สาระน่ารู้ เรื่อง ปุ๋ยตัวหน้ากับทางเลือก


656 ผู้ชม


ทุกวันนี้ปุ๋ยแพงมากจะใช้ทิ้งขว้างอย่างตะก่อนคงไม่ไหว ต้องหันมาใช้วิธี “สั่งตัด” กันตามเรื่องตามราว คุณแม่ขอร้องมาว่า “ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ ให้เป็นมื้อเป็นคราว   
  

    มุมเกษตร...................................................................................................................ดินเหนียว

                                                           ปุ๋ยตัวหน้ากับทางเลือก
   ทุกวันนี้ปุ๋ยแพงมากจะใช้ทิ้งขว้างอย่างตะก่อนคงไม่ไหว     ต้องหันมาใช้วิธี  “สั่งตัด” กันตามเรื่องตามราว    คุณแม่ขอร้องมาว่า “ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน”   แต่ละมื้อละคราวที่จะใช้ปุ๋ยไฮโซก็ต้องรู้เขารู้เราเสียก่อนจะได้ไม่พลาดท่า  ปุ๋ยตัวหน้า หรือ ปุ๋ยไนโตรเจนใช้กันเป็นล่ำเป็นสันอยู่ ๒ รูป  คือ รูปไนเตรท และ รูปแอมโมเนียม    ตัวแรกมักมากับสูตร  เช่น  แอมโมเนียมไนเตรท  โพแทสเซียมไนเตรท (ดินประสิว)  แคลเซียมไนเตรท  ฯลฯ พวกหลังมากับแม่ปุ๋ยเยอะ (แอมโมเนียมคลอไรด์ แอมโมเนียมซัลเฟต ยูเรีย)  ดังนั้นปุ๋ยสูตรต่าง ๆ ก็อาจมีตัวหน้า แบบปนเปกัน หรือ แบบรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งการใช้ไม่เหมือนกัน

   พวกไนเตรทมีออกซิเจนเป็นองก์ประกอบ  พวกนี้เขามักไม่บอกเราว่าเป็นไนเตรท แต่ข้างถุงปุ๋ยจะบอกว่า “ห้ามใช้ในนาข้าว”   จริง ๆ ต้นข้าวก็ไม่รังเกียจรังงอนอะไร   แต่ต้องใช้กับ ข้าวไร่   ใช้ในดินนาซึ่งมีสภาพน้ำขังมันจะระเหยไปในรูปก๊าซไนตรัสออกไซด์ ต้นข้าวไม่ทันได้ใช้ปุ๋ยก็ลาจากไปเสียแล้ว  พวกดินบัว ดินแห้ว ก็ต้องงดเหมือนกัน แต่จะอวดรวยมั่งก็ไม่มีใครว่า เขาจะว่าโง่มากกว่า   พวกสับปะรดไม่ควรใช้เพราะอาจมีการสะสมสารไนไตรท์ในผล ซึ่งไม่เป็นผลดีทางโภชนาการ    การใส่ปุ๋ยควรกลบปุ๋ยด้วย  จะใส่แบบหลุม แบบร่อง แบบหว่าน ก็ควรกลบทั้งนั้น    ดูแมวเวลาถ่ายยังกลบเลย อย่าเอาแบบสุนัขใส่ปุ๋ยแล้วเปิดก้นหนี (เอ๊ะ! พูดเรื่องอะไรเนี่ย ?)

   พวกแอมโมเนียม ใช้ได้ทั้งในดินนา (น้ำขัง) และ ในดินไร่ แต่จะอย่างไรก็ตามการใช้ควรกลบให้มิดชิดเพราะมันก็ระเหยในรูปก๊าซแอมโมเนียได้เหมือนกัน  ต้องเลี่ยงใส่พร้อมการใส่ปูน หรือ ปุ๋ยที่มีคุณสมบัติเป็นปูนเช่นพวกปุ๋ยหินฟอสเฟต  ความเป็นด่างของปูนจะทำให้ปุ๋ยแตกตัวเป็นก๊าซและน้ำ ต้นพืชก็เหลือแต่น้ำไว้ดูต่างหน้าเพราะก๊าซหนีไปหมด ถ้าจำเป็นต้องใส่ก็ควรทิ้งให้ฤทธิ์ปูนเพลาลงเสียก่อน (นานสัก ๓ สัปดาห์ขึ้นไป) หรือ ใส่แบบเป็นจุด เช่น เป็นหลุม ปุ๋ยจะได้ไม่กระจายไปถูกปูน ถูกความเป็นด่างกระตุ้นให้กลายสภาพไป

   ก็ยังพอมีทางเลือกอื่นอีกที่จะหาไนโตรเจนมาใช้แทนได้โดยไม่ต้องซื้อหา เช่นการไถกลบ “ปุ๋ยพืชสด” หรือ ใช้พืชตระกูลถั่วร่วมในระบบปลูกพืช   เมื่อเกือบ ๓๐ ปี มาแล้วเคยมีการกำหนดคำจำกัดความของ  “ปุ๋ยชีวภาพ”     ให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารพืชรวมกันแล้วมากกว่า ๒๐%      ถ้าปุ๋ยอินทรีย์หรืออินทรียวัสดุ ที่มีธาตุอาหารพืชต่ำกว่ากำหนดให้ถือเป็น “วัสดุปรับปรุงดิน” ไม่ใช่ “ปุ๋ยชีวภาพ”     พืชพวก แหนแดง โสนอัฟริกัน  เป็นปุ๋ยชีวภาพที่ดีมากสามารถใช้แทนปุ๋ยไนโตรเจนได้   พวก ถั่วพุ่ม ปอเทือง โสนพันธุ์อื่น ๆ ก็เข้าข่ายปุ๋ยชีวภาพที่ดีเช่นกัน ลองพิจารณาเลือกดูนะครับ  การปลูกพืชตระกูลถั่วเน้นปุ๋ยที่ตัวกลางและตัวหลังเป็นหลัก  ตัวหน้าใช้เท่าที่จำเป็น

                   สาระน่ารู้ เรื่อง ปุ๋ยตัวหน้ากับทางเลือก            สาระน่ารู้ เรื่อง ปุ๋ยตัวหน้ากับทางเลือก
                      แหนแดงในสภาพปกติมีสีเขียว             แหนแดงเมื่อใกล้ตายจะมีสีน้ำตาลแดง

                             สาระน่ารู้ เรื่อง ปุ๋ยตัวหน้ากับทางเลือก                       สาระน่ารู้ เรื่อง ปุ๋ยตัวหน้ากับทางเลือก

        โสนอัฟริกันมีปมที่ลำต้น/ ไถกลบโสนก่อนปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อบำรุงดินและเป็นแหล่งปุ๋ยตัวหน้า
ที่มา :  อาจารย์วิจัย  ไชยยงค์

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=751

อัพเดทล่าสุด