ยงนอกห้องปรับอากาศจะทำได้หรือไม่เพราะเหตุใด

การเชื่อมโยงองค์ความรู้
                 สาระการเรียนรู้ศิลปะ      (ทัศนศิลป์)  วาดภาพ สร้างสรรค์งาน ตามจินตนาการ  
                 สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์      ทักษะกระบวนการคิด และทำงานแบบวิทยาศาสตร์

แหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.fonz.org/zoogoer/zg-archives.htm 
https://www.giantpandabear.com 
https://www.bearandbuddy.com/pandas.asp   
https://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6-3/no29-39/P9.htm  
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=534

อัพเดทล่าสุด