"กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน" กับแผนการจัดการเรียนรู้ฉุกเฉินของครูเนาว์


828 ผู้ชม


ความรู้เกิดอย่างหลากหลายภายใต้ห้องปฏิบัติการ แต่ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็อาจเกิดได้ถ้าขาดการป้องกัน   

   "กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน" กับแผนการจัดการเรียนรู้ฉุกเฉินของครูเนาว์  

 นักเรียนชายชั้น ม.2 ติด "0" วิชาวิทยาศาสตร์ ตั้งใจทดลองงานแก้เกรด แต่สะเพร่าหยอกล้อทำตะเกียงที่ถือหล่นใส่แกลลอนแอลกอฮอล์ระเบิด ได้รับบาดเจ็บ ถูกไฟลวกตามร่างกาย หมอสั่งห้ามเยี่ยม หวั่นเด็กติดเชื้อ
 กลายเป็นเรื่องสลดใจไปทันที เมื่อนักเรียกชั้น ม.2 ทดลองวิทยาศาสตร์ ทำตะเกียงติดไฟหล่นใส่แกลลอนแอลกอฮอล์เกิดระเบิดได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 ราย ครั้งนี้เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 2 พฤศจิกายน ที่โรงเรียนบ้านหนองขอนวิทยา ต.หนองขอน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี บริเวณห้องทดลองวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน เกิดเหตุแอลกอฮอล์ที่ใช้ทดลองถูกไฟจากตะเกียงระเบิดเข้าใส่ ทำให้ ด.ช.ทรงศักดิ์ มาศรี อายุ 14 ปี และ ด.ช.เมษา สุขสุมาลย์ อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ได้รับบาดเจ็บสาหัส ครู อาจารย์ที่เห็นเหตุการณ์จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี
 (อ่านข่าวทั้งหมดของ คม ชัด ลึก)https://news.sanook.com/crime/crime_15757.php

    เรื่องยังไม่เงียบ วันนี้4กันยายน2552ก็เกิดขึ้นอีกกับนักเรียนโรงเรียนดังย่านชลบุรี ตะเกียงแอลกอฮอล์ระเบิดอันตรายกับเด็กซ้ำแล้วซ้ำอีก ครูผูสอนปฏิบัติการไม่ว่าจะรายวิชาใด ต้องระวังและเตรียมพร้อม ให้ความรู้และวิธีป้องกันอันตราย ข่าวมีอยู่ว่า...

"กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน" กับแผนการจัดการเรียนรู้ฉุกเฉินของครูเนาว์

(แพทย์ทำแผลให้นางกฤติกา ฟักอ่อน  อาจารย์  ร.ร.อัสสัมชัญศรีราชา  จ.ชลบุรี  ที่ถูกไฟลวกในระหว่างทดลองเรื่องการติดไฟของแอลกอฮอล์)

ทดลองวิทย์ระเบิดไฟลวก

 สยองแอลกอฮอล์ระเบิดไฟลุกลวกอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา บาดเจ็บระนาวร่วม 20 คน หามส่งโรงพยาบาล 13 คน ทำให้ครูสาว 1 คน และนักเรียน 2 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัสถูกไฟลวกตั้งแต่เอวถึงศีรษะ เผยสาเหตุเนื่องจากทางโรงเรียนจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ และจัดให้เด็กร่วมทดลองการติดไฟของแอลกอฮอล์ โดยนักเรียนจุดไฟกับตะเกียงแอลกอฮอล์ แต่มองไม่เห็นเปลวไฟ เข้าใจว่ายังจุดไม่ติด เลยคว้าขวดแอลกอฮอล์หยดใส่ไส้ตะเกียง ทำให้ไฟลุกพึ่บ นักเรียนเคราะห์ร้ายตกใจทิ้งขวดกระแทกโต๊ะแตก ทำให้ไฟลามไปถึงขวดแอลกอฮอล์ที่ตั้งเรียงรายอยู่บนโต๊ะ จนเกิดระเบิดสยอง .....มีคุณครูบาดเจ็บสาหัส1ท่านด้วย.......เศร้าจัง
อ่านข่าวทั้งหมดได้ที่ https://www.thairath.co.th/today/view/30985

     "วันนี้ทุกคนเงียบมากที่ได้อ่านข่าวข้างต้นที่ครูเนาว์วางไว้ทุกกลุ่มในห้องเรียนพร้อมนำข้อควรปฏิบัติที่คุณครูควรทำความเข้าใจกับเด็กมาฝากทุกกลุ่มสาระฯทุกรายวิชาที่ใช้วัสดุอุปกรณ์ชนิดที่อาจเกิดอันตรายได้ อ่านจบเราก็อภิปรายกันถึงข่าวข้างต้น นำมาสู่ข้อสรุปต่อไปนี้"

"กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน" กับแผนการจัดการเรียนรู้ฉุกเฉินของครูเนาว์  ข้อควรปฏิบัติในห้องปฏิบัติการทั้งวิทย์+การงาน
 
    โดยทั่วไปแล้วการเรียนภาคปฏิบัติมักทำในห้องปฏิบัติการเสมอ เพื่อให้การทดลอง ได้ผลดีหรือมีความผิดพลาดน้อยที่สุดและเกิดความปลอดภัยต่อผู้ทดลองเอง จึงขอเสนอแนะข้อควรปฏิบัติทั่ว ๆ ไปในห้องปฏิบัติการดังต่อไปนี้ 
    1. ต้องระลึกอยู่เสมอว่า ห้องปฏิบัติการทดลองเป็นสถานที่ทำงาน ต้องทำการทดลอง ด้วยความตั้งใจ อย่างจริงจัง 
    2. ต้องรักษาระเบียบบนโต๊ะปฏิบัติการ เพราะการทดลองจะผิดพลาดได้ง่ายถ้าบนโต๊ะ ปฏิบัติการไม่มีระเบียบ เช่น อาจหยิบหลอดทดลองผิด หรือในกรณีที่ทำสารหกจะต้องรีบทำความสะอาดทันที เครื่องแก้วหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองแล้วต้องล้างให้สะอาดแล้วเก็บเข้าตู้ เมื่อไม่ต้องการใช้ทดลองอีก นอกจากนี้การรักษาระเบียบบนโต๊ะปฏิบัติการยังสามารถช่วยลดอุบัติเหตุและยังเป็นการช่วยประหยัดเวลาในการค้นหาสิ่งของที่ต้องการอีกด้วย 
    3. ต้องอ่านคู่มือปฏิบัติการทดลองก่อนที่จะปฏิบัติการทดลองนั้น ๆ และพยายามทำ ความเข้าใจถึง ขั้นตอนการทดลองให้แจ่มแจ้ง หากมีความสงสัยในตอนใด ๆ จะต้องถามอาจารย์ ผู้ควบคุมเสียก่อน ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการทดลอง การอ่านคู่มือปฏิบัติการทดลองมาก่อนที่จะปฏิบัติการทดลองนั้น นับว่ามีประโยชน์มาก เพราะจะช่วยประหยัดเวลาในการทดลองและผู้ทดลองจะทำการทดลองด้วยความเข้าใจ 
    4. ต้องไม่ทำการทดลองใด ๆ ที่นอกเหนือไปจากการทดลองที่มีไว้ในคู่มือปฏิบัติการ หรือ ที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ผู้ควบคุมเท่านั้น แต่ถ้าต้องการทำการทดลองใด ๆ ที่นอกเหนือไปจากหนังสือคู่มือหรือที่อาจารย์มอบหมาย จะต้องได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้ควบคุมเสียก่อน 
    5. อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการทดลองต้องสะอาด ความสกปรกเป็นปัจจัยสำคัญ ประการหนึ่งที่ทำให้ผลการทดลองผิดพลาด หรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง 
    6.อุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่น ๆ เช่น สามขา ที่ยึดสายยาง ฯลฯ ที่นำมาใช้ในการทดลอง นั้น ๆ จะต้องนำไปเก็บไว้ที่เดิมหลังจากเสร็จสิ้นการทดลองแล้ว 
   7. ควรทำการทดลองในห้องปฏิบัติการตามเวลาที่กำหนดให้เท่านั้น ไม่ควรทำงานใน ห้องปฏิบัติการเพียงคนเดียว เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะไม่มีใครทราบ และไม่อาจช่วยได้ทันท่วงที 
   8. เมื่อต้องการใช้สารละลายที่เตรียมไว้ ต้องรินออกจากขวดใส่ลงในบีกเกอร์ก่อน โดยริน ออกมาประมาณเท่ากับจำนวนที่ต้องการจะใช้ อย่ารินออกมามากเกินไปเพราะจะทำให้สิ้นเปลืองสารโดยเปล่าประโยชน์ ถ้าสารละลายที่รินออกมาแล้วนี้เหลือให้เทส่วนที่เหลือนี้ลงในอ่าง อย่าเทกลับลงในขวดเดิมอีก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการปะปนกัน 
   9. ถ้ากรดหรือด่างหรือสารเคมีที่เป็นอันตรายถูกผิวหนังหรือเสื้อผ้าต้องรีบล้างออกด้วย น้ำทันทีเพราะมีสารเคมีหลายชนิดซึมผ่านเข้าไปในผิวหนังได้อย่างรวดเร็ว และเกิดเป็นพิษขึ้นมาได้ ซึ่งแต่ละคนจะมีความรู้สึกหรือเกิดพิษแตกต่างกัน 
   10. อย่าทดลองชิมสารเคมีหรือสารละลาย เพราะสารเคมีส่วนมากเป็นพิษอาจเกิด อันตรายได้นอกเสียจากจะได้รับคำสั่งจากอาจารย์ผู้ควบคุมให้ชิมได้ 
   11. อย่าใช้มือหยิบสารเคมีใด ๆ เป็นอันขาด และพยายามไม่ให้ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายถูก สารเคมีเหล่านี้ด้วย นอกเสียจากจะได้รับคำสั่งจากอาจารย์ผู้ควบคุมให้ปฏิบัติ 
   12. อย่าเทน้ำลงบนกรดเข้มข้นใด ๆ แต่ค่อย ๆ เทกรดเข้มข้นลงในน้ำอย่างช้า ๆ พร้อมกับกวนตลอดเวลา 
   13. เมื่อต้องการจะดมกลิ่นสารเคมี อย่านำสารเคมีมาดมโดยตรง ควรใช้มือพัดกลิ่นสาร เคมีนั้นเข้าจมูกเพียงเล็กน้อย (อย่าสูดแรง ๆ) โดยถือหลอดที่ใส่สารเคมีไว้ห่าง ๆ 
   14. ออกไซด์ ของธาตุบางชนิดเป็นก๊าซพิษ เช่น ออกไซด์ของกำมะถัน ไนโตรเจนและ ก๊าซแฮโลเจน ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ก็เป็นก๊าซพิษเช่นเดียวกัน การทดลองใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเหล่านี้ควรทำในตู้ควัน 
   15. อย่าทิ้งของแข็งต่าง ๆ ที่ไม่ต้องการ เช่น ไม้ขีดไฟหรือกระดาษกรองที่ใช้แล้ว ฯลฯ ลงในอ่างน้ำเป็นอันขาด ควรทิ้งในขยะที่จัดไว้ให้ 
  16. อย่านำแก้วอ่อน เช่น กระบอกตวง กรวยแยก ไปให้ความร้อน เพราะจะทำให้ละลาย ใช้การไม่ได้ 
  17. อย่านำบีกเกอร์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการมาใช้ตักน้ำดื่ม ถึงแม้ว่าจะดูสะอาดก็ตาม เพราะอาจมีสารเคมีตกค้างอยู่ 
  18. หลังการทดลองแต่ละครั้งต้องล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนกินอาหาร เพราะในขณะทำการทดลองอาจมีสารเคมีที่เป็นอันตรายติดอยู่ก็ได้ 
  19. ห้ามสูบบุหรี่ในห้องปฏิบัติการ เพราะการสูบบุหรี่อาจทำให้สารที่ติดไฟง่ายติดไฟได้ หรืออาจทำให้อนุภาคของสารเคมีที่ระเหยกลายเป็นไอถูกเผาผลาญในขณะสูบบุหรี่ แล้วถูกดูดเข้าไปในปอด 
   20. อย่ากินอาหารในห้องปฏิบัติการ เพราะอาจมีสารเคมีปะปนกับอาหารที่รับประทาน เข้าไป เช่น อาจอยู่ในภาชนะที่ใส่อาหาร ภาชนะที่ใส่น้ำสำหรับดื่มหรือที่มือของท่าน ซึ่งสารเคมีบางชนิดอาจมีพิษหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ 
   21. เมื่อเสื้อผ้าที่สวมอยู่ติดไฟ อย่าวิ่ง ต้องพยายามดับไฟก่อนโดยนอนกลิ้งลงบนพื้น แล้วบอกให้เพื่อน ๆ ช่วยโดยใช้ผ้าหนา ๆ คลุมรอบตัวหรือใช้ผ้าเช็ดตัวที่เปียกคลุมบนเปลวไฟให้ดับก็ได้ 
   22. เมื่อเกิดไฟไหม้ในห้องปฏิบัติการ จะต้องรีบดับตะเกียงในห้องปฏิบัติการให้หมด และ นำสารที่ติดไฟง่ายออกไปให้ห่างจากไฟมากที่สุด ซึ่งผู้ปฏิบัติการทดลองทุกคนควรจะต้องรู้แหล่งที่เก็บเครื่องดับเพลิงและรู้จักวิธีใช้ ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการนำมาใช้ได้ทันท่วงที 
   23. หากผู้ทดลองเกิดอุบัติเหตุในขณะทำการทดลอง ต้องรายงานอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทุกครั้ง ต่ออาจารย์ผู้ควบคุม ไม่ว่าจะเกิดมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม 
   24. ก่อนนำเอาสารละลายในขวดไปใช้ จะต้องดูชื่อสารบนฉลากติดขวดสารละลายอย่าง น้อยสองครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าใช้สารที่ต้องการไม่ผิด 
   25. เมื่อจะใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายหรือสารที่ว่องไวต่อปฏิกิริยาหรือสารที่มีกลิ่นเหม็น เช่น เบนโซอิล คลอไรด์ ฟอสฟอรัสไตรคลอไรด์ โบรมีน ฯลฯ จะต้องทำในตู้ควัน 
   26. ภาชนะแก้วที่ร้อนจะดูคล้ายกับภาชนะแก้วที่เย็น ดังนั้นควรให้เวลานานพอสมควรใน การให้ภาชนะแก้วที่ร้อนเย็นลง 
   27. น้ำที่ใช้ในการทำปฏิกิริยาเคมีจะต้องใช้น้ำกลั่นทุกครั้ง แต่อย่าใช้ฟุ่มเฟือยเกินความ จำเป็น เช่น ใช้ล้างอุปกรณ์ เป็นต้น เพราะกว่าจะกลั่นได้ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายมาก 
   28. เมื่อใช้เครื่องควบแน่น อย่าไขน้ำเข้าเครื่องควบแน่นแรงนัก เพราะจะทำให้สูญเสียน้ำ ไปโดยเปล่าประโยชน์ ควรไขน้ำเข้าเครื่องควบแน่นเบา ๆ ก็ได้ 
   29. ขณะต้มสารละลายหรือให้สารทำปฏิกิริยากันในหลอดทดลอง จะต้องหันปากหลอดทดลองออกห่างจากตัวเองและห่างจากคนอื่น ๆ ด้วย 
   30. การทดลองใด ๆ ที่ทำให้เกิดสุญญากาศ ภาชนะที่ใช้จะต้องหนาพอที่จะทนต่อความดันภายนอกได้ 
   31. ขวดบรรจุสารละลายหรืออุปกรณ์อื่นใดที่มีตัวทำละลายอินทรีย์บรรจุอยู่ อย่าใช้จุก ยางปิดปากขวดเป็นอันขาด เพราะตัวทำละลายอินทรีย์กัดยางได้ทำให้สารละลายสกปรก และจะเอาจุกยางออกจากขวดได้ยาก เพราะจุกส่วนข้างล่างบวม 
   32. อย่าทิ้งโลหะโซเดียมที่เหลือจากการทดลองลงในอ่างน้ำ เพราะจะเกิดปฏิกิริยากับน้ำ อย่างรุนแรง จะต้องทำลายด้วยแอลกอฮอล์เสียก่อน แล้วจึงเททิ้งลงในอ่างน้ำ 
   33. เมื่อการทดลองใดใช้สารที่เป็นอันตราย หรือเป็นการทดลองที่อาจระเบิดได้ ผู้ทดลอง ควรสวมแว่นตานิรภัยเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น 
  34. เมื่อเสร็จสิ้นการทดลอง ต้องทำความสะอาดพื้นโต๊ะปฏิบัติการ ตรวจของในตู้และใส่ กุญแจให้เรียบร้อย แล้วล้างมือให้สะอาดก่อนออกจากห้องปฏิบัติการ 
  35. พึงระลึกอยู่เสมอว่า ต้องทำการทดลองด้วยความระมัดระวังที่สุด ความประมาท เลินล่ออาจทำให้เกิดอันตรายต่อตัวเองได้ 
 

 "กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน" กับแผนการจัดการเรียนรู้ฉุกเฉินของครูเนาว์  การเกิดอุบัติเหตุ
 
      อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้ในห้องทดลองหากผู้ทดลองทำด้วยความประมาทเลินเล่อหรือขาดความระมัดระวังขาดความเอาใจใส่ในเรื่องที่ทำการทดลอง ทางหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุก็คือผู้ทำการทดลองจะต้องอ่านข้อควรปฏิบัติในห้องทดลองเสียก่อน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การเกิดอุบัติเหตุในห้องทดลองนั้นมีได้หลายกรณี จะขอแยกกล่าวเป็นข้อ ๆ พร้อมทั้งวิธีแก้ไขดังนี้ 
     1. ไฟไหม้ เนื่องจากการปฏิบัติการทางเคมีในห้องปฏิบัติการนั้นบางครั้งจะต้องใช้ ตะเกียงก๊าซด้วย การใช้ตะเกียงก๊าซนั้นหากเปลวไฟอยู่ใกล้กับสารที่ติดไฟง่ายหรือสารที่มีจุดวาบไฟต่ำ โอกาสที่จะเกิดไฟก็ยิ่งมากขึ้นด้วย จึงต้องทำการทดลองด้วยความระมัดระวังและไม่ให้สารที่ติดไฟง่ายอยู่ใกล้ไฟ 
      วิธีแก้ไขเมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ สิ่งแรกที่ควรทำก็คือต้องรีบดับตะเกียงในห้องปฏิบัติการ ให้หมดแล้วนำสารที่ติดไฟง่ายออกจากห้องปฏิบัติการให้ห่างที่สุดเพื่อไม่ให้สารเหล่านี้ เป็นเชื้อเพลิงได้ ในกรณีที่เกิดไฟไหม้เล็กน้อย เช่น เกิดในบีกเกอร์หรือภาชนะแก้วอื่น ๆ ที่ใช้ในการทดลอง จะดับไฟที่เกิดนี้ได้โดยใช้ผ้าขนหนูที่เปียกคลุม แต่ถ้าหากไฟลุกลามออกไปบนโต๊ะปฏิบัติการหรือเกิดในบริเวณกว้าง จะต้องใช้เครื่องดับเพลิงเข้าช่วยทันที 
     2. แก้วบาด เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์จำพวกเครื่องแก้ว ซึ่งแตกได้ง่าย ถ้าอุปกรณ์เหล่านี้แตกผู้ทดลองอาจถูกแก้วบาดได้ การเสียบหลอดแก้วหรือเทอร์โมมิเตอร์ลงในจุกยาง ถ้าหลอดแก้วหักอาจจะทิ่มแทงมือได้เช่นเดียวกัน จึงเห็นได้ว่าอันตรายที่เกิดจากแก้วบาดนั้นมีได้มาก ผู้ทดลองจะต้องระมัดระวังไม่ให้อุปกรณ์พวกแก้วแตกหรือหัก หากพบควรรีบเก็บกวาดโดยเร็วเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้น 
      วิธีแก้ไขเมื่อเกิดอุบัติเหตุแก้วบาดก็คือ ต้องทำการห้ามเลือดโดยเร็ว โดยใช้นิ้วมือหรือผ้าที่ สะอาดกดลงบนแผลถ้าเลือดยังออกมากให้ยกส่วนที่เลือดออกสูงกว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย แล้วห้ามเลือดโดยใช้ผ้าหรือเชือกรัดระหว่างแผลกับหัวใจแต่ต้องคลายออกเป็นครั้งคราว จนเลือดหยุดไหล แล้วทำความสะอาดแผลด้วยแอลกอฮอล์ ใส่ยา ปิดแผล ถ้าหากแผลใหญ่และลึกควรรีบไปหาแพทย์ทันที 
     3. สารเคมีถูกผิวหนัง เราทราบแล้วว่า สารเคมีทุกชนิดมีอันตรายแต่มากน้อยแตกต่างกัน บางชนิดมีฤทธิ์กัดกร่อนต่อสิ่งของและเนื้อเยื่อเป็นอันตรายต่อผิวหนัง บางชนิดให้ไอระเหยเป็นอันตรายต่อระบบหายใจ บางชนิดไวไฟเป็นพิษหรือระเบิดได้ บางชนิดสามารถซึมผ่านเข้าไปใน ผิวหนังทำให้เกิดอันตรายได้มากมาย ด้วยเหตุนี้ผู้ทดลองจึงไม่ควรให้สารเคมีถูกผิวหนังหรือเสื้อผ้าถ้าทราบว่าถูกสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตามจะต้องรีบล้างบริเวณนั้น ด้วยน้ำมาก ๆ ทันทีเพื่อไม่ให้สารเคมีมีโอกาสทำลายเซลล์ผิวหนังหรือซึมเข้าไปในผิวหนังได้ 
    4. สารเคมีเข้าตา ขณะทำการทดลองหากก้มหรือมองใกล้เกินไป อาจทำให้ไอของสาร เข้าตาหรือสารกระเด็นถูกตาได้ 
     วิธีแก้ไขเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากสารเคมีเข้าตาก็คือ จะต้องล้างตาด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ ทันที พยายามลืมตาและกรอกตาในน้ำนาน ๆ ถ้าสารเคมีที่เป็นด่างเข้าตา เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ แอมโมเนีย ฯลฯ จะเป็นอันตรายต่อตามากกว่ากรด จะต้องรีบล้างตาด้วยสารละลายกรดโบริกที่เจือจาง ในกรณีที่กรดเข้าตาให้ล้างด้วยสารละลายโซเดียมไบคาร์บอเนตที่เจือจาง 
     5. การสูดไอหรือก๊าซพิษ เมื่อสูดไอของสารเคมีหรือก๊าซพิษ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการ ทดลองหรือสารที่ใช้ในการทดลองก็ตาม ปกติจะมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น วิงเวียน คลื่นไส้ หายใจขัด ปวดศีรษะ ฯลฯ ซึ่งแล้วแต่พิษของสารเคมีนั้น ๆ หากไอนั้นกัดเนื้อเยื่อก็จะทำให้ระคายต่อระบบหายใจด้วย 
     วิธีแก้ไขก็คือ เมื่อทราบว่าสูดดมไอของสารเคมี จะต้องรีบออกไปจากที่นั้นและไปอยู่ในที่ที่ มีอากาศบริสุทธิ์ หากพบว่ามีผู้หายใจเอาก๊าซพิษเข้าไปมากจนหมดสติหรือช่วยตัวเองไม่ได้ จะต้องรีบนำออกมาที่นั้นทันที ซึ่งผู้เข้าไปช่วยต้องใส่หน้ากากป้องกันก๊าซพิษหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ 
     6. การกลืนกินสารเคมี เนื่องจากอุปกรณ์บางอย่างผู้ทดลองใช้ปากดูด สารเคมีอาจพึ่ง เข้าปากได้ หากสารเคมีนั้นเป็นสารพิษก็ย่อมจะเกิดอันตรายต่อผู้ทดลอง 
      วิธีแก้ไขเมื่อกลืนกินสารเคมีเข้าไปก็คือ จะต้องรีบล้างปากให้สะอาดเป็นอันดับแรก และ ต้องสืบให้รู้ว่ากลืนสารอะไรลงไป ต่อจากนั้นก็ให้ดื่มน้ำหรือนมมาก ๆ เพื่อทำให้พิษเจือจาง แล้วทำให้อาเจียนโดยใช้นิ้วกดโคนลิ้นหรือกรอกไข่ขาวปล่อยให้อาเจียนจนกว่าจะมีน้ำใส ๆ ออกมา 

 
"กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน" กับแผนการจัดการเรียนรู้ฉุกเฉินของครูเนาว์  เมื่อสารเคมีหก
 
     เมื่อสารเคมีหกอาจเกิดอันตรายได้หากไม่ระมัดระวังให้ดี ทั้งนี้เพราะสารเคมีบางชนิด เป็นพิษต่อร่างกายเมื่อถูกกับผิวหนังหรือสูดดม บางชนิดติดไฟได้ง่าย ดังนั้นเมื่อสารเคมีหกจะต้องรีบเก็บกวาดให้เรียบร้อยทันที ต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงข้อควรปฏิบัติเมื่อสารเคมีแต่ละชนิดหก 
     1. สารที่เป็นของแข็ง เมื่อสารเคมีที่เป็นของแข็งหก ควรใช้แปรงกวดรวมกันใส่ในช้อนตัก หรือกระดาษแข็งก่อน แล้วจึงนำไปใส่ในภาชนะ 
     2. สารละลายที่เป็นกรด เมื่อกรดหกจะต้องรีบทำให้เจือจางด้วยน้ำก่อนแล้วโรย โซดาแอส หรือโซเดียมไบคาร์บอเนตหรือเทสารละลายด่างเพื่อทำให้กรดเป็นกลางต่อจากนั้นจึงล้างด้วยน้ำให้สะอาด 
 ข้อควรระวัง เมื่อเทน้ำลงบนกรดเข้มข้นที่หก เช่น กรดกำมะถันเข้มข้น จะมีความร้อนเกิด ขึ้นมาก และกรดอาจกระเด็นออกมา จึงควรค่อย ๆ เทน้ำลงไปมาก ๆ เพื่อให้กรดเจือจางและความร้อนที่เกิดขึ้นรวมทั้งการกระเด็นจะน้อยลง 
     3. สารละลายที่เป็นด่าง เมื่อสารเคมีที่เป็นด่างหกจะต้องเทน้ำลงไปเพื่อลดความเข้มข้นของด่างแล้วเช็ดให้แห้ง โดยใช้ไม้ที่มีปุยผูกที่ปลายสำหรับซับน้ำบนพื้น (Mop) พยายามอย่าให้กระเด็นขณะเช็ด เนื่องจากสารละลายด่างจะทำให้พื้นลื่น เมื่อล้างด้วยน้ำหลาย ๆ ครั้งแล้วยังไม่หายควรใช้ทรายโรยบริเวณที่ด่างหกแล้วเก็บกวาดทรายออกไป จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ 
    4. สารที่ระเหยง่าย เมื่อสารเคมีที่ระเหยง่ายหกจะระเหยกลายเป็นไออย่างรวดเร็ว บาง ชนิดติดไฟได้ง่าย บางชนิดเป็นอันตรายต่อผิวหนังและปอด การทำความสะอาดที่ระเหยง่ายทำได้ดังนี้ 
         4.1 ถ้าสารที่หกมีปริมาณน้อย ใช้ผ้าขี้ริ้วหรือเศษผ้าเช็ดถูออก 
         4.2 ถ้าสารที่หกนั้นมีปริมาณมาก ทำให้แห้งโดยใช้ไม้ที่มีปุยผูกที่ปลายสำหรับเช็ดถู เมื่อเช็ดแล้วก็นำมาใส่ถังเก็บและสามารถนำไปใช้อีกได้ตามต้องการ 
     5. สารที่เป็นน้ำมัน สารพวกนี้เช็ดออกได้โดยใช้น้ำมาก ๆ เมื่อเช็ดออกแล้วพื้นบริเวณที่ สารหกจะลื่น จึงต้องล้างด้วยผงซักฟอกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สารที่ติดอยู่ออกไปให้หมด 
     6. สารปรอท เนื่องจากสารปรอท ไม่ว่าจะอยู่ในรูปใดล้วนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น เพราะทำอันตรายต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการทางประสาท เช่น กล้ามเนื้อเต้น มึนงง ความจำเสื่อม ถ้าได้รับเข้าไปมาก ๆ อาจทำให้แขนขาพิการหรือถึงตายได้ ดังนั้นการทดลองใดที่เกี่ยวข้องกับสารปรอทต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก ในกรณีที่สารปรอทหกวิธีการที่ถูกต้องควรปฏิบัติดังนี้ 
       6.1 กวาดสารปรอทมากองรวมกัน 
       6.2 เก็บสารปรอทโดยใช้เครื่องดูด 
       6.3 ถ้าพื้นที่สารปรอทหกมีรอยแตกหรือรอยร้าว จะมีสารปรอทเข้าไปอยู่ข้างในจึงไม่ สามารถเก็บปรอทโดยใช้เครื่องดูดดังกล่าวได้ ควรปิดรอยแตกหรือรอยร้าวนั้นด้วยขี้ผึ้งทาพื้น หนา ๆ เพื่อกันระเหยของปรอทหรืออาจใช้ผงกำมะถันพรมลงไป ปรอทจะเปลี่ยนเป็นสารประกอบซัลไฟด์ แล้วเก็บกวดอีกครั้งหนึ่ง 
 

"กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน" กับแผนการจัดการเรียนรู้ฉุกเฉินของครูเนาว์   การป้องกันอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการทังวิทย์+การงานอาชีพ
 
       ความปลอดภัยในห้องที่ใช้ปฏิบัติการจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ตั้งแต่ผู้ออกแบบห้อง ผู้วางแผนการทดลอง ผู้ควบคุมกรทดลอง ผู้ให้บริการ และผู้เรียน หลักการทั่วไปในการป้องกันอุบัติเหตุ คือ
     1. การวางระเบียบข้อบังคับ ระเบียบข้อบังคับคือมาตรการเบื้องต้นของการป้องกันอุบัติเหตุ เช่น การห้ามนำอาหารเข้าไปรับประทานในห้องปฏิบัติการ การห้ามสูบบุหรี่ การห้ามอยู่คนเดียวในห้อง แต่การมีระเบียบที่ดีจะไร้ความหมายหากมิได้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ควรจะสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นว่า การปฏิบัติตามระเบียบนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและส่วนรวม
     2. การฝึกฝนให้เกิดเป็นนิสัย ในบรรดาสาเหตุของอุบัติเหตุ ความบกพร่องของคนเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง หากจะต้องการลดอุบัติเหตุและทำให้เกิดสภาพความปลอดภัยขึ้นได้อย่างถาวรจะต้องแก้ที่ตัวคน เรื่องของการฝึกนิสัยการทำงานด้วยความปลอดภัยจึงจำเป็น เพราะไม่ว่าเราจะมีระเบียบ ข้อบังคับ หรือหาวิธีป้องกันได้ดีเพียงใด หากผู้ปฏิบัติยังไม่มีนิสัยและเทคนิคการทำงานด้วยความปลอดภัยแล้ว ก็ยากที่จะควบคุมดูแล
    3. การรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการดูแลรักษา ความเป็นระเบียบย่อมเป็นการป้องกันอุบัติเหตุเบื้องต้นได้ทั่วไปทุกแห่ง นอกจากการรักษาความเป็นระเบียบแล้วก็ยังต้องมีการดูแลรักษาสภาพห้องและเครื่องใช้ทั่วไปให้อยู่ในสภาพดีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องไฟฟ้า
    4. การให้การศึกษาเรื่องอันตรายจากสารเคมี การป้องกันและวิธีแก้ไขอุบัติเหตุจากสารเคมีย่อมเกิดขึ้นได้ง่ายถ้าใช้ไม่ถูกวิธี ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เรียนต้องมีความรู้เรื่องอันตรายของสารเคมี ส่วนใหญ่อุบัติเหตุมักเกิดจากการใช้สารไวไฟอย่างไม่ระมัดระวัง ควรย้ำเตือนถึงวิธีใช้ที่ถูกต้อง การหกรดของสารต้องมีวิธีแก้ไขที่ถูกต้อง และเน้นให้ปฏิบัติตามวิธีทดลองอย่างเคร่งครัด
     5. การจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น การป้องกันบางครั้งจำเป็นต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสมไว้ให้ เช่น แว่นนิรภัยเพื่อกันสารกระเด็นเข้าตา การจัดสภาพการระบายอากาศของห้อง ตู้ปฐมพยาบาล อุปกรณ์ดับเพลิง รวมทั้งเครื่องมือทดลองที่พอเพียง และอยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างปลอดภัย
     6. การวิเคราะห์สาเหตุของอุบัติเหตุ บันทึกเหตุการณ์และข้อเสนอแนะเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว จะเป็นบทเรียนที่ดีถ้าหากได้มีการวิเคราะห์หาสาเหตุ และจากสาเหตุจะมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก บันทึกเหตุการณ์จะเป็นประโยชน์ต่อผู้มาภายหลัง ซึ่งเป็นบทเรียนราคาแพงได้มาจากผู้เคราะห์ร้าย
     7. การส่งเสริมเพื่อให้เห็นความสำคัญของการป้องกัน หลักการขั้นสุดท้ายของการป้องกันอุบัติเหตุคือ การส่งเสริมเพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการป้องกันอันตราย การทำงานด้วยความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรเป็นเรื่องของการบังคับ เป็นต้น การส่งเสริมจะเป็นการช่วยปลูกฝังเจตคติที่ดีต่อการทำงานด้วยความปลอดภัย

"กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน" กับแผนการจัดการเรียนรู้ฉุกเฉินของครูเนาว์  ต่อยอดความคิดถึงการแก้ไขเมือเกิดอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการ
      อันตรายในห้องปฏิบัติการการงานอาชีพได้แก่การใช้วัสดุอุปกรณ์ของมีคม สารเคมีในงานเกษตร อุปกรณ์ไฟฟ้าในงานช่าง ลวนแต่เกิดอันตรายได้ทุกเมื่อถ้าไม่ระวังและป้องกัน
ตัวอย่างอันตรายที่นักเรียนอาจจะได้รับและวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1. เศษแก้วบาด
- ถ้าบาดเพียงเล็กน้อย ให้นำเศษแก้วออกจากบาดแผลให้หมด ล้างด้วยน้ำ และใช้ผ้าพันแผลที่สะอาดปิดเพื่อห้ามเลือด อย่าใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนใส่แผล
- ถ้าบาดเจ็บเป็นแผลใหญ่และเลือดออกมาก ให้โทรศัพท์เรียกรถพยาบาล และในขณะเดียวกันก็ช่วยปฐมพยาบาล โดยให้คนเจ็บนอนลงกับพื้น ยกแขนขาให้สูง ใช้ผ้าพันแผลหนา ๆ กดตรงรอยแผล ถ้าผ้าพันแผลชุ่มเลือด ให้ใช้แผ่นใหม่วางทับไปบนแผ่นเก่าแล้วกดให้แน่น อย่าเปลี่ยนใหม่โดยนำแผ่นเก่าออก คอยจนกว่ารถพยาบาลจะมารับ
2. ไฟลวกหรือโดนของร้อน
- ใช้น้ำล้างมาก ๆ แล้วปิดด้วยผ้าพันแผลที่แห้งและสะอาด ถ้าโดนมากให้ส่งโรงพยาบาล
- อย่าใช้สารละลายโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนตล้างแผล
3. โดนสารเคมีที่เป็นพิษ
     3.1 ถ้าโดนที่ผิวหน้า
กรด
- ใช้น้ำล้างมาก ๆ แล้วล้างด้วยสารละลายโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนตเข้มข้นร้อยละ 10 แล้วจึงใช้น้ำล้างอีกครั้งหนึ่งเป็นเวลาประมาณ 20 นาที จึงปิดด้วยผ้าพันแผล
เบส
- ปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับการโดนกรด ต่างกันเพียงแต่ใช้สารละลายเข้มข้นร้อยละ 10 ของกรดอะซีติกแทนสารละลายของโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนตเท่านั้น
     3.2 ถ้าโดนเข้าตา
ถ้าอาการสาหัสให้รีบส่งแพทย์ทันที แต่ถ้าไม่สาหัสก็ควรจะให้รับการปฐมพยาบาลก่อนแล้วจึงไปพบแพทย์ภายหลัง
เศษแก้วเข้าตา ให้คนเจ็บอยู่นิ่ง ๆ แล้วรีบส่งแพทย์ อย่าพยายามดึงเศษแก้วออกจากตาเป็นอันขาด
กรด เบส เข้าตา ล้างตาทันทีด้วยน้ำปริมาณมาก ๆ โดยให้คนเจ็บกลอกตาในน้ำเป็นเวลาประมาณ 50 นาที
4. สารเป็นพิษเข้าปาก
- ถ้าเพียงแต่เข้าปาก บ้วนทิ้งทันทีแล้วใช้น้ำบ้วนปากหลาย ๆ ครั้ง
- ถ้ากลืนเข้าไป
   4.1 ถ้าไม่ทราบว่ากลืนสารมีพิษชนิดใดเข้าไป ให้ปฐมพยาบาลก่อนนำส่งโรงพยาบาลดังนี้
- ให้น้ำหรือนมสด หรือนมผงละลายน้ำดื่มเป็นจำนวนมาก ๆ 
- ถ้าสารที่มีพิษนั้นไม่ใช่สารกัดกร่อน ให้ยาที่ช่วยให้อาเจียนออกมา แต่ถ้าเป็นการกัดกร่อน อย่าให้ยาที่ทำให้อาเจียน การที่จะรู้ว่าสารกัดกร่อนหรือไม่ จะสังเกตได้จากรอยไหม้ที่ริมฝีปาก และที่ปากของคนเจ็บ
   4.2 กลืนกรด ( รวมทั้งกรดออกซาลิก ) หรือเบส ให้ดื่มน้ำตามเข้าไปมาก ๆ แล้วจึงดื่มสารที่ทำให้สะเทิน ่เช่น นมผสมกับแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ( ในกรณีของกรด ) หรือน้ำมะนาว ( ในกรณีของเบส ) แต่ไม่ใช้โซเดียมคาร์บอเนตหรือโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต และอย่าใช้สารที่ทำให้อาเจียน

 
 "กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน" กับแผนการจัดการเรียนรู้ฉุกเฉินของครูเนาว์ คำถามชวนคิดอันตรายจากสารเคมีและการเกิดไฟไหม้เป็นอย่างไรบ้าง

 
    สารเคมีเกือบทุกชนิดเป็นพิษ ดังนั้นในการใช้สารเคมีใด ๆ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง อันตรายและพิษจากสารเคมีที่รวบรวมไว้ในเอกสารนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น มิได้หมายความว่าสารเคมีนอกเหนือจากนี้ไม่เป็นพิษ 
กรดอะซิติก (Acetic acid )
- ถ้าถูกผิวหนังจะทำให้พอง ถ้าถูกนัยย์ตาจะทำให้นัยย์ตาแดงช้ำ
- ไอของกรดจะทำให้ระคายเคืองกับระบหายใจ
- ถ้ารับประทานเข้าไปจะกัดอวัยวะภายในทำให้เป็นแผล
คาร์บอนเตตระคลอไรด์ (Carbon tetrachloride ) 
- ทั้งไอและของเหลวทำให้ระคายเคืองต่อดวงตา ถ้าสูดไอเข้าไปมาก ๆ อาจทำให้ปวดศีรษะ จิตใจสับสน ห่อเหี่ยว อ่อนเพลีย หมดความหยากอาหาร คลื่อนเหียนอาเจียน และอาจหมดความรู้สึกได้ ซึ่งอาการเหล่านี้บางครั้งอาจจะเกิดขึ้นภายหลังจากได้สูดดมเข้าไปนานพอสมควร
- ถ้ารับประทานเข้าไปจะทำให้คลื่นเหียนอาเจียน และเป็นอันตรายต่อปอด ไต หัวใจ และระบบประสาท ถ้ารับประทานเกินปริมาณที่กำหนดอาจตายได้
- ถ้าสูดไอติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้ปวดศีรษะ คลื่อนเหียนอาเจียน มึนซึม หลอดลมอักเสบ และมีอาการดีซ่าน ถ้าถูกผิวหนังบ่อย ๆ อาจทำให้เป็นโรคผิวหนัง
กรดไฮโดรคลอริกเข้มข้น ( Concentrated hydrochloric acid )
- ไอของกรดจะทำให้ระคายเคืองต่อระบบหายใจและดวงตา
- ถ้ากรดถูกผิวหนังหรือดวงตาจะทำให้อักเสบอย่างรุนแรง
- ถ้ารับประทานเข้าไปจะทำลายอวัยวะภายในอย่างรุนแรง
เมทานอล ( Methanol )
- ถ้าสูดดมไอของเมทานอลเข้าไปมาก ๆ นะทำให้เวียนศีรษะ มึนซึม เป็นตะคริว และรบกวนระบบการย่อยอาหาร แต่ถ้าสูดดมเข้าไปไม่มากนักจะทำให้ปวดศีรษะ คลื่นเหียนอาเจียน และระคายเคืองต่อเยื่อจมูก
- ทั้งไอและของเหลวจะเป็นอันตรายกับดวงตามาก แต่อาจจะไม่แสดงอาการทันที
- ถ้าดื่มเข้าไปจะทำลาระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสาทตา ( ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ตาบอด ) และทำให้เกิดแผลในไต ตัว หัวใจ และอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งนอกจากอาการต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว อาจจะหมดสติในเวลาต่อมาและถึงแก่ความตายได้
- ถ้าร่างกายได้รับปริมาณน้อย ๆ แต่ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจจะเกิดอาการต่าง ๆ ดังกล่าว และถ้าถูกผิวหนังบ่อย ๆ ก็ทำให้เป็นโรคผิวหนังได้
โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ( Potasium hydroxide )
- ถ้าถูกผิวหนังหรือดวงตาจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง
- ถ้ารับประทานเข้าไปจะทำลายอวัยวะภายใน
กรดซัลฟิวริก ( Sulfuric acid ) 
- ถ้าเป็นกรดเข้มข้นถูกผิวหนังจะทำให้เกิดรอยไหม้ ถ้าถูกดวงตาจะอักเสบมาก
- ถ้าเป็นกรดเจือจางถูกผิวหนังจะทำให้เกิดระคายเคืองและเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังได้
- ถ้ารับประทานกรดเข้มข้นเข้าไปจะทำลายอวัยวะภายในอย่างรุนแรง

 
อันตรายจากไฟไหม้
 
     ความปลอดภัยในห้องที่ใช้ปฏิบัติการ
หลักสำคัญของความปลอดภัยในห้องที่ใช้ปฏิบัติการ คือ ความสะอาด ความเป็นระเบียบ ความมีวินัยในการทำงาน ความระมัดระวังรอบคอบ ไม่ทำการทดลองใด ๆ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในวิธีการทดลองโดยไม่ปรึกษาครูผู้สอน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ครูจำเป็นจะต้องชี้แจงอบรมให้นักเรียนเข้าใจและฝึกให้นักเรียนปฏิบัติจนเป็นนิสัย นอกจากนี้แล้ว ครูจะต้องมีความรู้ความสามารถในการทดลอง เข้าใจในอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนรู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วย ข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ ครูจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของนักเรียน
สาเหตุและอันตรายจากไฟไหม้
     1. สาเหตุที่จะทำให้เกิดไฟไหม้ในห้องปฏิบัติการได้มากที่สุด คือ เกิดจากตะเกียงแอลกอฮอล์ ดังนั้นในห้องปฏิบัติการจึงควรจัดหากระสอบหรือทรายสำหรับดับไฟ หรือเครื่องมือดับเพลิงเคมีวางไว้ในที่ที่จะหยิบใช้ได้สะดวก สำหรับกระสอบนั้น นอกจากจะใช้ดับไฟที่เกิดจากตะเกียงแอลกอฮอล์แล้ว ยังใช้ดับไฟที่ลุกติดเสื้อผ้านักเรียนได้อีกด้วย
 

 "กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน" กับแผนการจัดการเรียนรู้ฉุกเฉินของครูเนาว์ ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการทำงานด้วยความปลอดภัย

1. ทำความรู้จักกับห้องที่ใช้ปฏิบัติการ โดยการตรวจสภาพห้องและเครื่องมือและเครื่องใช้ พร้อมกับจัดทำเป็นรายการการตรวจสอบ
2. สื่อการสอน เช่น ภาพนิ่ง วีดีโอ ภาพยนต์ เพื่อแนะนำเครื่องใช้และเทคนิคการใช้เครื่องมือด้วยความปลอดภัย
3. ก่อนเริ่มการทดลองต้องตรวจสอบความปลอดภัย โดยจัดทำเป็นรายการตรวจสอบ
4. ให้ความรู้เรื่องอันตรายของสารเคมีจากภาพนิ่ง การทำรายงาน
5. ประกวดคำขวัญ คำเตือน หรือภาพโปสเตอร์ หรือประกวดเรียงความเกี่ยวกับความปลอดภัย
6. ให้รางวัลการรักษาความสะอาด
7. จัดตั้งหน่วยความปลอดภัย เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูล ข้อเสนอแนะ และการรณรงค์เพื่อรักษาความปลอดภัย

 
https://nbschoolscitool.tripod.com/cuation_lab.htm


https://mblog.manager.co.th/fakhairung/5-52-7/

https://news.sanook.com/crime/crime_15757.php 

 https://www.thairath.co.th/today/view/30985

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1572

อัพเดทล่าสุด