เห็ดพิษร้ายแรงหรือที่เราเรียกว่าเห็ดเมา
เห็ดพิษร้ายแรง
กลุ่มอะมานิต้า(Amanita)
ลักษณะทั่วไปของเห็ดพิษร้ายแรง
1. เห็ดอ่อนเป็นรูปไข่มีเยื่อหุ้ม
2. ดอกเห็ดบานเป็นรูปกะทะคว่ำ ไม่มีริ้วที่ขอบ
3. ครีบและสปอร์สีขาว
4. โคนก้านโป่งเป็นกระเปาะ มักมีปลอกหุ้มและมีวงแหวนอยู่ด้านบน
เห็ดพิษร้ายแรง มีหลายชนิด เช่น
เห็ดไข่เป็ด (Amanita virosa) มีลักษณะดังนี้
1. หมวกเห็ดสีขาวเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-10 เซนติเมตร บางครั้งเป็นสีเหลืองอ่อนเนื้อในและครีบมีสีขาวเอียน ๆ
2. ก้านสีขาวยาว 5-15 เซนติเมตร ผิวไม่เรียบและมีวงแหวนแบบกระโปรง สีขาวเปราะบาง โคนก้านโป่งออกและกลมกลืนกับปลอกหุ้มที่แนบอยู่เมื่อผ่าดูดอกอ่อนส่วนก้านจะใหญ่กว่าส่วนดอก
3. พบบนพื้นดินในป่าไม้เบญจพรรณและป่าก่อทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
4. เป็นเห็ดพิษร้ายแรงถึงตาย
เห็ดระโงกหิน(Amanita verna) มีลักษณะดังนี้
1. หมวกเห็ดสีขาวเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-12 เซนติเมตร รูปกระทะคว่ำ ขอบไม่มีริ้ว ครีบและสปอร์สีขาว
2 ก้านดอกยาว 5-12 เซนติเมตร ผิวเรียบซึ่งผิดกับเห็ดไข่เป็ด ภายในกลวงเล็กน้อย มีกระโปรงห้อยลงมาจากด้านบนและโคนก้านโป่งเป็นกระเปาะมีปลอกหุ้ม
3 พบเป็นดอกเดี่ยวทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อรับประทานแล้วจะปวดท้อง อาเจียร ตับถูกทำลาย และตายในที่สุด
เห็ดเกล็ดดาว (Amanita pantherina) มีลักษณะดังนี้
1 หมวกเห็ดสีเทาหรือขาวหม่นไปจนถึงสีเขียวมะกอกหรือเหลืองอ่อน ถ้าอากาศแห้งอาจเป็นสีน้ำตาล เปลือกลอกออกได้ เนื้อในและครีบสีขาวมีกลิ่นหวานเอียน ๆ
2 ก้านสูงระหงมีลายเล็กน้อย ด้านบนมีวงแหวนแบบกระโปรง เนื้อก้านสีขาวและตันโคนป่องมีปลอกหุ้มบาง ๆ ภายในดอกอ่อนจะมีส่วนเป็นก้านใหญ่กว่าส่วนที่เป็นหมวก
3 เห็ดเติบโตได้ดีใต้ร่มต้นไม้ใบกว้างขนาดใหญ่ มีพิษร้ายแรงถึงตายได้
เห็ดสุกรมัณทวะ (Amanita phallodes) มีลักษณะดังนี้
1 หมวกเห็ดสีน้ำตาลเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-8 เซนติเมตรบานเป็นรูปกระทะคว่ำ ต่อมาจะแบนราบมีเกล็ดสีขาวกระจายอยู่ทั่วไปแต่หลุดง่าย ครีบและสปอร์สีขาว
2 ก้านสีขาวยาว 3-12 เซนติมตร ผิวก้านมีขนหรือเกล็ดบาง ๆ วงแหวนแบบกระโปรง มักจะหายไปเหลือแต่วงแหวน โคนป่องและมีเยื่อหุ้ม
3 พบเป็นดอกเดี่ยว ๆ บนพื้นดินในป่าสนทางภาคเหนือ มีพิษร้ายแรงต่อระบบประสาท
การรักษาพยาบาล พยายามทำให้อาเจียรเร็วที่สุด นำผู้ป่วยและตัวอย่างเห็ดพิษไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในชั้นเรียน
1. นักเรียนจะสังเกตได้อย่างไรว่าเป็นเห็ดมีพิษร้ายแรง
2. หากนักเรียนจะบริโภคเห็ดให้ปลอดภัยควรทำอย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
1. นักเรียนควรค้นคว้าถึงเห็ดป่าที่บริโภคได้และบริโภคไม่ได้
2. นักเรียนควรศึกษาวิธีสังเกตเห็ดที่มีพิษ
การบูรณาการกับกลุ่มสาระอื่น
1. กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เรื่อง สารพิษในเห็ด
แหล่งอ้างอิง สมาคมวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1942