โรคปากและเท้าเปื่อยของโคกระบือ


793 ผู้ชม


โรคปากและเท้าเปื่อย เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ในสัตว์ที่มีกีบคู่ เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และกวาง ยกเว้นม้า เป็นโรคที่มีอันตรายน้อย ไม่ทำให้สัตว์ที่ป่วยถึงตาย แต่ถ้าโรคนี้เกิดระบาดขึ้น จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก   

ทำไมจึงต้องคุมเข้มโรคปากและเท้าเปื่อยของโคกระบือในช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิม

           หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 21 สิงหาคม 2552 ในคอลัมน์การเกษตรได้เสนอข่าว เกี่ยวกับเรื่องกรมปศุสัตว์เผยไทยมีความเสี่ยงรับโรคปากเท้าเปื่อย เหตุนำเข้าโค-กระบือ จากประเทศเพื่อนบ้าน  โดยเฉพาะช่วงปลายปี ในพื้นที่ภาคใต้ เทศกาลถือศีลอด ของผู้นับถือศาสนาอิสลาม โดยนายสัตวแพทย์ยุคล  ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่สำนัก งานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงปักกิ่งได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย ทั้งชนิด Asia1 และชนิด A ในประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันประเทศไทยยังมีการนำเข้าโค-กระบือ จากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อโรคดังกล่าวเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปี ในพื้นที่ภาคใต้มีความต้องการบริโภคโคค่อนข้างมากตามเทศกาลถือศีลอดของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม จึงเห็นสมควรที่เราควรจะมาศึกษาเรื่องโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กันดีกว่า

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือช่วงชั้นที่ 4

โรคปากและเท้าเปื่อยหรือ FMD (Foot and Mouth Disease)
           โรคปากและเท้าเปื่อยส่วนใหญ่เกษตรกรมักไม่ให้ความสนใจเพราะคิดว่าสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคแล้วไม่ตายมีอัตราการตายต่ำ การระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้อัตราการป่วยของโรคค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรค มีผลทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณอย่างมากในการรักษาและการควบคุมการแพร่ระบาด ที่สำคัญสูญเสียโอกาสในการส่งออกปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ ทำให้เสียเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ประเทศผู้ซื้อจะใช้เป็นเงื่อนไขในการไม่รับซื้อสินค้าจากประเทศไทย ทั้งยังไม่สามารถนำสัตว์มาใช้งานได้ จึงอยากชี้แจงให้เกษตรกรรู้และเข้าใจโรคปากและเท้าเปื่อย เพื่อประโยชน์ในการดูแลสัตว์อย่างถูกต้อง

โรคปากและเท้าเปื่อยของโคกระบือ
ที่มาภาพสาขาวิชาสัตวศาสตร์

สาเหตุของโรค
          เกิดจากเชื้อไวรัสมี 7 ชนิด ในประเทศไทยพบ 3 ชนิด คือ ชนิดโอ (O) ชนิดเอ (A) ชนิดเอเชียวัน (Asia -1) ซึ่งเชื้อไวรัสแต่ละชนิดจะไม่มีภูมิคุ้มกันซึ่งกันและกัน เช่น สัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคชนิดโอ ก็ไม่สามารถกันโรคที่เกิดจากชนิดเอได้ 
ประเภทของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคนี้
          โรคนี้มักเกิดในสัตว์กีบคู่ทุกชนิด เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุกร และอาจ พบใน กวาง ช้าง อูฐ รวมทั้งในคนได้อีกด้วย แต่การติดเชื้อในคนสามารถติดจากบาดแผลทางผิวหนังหรือเยื่อบุช่องปาก การติดเชื้อจะเป็นแบบชั่วขณะมีความรุนแรงน้อย บางโอกาสจึงจะแสดงอาการ เช่น มีตุ่มที่มือ เท้า แต่การเกิดโรคปากและเท้าเปื่อยในคนจะเกิดได้ยากมาก

โรคปากและเท้าเปื่อยของโคกระบือ
ที่มาภาพ โลกเกษตร

การติดต่อของโรค
           โรคปากและเท้าเปื่อยนี้แพร่ระบาดรวดเร็ว และกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคนี้สามารถแพร่ระบาดได้จาก การได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะที่ใช้บรรทุกสัตว์ คน เสื้อผ้า รองเท้า อาหาร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ภายในคอกสัตว์ การสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรง หรือสิ่งขับถ่ายจากสัตว์ป่วย เช่น น้ำนม ลมหายใจ น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ ของเหลวจากตุ่มใส สัตว์ป่วยสามารถแพร่โรคได้แม้จะยังไม่แสดงอาการหรืออยู่ในระยะฟักตัว ในสัตว์แต่ละชนิดปริมาณไวรัสที่ขับออกมาจะ แตกต่างกัน ในสุกรขับออกมาทางลมหายใจมากกว่าโค 30 - 1,000 เท่า สุกรจึงเป็นแหล่งแพร่กระจายโรคที่สำคัญ โรคปากและเท้าเปื่อยนี้แพร่ระบาดได้ อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในที่มีอุณหภูมิต่ำ ความชื้นสูง 
อาการของโรค
ในระยะแรก หลังจากได้รับเชื้อไวรัสปากและเท้าเปื่อย 2 - 8 วัน สัตว์จะมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร เกิดเม็ดตุ่มใสที่เยื่อบุภายในช่องปาก หรือลิ้น หรือ เหงือก หลังจากนั้นตุ่มใสจะแตก และเนื้อเยื่อจะลอก ทำให้สัตว์เจ็บปาก กินอาหารลำบากจน กระทั่งกินอาหารไม่ได้ 
       ในระยะที่สอง เชื้อจะเข้าสู่กระแสโลหิต และกระจายไปทั่วร่างกาย ผิวหนังที่เท้าจะบวมแต่ง มีน้ำเหลืองขังอยู่ภายใน แล้วแตกออกเป็นแผล มักพบบริเวณไรกีบหรือซอกกีบ ซึ่งอาจเปื่อย ลอกคราบ และอาจทำให้ขาสัตว์เสียได้ นอกจากนั้นหากเกิดในโคนม จะทำให้อัตราการให้นมลดลง และจะหยุดให้นมในที่สุด หากเกิดในโคเนื้อและสุกร จะทำให้สัตว์น้ำหนักลด มีผลให้เกษตรกร สูญเสียทั้งเงินและเวลาในการเลี้ยง และหากเกิดในสัตว์ที่กำลังท้องอาจทำให้สัตว์เกิดการแท้ง และมีปัญหาการผสมไม่ติดได้
การตรวจวินิจฉัยโรค
          -  การสังเกตจากอาการของสัตว์ป่วย เช่น น้ำลายไหล ขาเจ็บ เมื่อเปิดปากตรวจ พบมีตุ่มใสหรือแผลบริเวณ ลิ้น เหงือก เยื่อบุในช่องปาก แผลบริเวณซอกกีบ ไรกีบ บางรายมีการลอกของกีบ
          -  การตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการ โดยการเก็บตัวอย่างน้ำจากตุ่มใส หรือเนื้อเยื่อของตุ่มใสที่แตกออกทั้งในบริเวณ ลิ้น เหงือก เยื่อบุในช่องปาก บริเวณกีบ ใส่ขวดที่สะอาดมี 50 % กลีเซอรีนบัฟเฟอร์ ผสมอยู่ นำส่งห้องปฏิบัติการพร้อมกรอกประวัติสัตว์ที่ป่วยโดยละเอียด เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการโดยวิธี ELISA Test เพื่อทำการจำแนกชนิดของไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD Typing) ว่าสัตว์ป่วยด้วยเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อยชนิดใดหรือทำการแยกเชื้อไวรัส

โรคปากและเท้าเปื่อยของโคกระบือ
ที่มาภาพ รพ.มีสุข

การควบคุมและ ป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย  
1.   การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 
2.   การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โรคปากและเท้าเปื่อย โดยการฉีดวัคซีน อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง 
3.   การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ 
4.   การทำลายสัตว์ป่วย 
      -   กรณีที่เกิดโรคปากและเท้าเปื่อย ขึ้นในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตปลอดโรคแล้ว ให้ทำลาย 100 เปอร์เซ็นต์ทันที 
      -   กรณีที่เกิดโรคปากและเท้าเปื่อยขึ้นในพื้นที่ ที่ยังไม่ได้มีการประกาศเป็นเขตปลอดโรค ให้ทำลายเฉพาะกรณี ที่ทำลายแล้วสามารถควบคุมโรคได้ 
      -   กรณีที่ตรวจพบโรคในสัตว์ที่เคลื่อนย้ายไปต่างท้องที่ การทำลายสัตว์ป่วยตามระเบียบที่กรมปศุสัตว์กำหนด สามารถชดใช้เงินให้แก่เจ้าของสัตว์ไม่เกิน 75% ของราคาสัตว์ในท้องตลาดขณะนั้น ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 ยกเว้นกรณีเจ้าของสัตว์จงใจ กระทำผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ 2499 ส่วนการเบิกจ่ายเงินชดใช้ กรณีทำลายสัตว์ให้เบิกจ่ายให้เบิก จ่ายงบประมาณเงินหมวดอุดหนุน
ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
1. โรคปากและเท้าเปื่อยสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างไร
2. โรคปากและเท้าเปื่อยติดต่อถึงคนได้หรือไม่
3. ถ้าพบสัตว์ที่เป็นโรคปากและเท้าเปื่อยควรปฏิบัติอย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
 ศึกษาค้าคว้าเกี่ยวกับโรคระบาดชนิดอื่นที่เกิดกับสัตว์ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศว่ามีโรคใดบ้าง และทำรายงานส่งคนละ 1 เรื่อง
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
          สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา เกี่ยวกับเรื่องโรคระบาดหรือโรคติดต่อ
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.dld.go.th/inform/article/article24.html 
https://pirun.ku.ac.th/~b4814046/FMD.htm 
https://www.nfi.or.th/current-trade-issues/fmd-thai.html

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1521

อัพเดทล่าสุด